xs
xsm
sm
md
lg

‘อีสาน’ผงาดแหล่งผลิตพลังงานทดแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- “อีสาน”ผงาดเป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทนของประเทศ พาเหรดลงทุนกว่า 3.4 หมื่นล้านรับวิกฤตน้ำมันโลกทะยานทะลุ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล คาดปีนี้เติบโตต่อเนื่องทั้งไบโอแก๊ส-ไบโอแมส-เอทานอลและพลังงานลม อุตฯ ดาวรุ่งน้องใหม่มาแรง เผยตั้งเป้าส่งเสริมผุดโรงงานไบโอแมสจากแกลบ “ 1 จังหวัด 2 โรงงาน” ใน 19 จังหวัดแห่งดินแดนที่ราบสูง ระบุเดือนแรกปีหนูประเดิมรับบีโอไอแล้ว 2 โครงการ รวมลงทุน 530 ล้าน

นายสุวิชช์ ฉั่ววิเชียร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 นครราชสีมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภายใต้สถานการณ์วิกฤตภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในฐานะประเทศนำเข้า ซึ่งล่าสุดราคาน้ำมันดิบทะลุ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศพุ่งสูงลิตรละ 31 บาทไปแล้ว ทำให้กระแสความนิยมการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมผลิตพลังงานและพลังงานทดแทน เป็นอุตสาหกรรมดาวเด่น ได้รับส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอบีทั่วประเทศถึง 110 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 80,444 ล้านบาท ได้แก่ โครงการผลิตเอทานอล โครงการผลิตไบโอดีเซล โครงการผลิตก๊าซชีวภาพ (Bio-mass) โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล (Bio-mass) โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม (Electricity from Wind Power) โครงการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการผลิตไฟฟ้าจากการแปลงขยะเป็นพลังงาน รวมถึงธุรกิจให้บริการเป็นที่ปรึกษาธุรกิจพลังงาน (ESCO)

อีสานแหล่งผลิตพลังงานทดแทนของไทย

นายสุวิชช์ กล่าวต่อว่า เมื่อแยกเป็นรายภูมิภาคแล้วเห็นได้อย่างชัดเจนว่าภาคอีสานกลายเป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทนที่สำคัญของประเทศไทยอย่างแท้จริง เนื่องจากเป็นพื้นที่ผลิตผลพืชพลังงานและมีเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรเป็นจำนวนมาก ที่จะนำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน โดยปีที่ผ่านมาโครงการลงทุนอุตสาหกรรมผลิตพลังงานและพลังงานทดแทนได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ทำสถิติสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 3,4081 หมื่นล้านบาท

แบ่งเป็น 1.โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล (Bio-mass) จำนวน 6 โครงการ เงินลงทุน 2,359 ล้านบาท ของ บริษัท ซี.ไจแกนติค คาร์บอน จำกัด ตั้งอยู่ จ.นครราชสีมา บริษัท เคเอ็มไอ ชีวมวลพันธุ์ จำกัด บริษัท ศรีเจริญไบโอเพาเวอร์ จำกัด ตั้งอยู่ จ.บุรีรัมย์ บริษัท โชคชัยไบโอแมส จำกัด ตั้งอยู่ จ.อุบลราชธานี บริษัท เอราวัณเพาเวอร์ จำกัด ตั้งอยู่ จ.หนองบัวลำภู และ บริษัท อุดรไบโอแมส จำกัด ตั้งอยู่ จ.อุดรธานี

2.โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (Bio-gas ) จำนวน 1โครงการ เงินลงทุน 171 ล้านบาท ของ บริษัท คาร์กิลสยาม จำกัด ตั้งอยู่ จ.มหาสารคาม

3.โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนที่ได้รับเทคโนโลยี จากกลุ่มประเทศยุโรป รวม 3 โครงการ เงินลงทุน 14,558 ล้านบาท ของ บริษัท ไทยวินด์เพาเวอร์ จำกัด บริษัท ไทยวินด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ตั้งอยู่ จ.มุกดาหาร และ บริษัท เนชั่นแนล วินด์เพาเวอร์ จำกัด ตั้งอยู่ จ.สกลนคร

4.โครงการผลิตเอทานอล จำนวน 5 โครงการ เงินลงทุน 16,528 ล้านบาท กำลังการผลิตรวม 1,010 ล้านลิตร ได้แก่ บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด เงินลงทุน 5,614 ล้านบาท บริษัท บุญอเนก จำกัด เงินลงทุน 5,384 ล้านบาท โครงการตั้งอยู่ จ.นครราชสีมา บริษัท สยาม เอทานอล ชัยภูมิ จำกัด เงินลงทุน 500 ล้านบาท ตั้งอยู่ จ. ชัยภูมิ บริษัท พลังเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด เงินลงทุน 4,230 ล้านบาท ตั้งอยู่ จ.อุบลราชธานี และ บริษัท เพโทรกรีน จำกัด เงินลงทุน 800 ล้านบาท ตั้งอยู่ จ.กาฬสินธ์

