xs
xsm
sm
md
lg

อุตฯพลังงานทดแทนบุกอีสานตอนบน 11 โครงการกว่า 1.6 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น-อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน พุ่งเป้าลงทุน 11 จังหวัดอีสานตอนบนคึกคัก บีโอไอขอนแก่น เผยเฉพาะยอดอนุมัติส่งเสริมลงทุนพลังงานทดแทนปี 50 มีถึง 11 โครงการ เงินลงทุนกว่า 16,821.9 ล้านบาท ที่น่าสนใจมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้รับส่งเสริมถึง 3 โครงการ เงินลงทุนกว่า 14,557.7 ล้านบาท เหตุมีแหล่งวัตถุดิบรองรับ หวังลดต้นทุนผลิตรับปัญหาน้ำมันแพง ทั้งมีลู่ทางขยายการลงทุนอีกมาก หวั่นเกิดปัญหาแย่งวัตถุดิบกับอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรเดิม แนะทุกฝ่ายหารือเตรียมการผลิตวัตถุดิบรองรับในอนาคต

น.ส.ชุติมา พุ่มศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 จังหวัดขอนแก่น เปิดเผย ถึงภาพรวมโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ในเขต 11 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนว่า เมื่อปี 2550 มีโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนยื่นขอส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอขอนแก่นจำนวนมาก โดยมีการอนุมัติการลงทุนไปทั้งสิ้น 11 โครงการ คิดเป็นวงเงินลงทุนสูงถึง 16,821.9 ล้านบาท ขณะที่ปี 2549 มียอดอนุมัติ 4 โครงการ วงเงินลงทุน 828 ล้านบาท

การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน มีผู้ประกอบการยื่นขอส่งเสริมใน 11 จังหวัดอีสานตอนบนและได้รับอนุมัติการลงทุนตั้งแต่ปี 2543 ยอดรวมโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนรวมกว่า 22 โครงการ คิดเป็นวงเงินลงทุนรวมกว่า 20,775.7 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโครงการผลิตไบโอแก๊ส 8 โครงการ ผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล 7 โครงการ ผลิตเอทานอล 3 โครงการ ผลิตไฟฟ้าจากลม 3 โครงการ และไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 1 โครงการ

“จุดที่น่าสนใจ เมื่อปี 2550 มีนักลงทุนเดนมาร์ก ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน และได้รับอนุมัติในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเข้ามาถึง 3 โครงการ ตั้งโรงงานอยู่ที่จังหวัดมุกดาหาร 2 โครงการ และสกลนคร 1 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการลงทุนพลังงานทดแทนขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูง แต่ละแห่งลงทุนไม่ต่ำกว่า 3,500 ล้านบาท คิดเป็นยอดรวมทั้ง 3 โครงการใช้เงินลงทุนกว่า 14,557.7 ล้านบาท”นางสาวชุติมา กล่าว และว่า

การใช้พลังงานลมยังเป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับประเทศไทย หรือแม้แต่ในภูมิภาคเอเชีย ถือเป็นโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ล่าสุด ปกติการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในประเทศไทย จะใช้พลังงานจากเศษวัสดุการเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย ฟางข้าว หรือก๊าซชีวภาพ ฯลฯ เป็นเชื้อเพลิงปั่นเครื่องกำเนิดผลิตพลังงานไฟฟ้า

นอกจากนี้ ปีที่ผ่านมายังมีนักลงทุนสนใจยื่นขอส่งเสริมและได้รับอนุมัติการลงทุน ในโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด ตั้งโรงงานอยู่ที่อำเภอเมืองอุดรธานีอีก 1 โครงการด้วย

สาเหตุที่มีโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สนใจลงทุนในจังหวัดอีสานตอนบนสูงนั้น สาเหตุหลักมาจาก สถานการณ์ด้านพลังงานน้ำมันปิโตรเลียม ที่ปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต้องใช้น้ำมันปรับขึ้นมาก เกิดความต้องการพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่มีราคาต่ำกว่ามาเป็นพลังงานทดแทนน้ำมัน ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าหรือใช้ในภาคการขนส่งแทนน้ำมัน

ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการลงทุนอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เนื่องจากเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิด และมีปริมาณการผลิตสูง ทั้งมันสำปะหลัง อ้อย ข้าว ที่สามารถนำผลผลิตมาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน หรือใช้เศษวัสดุที่เหลือจากพืชเศรษฐกิจเหล่านี้มาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวลได้ จึงเป็นพื้นที่เป้าหมายการลงทุนของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน

ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจชุมชน เสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกรในภาคอีสาน มีทางเลือกการขายผลิตผลการเกษตรได้มากขึ้น ทำให้กลไกด้านราคาพืชผลการเกษตรปรับตัวสูงขึ้น

นางสาวชุติมา กล่าวต่อว่า ลู่ทางการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนในภาคอีสาน มีแนวโน้มการลงทุนผลิตพลังงานทดแทนอีกมาก เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงาน โดยสถานการณ์ใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศ ณ ปัจจุบัน การผลิตไฟฟ้ายังขาดแคลน ต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย เข้าสู่ระบบของ กฟผ. การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน จึงมีศักยภาพเชิงธุรกิจและลดต้นทุนผลิตจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นได้

จุดที่น่าเป็น การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจำนวนมาก น่าจะส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลการเกษตรเดิมที่ตั้งอยู่ในภาคอีสาน ส่วนใหญ่เป็นการแปรรูปอาหาร, อาหารสัตว์ ที่ใช้วัตถุดิบพืชผลเกษตรอยู่ การลงทุนที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้วัตถุดิบการเกษตรไม่เพียงพอต่อการผลิตทุกอุตสาหกรรม ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นได้

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการ เกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพลังงาน ฯลฯ น่าจะมีการหารือและศึกษาในรายละเอียดถึงปริมาณการใช้วัตถุดิบที่เพียงพอกับทุกอุตสาหกรรม การหาแนวทางเพิ่มผลผลิตวัตถุดิบการเกษตร เพื่อเตรียมการรองรับการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมในอนาคตด้วย

สำหรับศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 จังหวัดขอนแก่น เป็นหน่วยงานทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนในเขต 11 จังหวัดอีสานตอนบนประกอบด้วย ขอนแก่น อุดรธานี มหาสารคาม หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ นครพนม สกลนคร ร้อยเอ็ด หนองคาย เลย และมุกดาหาร
อุตฯพลังงานทดแทนบุกอีสานตอนบน  11 โครงการเงินลงทุนกว่า 1.6 หมื่นล้าน
อุตฯพลังงานทดแทนบุกอีสานตอนบน 11 โครงการเงินลงทุนกว่า 1.6 หมื่นล้าน
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน พุ่งเป้าลงทุน 11 จังหวัดอีสานตอนบนคึกคัก บีโอไอขอนแก่น เผยเฉพาะยอดอนุมัติส่งเสริมลงทุนพลังงานทดแทนปี 50 มีถึง 11 โครงการ เงินลงทุนกว่า 16,821.9 ล้านบาท ที่น่าสนใจมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้รับส่งเสริมถึง 3 โครงการ เงินลงทุนกว่า 14,557.7 ล้านบาท เหตุมีแหล่งวัตถุดิบรองรับ หวังลดต้นทุนผลิตรับปัญหาน้ำมันแพง ทั้งมีลู่ทางขยายการลงทุนอีกมาก หวั่นเกิดปัญหาแย่งวัตถุดิบกับอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรเดิม แนะทุกฝ่ายหารือเตรียมการผลิตวัตถุดิบรองรับในอนาคต
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
กำลังโหลดความคิดเห็น