“แม่ล่ามโซ่ลูกติดเกมคอมฯ (ไทยรัฐ 16 ก.ย.47)”
“สี่วัยรุ่นบุกปล้นเกมเพลย์สเตชั่นใช้สันมีดฟันอาแป๊ะเจ็บ (คม ชัด ลึก 7 มี.ค.50)”
“สยอง! โจ๋โหดฆ่าแท็กซี่ เลียนแบบเกมออนไลน์ (ไทยรัฐ 3 ส.ค.51)
พาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์หัวสีเกี่ยวกับพฤติกรรมก้าวร้าว อันเนื่องจากเกมมีมาอย่างต่อเนื่อง และนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ล่าสุด ข่าว เด็ก ม.6 ฆ่าแท็กซี่เลียนแบบเกม GTA ทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความเป็นห่วงไม่น้อย
ซึ่งในเรื่องนี้ นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ซึ่งดูแลศูนย์บำบัดเด็กติดเกมอยู่ด้วยได้คาดคะเนแนวโน้มความรุนแรงของปรากฏการณ์การเลียนแบบเกมที่ระบาดทั่วไปว่า ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ แบบนี้ก็จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนมาก เนื่องจากการสำรวจหลายสำนักพบว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของคนที่เล่นและติดเกมจะมีมากตามกำลังขยายตัวของเทคโนโลยี ทั้งนี้เกมต่างๆ ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรืออยู่ใต้ดินจะเข้าถึงได้ง่ายขึ้นโดยอายุการเริ่มเล่นจะน้อยลงจากประถมปลายก็จะร่นมาอยู่ที่วัยพ้นอนุบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรให้ความตระหนักสำคัญ
“เด็กเข้าอินเทอร์เน็ตได้เขาก็จะเจอเกมได้ง่าย มันหนีไม่พ้น เราห้ามไม่ได้ แต่ป้องกันได้ ถ้านิ่งก็จะบานปลายเรื่อยๆ ยิ่งข่าวระยะหลังๆ แม่ล่ามโซ่ลูก ลูกหายจากบ้านเพราะเล่นเกมเยอะ จากนั้นก็มีเรื่องการปล้น งัดเอทีเอ็ม ปล้นเพื่อนเพื่อเอาไปจ่ายค่าเกมแค่เล่นเยอะ ถัดมาก็ทำร้ายกัน สุดท้ายก็มาเรื่องฆ่า เป็นข่าวหนักขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่ทำอะไร จริงอยู่มันไม่ได้เป็นกับเด็กทุกคน แต่เด็กอีกหลายคนกำลังจะเป็นกัน”
“พ่อแม่” คนสำคัญลูกติดหรือไม่
ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นฯ ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา เกือบ 4 ปีของการทำงานบำบัดเด็กติดเกมมีเด็กและครอบครัวที่เข้ามาขอคำปรึกษาและร่วมเข้าค่ายบำบัดกว่า 1,000 คน โดย 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้ารับการบำบัดเล่นเกมน้อยลงและใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น ส่วนที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้เนื่องจากพ่อแม่ไม่เริ่มเปลี่ยนแปลง เฝ้าโทษลูกและคนอื่นตลอดเวลา ซึ่งการหละหลวมต่อระเบียบวินัยตั้งแต่เด็ก การตอกย้ำว่าเรียนเก่ง คือ สุดยอดเด็กโดยไม่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมอื่น การบ่นก่นด่าลูกว่าไม่เอาไหนแต่ก็เลือกใช้เงิน คอมพิวเตอร์ และทีวีเลี้ยงลูก เหล่านี้คือต้นเหตุสำคัญทำให้เด็กที่เข้าถึงเกมได้ง่ายอยากเป็นฮีโร่ เป็นผู้ชนะ และได้รับการชื่นชมและยอมรับในโลกไซเบอร์และกลายเป็นคนติดเกมในที่สุด
