xs
xsm
sm
md
lg

สภาเด็กเมืองดอกบัวเปิดเวทีถกช่วยเด็กทาสเกม - แนะใช้ กม.ฟันร้านเกมแหกคอกซ้ำซาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาเด็กจ.อุบลฯเปิดเวทีถกหาแนวทางแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนติดเกม โดยแนะให้วัฒนธรรมจังหวัดเข้มงวดการตรวจสอบ-ติดตามการเปิดให้บริการของร้านเกมมากขึ้น ไม่ใช่แค่ออกตรวจสอบโดยแจ้งให้ทางร้านทราบล่วงหน้าเพราะจะเจอแต่ผักชีโรยหน้า
อุบลราชธานี - สภาเด็กจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเวทีสาธารณะเสวนาหาทางช่วยเด็กติดเกม ชี้การห้ามขายเกมไม่แก้ปัญหา เพราะโจ๋ไทยยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ แต่จี้วัฒนธรรมจังหวัดต้องเด็ดขาดสั่งปิดร้านเกมที่ทำผิดซ้ำซาก ขณะเดียวกัน พ่อแม่ต้องสอนลูกคิดให้เป็น เพื่อแยกแยะความผิดความถูกก่อนกลายเป็นเหยื่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เวทีถนนเด็กเดิน หน้าศาลหลักเมือง จ.อุบลราชธานี ศูนย์ประสานงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนภาคอีสาน (ศสอ.) และสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.อุบลราชธานี จัดเสวนา “วิกฤต GTA ทางออกเด็กติดเกม” โดยมี พ.ต.อ.พงษ์พล พงษ์พานิช ผกก.สภ.สว่างวีรวงศ์ นายสมหมาย ศรีจันทร์ ประธานชมรมผู้ประกอบการร้านอินเตอร์เน็ต นายทวีสิทธิ์ วีรวัธนชัย ตัวแทนผู้ปกครอง นายเฉลิมพันธ์ โกวิน รองประธานสภาเด็กและเยาวชน จ.อุบลราชธานี นายปรีชา เกียรติรุจิรัตน์ กรรมการสภาเด็กฯร่วมเสวนา มี น.ส.วิชิราภรณ์ สายพิมพ์ เจ้าหน้าที่สื่อสร้างสุขเป็นผู้ดำเนินรายการ

พ.ต.อ.พงษ์พล พงษ์พานิช ผกก.สภ.สว่างวีรวงศ์ ฐานะผู้ใช้กฏหมายควบคุมดูแลร้านเกม กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการห้ามขาย 10 เกมอันตราย เพราะเยาวชนยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ ยิ่งบอกว่าเกมไหนห้ามเล่นก็ยิ่งพยายามหามาเล่น ทางออกที่เหมาะสมของทุกฝ่าย โดยผู้ประกอบการไม่ได้รับผลกระทบ และเด็กก็สนุกอย่างมีขอบเขต ผู้ปกครองต้องช่วยดูแลด้วย

สำหรับการกำกับดูแลร้านเกมเจ้าของเรื่องคือวัฒนธรรมจังหวัด แต่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมอบให้ตำรวจช่วยควบคุมเวลาการเปิด-ปิดให้บริการตามเวลาที่กำหนด

ผกก.สภ.สว่างวีรวงศ์ กล่าวต่อไปว่า แต่ทุกฝ่ายต้องเข้มงวดการควบคุมให้มากยิ่งขึ้น โดยร้านเกมร้านไหนถูกจับเกิน 1 ครั้ง สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดต้องใช้อำนาจสั่งปิดร้านไปเลย เช่นเดียวกับพ่อค้ายาบ้า ซึ่งไม่กลัวเสียค่าปรับ ไม่กลัว ถูกยึดทรัพย์ จึงต้องใช้มาตรการเด็ดขาดเข้ามาดำเนินการ พร้อมเรียกร้องให้สื่อมวลชนจัดเวทีเปิด 10 เกมอันตรายให้นักจิตวิทยาแนะนำเด็กและครอบครัวว่า ควรเล่นเกมอย่างไร แยกแยะให้เป็น ฆ่าคนในเกมได้คะแนน แต่ชีวิตจริงต้องติดคุกเป็นต้น พ.ต.อ.พงษ์พลกล่าว

