xs
xsm
sm
md
lg

คสศ.-หอ 10 จ.เหนือจับ 2 แขวงลาวลงนามแผนพัฒนาการค้า-ลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – คณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ/หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ จับเจ้าแขวง/ตัวแทนภาคเอกชน 2 แขวงลาวเหนือร่วมมือพัฒนาการค้า-การลงทุนรองรับระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ผ่านถนน R3a พร้อมกำหนดกรอบเบื้องต้นแผนพัฒนาทั้งด้านการขนส่ง-ผ่านแดน-ลงทุน-เกษตร ดัน ส.ป.ป.ลาว เป็น Land Link อย่างแท้จริง พร้อมตกลงเปิดเวทีเอกชนไทย-ลาว ตีคู่กับโต๊ะเจรจาระหว่างไทย-ลาว ทุกครั้ง

วันนี้ (9 เม.ย.) นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้า จ.เชียงราย ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ นำคณะประกอบด้วยนายดิเรก ก้อนกลีบ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และตัวแทนจากเครือซีพี รวม 40 คน ได้เดินทางไปประชุมหารือกับ ท่านคำพอ ไขคำพิทูน รองหัวหน้ากรมเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ส.ป.ป.ลาว) และหอการค้าแขวงบ่อแก้วหลวงน้ำทา ณ หอประชุม แขวงบ่อแก้ว ส.ป.ป.ลาว ตรงข้าม อ.เชียงของ ก่อนที่จะเข้าพบ เจ้าแขวงบ่อแก้ว ส.ป.ป.ลาว และเดินทางสำรวจถนน R3a ไปจนถึงแขวงหลวงน้ำทา ระหว่างวันที่ 9-11 เมษายน เชื่อมโยง 7 แขวงลาวกับ 10 จังหวัดภาคเหนือของไทย และแลกเปลี่ยนแนวทางร่วมลงทุนกันในพื้นที่ ส.ป.ป.ลาว รองรับกับถนน R3a (ไทย ลาว จีน)

รองหัวหน้ากรมเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศ ส.ป.ป.ลาว กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมต้อนรับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ ซึ่งหากมีการประสานความร่วมมือกันก็จะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย

เช่นเดียวกับ ท้าวสุพอน ปันยาดา ประธานหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมแขวงบ่อแก้ว ส.ป.ป.ลาว กล่าวว่า อยากให้ฝ่ายไทยและลาวได้พบปะแลกเปลี่ยนกัน หากมีความพร้อมก็จะเป็นหุ้นส่วนกันได้อย่างเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย โดยธุรกิจบริการ การท่องเที่ยว การขนส่ง น่าจะมีอนาคต แต่ทางลาวก็ยังต้องการการฝึกอบรมบุคลากร ที่จะให้ฝ่ายไทยเข้ามาสนับสนุน ซึ่งทางฝ่ายลาวยินดีต้อนรับนักลงทุนทุกคน

ด้าน นายพัฒนา กล่าวว่า การเดินทางมา ส.ป.ป.ลาว จะมีต่อเนื่องเพื่อสานต่อความร่วมมือ ซึ่งถือว่าบรรยากาศเป็นไปด้วยดี และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในบริเวณนี้ถือว่าเป็นความคืบหน้าเป็นอย่างดี

หลังจากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมลงนามใน “แผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างหอการค้าไทยภาคเหนือ กับสภาการค้าและอุตสาหกรรมลาว (แขวงตอนเหนือ)” ครั้งที่ 1 ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ทั้ง 2 ฝ่าย ยืนยันเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายที่จะกระชับและขยายความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี ระหว่างไทย-ลาวในด้านเศรษฐกิจ การค้าสินค้าและบริการ และการลงทุนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ยินดีที่จะมีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ในปี 2011 อันจะเป็นจุดเชื่อมโยงจังหวัดเชียงรายและแขวงบ่อแก้ว และพื้นที่สองฝั่งของแม่น้ำโขง รวมทั้งเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ โดยที่ประชุมเชื่อมั่นว่า จะเพิ่มโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างไทยกับลาว สามารถเชื่อมต่อการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวต่อเนื่องไปยังประเทศอื่นๆ ในอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะมีส่วนช่วยขยายความสัมพันธ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน และเอื้อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย

ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงใด้มีการแลกเปลี่ยนการเยือน และพบปะหารือของคณะผู้แทนระดับต่างๆ แลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์ เสนอแนะความร่วมมือ ร่วมกันขจัดปัญหาอุปสรรคและเพิ่มความสะดวกในการดำเนินธุรกิจการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และลอจิสติกส์ระหว่างกัน รวมทั้งนำเสนอต่อที่ประชุมภาครัฐ ในเวทีการประชุม “แผนความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ส.ป.ป.ลาว” ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส และการประชุม “แผนความร่วมมือระหว่างพาณิชย์จังหวัด และหัวหน้าแผนกอุตสาหกรรมและการค้า” เป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและ/สนับสนุนให้มีการดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการประชุมภาคเอกชนเป็นประจำ โดยจัดก่อนหรือคู่ขนานกับการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส

ขณะเดียวกัน ทางตัวแทนภาคเอกชนไทย ยังเสนอแนวคิดที่จะส่งเสริมการเกษตร คอนแทรกต์ ฟาร์มิง (Contract Farming )เพื่อสนับสนุนนโยบายของ ส.ป.ป.ลาว ที่จะทำ Contract Farming ในทุกแขวงชายแดนระหว่างไทย-สปป.ลาว โดยในการประชุมครั้งต่อไป ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องให้มีการลงนามการจัดทำ Contract Farming ระหว่างไทยกับแขวงบ่อแก้ว หลวงน้ำทา และ อุดมไช

ด้านการท่องเที่ยวไทยยินดีให้การสนับสนุน ส.ป.ป.ลาว เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในภาพรวมของแขวงทางภาคเหนือของลาวและการท่องเที่ยวบนเส้นทาง R3a โดยร่วมกันศึกษาแหล่งท่องเที่ยวมีศักยภาพ จัดทำแผนยุทธศาสตร์ และพัฒนาตลาดร่วม เพื่อนำไปสู่การทำการตลาดร่วม และสปป.ลาวจะได้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไทยปีละมากกว่า 14 ล้านคนต่อปี

ส่วนการขนส่งและลอจิสติกส์ ตัวแทนภาคเอกชนไทย ยืนยันว่า ยินดีในการสนับสนุน ส.ป.ป.ลาว เป็น Land link ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างแท้จริง ตลอดจนร่วมมือกันสร้างพันธมิตรทางธุรกิจด้านขนส่งและลอจิสติกส์ โดยฝ่ายไทยเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นมา

นอกจากนี้ ยังตกลงที่จะร่วมกันพัฒนาสินค้าหัตถอุตสาหกรรม หรือ OTOP/ODOP โดยฝ่ายไทยมีจังหวัด-หอการค้า จ.ลำปาง และหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมแขวงบ่อแก้ว ส.ป.ป.ลาว เป็นหน่วยงานประสาน

ขณะเดียวกัน ฝ่ายไทยเสนอให้ ส.ป.ป.ลาว พิจารณาประเด็นการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดนบริเวณแขวงบ่อแก้ว โดยมีรูปแบบที่ครบวงจร One Stop Service เช่น ศูนย์ลอจิสติกส์ และที่พักสินค้า เป็นต้น และขอให้สปป.ลาวอำนวยความสะดวกในการจัดหาพื้นที่และการจับคู่ธุรกิจ และไทยมีความประสงค์จะสร้างตลาดสินค้าไทยในพื้นที่ลาวตอนเหนือด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น