“แน่นอนว่า ส่วนใหญ่ที่เด็กเล่นจะเป็นเกมรุนแรง แต่ประเด็นของการบำบัดไม่ได้อยู่ที่เขาเล่นเกมอะไรเพราะทางออกของเกมเป็นทางเดียวกัน คือ ฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมตัวเอง ทำอย่างไรจึงจะทำให้เล่นเกมเป็นความสุข สนุก ชั่วคราว เล็กน้อย ไม่ได้เล่นเพื่อเป็นเจ้า เป็นเซียนแห่งเกม การออกคือสอนให้เขาหัดที่จะคุมตัวเอง” นพ.บัณฑิต ระบุ
เมื่อเหตุเริ่มต้นเกิดจากผู้ใดก็ต้องเริ่มแก้ที่ผู้นั้น กรณีที่ลูกยังเล็ก 3-5 ขวบ นพ.บัณฑิต แนะนำให้ใช้หลักการทหาร กล่าวคือ การใช้กฎระเบียบ วินัยในบ้านอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเด็กเล็กจะทำตามคำสั่งได้ ในวัยที่โตขึ้นเขาจะมีระเบียบและควบคุมตนเองในลำดับถัดมา แต่เมื่อเป็นเด็กโตและย่างสู่วัยรุ่นหลักการทูตสำคัญกว่า ให้ใช้การเจรจา ต่อรอง ประนีประนอมด้วยหลักเหตุผลและการให้เกียรติ เช่นนี้เด็กก็จะเห็นคุณค่าในตนเองและมีกำลังใจในการทำความดีต่อไป
“พ่อแม่ไทยต้องอ่อนนอกแข็งใจควรใช้วาจาสุภาพกับลูก สื่อสารกันอย่างสร้างสรรค์ ฟังเขาว่าชอบอะไรไม่ชอบอะไรค่อยหาทางสนับสนุน หาพื้นที่ในสังคมให้เขายืนเช่นนี้แล้วลูกจะฟังเรา แต่ส่วนใหญ่มักตรงกันข้ามนอกจากไม่ฟังแล้วยังเอาแต่บ่น โทษแต่ลูกโดยไม่มองตัวเอง ไม่ใช่ว่าเด็กไม่รู้ว่าเกมไม่ดี แต่ธรรมชาติเขาเมื่อทำดีแล้วไม่มีกำลังใจก็เลือกประชดดีกว่า ปัญหาก็ยิ่งบานปลาย” ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นฯ แนะ
คำให้การเด็ก (เคย) ติดเกม
“ผมเล่นเกมมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่คิดว่าตัวเองจะติด เป็นหนักตอน ม.3 ช่วงปิดเทอมผมเคยเล่นเกมข้ามวันข้ามคืน ข้าวปลาไม่กิน น้ำท่าไม่อาบ...”
น้องโม วัย 17 ปี เล่าช่วงเวลาที่เคยผ่านมาที่เคยกินอยู่หลับนอนกับเกมทุกรูปแบบ ทุกประเภทแบบอย่างจริงจังมานานกว่า 3 ปี ส่งผลให้แทนที่หนุ่มน้อยจะแข็งแรงกลับเป็นคนป่วยง่าย ไม่สบายบ่อย ผลการเรียนร่วงกราว หนักสุดเห็นจะเป็นปัญหาบุคลิกภาพที่ไม่ยอมคุยกับใครเอาแต่คิดถึงเกม แต่ยังนับว่าเขาโชคดีกว่าคนอื่นๆ เล็กน้อยด้วยเหตุที่อยู่โรงเรียนประจำจึงทำให้ช่วงเวลาหนึ่งได้หลุดออกจากเกมได้ ด้วยกิจกรรมอย่างอื่นเช่น ดนตรี กีฬา เพื่อนฝูง เวลาคิดถึงเกมจึงมีน้อยลง ยิ่งตอนนี้โมเรียนอยู่ ม.5 ยิ่งไม่มีเวลามาสนใจเท่าใดนัก อาการที่เคยเป็นจึงดีขึ้น
“ช่วง ม.ต้น ผมเล่นเกมทุกอย่าง TGA ที่เป็นข่าวว่าเขาเลียนแบบนั่นก็เล่นมาแล้ว แม่ก็ถามเพราะเป็นห่วง เราก็รู้สึกว่ามันรุนแรงเหมือนกัน แต่ไม่คิดว่าคนอื่นจะเลียนแบบได้ขนาดนั้น ผมเคยติดเกมจริงแต่ก็แยกแยะออกว่าอันไหนโลกของเกมอันไหนโลกของคน เห็นข่าวก็ตกใจเหมือนกัน แต่ว่าตอนนี้เราอยู่ ม.ปลาย แล้วก็เพลาๆ เรื่องเกมไปแต่ก็ยังเล่นอยู่บ้าง อยากรู้ว่าเกมอะไรออกใหม่ แต่ไม่ติดแล้ว”
คำบอกเล่าของ โม สอดคล้องกับข้อมูลของ นพ.บัณฑิต ที่ระบุว่า เด็กวัยรุ่นจะเล่นเริ่มเล่นเกมตั้งแต่ประถมปลาย และเล่นหนักขึ้นช่วงมัธยมต้นโดยช่วงวัยนี้จะมีผู้เล่นมากและเริ่มติดเกมแล้ว แต่ในช่วงมัธยมปลายจำนวนคนจะน้อยลงเนื่องจากมีกิจกรรมอื่นมาเบี่ยงความสนใจ แต่เด็กที่ยังเล่นอยู่จะติดหนักมากขึ้น
