วช.- สภาวิจัยฯ จับมือเอสเอ็มอีแบงค์รับมือ วิกฤติพลังงาน พร้อมสนับสนุนงานวิจัยและจัดหาแหล่งทุนแก่ภาคเอกชนพัฒนาพลังงานน้ำขนาดเล็กเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในภาคเหนือ คาดลดปัญหานำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศลงปีละ 700,000 ล้านบาท พร้อมแนะภาครัฐให้เงินสนับสนุนการลงทุนแก่ภาคเอกชนเฉลี่ย100-200 ล้านบาท/โครงการ หวังกระตุ้นการลงทุนให้เพิ่มขึ้น
ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า วช.และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงค์) ได้ร่วมกันจัดหาแนวทางในการแก้ปัญหาด้านพลังงานของประเทศ โดยการให้การสนับสนุนการวิจัยและจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับภาคเอกชนที่สนใจในการลงทุนธุรกิจด้านพลังงานต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยงานวิจัยด้านการผลิตเอทานอล พลังงานลม พลังงานน้ำขนาดเล็ก โรงไฟฟ้าต้นแบบขนาดเล็กจากชีวมวลและการบริหารจัดการวัตถุดิบไม้โตเร็ว
เป้าหมายที่สำคัญคือมุ่งเน้นการนำทรัพยากรภายในประเทศมาใช้เป็นพลังงานทดแทน ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีอย่างครบวงจรเพื่อขยายผลให้ใช้ได้จริง อันจะช่วยลดการพึ่งพาและนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยต้องสูญเสียเงิน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 700,000 ล้านบาทต่อปี ในการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศมาเป็นเชื้อเพลง เมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้นทำให้ประสบปัญหาสภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงมีการพิจารณาหาพลังงานทดแทนจากแหล่งอื่น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเชื้อเพลง พลังงานทดแทนจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความสนใจ เนื่องจากพลังงานที่สร้างความยั่งยืนของประเทศและรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีของประเทศ
ทั้งนี้ จากการพบว่าหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศไทยมีศักยภาพและความเหมาะสมในการนำพลังงานทดแทนมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าในภาคเหนือ ซึ่งมีพื้นที่เป็นลักษณะเทือกเขา จึงมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาพลังงานน้ำขนาดเล็กเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากมีพื้นที่รับน้ำค่อนข้างเยอะ ขนาด 128,448 ตร.กม.
เลขาธิการวช. เผยว่า ที่ผ่านมา วช.ได้ให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัย พัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยม และในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง พบว่า ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้า 52จุดผลิตไฟฟ้าได้ 30.24 เมกกะวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 135.134 จิกะวัตต์ชั่วโมง โดยมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่1.3-39บาท/หน่วยขณะที่พบว่าโครงการที่มีศักยภาพในการผลิตฟ้าในลุ่มแม่น้ำปิงทั้งหมด 64 โครงการคิดเป็นศักยภาพในการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งลุ่มน้ำประมาณ 211 เมกะวัตต์ และได้พลังงานไฟฟ้ารายปีรวมทั้งลุ่มน้ำประมาณ 720 จิกะวัตต์ชั่วโมง โดยมีต้นทุนการผลิตอยู่ระหว่าง 0.33 ถึง11.32 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง นอกจากนี้ยังได้จัดลำดับความสำคัญของโรงการทั้ง 64 โครงการตามศักยภาพ 5ด้านและเลือกพื้นที่ตัวอย่างที่มีศักยภาพในการผลิตเพื่อศึกษาสำรวจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
อย่างไรก็ตามแนวทางการวิจัยได้เสนอให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน ภาครัฐต้องมีมาตรการสนับสนุนแนวทางใหญ่ 2แนวทางคือการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำในอัตราพิเศษ หรือมีราคาส่วนเพิ่มประมาณ 0.5-8 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง และภาครัฐควรให้เงินสนับสนุนแก่ภาคเอกชนในการลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนโครงการที่ 10% ของอัตราผลตอบแทนที่ได้รับจากการเลือกลงทุนในโครงการ หรือรัฐต้องให้เงินสนับสนุนเฉลี่ย 100-200 ล้านบาท/โครงการ