xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าหลักสูตรสร้าง “ครูเพศศึกษาพันธุ์ใหม่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 การฝึกสอนเพศศึกษาของนศ. ที่เน้นการมีส่วนร่วมของนักเรียนเป็นสำคัญ
ต้องยอมรับว่า ในการจัดกระบวนการให้ความรู้เรื่อง “เพศศึกษา” แก่เยาวชนที่ถูกต้องนั้นมีหลากหลายแนวทาง แต่ละแนวทางมุ่งไปในเชิงการฝึกอบรมป้องกัน โดยเน้นที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ แน่นอนว่ามีเพียงแค่เยาวชนแกนนำหรือตัวแทนเข้าร่วมการอบรมเท่านั้นที่ได้เรียนรู้ถึงข้อมูลที่ถูกต้อง แต่สำหรับการนำไปเผยแพร่ ปรับใช้กับเยาวชนคนอื่นๆ ก็ยังเป็นเรื่องที่ยากในการเข้าถึง

ความจริงในเรื่องความรู้เรื่องเพศนั้นเยาวชนก็น่าจะได้รับจากการศึกษาภายในห้องเรียน ทว่าครู ผู้สอนในเรื่องเพศโดยเฉพาะกลับมีน้อย ซึ่งเมื่อมองไปที่หลักสูตรผลิตครูอย่างครุศาสตร์ก็จะพบว่าไม่มีรายวิชาเรื่องเพศศึกษา ทำให้นักศึกษาว่าที่ครูในอนาคตไม่มีความรู้ด้านเพศศึกษาที่เพียงพอ เพื่อเห็นถึงความสำคัญในการผลิตครูสอนเพศศึกษา ทางเครือข่ายคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ จึงจับมือกับ องค์การแพธ (Path) โดยโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ ร่วมกันร่างหลักสูตร “เพศศึกษารอบด้าน (Comprehensive Sexuality Education)” แก่นักศึกษาสายครูขึ้น

** เปิดแนวคิด ‘เพศศึกษารอบด้าน’
ผศ.จินตนา เวชมี
ผศ.จินตนา เวชมี คณะครุศาสตร์ มรภ.พระนครศรีอยุธยา ในฐานนะผู้ประสานงาน “โครงการพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษา สำหรับนักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ” อธิบายว่า จุดมุ่งหมายในการสอนเพศศึกษารอบด้านนั้นเพื่อมุ่งให้นักศึกษาครุศาสตร์ มีพื้นฐาน ความรู้เกี่ยวกับเพศ และเพศวิถีในแง่มุต่างๆ ภายใต้วิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม ประเพณี และมีทักษะในการจัดระบวนการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การสอนและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กนักเรียนต่อไป

ทั้งนี้ องค์การแพธมีประสบการณ์ในการทำงานด้านเพศในกลุ่มเยาวชน จึงได้มีการร่วมมือกันจัดทำโครงการฯ นี้ขึ้น โดยนำคณาจารย์คณะครุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 10 แห่งอันได้แก่ มรภ.พระนครศรีอยุธยา, มรภ.จันทรเกษม, มรภ.เชียงราย, มรภ.ลำปาง, มรภ.หมู่บ้านจอมบึง, มรภ.เพชรบุรี, มรภ.กาญจนบุรี, มรภ.นครศรีธรรมราช, มรภ.ยะลา, และ มรภ.อุบลราชธานี มาทำการอบรมจากองค์การแพธเพื่อนำกลับไปจัดการเรียนการสอนเพศศึกษารอบด้าน
วรานุช ชินวรโสภาค
ด้าน “วรานุช ชินวรโสภาค” ผจก.โครงการก้าวย่างฯ องค์การแพธ บอกว่า กระบวนการที่เราทำคือ การทำความเข้าใจว่าเพศศึกษาไม่ใช่แค่เรื่องของเพศสัมพันธ์ แต่คือมิติของสัมพันธภาพของมนุษย์ โดยจัดการไม่ให้สัมพันธภาพนั้นเกิดอันตราย เป็นการฝึกทักษะ กระบวนการคิด โดยใส่กิจกรรม อธิบายถึงความเป็นไปที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งทางเราจะทำการฝึกอบรมให้แก่อาจารย์ครุศาสตร์ เพื่อที่จะได้นำกระบวนการที่ได้รับการถ่ายทอดมาจัดเป็นหลักสูตรสอนนักศึกษาสายครู ที่นักศึกษาเองก็จะนำกระบวนการเหล่านี้ไปฝึกสอนแก่นักเรียนในช่วงชั้นที่ 2,3,4 ร่วมกับการสอนในวิชาเอกที่เรียนเป็นเวลา 1 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนก้าวไปเป็นครูอย่างสมบูรณ์

