xs
xsm
sm
md
lg

NGO-นักวิชาการจี้รัฐเปิดรายละเอียดผลศึกษาฉบับเต็ม “เขื่อนยักษ์แสนล้านกั้นโขง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี- กลุ่มมูลนิธิสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ เปิดเวทีสาธารณะถกปัญหาโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง โดยชาวบ้านไม่เชื่อมีผู้ได้รับผลกระทบแค่ 29 ครอบครัว มีน้ำท่วมแค่ 1.6 หมื่นไร่ พร้อมให้รัฐแสดงความบริสุทธิ์ใจ แจงรายละเอียดการศึกษาโครงสร้างเขื่อนฉบับสมบูรณ์

ตามที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน มีการลงนามบันทึกความเข้าใจกับประเทศลาว เพื่อก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำฝายขั้นบันไดกั้นแม่น้ำโขง หรือโครงการไฟฟ้าพลังน้ำฝายบ้านกุ่ม มูลค่า 120,390 ล้านบาท เบื้องต้นกำหนดจุดตั้งอยู่ระหว่างบ้านท่าล้งและดอนกุ่ม ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี มีระดับเก็บกักน้ำปกติและระดับเก็บกักน้ำสูงสุด 115 เมตร (เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง)

โดยจะส่งผลกระทบให้มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมจำนวน 16,641 ไร่ ในเขตบ้านคันท่าเกวียน และมีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบจำนวน 29 หลังคาเรือนนั้น

ล่าสุด วันนี้ (13 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการเคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าว หลังหน่วยงานในจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเวทีสาธารณะร่วมทุกข์ร่วมสุข รับฟังปัญหาจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างฝายบ้านกุ่ม โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน

ประกอบด้วย ตัวแทนจากกลุ่มสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต สภาทนายความ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายอำเภอโขงเจียม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลนาโพธิ์กลาง และชาวบ้านคันท่าเกวียน บ้านทุ่งนาเมือง บ้านปากลา

ในที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนความเห็นหลายแง่มุม เช่น นางเจรจา มาลี อายุ 65 ปี ชาวบ้านบ้านคันท่าเกวียนพูดถึงโครงการนี้ว่า หลังจากทราบข่าวการสร้างเขื่อน ชาวบ้านต่างวิตกกังวลเกี่ยวกับวิถีชีวิต การปลูกปอ ปลูกฝ้าย ปลูกมันริมแม่โขง เพราะถ้าชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน รัฐต้องมีการชดเชยอย่างเหมาะสมกับการที่ได้ลงทุนไป โดยรัฐต้องมาพูดคุยกับชาวบ้านเป็นรายหลังคาเรือน เพื่อให้ทราบความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

ด้าน นายสำรอง พิมพ์วงศ์ ชาวบ้านบ้านปากลา กล่าวว่า ไม่เคยได้รับข้อมูลจากส่วนราชการ และไม่อยากให้สร้างเขื่อน เพราะกระทบถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่เศรษฐกิจสังคมจะเปลี่ยนไป จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนโครงการอีกครั้ง โดยศึกษาว่าโครงการนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์ หรือต้องสูญเสียอะไร และควรให้ความรู้กับประชาชนให้มากขึ้น เพราะประชาชนยังไม่ทราบข้อมูลน้ำจะท่วมที่ไหนบ้าง จะต้องอพยพไปอยู่ที่ไหน ต้องทำอาชีพอะไร หากมีการชดเชยจะมีในลักษณะใด และเพียงพอต่อสิ่งที่สูญเสียไปหรือไม่ เพราะที่ดินสามารถใช้ทำมาหากินเลี้ยงชีพได้ชั่วลูกชั่วหลาน

สำหรับ นายนริศ มงคลศรี นายอำเภอโขงเจียมกล่าวในเรื่องเดียวกันว่า เมื่อรับฟังความเห็นของชาวบ้าน ทำให้รู้ว่าประชาชนมีความเป็นห่วงเรื่องการสร้างเขื่อน เพราะล้วนเกรงจะกระทบกับวีถีชีวิตทุกๆด้าน เนื่องจากข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อน ยังไม่มีความกระจ่างเท่าที่ควร ในฐานะที่ตนเป็นผู้ปกครองของ อ.โขงเจียม จะประสานขอข้อมูลนำมาเผยแพร่ให้ผู้ได้รับผลกระทบทราบโดยไม่ปิดบังต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น