โม บอกว่า เขาเคยเข้าค่ายเด็กติดเกมของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นฯ ของ นพ.บัณฑิต เพราะคุณแม่ขอร้องให้ไปเป็นเพื่อน ในค่ายก็จะแยกเด็กกับผู้ใหญ่แล้วเขาก็จะฝึกให้มีระเบียบวินัย ตื่นพร้อมกัน นอนพร้อมกัน โดยส่วนตัวโมนั้นพอจะรู้กฎอยู่แล้ว เนื่องจากอยู่โรงเรียนประจำจึงไม่คิดว่ามีอะไรแปลกใหม่ แต่คิดว่าคุณแม่คงอยากให้เขาออกมาจากเกมเท่านั้น
“คุณแม่คงอยากให้เราออกจากเกมเลยชวนไปเข้าค่าย ก็คิดว่าดีครับ เราก็คิดว่าช่วงนั้นก็เอาแต่เล่นเกมหาอะไรอย่างอื่นทำก็น่าจะดี คุณแม่ขอร้องด้วยเลยไปเป็นเพื่อนท่าน กลับมาก็เปิดเรียน เราก็หนีจากเกมได้” หนุ่มวัย 17 เผยที่มา
บำบัดที่ครอบครัว
อีกครอบครัวหนึ่งที่ความสัมพันธ์ที่เคยหวานระหว่างแม่กับลูกร้าวฉานมาแล้วเพราะเกม แต่กำลังค่อยๆ สมานขึ้นมาใหม่แม้จะยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยก็มีสัญญาณว่ากำลังดีขึ้น โดยขอยกคำพูดของ คุณแม่ลักษณ์รวี ตรีสุวรรณ ตอนหนึ่งที่พูดถึงลูกชายฝาแฝดวัย 16 ปีที่เคยติดเกมมาเป็นกรณีศึกษาของการบำบัดครอบครัว
“ลูก 2 คนติดเกมทั้งคู่ เขาคุยกันรู้เรื่องแต่คุยกับแม่ไม่รู้เรื่อง ตอนเขา 15 ปีติดหนักจนพาไปหาหมอที่รพ.ในโคราชก็จนใจ หนักเข้าก็ก้าวร้าว อารมณ์แรง หงุดหงิดใส่แม่ ความน่ารักของเขาหายไปหมด จากที่เคยเรียนได้ที่ 1 ก็ร่วงทั้งคู่ แถมเขาบอกว่าแม่นั่นแหละที่เปลี่ยน เขาว่าเราด่าเขา แต่เขาไม่คิดว่าเขาก็ก้าวร้าว สุดท้ายเข้าค่ายครอบครัวกับสถาบันฯ เลยรู้ว่าแม่ก็ผิด ลูกก็ไม่เข้าใจ เราจึงเริ่มเปลี่ยนตัวเองก่อน เขาเห็นว่าเราเปลี่ยนไปจึงยอมฟังเรามากขึ้น”
คุณแม่ลักษณ์รวี บอกว่า ตอนนี้แม้แก้วตาดวงใจทั้งสองจะยังเลิกเกมได้ไม่เด็ดขาด ต้องคอยดูและคอยให้กำลังใจ แต่ก็มีกิจกรรมอย่างอื่นที่เบี่ยงความสนใจของพวกเขาได้บ้าง ความสัมพันธ์แม่ลูกก็ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งด้วยความสนใจด้านอิเลคทรอนิคเป็นทุนเดิม คุณแม่จึงส่งเสริมให้แข่งขันหุ่นยนต์ของจังหวัด เมื่อได้รางวัลชนะเลิศมาฉุดแรงสนใจและสร้างความมุ่งมั่นใหม่ขึ้นมา ความหวังของครอบครัวที่ลูกชายที่น่ารักจะกลับมาอีกครั้งจึงมีมากขึ้นตามลำดับ
ท้ายที่สุด นพ.บัณฑิต ย้ำว่า การให้ต้นขั้วอย่างสถาบันครอบครัวทำงานหนักแต่เพียงฝ่ายเดียวย่อมก่อให้เกิดผลไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ประเด็นการติดเกมของเด็กวัยรุ่นยังจะไม่รู้สิ้นสุดตราบเท่าที่เทคโนโลยีเข้าถึงง่ายดาย ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องช่วยกันทุกส่วนทั้งคนและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กรมการต่างๆ ที่เกี่ยวกับสังคม พ่อแม่ที่ควรเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูก โรงเรียนเปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออกอย่างถ้วนทั่ว ตลอดจนการปราบปรามและควบคุมการจัดเรทเกมอย่างเอาจริงเอาจัง ทุกภาคส่วนต้องทำพร้อมๆ กันโดยทำหน้าที่ของตนอย่างแข็งขัน เชื่อแน่ว่าปัญหาที่กำลังจะลุกลามจะค่อยๆ ฝ่อไปในที่สุด