ด้าน นายสมหมาย ศรีจันทร์ ประธานชมรมผู้ประกอบการร้านเกมกล่าวถึงการแก้ปัญหาเกมโดยการห้ามขายว่าเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ครูและผู้ปกครองต้องแก้ที่ต้นเหตุคือการสร้างจิตสำนึกให้กับเด็กและทุกฝ่าย โดยผู้ประกอบการถ้าพบเห็นเกมไม่ชอบมาพากล จะต้องห้ามไม่ให้เด็กเล่น แต่ก็มีร้านเกมบางแห่งใช้วิธีจ้างคนมาเฝ้าร้าน ทำให้เกิดการปล่อยปละละเลย ที่ผ่านมาที่ร้านของตน หากพบเด็กใช้จ่ายเงินเล่นเกมมากเกินไป ก็จะโทรศัพท์สอบถามผู้ปกครองว่าทราบเรื่องเด็กใช้จ่ายเงินมาเล่นเกมมากหรือไม่ ซึ่งผู้ปกครองก็พอใจ ดังนั้นผู้ประกอบการร้านเกมต้องช่วยกันดูแลพฤติกรรมของเด็กและคิดด้วยว่าเด็กอายุขนาดนี้ ควรใช้จ่ายเงินวันละเท่าไหร่ มากเกินไปหรือไม่ หากทุกคนทำอย่างนี้ปัญหาก็จะไม่เกิด

ขณะที่ เภสัชกรทวีสิทธิ์ วีรวัธนชัย ตัวแทนผู้ปกครองแสดงความไม่เห็นด้วยกับการห้ามขายเกมเช่นกัน เพราะมองว่าผู้ที่เรียนจบแพทย์ วิศวกร หรือออกมาทำงานเสียสละเพื่อสังคมหลายคน ก็เคยเล่นเกมอันตรายเหล่านี้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร มีเพียงส่วนน้อยที่ก่อปัญหาให้สังคมแล้วอ้างเกิดมาจากเกม ดูจะไม่ยุติธรรม หากจะแก้ควรใช้เทคนิคให้ผู้เล่นเข้าถึงเกมอันตรายได้ยากดีกว่าการห้ามขาย

ตัวแทนผู้ปกครองรายนี้กล่าวอีกว่า เมื่อพูดถึงปัญหาทุกคนก็มักจะโทษคนอื่น โยนความผิดให้คนอื่นเสมอ หยุดโทษคนอื่นแล้วหันมาให้เวลากับลูกอย่างน้อยวันละ 15 นาที หยุดใช้โทรศัพท์ แต่หันมาพูดคุย ไต่ถามสารทุกข์สุขดิบกับลูก เล่นกับเขาอย่าเต็มที่ สอนให้เขารู้จักโลกของความเป็นจริงก็สามารถช่วยแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้

ในส่วนของ นายเฉลิมพันธ์ โกวิน และนายปรีชา เกียรติรุจิรัตน์ ตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชน จ.อุบลราชธานี ให้ความเห็นคล้ายกันว่าเคยเล่นเกมอันตราย แต่ก็ไม่ได้ไปทำร้ายใคร การเล่นเกมอยู่กับการแบ่งเวลาให้ถูกไม่หมกมุ่นกับมันมากและไม่เห็นด้วยกับการห้ามขายเกม หากจะทำควรใช้มาตรการเข้มงวดอย่างอื่น เช่น การแบ่งเรตเกม เกมไหนเหมาะกับเยาวชนอายุเท่าไร และบังคับใช้กฎหมายกับผู้ทำผิดในทุกโอกาสอย่างจริงจัง ซึ่งจะได้ผลมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น