ตาก - การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ-กรมเชื้อเพลิง ลุยขุดเจาะสำรวจใต้พื้นดินทั่วเมืองชายแดนแม่สอด ประเมินความคุ้มค่าก่อนลงทุนทำเหมืองแร่หินน้ำมันครอบคลุมพื้นที่ สปก.65,000 ไร่ ขณะที่บริษัทเอกชนสัญชาติแคนาดา เดินหน้าเจาะสำรวจหาแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติแถบแม่สอด-แม่ระมาดต่อเนื่อง เชื่อมั่นรู้ผลภายในปี 52-54 แน่
เมื่อเร็วๆ นี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นำคณะสื่อมวลชนดูงาน “โครงการสำรวจศึกษาแนวทางการพัฒนา การใช้ประโยชน์หินน้ำมันแหล่งหินน้ำมันแม่สอด จังหวัดตาก” ตามมติ ครม.11 ธันวาคม 2550 ที่กำหนดพื้นที่ 104 ตารางกิโลเมตร บริเวณบ้านห้วยกะโหลก เหนือตัวอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยในปีแรกกำหนดขุดหลุม 16 หลุม ความลึก 250-400 เมตรเพื่อสำรวจคุณภาพและปริมาณหินน้ำมันเบื้องต้น และปี 52-54 เตรียมประเมินผล ศึกษาแนวทางใช้ประโยชน์ และสิ่งแวดล้อม ประชาสัมพันธ์และนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อ
นายศุภฤกษ์ สิตะหิรัญ ผู้อำนวยการกองแผนงานเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หินน้ำมันได้สำรวจพบมานานแล้ว แต่วันนี้ต้องการสำรวจเพื่อยืนยันปริมาณหินน้ำมัน ก่อนตัดสินใจว่าคุ้มต่อการลงทุนหรือไม่ แม้ว่าคุณภาพของหินน้ำมันที่แม่สอดจะเป็นคุณภาพต่ำจนถึงปานกลาง แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งจะคุ้มในเชิงพาณิชย์ ซึ่งในปีแรกจะต้องประเมินศักยภาพ ทั้ง 16 หลุมก่อน
ล่าสุด ได้ดำเนินการเจาะแล้ว 7 หลุม กำลังเจาะหลุมที่ 8 ในเขต ต.แม่ปะ ต.แม่กาษา และ ต.ท่าสายลวด โดยรัฐสนับสนุนเงินงบประมาณในการขุดสำรวจ 10 ล้านบาท นอกจากนี้ยังดำเนินการอีกโครงการหนึ่ง ที่รัฐไม่ได้เสียงบประมาณ คือ โครงการสำรวจปิโตรเลียม (น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ) โดยบริษัทเจเอสเอ๊กซ์ เอ็นเนอร์ยี่(ประเทศไทย) ที่ลงทุนสำรวจเอง ตามที่ได้รับสัมปทานเลขที่ 5/2549/73 จากประเทศแคนาดา บนพื้นที่ 3,996 ตารางกิโลเมตร บริเวณ อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด จังหวัดตาก ระยะเวลา 6 ปี ตั้งแต่ปี 49 จนถึง 7 ธันวาคม 2555
ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวได้ลงทุนขุดเจาะสำรวจในระดับ 2-3,000 เมตร นับจากนี้อีก 1-2 ปีก็จะทราบว่า มีปริมาณปิโตรเลียมมากพอคุ้มกับการวางแท่นขุดเจาะน้ำมันหรือไม่ จากนั้นรัฐค่อยมาเก็บค่าภาคหลวงต่อไป ลักษณะเหมือนกับแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร ฉะนั้น เท่ากับว่าที่อำเภอแม่สอดวันนี้กำลังมีแหล่งทรัพยากรสำคัญ 2 ชนิด
นายสมชาติ ปลั่งพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการส่วนสำรวจและประเมินผลแปลงทรัพยากรการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หินน้ำมันที่ใช้สกัดและใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ควรมีปริมาณน้ำมันหิน อย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก หรือ 12 แกลลอนต่อ 1 ตัน และให้ค่าความร้อนประมาณ 765 แคลอรีต่อกรัม การเก็บตัวอย่างใน 16 หลุมครั้งนี้ เพื่อยืนยันคุณภาพค่าความร้อนของหินน้ำมัน ซึ่งหากพบว่า มีคุณภาพสูง ก็จะนำหินที่อยู่ในใต้ดิน ทำการสกัดหินน้ำมันหรืออบด้วยความร้อน เพื่อผลิตน้ำมันหิน (สารคีโรเจนจะเริ่มสลายตัวที่อุณหภูมิ 170-540 องศา) เมื่อกลั่นหินน้ำมัน ลักษณะคล้ายน้ำมันดิบ จะได้น้ำมันเบนซิน-โซลาร์ หากมีหินน้ำมันคุณภาพต่ำก็จะใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรงคือ เผา เพื่อให้พลังงาน โดยการนำหินน้ำมันมาบดเป็นผงแล้วพ่นเข้าไปในเตา
ทั้งนี้ ทีมผู้บริหาร กฟผ.ยืนยันว่า โอกาสเป็นไปได้สูงที่จะต้องเกิดเหมืองหินน้ำมันที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก บริเวณพื้นที่เขต ต.แม่ปะ ต.แม่กาษา และ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จากลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งตามแนวยาวเหนือ-ใต้ ประมาณ 65 กิโลเมตร กว้าง 20 กิโลเมตร เป็นแอ่งหินต่อเนื่องกับแอ่งฮิชารา ในประเทศพม่า โดยแอ่งหินแม่สอดเป็นหินอายุเทอร์เชียรี วางตัวแบบไม่ต่อเนื่องกับหินพื้นฐานที่วางตัวรองรับแอ่งแม่สอด ประกอบด้วยหินปูนเนื้อปนโดโลไมต์ หินดินดาน ปนทรายแป้งและหินทราย
ซึ่งพื้นที่ปัจจุบันชาวบ้านใช้ในการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ เอกสารสิทธิ์ในพื้นที่เป็นที่ดิน สปก. อยู่ในความดูแลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หากดำเนินการทำเหมืองหินน้ำมัน รัฐบาลมีสิทธิ์ขอพื้นที่คืนจากประชาชน ตามกฎหมายที่ดิน สปก. ประชาชนไม่ใช่เจ้าของแปลงที่ดินเหมือนโฉนด รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินชดเชยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างบนแปลงที่ดินให้เท่านั้น แต่อาจมีปัญหามวลชนเกิดขึ้น เป็นไปได้ที่รัฐอาจเลี่ยงบาลีโดยจ่ายเงินค่าเสียโอกาสแก่ประชาชนในพื้นที่ แทนการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินโดยตรง ดังนั้นพื้นที่ 104 ตารางกิโลเมตร หรือ ที่ดิน 62,000 ไร่ (1 ตารางกิโลเมตร เท่ากับ 625 ไร่) กำลังรอวันปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นที่ดินเพื่อการเหมืองแร่ ท่ามกลางกระแสพลังงานทดแทน