xs
xsm
sm
md
lg

ประมงชายฝั่งพอใจมาตรฐานป้องกันผลกระทบโครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผู้ประกอบการประมงชายฝั่งพอใจกับมาตรฐานการดูแลและป้องกันสิ่งแวดล้อม จากผลกระทบโครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเล แปลงสำรวจ G2/48 แหล่งกฤษณา

วันนี้ (25 ก.ย.) ที่ห้องประชุมใหญ่ เทศบาลเมืองศรีราชา นายอภินันท์ บุญบัณฑิต ตัวแทนบริษัท เพิร์ล ออย ออฟชอร์ จำกัด นายสมศักดิ์ ธีระชัยชยุติ ตัวแทนบริษัท IEM (ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม) นายทินกร สุนีย์ ตัวแทนจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นายฉัตรชัย ทิมกระจ่าง นายกเทศมนตรีเมืองศรีราชา

พร้อมด้วยตัวแทนจากผู้ประกอบการประมงชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ร่วมประชุมปรึกษาปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมจากโครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเล แปลงสำรวจ G2/48 แหล่งกฤษณา ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นระยะทาง 70 กิโลเมตร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 135 กิโลเมตร และเกาะช้าง จังหวัดตราด 145 กิโลเมตร

นายอภินันท์ บุญบัณฑิต ตัวแทนบริษัท เพิร์ล ออย ออฟชอร์ จำกัด ได้กล่าวถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการว่า “ทางโครงการได้มีมาตรฐานการแก้ไขผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับโครงการ ว่า มีประสิทธิภาพดีพอที่จะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมโดยรอบบริเวณ แท่นขุดเจาะชื่อ ENSCO 51 เป็นแท่นขุดเจาะแบบยกตัวได้ (Jack-up Drilling Rig) ระหว่างเคลื่อนย้าย ขาแท่นจะหดขึ้นมาอยู่ใต้ลำตัวแท่น และใช้เรือลากจูงไปยังตำแหน่งที่ขุดเจาะ เมื่อถึงตำแหน่งขุดเจาะ จะเลื่อนขาแท่นลงมาที่พื้นทะเล และยกลำตัวแท่นขึ้นเหนือผิวน้ำประมาณ 15-20 เมตร ภายในแท่นขุดเจาะจะมีการแยกของเสีย การกักเก็บ การแยกขยะออกเป็นส่วนๆ อย่างมีมาตรฐาน

โดยไม่มีการนำของเสียปล่อยทิ้งลงในทะเล ระหว่างการขุดเจาะจะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมโดยรอบ จะมีการแยกเศษหิน เศษโคลน ผ่านระบบแยกของแข็ง เพื่อแยกโคลนกลับไปใช้ใหม่ส่วนเศษหินจะผ่านการบำบัดก่อนจะทิ้งลงทะเล โดยจะไม่นำขึ้นมาบนแท่นขุดเจาะ ซึ่งการเจาะนั้นไม่ว่าจะพบหรือไม่พบน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ ก็จะทำการปิดปากหลุม ด้วยการใช้ซีเมนต์อุดในท่อกรุ ซึ่งจะไม่เหลือโครงสร้างใดๆ หลังจากการรื้อถอน แล้วจึงย้ายฐานต่อไป

“โดยบริเวณรอบๆ แท่นขุดเจาะ ในระยะเวลาปฏิบัติงานในพื้นที่ 15-20 วัน จะมีแนวกั้นเป็นเขตปลอดภัยโดยเป็นแท่นลอย มีสัญญาณบอกเรือประมงตลอดทั้งกลางวัน-กลางคืน พร้อมทั้งหอ เรดาร์ บนแท่นขุดเจาะ บอกเรือประมงที่อาจเข้ามาในเขตขุดเจาะ ในระยะทาง 500-600 เมตรจากแท่นเจาะด้วยเพื่อความปลอดภัยของเรือประมง”

ตัวแทนประชาชนและผู้ประกอบการประมงชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เผยว่า ที่ผ่านมา รู้สึกวิตกกังวลกับเรื่องการกำจัดขยะที่อาจจะมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมตามแนวชายฝั่ง รวมทั้งคราบน้ำมันที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการขุดเจาะ และผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อได้ฟังการชี้แจงของกลุ่มผู้รับผิดชอบในโครงการ ต่างให้การยอมรับถึงระบบดูแลรักษาสภาพแวดล้อม และมีความมั่นใจว่าโครงการนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและการประกอบอาชีพการทำประมงตามแนวชายฝั่งอย่างแน่นอน

ทางด้าน นายฉัตรชัย ทิมกระจ่าง นายกเทศมนตรีเมืองศรีราชา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ขอให้ผู้ดูแลโครงการขุดเจาะสำรวจฯ หรือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ หรือมีปัญหาใดๆ สามารถติดต่อประสานงานมาได้ที่เทศบาลเมืองศรีราชาได้ ซึ่งทางเทศบาลจะเป็นตัวประสานงานและดำเนินการช่วยเหลือในด้านต่างๆ ตลอดการดำเนินโครงการนี้”

กำลังโหลดความคิดเห็น