xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.สผ.สรุผลสำรวจน้ำมันในอันดามันปี 56 - มั่นใจน่าจะมีน้ำมันในแหล่งสำรวจทั้ง 3 หลุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ปตท.สำรวจปิโตรเลียม สรุปผลศึกษาแหล่งน้ำมันในอันดามันปี 2556 หากพบต้องใช้งบเจาะสำรวจหลุมละ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ มั่นใจทั้ง3หลุมน่าที่จะมีแหล่งน้ำมันอยู่บ้าง


นายบัณฑิต ชัยศิลบุญ ผู้จัดการโครงการ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ดูแลโครงการสำรวจปิโตรเลียม แปลงสำรวจ A4/48, A5/48 และ A6/48 นอกชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการดำเนินโครงสำรวจปิโตรเลียม แปลงสำรวจ A4/48, A5/48 และ A6/48 นอกชายฝั่งทะเลอันดามัน ว่า บริษัท พีทีทีอีพี ออฟชอร์ อินเวสท์เมนต์ จำกัด ได้รับสัมปทานเลขที่ 6/2550/82 แปลงสำรวจปิโตรเลียมจำนวน 3 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 70,000 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่นอกชายฝั่ง 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรังและสตูล

ทั้งนี้ทาง ปตท.สผ.สยาม จำกัด มีข้อผูกพันการสำรวจที่ให้ไว้กับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน โดยกำหนดระยะเวลาการสำรวจ ช่วงแรก ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2550 – กุมภาพันธ์ 2553 ทำการศึกษาธรณีวิทยาปิโตรเลียม และสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 2 มิติ จำนวน 5,950 กิโลเมตร ช่วงที่ 2 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2553 – กุมภาพันธ์ 2556

ทั้งนี้ หากบริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด พบว่าผลการสำรวจและศึกษาปิโตรเลียมในระยะเวลาสำรวจช่วงที่ 1 แปลงสำรวจใดมีศักยภาพปิโตรเลียมที่ดี และตัดสินใจขอขยายระยะเวลาสำรวจเป็นช่วงที่ 2 โดยศึกษาธรณีวิทยาปิโตรเลียม และทำการประมวลผลข้อมูลคลื่นไหวสะเทือนใหม่ เจาะหลุมสำรวจ 1 หลุม ต่อแปลงสำรวจที่ขยายระยะเวลาสำรวจเป็นช่วงที่ 2

สำหรับแผนการสำรวจในปีแรก (กุมภาพันธ์ 2550- กุมภาพันธ์ 2551) ทำการศึกษาธรณีวิทยาปิโตรเลียม ปีที่ 2 (กุมภาพันธ์ 2551- กุมภาพันธ์ 2552) ศึกษาธรณีวิทยาปิโตรเลียม ศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการสำรวจคลื่นไหวสะเทือนแบบ 2 มิติ สำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 2 มิติ จำนวนประมาณ 7,200 กิโลเมตร และประมวลผลข้อมูลคลื่นไหวสะเทือนใหม่ ปีที่ 3 (กุมภาพันธ์ 2552-กุมภาพันธ์ 2553) ศึกษาธรณีวิทยาปิโตรเลียม ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ ประมวลผล แปรผลข้อมูล และขอเข้าทำการสำรวจในระยะที่ 2 (กุมภาพันธ์ 2553- กุมภาพันธ์ 2556)

นายบัณฑิต กล่าวว่า จุดที่ทำการศึกษานั้นจะเป็นพื้นที่น้ำลึกทั้งหมด ห่างจากฝั่งกว่า 200 กิโลเมตร ขณะนี้การศึกษาในปีที่ 3 ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว และการศึกษาในปีต่อไปหากพบว่ามีศักยภาพก็อาจจะมีการเจาะสำรวจซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ประมาณปี 2556 แต่จะต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ และในการขุดเจาะต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เนื่องจากฝั่งอันดามันมีน้ำลึกและธรณีวิทยาที่ซับซ้อน มีต้นทุนในการขุดเจาะหลุมละประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา โดยจะต้องทำการขุดแปลงละ 1 หลุม รวม 3 หลุม ทั้งนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะเจอกับก๊าซธรรมชาติมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม จากการที่ก่อนหน้าที่เคยมีบริษัทต่างชาติทำการสำรวจในแปลงดังกล่าวมาแล้ว พบว่ามีแหล่งน้ำมันอยู่บ้าง ซึ่งในส่วนนของปตท.หากสำรวจแล้วเห็นว่าแปลงใดมีปิโตรเลียมก็จะทำการขุดเจาะอย่างแน่นอน หากหลุมใดไม่มั่นใจก็สามารถที่จะคืนสัมปทานให้กับทางกรมเชื้องเพลิงฯได้
กำลังโหลดความคิดเห็น