xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐออกกม.ให้ปชช.ขายไฟกฟผ.ได้ ดันมอ.ต้นแบบใช้กังหันลมตามยุโรป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กังหันลม ที่มีการใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าบนเกาะล้าน ซึ่งนักวิชาการเห็นว่า ในพื้นที่ภาคใต้น่าจะมีโครงการในลักษณะนี้บ้าง
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – นักวิชาการ มอ.หาดใหญ่จี้รัฐปลดแอกภาระค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงที่สูงลิบ หนุนใช้กฎหมาย Feed-in Low ที่ให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมขายให้แก่ กฟผ. หวังลดก๊าซพิษต้นเหตุโลกร้อนที่เกิดจากเชื้อเพลิงประเภทฟอสซิล ชี้ภาคใต้มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันลมตั้งแต่นครฯยันปัตตานี ระบุต้นทุนต่อเมกะวัตต์ถูกกว่าสร้างโรงไฟฟ้าเกือบ 40 เท่า และไม่ต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิงอีกต่างหาก เล็งตั้งกังหันลมเป็นศูนย์กลางทดลองเผยแพร่สู่ประชาชนภายในรั้ว มอ.กลางปีนี้

แม้ว่าแนวคิดการใช้ผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมจะเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2526 ซึ่ง กฟผ.ทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าจากกังหันลมในประเทศไทยครั้งแรกที่แหลมพรหมเทพ จ.ภูเก็ต ซึ่งผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ แต่จนถึงปัจจุบัน กฟผ.ยังไม่ได้มีการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมอย่างจริงจัง ขณะที่ล่าสุดกระทรวงพลังงานเพิ่งตื่น วางศิลาฤกษ์โครงการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าเพื่อการสาธิตนำร่องที่ บ้านทะเลปัง อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราชเมื่อเร็วๆนี้

ผศ.ประสาท มีแต้ม อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (มอ.หาดใหญ่) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เปิดเผย “ผู้จัดการรายวัน” ว่า ประเทศไทยใช้พลังงานทุกประเภทสูงมากคิดเป็นเงินต่อปี 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18% ของ GDP ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงและน่าเป็นห่วงยิ่งท่ามกลางภาวะที่ค่าครองชีพและเงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เฉพาะค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งต้องนำเข้าเชื้อเพลิงส่วนใหญ่จากต่างประเทศประมาณ 2.5 แสนล้าน ทั้งถ่านหิน น้ำมันเตา น้ำจากเขื่อน หรือแม้แต่ก๊าซธรรมชาติที่แม้ว่าจะมีในอ่าวไทยแต่เป็นการขุดโดยต่างประเทศ และส่วนหนึ่งซื้อจากพม่าจำนวน 900 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ารองรับความต้องการภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ทางออกที่จะให้ประเทศไทยพึ่งพิงตนเองด้านพลังงานไฟฟ้า โดยไม่ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม และสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งล้วนสร้างผลกระทบระยะยาวต่อคุณภาพชีวิตของพลเมือง และเพิ่มมลพิษซ้ำเติมภาวะโลกร้อน คือการหันมาพึ่งพาพลังงานหมุนเวียน ซึ่งได้แก่ พลังงานลม แสงอาทิตย์ และชีวมวล โดยเฉพาะการใช้พลังงานลม ซึ่งในต่างประเทศได้มีการดำเนินการประสบผลสำเร็จ ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลมาเป็นเวลานาน

โดยจุดแข็งของต่างประเทศที่ทำให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนเติบโต เพราะรัฐมีกฎหมาย Feed-in Low ที่มีการตกลงกันในระยะยาวว่าจะซื้อขายไฟฟ้าในราคาหมุนเวียน และสามารถป้อนเข้าระบบสายส่งไฟฟ้าได้เพื่อรวมกันที่รัฐได้เลย สร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้แก่ 25 ประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งถ้าหากมีกฎหมายนี้เกิดขึ้น แม้แต่คนชนบทก็สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าและขายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

ขณะที่ประเทศไทยนั้นมีการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2544 จากกระทรวงพลังงานพบว่าภาคใต้บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี และธนาคารโลกก็ศึกษาเชิงลึกและชี้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมถึง 1,600 เมกะวัตต์ โดยใช้ความสูงที่ระดับ 50 เมตร โดยความเร็วลมที่ระดับความสูง 65 เมตร ในประเทศไทยอยู่ในระดับดี-ดีมาก (ความเร็วลมเฉลี่ย 7.0-7.5 เมตร/วินาที) รวมกันถึง 761 ตารางกิโลเมตร มีศักยภาพที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 3,067 เมกะวัตต์ แต่ก็ยังไม่มีนโยบายสนับสนุนจากรัฐที่เป็นรูปธรรม

“แม้ว่าประเทศไทยจะมีพื้นที่เพียง 2 % ที่สามารถแปลงพลังงานลมเป็นพลังงานไฟฟ้าด้วยกังหันลมได้ แต่ถือว่า พลังงานลมมีความบริสุทธิ์ไม่ก่อให้เกิดมลพิษเหมือนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดอื่น และภาคใต้มีความเหมาะสมที่ควรได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง เพราะตั้งแต่ชาวบ้านในชนบทและคนที่อยู่ในเมืองก็สามารถทำได้ โดยการติดตั้งกังหันรับลมได้ทั้งบนดาดฟ้าและมุมตึก เก็บพลังงานไฟฟ้าสู่แบตเตอรี่ ขอเพียงมีความแรงลมเท่ากับความแรงของพัดลมเบอร์ 3 ก็พอ” ผศ.ประสาท กล่าวต่อและว่า

กังหันลมที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้ามี 2 ชนิด คือแบบแกนนอนกับแกนตั้ง แต่แรงลมในประเทศไทยเหมาะกับกังหันแกนตั้ง ด้วยการเคลื่อนที่ของลมคล้ายกับน้ำ หรือหากมีพื้นที่กว้างก็จะมีความเร็วต่ำ แต่หากพัดในพื้นที่แคบจะมีความแรงลมมาก ทำให้สามารถนำกังหันลมติดตั้งได้ทั้งชนบทและในเมือง วัสดุในการผลิตกังหันลมหลักๆ ประกอบด้วย ใบพัดซึ่งสามารถผลิตจากสังกะสีได้ แม่เหล็ก ขดลวด และแบตเตอรี่ เป็นต้น ซึ่งต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมถูกกว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยกังหันลมลงทุน 6 แสนบาท/เมกะวัตต์ ขณะที่โรงไฟฟ้าจะนะต้องลงทุน 23 ล้าน/เมกะวัตต์ ยังไม่นับรวมต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิต

“ปัจจุบันวิศวกรคนหนึ่งได้ประดิษฐ์กังหันลมมาใช้เอง สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้เดือนละ 2-3 พันบาท และสามารถนำไฟฟ้ามาใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปได้ ยกเว้นเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำน้ำร้อนเท่านั้น” ผศ.ประสาทกล่าวต่อและว่า

ในส่วนของ มอ.ซึ่งเป็นศูนย์กลางสถาบันการศึกษาในภาคใต้ มีความตั้งใจจะนำกังหันลมเข้าสู่ชุมชนโดยมีโครงการติดตั้งกังหันลมแกนตั้ง กำลังผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 3 กิโลวัตต์ เพื่อการศึกษาวิจัยและเผยแพร่ภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยได้รับงบสนับสนุนจากสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 70,000 บาท พร้อมกับเขียนหนังสือเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น