xs
xsm
sm
md
lg

เอสเอ็มอีแบงก์ จับมือ สสวท. เปิดทางสะดวกเข้าถึงแหล่งเงินทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอสเอ็มอีแบงก์ จับมือ สสวท. เชื่อมโยงเครือข่ายเอสเอ็มอีสมาชิกของ สสวท. กว่า 1 หมื่นรายเข้าถึงแหล่งเงินทุน ควบคู่พัฒนาสร้างความเข้มแกร่งในการแข่งขันกับต่างชาติ

นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ( เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ลงนามบันทึกข้อตกลง การพัฒนาเครือข่ายเอสเอ็มอีไทย กับนายวิเชียร เชิดชูตระกูลทอง นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สสวท.) ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะเกิดประโยชน์ช่วยเชื่อมโยงเครือข่ายเอสเอ็มอีที่เป็นสมาชิก สสวท. เกือบ 10,000 รายทั่วประเทศ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการของธนาคารได้ อีกทั้งจะร่วมกันพัฒนาเอสเอ็มอีให้มีความพร้อมในการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงร่วมมือกันผลักดันเปิดช่องทางตลาดใหม่ ๆ ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น เดือน พ.ค. ที่จะถึงนี้ ธนาคารจะร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออกจัดมหกรรมจำหน่ายสินค้าที่นครเวียงจันทน์ของลาว

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า จากการที่เอสเอ็มอีแบงก์ได้นำคณะเอสเอ็มอีญี่ปุ่นเข้ามาจับคู่ธุรกิจกับเอสเอ็มอีไทย นักลงทุนญี่ปุ่นต่างพอใจและเรียกร้องให้จัดขึ้นอีก เนื่องจากเห็นว่า เอสเอ็มอีไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าที่น่าจะมีความยั่งยืนกว่าจีนที่เน้นสินค้าราคาถูก และเร็ว ๆ นี้ จะประสานให้เกิดความร่วมมือในการจับคู่ธุรกิจระหว่างนักธุรกิจจีนกับเอสเอ็มอีไทย และมีโครงการต่อเนื่องที่จะเชื่อมโยงไปยังนักธุรกิจของดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอิหร่านรวมทั้งยุโรปตะวันออกด้วย

สำหรับ 4 ยุทธศาสตร์หลักของเอสเอ็มอีแบงก์ที่จะดำเนินการในปีนี้ จะเน้นไปสู่ชุมชนรากหญ้า ได้แก่ 1. โครงการปล่อยสินเชื่อเพื่อลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและนำเทคโนโลยีไปสู่ผู้ประกอบการระดับชุมชน โดยปล่อยสินเชื่อให้เทศบาลนคร เทศบาลเมืองและเทศบาลตำบล เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนและโรงกำจัดขยะของชุมชน วงเงินประมาณ 10-20 ล้านบาทต่อแห่ง และถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่เอสเอ็มอีในต่างจังหวัด เพื่อช่วยลดการเข้ามาทำงานในเมืองของชนบท มีวงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท

2. โครงการสร้างเถ้าแก่น้อย โดยเอสเอ็มอีแบงก์จะสนับสนุนให้เยาวชนรุ่นใหม่ ที่เป็นทายาทธุรกิจ เป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็ก ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท 3. โครงการช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการใช้เทคโนโลยีผสมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้าน เพราะปัจจัยต้นทุน โดยเฉพาะพลังงานได้เพิ่มขึ้นโดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อปีนี้ 10,000 ล้านบาท

และ 4.โครงการส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี ด้านการผลิตพลังงานทดแทน ตั้งเป้า 5,000 ล้านบาท และได้เจรจากับกระทรวงการคลัง เพื่อให้ช่วยสนับสนุนเงินเพื่อจะได้ลดดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการเหลือร้อยละ 3 อย่างไรก็ตาม ยังอยู่ในขั้นตอน กทม.พิจารณาของเอสเอมอีแบงก์ มีแนวโน้มสูงที่จะได้รับการพิจารณา

ส่วนปัญหาเอ็นพีแอลของธนาคารนั้น ปัจจุบันมียอดรวม 19,000 ล้านบาท แต่เอ็นพีแอลนี้ในแง่ธนาคารเพื่อการพัฒนาไม่น่าวิตก เนื่องจากจะต้องดูแลธุรกิจให้เข้มแข็ง บางรายต้องผ่านการฟื้นฟูหลายครั้ง บางรายก็เลิกกิจการ แต่แนวโน้มเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอลส่วนใหญ่มีสถานะดีขึ้น เพราะธนาคารช่วยเหลือด้านการตลาดและช่องทางจัดจำหน่าย รวมถึงโครงการจับคู่ธุรกิจ

ทั้งนี้ เอสเอ็มอีแบงก์ยังได้เปิดโครงการเอสเอ็มอีมาร์เก็ตเพลส โดยมี นางมุกดา พงษ์สมบัติ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งมีลูกค้าของธนาคารทั่วประเทศมาออกบูธกว่า 30 ราย ภายในกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งผู้ประกอบการจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ผ้าบาติกผ้าคลุมผมมุสลิม เครื่องประดับ หมอนยางพารา และน้ำบูดู เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น