5. โครงการผลิตก๊าซชีวภาพ จากการนำน้ำเสียโรงงานมันสำปะหลังและโรงงานสุรา จำนวน 3 โครงการ เงินลงทุน 465 ล้านบาท ของ บริษัท เอ็นอี ไบโอเทค ตั้งอยู่ จ.นครราชสีมา บริษัท ปุ๋ยไบโอนิค จำกัด ตั้งอยู่ จ. บุรีรัมย์ และ จ.อุบลราชธานี

ชี้แนวโน้มปี’51 โตต่อเนื่อง
ดัน 1 จว. 2 รง.“Bio-mass”


นายสุวิชช์ กล่าวอีกว่า ในปี 2551 การลงทุนอุตสาหกรรมพลังงานและพลังงานทดแทนในภาคอีสานยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งการผลิตก๊าซชีวภาพ (Bio-gas) การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล (Bio-mass) รวมถึงการผลิตเอทานอล โดยเฉพาะโครงการผลิต Bio-gas จากน้ำเสียโรงงานอุตสาหกรรม คาดว่าจะมีโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในปีนี้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 7-10 โครงการ ซึ่งแค่เฉพาะ จ.นครราชสีมา ก็มีโรงงานแป้งมันอยู่ทั้งหมดมากถึง 25 แห่ง ในจำนวนนี้ได้ลงทุนก่อสร้างไปแล้วหลายแห่ง และเหลืออีกจำนวนมากที่กำลังมีแผนจะดำเนินการ

สำหรับ Bio-mass ในภาคอีสานทั้ง 19 จังหวัด ได้ตั้งเป้าหมายส่งเสริมให้มีโรงงานผลิต Bio-mass จากแกลบ เกิดขึ้นอย่างน้อยจังหวัดละ 1-2 โครงการ ส่วนทางด้านการลงทุนผลิตเอทานอล จากมันสำปะหลังและอ้อย แม้ปีที่ผ่านมาได้รับการส่งเสริมบีโอไอไปจำนวนมาก และล้วนเป็นโครงการขนาดใหญ่รวมกำลังผลิตถึง 1,010 ล้านลิตร เงินลงทุนกว่า 16,528 ล้านบาท แต่ปีนี้ก็เชื่อว่ายังจะขยายตัวในขนาดโครงการที่เล็กลงหรือกำลังผลิตไม่สูงมากนัก

อีกทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในพื้นที่ภาคอีสาน นับเป็นอุตสาหกรรมพลังงานรูปแบบใหม่ที่มาแรง มีศักยภาพสูงและน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

ล่าสุดจากตัวเลขส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในภาคอีสานเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีโครงการได้รับการส่งเสริมทั้งสิ้น 6 โครงการ รวมเงินลงทุน 1,232 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 1,921 คน โดยในจำนวนนี้มีโครงการลงทุนผลิตพลังงานทดแทนถึง 2 โครงการ คือโครงการผลิตก๊าซชีวภาพ ของ บริษัท ปุ๋ยไบโอนิค จำกัด กำลังผลิต 8 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี เงินลงทุน 180 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.ขอนแก่น และ โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล ของ บริษัท ศรีแสงดาวไบโอเพาเวอร์ จำกัด มีกำลังผลิตไฟฟ้า 7,500 วัตต์/ปี เงินลงทุน 450 ล้านบาท ตั้งอยู่ จ.ร้อยเอ็ด

“ตัวเลขการลงทุนเดือนแรกของปีนี้ ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมพลังงานในภูมิภาคนี้ ภายใต้ภาวะวิกฤตน้ำมันโลกราคาแพงอย่างต่อเนื่อง และสร้างปัญหาให้แก่ทุกประเทศทั่วโลกอยู่ในขณะนี้” นายสุวิชช์ กล่าว
อุตฯพลังงานทดแทนบุกอีสานตอนบน 11 โครงการกว่า 1.6 หมื่นล้าน
อุตฯพลังงานทดแทนบุกอีสานตอนบน 11 โครงการกว่า 1.6 หมื่นล้าน
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน พุ่งเป้าลงทุน 11 จังหวัดอีสานตอนบนคึกคัก บีโอไอขอนแก่น เผยเฉพาะยอดอนุมัติส่งเสริมลงทุนพลังงานทดแทนปี 50 มีถึง 11 โครงการ เงินลงทุนกว่า 16,821.9 ล้านบาท ที่น่าสนใจมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้รับส่งเสริมถึง 3 โครงการ เงินลงทุนกว่า 14,557.7 ล้านบาท เหตุมีแหล่งวัตถุดิบรองรับ หวังลดต้นทุนผลิตรับปัญหาน้ำมันแพง ทั้งมีลู่ทางขยายการลงทุนอีกมาก หวั่นเกิดปัญหาแย่งวัตถุดิบกับอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรเดิม แนะทุกฝ่ายหารือเตรียมการผลิตวัตถุดิบรองรับในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น