“ทางเราพยายามจะเข้าไปจัดอบรม ให้ความรู้ในโรงเรียนมัธยม อาชีวะ เป็นประจำอยู่แล้ว แต่ก็มานึกย้อนดูว่าหากเราสามารถถ่ายทอดความรู้นี้ให้กับแหล่งที่ผลิตครูอย่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏก็น่าจะเป็นประโยชน์ในระยะยาว ที่จะมีครูที่มีองค์ความรู้ และมีกระบวนการสอนเพศศึกษาอย่างรอบด้าน ซึ่ง ณ ตอนนี้เห็นว่าเพศศึกษาจะรวมอยู่ในวิชาสุขศึกษาทำให้รายละเอียดเรื่องเพศศึกษาถูกลดทอนลง อีกทั้งครูผู้สอนเองก็ไม่สบายใจที่จะสอน เพราะคิดว่าจะเป็นการชี้โพรงให้กระรอกหรือไม่ จึงมีการสอนเพียงแค่หน้าที่หลักของอวัยวะ ความเปลี่ยนแปลงในร่างกายของชาย หญิง แต่ไม่สอนในมิติความสัมพันธ์ การป้องกัน ที่ถูกต้อง” วรานุช ขยายความ

** ครูสอนเพศศึกษาที่หลาย ร.ร.เรียกร้อง

ด้วยปัญหาเรื่องของวัยรุ่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่มีเรื่องเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรเป็นปัญหาใหญ่ ทำให้หลายโรงเรียนเห็นความสำคัญและเปิดรับแนวคิด กระบวนการป้องกันเรื่องนี้มากขึ้น
อ.นริสานันท์ แมนผดุง
อ.นริสานันท์ แมนผดุง อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ มรภ.พระนครศรีอยุธยา หนึ่งในผู้เข้ารับการ อบรมชี้ให้เห็นว่า หลังจากที่นำความรู้ และกระบวนการสอนเรื่องเพศมาถ่ายทอดให้แก่นักศึกษา จนกระทั่งถึงช่วงเวลาที่นักศึกษาต้องออกฝึกงานจริงนั้น ทางเราก็กังวลว่าสิ่งที่นักศึกษาจะออกไปสอนนั้นจะได้รับการตอบรับหรือไม่ แต่เมื่อได้พูดคุยกับเหล่าผู้บริหารโรงเรียนที่จะมีนักศึกษาต้องไปฝึกสอนกลับได้รับการตอบรับอย่างดี ผอ.โรงเรียนบางแห่งถึงกับเอ่ยว่า “น่าจะมีการสอนอย่างนี้ตั้งนานแล้ว” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี อีกทั้งนักเรียนที่เรียนกับครูฝึกสอนก็ให้ความไว้วางใจ สะท้อนให้เห็นในสิ่งที่เด็กต้องการคือที่ปรึกษา คนที่คอยให้คำแนะนำที่ดี เมื่อเขาก้าวสู่วัยรุ่น และครูฝึกสอนเองก็ได้เรียนรู้การเป็นครูมืออาชีพมากขึ้นเช่นกัน

“เดิมทีเนื้อหาในการสอนนักศึกษาสายครูส่วนใหญ่จะเน้นไปที่วิชาเอก แต่เมื่อได้มาเรียนรู้กระบวนการของแพธ ทำให้มีการเสริมกระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาเพิ่มขึ้น นักศึกษาเองก็ได้ฝึกทักษะการคิด โดยไม่จำเป็นต้องเน้นเนื้อหา ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเด่นของหลักสูตร และเมื่อนักศึกษาได้ออกฝึกสอนเขาก็จะกล้าถ่ายทอดกระบวนการด้านเพศศึกษาที่ได้เรียนรู้มา เพื่อช่วยในการเพิ่มทักษะชีวิตให้แก่นักเรียนมากขึ้น ซึ่งยุคนี้จะห้ามอย่างเดียวก็คงไม่ได้ ครูพันธุ์ใหม่จึงต้องเน้นเชิงลุก เน้นการป้องกัน ฝึกให้เด็กหัดคิด วิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเองได้” อ.นริสานันท์ เน้นย้ำ

** เน้นกิจกรรม สร้างความตระหนัก

สุรวุฒิ ตั้งดี
ในส่วนของว่าที่ครูพันธุ์ใหม่อย่าง สุรวุฒิ ตั้งดี นศ.ชั้นปีที่ 5 คณะครุศาสตร์ มรภ.พระนครศรีอยุธยา เห็นว่า หลักสูตรเพศศึกษารอบด้านที่ได้เรียนนั้นเป็นเรื่องที่สนุก ท้าทายเพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวใกล้ตัว ประกอบกับสิ่งที่อาจารย์นำมาถ่ายทอดต่อก็เป็นการเพิ่มพูนความรู้อีกทางหนึ่ง ด้วยเรื่องของเนื้อหา ที่สอดแทรกด้วยกิจกรรม ซึ่งกระบวนการเช่นนี้เห็นว่ามีประโยชน์มากในการพัฒนาระบบความคิด และเปลี่ยนทัศนคติในตัวครูที่สอนเพศศึกษา เพราะจะเห็นได้ว่าครูที่เข้าใจ และสอนเพศศึกษาจริงๆ ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนเด็กในแต่ละโรงเรียน ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กจะได้รับความรู้อย่างละเอียด

“การสอนที่เป็นอยู่จะเน้นให้เด็กมีส่วนร่วมกับกิจกรรม เพื่อให้เขาเกิดความตระหนักในเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างเช่น “กิจกรรมแรกน้ำ” กระบวนการเรียนรู้ในเรื่องการแพร่เชื้อเอดส์ โดยการแจกขวดบรรจุน้ำเปล่าให้เด็กคนละขวด ซึ่งหนึ่งในนั้นจะมีอยู่ 1 ขวดที่มีสารเคมีปนอยู่ จากนั้นให้เด็กดูดน้ำของตนเองคนละ 5 ซีซี เพื่อแลกกับขวดของคนอื่นไปเรื่อยๆ ประมาณ 5 ครั้ง จากนั้นนำน้ำจากขวดของเด็กทุกคนมาตรวจ ก็จะพบว่าเกือบทั้งหมดที่มีน้ำเจือปนสารเคมี ซึ่งเปรียบเสมือนคู่สามี ภรรยาที่หากฝ่ายหนึ่งผ่ายใดไปมีเซ็กซ์กับคนอื่นมาโดยไม่ป้องกัน ต่างคนก็จะไม่รู้เลยว่าติดโรคหรือไม่ ซึ่งเมื่อเฉลยเด็กก็จะพบว่าน้ำที่ผสมสารเคมีจะมีเพียงแค่ขวดเดียว ก็สะท้อนให้เห็นว่าคนเพียงคนเดียวก็สามารถแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว นี่ก็เป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่งที่สร้างความตระหนัก ความเข้าใจเรื่องการป้องกัน ในการมีเพศสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นกับเด็กได้” สุรวุฒิ ให้ภาพ

ถึงตรงนี้ ผศ.จินตนา ผู้ประสานงานโครงการ ย้ำอีกครั้งว่า รายวิชาเพศศึกษารอบด้านเป็นตัวอย่างในการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ไม่มุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาด้านเพศสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว แต่ให้น้ำหนักในส่วนของการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การกำหนดคุณค่าในตนเองของผู้เรียนด้วย ความสำเร็จในหลักสูตรเพศศึกษารอบด้านที่นำร่องไปแล้วในมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 10 แห่ง ที่ตอนนี้มีนักศึกษาที่กำลังออกฝึกสอน ถึงแม้จะเป็นเพียงการเริ่มต้นแต่คิดว่ากระบวนการเช่นนี้สามารถเป็นไปได้กับการผลิตครูเพศศึกษา และในอนาคตอันใกล้จะมีการบรรจุรายวิชานี้ให้นักศึกษาเรียนตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 เพื่อเตรียมความพร้อมกับ “ว่าที่ครู” ให้มากกว่าที่เป็นอยู่

“ถึงแม้ว่าปัญหาที่เกิดกับวัยรุ่นนั้นยากที่จะห้ามแต่อย่างน้อยหากเราสอนให้เขามีสำนึก เพียงแค่ได้รู้จักใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ ถึงผลที่จะตามมาก่อนลงมือทำอะไรสักนิด ก็ถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุดแล้วในฐานนะของครูคนหนึ่ง” ผศ.จินตนา ทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น