“เอสเอ็มอีแบงก์” เผยปัญหาอันดับหนึ่งผู้ประกอบการอ่อนการทำตลาด ยอดขายไม่กระเตื้อง อีกทั้ง ขาดทายาทธุรกิจ ระบุเผยปีนี้ สานต่อเสริมแกร่งการตลาด พร้อมเตรียมเสนอ 3 มาตรการต่อรัฐบาลใหม่ ฝ่าวิกฤตแฮมเบอเกอร์
นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์) เปิดว่า ผลจากการเข้าไปตรวจสภาพธุรกิจผู้ประกอบ SMEs ปี 2550 กว่า 2,280 รายทั่วประเทศ เฉลี่ยจังหวัดละ 30 กิจการ ทั้งภาคการผลิต 38% และภาคบริการ 33% พบว่า ผู้ประกอบการประสบปัญหาด้านการทำตลาดอันดับหนึ่ง สะท้อนได้จากยอดขายสินค้าเท่าเดิมหรือใกล้เคียง คิดเป็น 41% ขณะที่จำนวนลูกค้าลดลง 10% เมื่อเทียบกับปี 2549
โดยข้อมูลเชิงลึกพบว่า 52% ผู้ประกอบการยังไม่มีตราสินค้าปรากฏบนผลิตภัณฑ์ ไม่มีกิจกรรมส่งเสริมตลาด ได้แก่ ไม่มีโฆษณา 71% ไม่มีการประชาสัมพันธ์ 70% ไม่มีการส่งเสริมการขาย 69% ไม่มีการเก็บข้อมูลการตลาด 52% ข้อมูลดังกล่าว สอดรับกับการตอบแบบสอบถามถึงความต้องการต่อธนาคารที่ไม่ใช่ด้านสินเชื่อ พบว่าผู้ประกอบการสนใจอบรมด้านการตลาดอันดับ 1 จำนวนถึง 965 กิจการ
ดังนั้น ในปีที่ผ่านมา และปีนี้ (2551) ธนาคารจะคงเน้นช่วยเหลือด้านการตลาดกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการอบรมสัมมนาด้านการตลาด การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การออกบูท การนำลูกค้าไปเปิดตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
สำหรับสภาพธุรกิจด้านการบริหารจัดการ พบว่า กิจการส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ 3-10 ปี คิดเป็น 56% พบว่า 24% ไม่มีทายาทหรือผู้สืบทอดกิจการ หรือถึงแม้จะมีทายาทแต่ก็ไม่ยอมทำกิจการที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่าเป็นงานที่ท้าทายของธนาคารในการผลักดันทายาทเหล่านั้นก้าวสู่การเป็นเถ้าแก่สืบทอดกิจการ ขณะที่ 45% มีทายาทสืบทอดแต่ไม่พร้อมดำเนินกิจการในปัจจุบัน กลุ่มนี้ธนาคารพร้อมสนับสนุนด้านเงินทุนและองค์ความรู้ธุรกิจทุก ๆ ด้าน
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากปัญหาวิกฤติซับไพร์มในสหรัฐอเมริกา ธนาคารเตรียมข้อเสนอ 3 มาตรการ เพื่อนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารพิจารณาเสนอขอความสนับสนุนจากรัฐบาลชุดใหม่ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประกอบด้วยมาตรการด้านอัตราดอกเบี้ย โดยต้องการให้ชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้กับธนาคารในการปล่อยสินเชื่อให้แก่เอสเอ็มอีในอัตรา 1-2% ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าได้ในอัตราที่ลดต่ำกว่าปรกติมาตรการที่สอง ขอให้รัฐบาลพิจารณายกเว้นไม่เก็บภาษีนิติบุคคลให้แก่เอสเอ็มอีที่เริ่มต้นทำธุรกิจในช่วง 3-5 ปีแรก และมาตรการสุดท้าย ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐต่างๆ นำร่องการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าระดับกลางลงมาถึงระดับล่าง เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว