ศรีสะเกษ - “9 ส.ว.” กมธ.ต่างประเทศ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรับฟังข้อมูลกรณีปัญหาเขาพระวิหาร จากชาวศรีสะเกษ ด้านคนศรีสะเกษ ย้ำ ศาลโลกปล้นปราสาทพระวิหารไปจากชาวไทย และต้องทบทวนทะเบียนมรดกโลก โดยให้ไทยมีส่วนร่วมเท่านั้น ถึงจะลบบาดแผลในใจคนไทยได้ ขณะที่ “รสนา” ส.ว.หญิงคนดัง เผย เขาพระวิหารเป็นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง ชี้ ใช้วิธีการเจรจาแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีดีที่สุด ด้านแม่ทัพภาคที่ 2 รุดลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกำลังพล เตรียมลดการเผชิญหน้า แต่ยังคงตรึงกำลังอยู่ในพื้นที่รอบประสาทพระวิหาร
วันนี้ (22 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ห้องประชุม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ศรีสะเกษ เขต 4 อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา นำโดย ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต รองประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ พร้อมคณะ ส.ว.และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ รวม 9 คน ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูลความคิดเห็นของประชาชนชาวศรีสะเกษกรณีปัญหาปราสาทพระวิหาร
โดยมี นายทิวา รุ้งแก้ว ประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายศิริพงษ์ ไพศาลสุวรรณ ประธานชมรมครูประถมศึกษาศรีสะเกษ และ นายอรุณศักดิ์ โอชารส ประธานสมัชชาประชาชนจังหวัดศรีสะเกษ นำบรรดาประชาชนชาวศรีสะเกษจากหลายสาขาอาชีพ เข้าให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นกันเต็มห้องประชุม
นายทิวา รุ่งแก้ว ประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า กรณีที่องค์การยูเนสโก อนุมัติให้ปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยการนำเสนอของกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียวนั้น สร้างความเสียใจให้กับประชาชนชาวศรีสะเกษ เป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวศรีสะเกษมีความผูกพันกับปราสาทพระวิหารมานานแล้ว และมีความรู้สึกว่าปราสาทพระวิหารเป็นของชาวศรีสะเกษและชาวไทยมาโดยตลอด
ทั้งนี้ ถือว่า ประเทศไทยได้เสียอธิปไตยที่บริเวณปราสาทพระวิหารมาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรก เป็นการเสียตามคำพิพากษาของศาลโลก ปี 2505, ครั้งที่ 2 เป็นการนำเอาลวดหนามมาล้อมรั้วรอบบันไดนาคปราสาทพระวิหารตั้งแต่บันไดขั้นที่ 1 ขึ้นไป และ ครั้งที่ 3 เป็นการเสียดินแดนบริเวณชุมชนร้านค้าเชิงเขาพระวิหารให้กับชาวกัมพูชา และที่กำลังจะเสียดินแดนอีกเป็นครั้งที่ 4 คือ การที่ทหารไทยนำเอารั้วลวดหนามมาขวางกั้นแนวเขตแดนไทยเพื่อไม่ให้คนไทยเข้าไปแต่ชาวกัมพูชาสามารถเข้าไปในเขตแดนไทยได้
“หากไม่มีการแก้ไขและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของไทยอ่อนแออยู่เช่นนี้ ก็จะทำให้ไทยเสียดินแดนให้กับกัมพูชาต่อไปอีกเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด” นายทิวา กล่าว
นายอรุณศักดิ์ โอชารส ประธานสมัชชาประชาชนจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ฝรั่งเศสเขียนแผนที่โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงหลักการปักปันเขตแดนสากลที่ยึดเอาสันปันน้ำเป็นหลัก ในการแบ่งปันเขตแดน ตนเห็นว่า ประชาชนชาวไทยถูกศาลโลกปล้นเอาปราสาทพระวิหารไปเป็นของประเทศกัมพูชา ซึ่งบริเวณเขตพื้นที่ที่ยังไม่ได้มีการปักปันเขตแดนบริเวณเขาพระวิหาร ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความเข้มแข็ง ผลักดันให้มีการใช้สันปันน้ำมาเป็นหลักในการปักปันเขตแดนและต้องทบทวนเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไทยจะต้องมีส่วนร่วมในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกับประเทศกัมพูชาเท่านั้น จึงจะสามารถลบบาดแผลในใจของประชาชนชาวศรีสะเกษและชาวไทยได้
ทางด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กุรงเทพฯ กล่าวว่า กรณีปัญหาเขาพระวิหารตนและคณะจะพยายามทำให้เกิดความชัดเจน ที่มารับฟังข้อมูลในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการรับทราบข้อเท็จจริงว่าปัญหาเขาพระวิหารอยู่ที่ใดบ้าง เนื่องจากพวกเราไม่ต้องการเอาเปรียบกัมพูชา แต่เราก็ไม่ต้องการให้ใครมาเอาเปรียบเรา ซึ่งพวกเราต้องการให้แก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี
จากการรับฟังข้อมูลในพื้นที่ในครั้งนี้เห็นว่าประชาชนทั้ง 2 ประเทศ มีความเข้าใจกันดี แต่ ปัญหาเกิดจากนักการเมืองหรือเปล่าก็ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกันต่อไป ส่วนพื้นที่ทับซ้อนนั้นตนเห็นว่าน่าที่จะเป็นประโยชน์ทับซ้อนมากกว่า เนื่องจากว่าไทยทำตัวเป็นม้าอารีแต่ว่าระวังม้าอารีจะไม่มีคอกจะอยู่
ส่วนเรื่องการตรึงกำลังทหารนั้น ตนเห็นว่า ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถตรึงกำลังทหารได้ แต่ไม่ควรที่ใช้กำลังทหารปะทะกันอย่างเด็ดขาด ควรใช้วิธีการเจรจาด้วยสันติวิธีจะดีที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันเดียวกันนี้ พล.ท.สุจิตร สิทธิประภา แม่ทัพภาคที่ 2 และคณะได้ลงพื้นที่มอบนโยบายและตรวจเยี่ยมกำลังพลปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
พล.ท.สุจิตร สิทธิประภา แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวว่า ได้เน้นย้ำการดูแลพื้นที่ชายแดนของทหารเราไม่ให้กระทบกระทั่งกับอีกฝ่าย เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และขณะนี้กำลังพิจารณาว่าควรถอยกำลังออกห่างจากทหารฝ่ายกัมพูชามากขึ้นเพื่อลดการเผชิญหน้า แต่จะยังอยู่ในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารต่อไป จนกว่ารัฐบาลทั้ง 2 ประเทศจะแก้ปัญหาข้อติดขัดด้านกฎหมายได้ เพราะพื้นที่ดังกล่าวยังมีปัญหาการปักปันเขตแดน เมื่อยังไม่ได้ข้อยุติทั้งสองฝ่ายจึงต้องดูแลร่วมกันไปก่อน