ครู ผู้ปกครอง เสนอให้ สพฐ.ทำวิจัยเด็กติดเกมทุกแง่มุม เพื่อหาแนวทางแก้ไข เรียกร้องสมาคมเกม งดนำเข้าเกมรุนแรง หวั่นเด็กซึมซับความรุนแรงจากเกม
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กพฐ.กล่าวภายหลังการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อวางแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหานักเรียนติดเกม โดยมี ฝ่ายกิจการนักเรียน เครือข่ายผู้ปกครอง บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลช่วยเหลือนักเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียนกว่า 20 โรงเข้าร่วมประชุม
คุณหญิงกษมา กล่าวยอมรับว่า ปัญหาเด็กติดเกมมีอยู่ทั่วประเทศ ไม่ใช่เกิดเฉพาะระดับมัธยมเท่านั้นที่มีปัญหารุนแรง พบว่า ในระดับประถมมีไม่น้อยไปกว่ากัน อีกทั้งทางโรงเรียนบอกว่ามีร้านเกมอยู่บริเวณรอบสถานศึกษาจำนวนมาก ที่สำคัญ ครูฝ่ายปกครองไม่สามารถเข้าไปตรวจค้นได้ เพราะครูไม่มีหน้าที่เข้าไปตรวจค้นอีกอย่างไม่มีกฎหมายรองรับ นอกจากนี้ มีครูที่เข้าไปตรวจสอบร้านเกมถูกข่มขู่ด้วย
ดังนั้น สพฐ.จะนำเรื่องนี้ไปสู่การระดมความคิดเห็นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีครู อาจารย์ เครือข่ายผู้ปกครอง คณะกรรมการนักเรียน และยุวชนแนะแนว ภายในวันที่ 12-31 สิงหาคม คาดว่า จะได้ข้อสรุปนำไปสู่แนวทางแก้ไขร่วมกัน พร้อมกันนี้ จะให้ตัวแทนเด็กและเยาวชนจากทั่วประเทศนำเสนอผลงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับนโยบาย และสื่อมวลชนในวันที่ 31 สิงหาคมนี้
คุณหญิงกษมา กล่าวต่อว่า ตนอยากให้ทุกโรงเรียนช่วยกันระดมความคิดเห็น ดูว่านักเรียนเขามีความคิดในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ตรงนี้เหมือนกับมองปัญหาผ่านมุมมองของเด็กๆ จากนั้นจะนำมาประมวลหาแนวทางแก้ไขในระดับจังหวัด ต่อจากนั้นจึงคัดเลือกประเด็นที่สำคัญเข้าสู่การประชุมในระดับชาติ ที่จะจัดขึ้นกลางกันยายนนี้ ซึ่งวันดังกล่าวจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ไอซีที เอ็นจีโอ เครือข่ายผู้ปกครอง ฯลฯ เข้าร่วมด้วย
“ต้องยอมรับว่า ขณะนี้เครือข่ายผู้ปกครองให้ความสำคัญกับเรื่องเด็กติดเกมมาก ถ้าหากสามารถทำได้ในระดับโรงเรียนก็เท่ากับเป็นการกระตุ้นให้คนหันมาสนใจช่วยกันแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม สพฐ.จะรับเป็นตัวประสานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรม ซึ่ง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสนใจ คาดว่า น่าจะมาเป็นประธานด้วย”
นายสมโรจน์ เตียงนิล รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานบุคคล โรงเรียนเทพลีลา กล่าวว่า รายล้อมโรงเรียนเต็มไปด้วยร้านเกม ทางโรงเรียนร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชนในชุมชน ทำการสำรวจร้านเกมพบว่ามีเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญ ร้านเกมเหล่านี้ค่อนข้างเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพล เคยลงพื้นที่กับผู้ปกครองและโดนขมขู่หลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้นักเรียนห่างไกลร้านเกม ทางโรงเรียนได้จัดโครงการพุทธบุตร การพาเด็กไปเข้าค่ายที่วัด พร้อมทั้งให้ความรู้เรื่องภัยจากการติดเกม พร้อมกันนี้ยังจัดกิจกรรมพี่ดูแลน้อง และเสริมเรื่องดนตรี กีฬา ส่วนคนทีมีปัญหามาก ซ้ำซ้อน จะแก้ไขภายใต้โครงการครอบครัวอบอุ่นด้วยสองมือแม่
นางสุวินิต อุบลเลิศ รองผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา กล่าวว่า อยากให้ทุกโรงเสนอแนวทางแก้ปัญหาไม่ใช่เฉพาะเรื่องเกมเท่านั้น อยากให้พ่วงเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องการทะเลาะวิวาท การใช้ความรุนแรง เว็บโป๊ และอยากเสนอให้มีการแก้กฎหมาย เรื่องการตรวจค้นร้านเกมของครูฝ่ายปกครองไม่มีอำนาจเข้าตรวจในร้านได้ พร้อมกันนี้อยากให้ทุกฝ่ายสร้างจิตสำนึกที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านเกม ไม่มอมเมาเยาวชนและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการเสนอให้ สพฐ.ทำวิจัยว่าทำไมปัญหาเด็กติดเกม การติดเกมของเด็กทำไมไม่ลดลง หรือทำวิจัยเปรียบเทียบปริมาณร้านเกมกับจำนวนเด็กที่ติดเกม เพราะจากการสำรวจร้านเกมรอบๆ สถานศึกษา พบว่า มีร้านเกมเปิดเพิ่มขึ้น และไม่รู้ว่าร้านเกมเหล่านี้ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
อาจารย์รายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า มีผู้ปกครองควบคุมดูแลลูกของตนเองไม่ได้และไม่สามารถพาลูกออกจากร้านเกมได้ ผู้ปกครองรายนี้ต้องโทรศัพท์ตามครูมาช่วยพาเด็กกลับบ้าน เพราะควรมีมาตรการอะไรซักอย่างหนึ่ง เพื่อควบคุมเด็กไม่ให้เล่นเกมทั้งวัน และเช็คเกมที่ว่าใช้ความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน เพราะการที่เด็กเล่นเกมที่ใช้ความรุนแรงนานๆ เขาจะค่อยๆ ซึมซับการใช้ความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว
อย่างไรก็ตาม อยากฝากไปยังสมาคมเกม ซึ่งนำเข้าเกม อย่านำเข้าเกมรุนแรงที่สร้างสถานการณ์เสมือนจริงมาจำหน่าย