xs
xsm
sm
md
lg

ประเมินผล สวท.ขอนแก่นนำร่องวิทยุท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวขอนแก่น -กรมประชาสัมพันธ์ ประเมิลผลนำร่องพัฒนารายการวิทยุท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม เพื่อสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดขอนแก่น เพื่อนำไปขยายผลในการจัดรายการวิทยุเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ

วันนี้ (26 มี.ค.) ที่ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดขอนแก่น สำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 หรือ สวท.ขอนแก่น นางสาวอรุณี กาญจนสาลักษณ์ นักวิชาการประชาสัมพันธ์ 8 เดินทางมาร่วมประชุมและประเมินผลการดำเนินงาน โครงการการพัฒนารายการวิทยุ ท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมตามนโยบายของกรมประชาสัมพันธ์

สวท.ขอนแก่น ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร.ให้เป็น 1 ใน 8 หน่วยงานนำร่องจาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ ในการศึกษาปฏิรูปแบบการพัฒนา โดยเน้นการมีส่วนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการร่วมรับผลประโยชน์ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมประเมินผล เพื่อให้เกิดการบริการ สาธารณที่ดี และสนองตอบความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ ก็จะมีการเสนอผู้บริหารระดับสูง เพื่อพัฒนาขยายผลสู่จังหวัดอื่นๆ ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการต่อไปให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับสัดส่วนของคณะกรรมการการพัฒนารายการวิทยุท้องถิ่น แบบมีส่วนร่วม สวท.ขอนแก่น ประกอบด้วย ภาคราชการ 4 คน ภาคเอกชน และประชาชน 11 คน รวม 15 คน โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ชอบ ดีสวนโคก ประธานชมรมชาวพุทธขอนแก่น เป็นประธานคณะทำงาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชอบ กล่าวว่า สวท.ขอนแก่น ตั้งชื่อรายการว่า เสียงชุมชนคนอีสาน ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 13.00-14.00 น.ระบบเอเอ็ม ความถี่ 648 กฮ. และ เอฟเอ็ม ความถี่ 99.5 มฮ.และทางวิทยุออนไลน์ ที่ http://.prd.go.th/khonkaen โดยเริ่มดำเนินรายการตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นมา โดยทดลองเพื่อประเมินผลในระยะแรก 3 เดือน

นางสาวอรุณี กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดรายการทางสถานีวิทยุกระจายเสียง ในรูปแบบการบริหารการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม นับเป็นมิติใหม่ของกรมประชาสัมพันธ์ ที่เปิดโอกาสให้ผู้รับบริการ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างแท้จริงโดยเริ่มตั้งแต่การแสดงความคิดเห็น การตัดสินใจ การดำเนินงาน ตลอดจนการติดตามและประเมินผล นับเป็นการปรับวิธีการทำงาน

โดยนำแนวคิดการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันพัฒนาวิทยุท้องถิ่น เพื่อให้เกิดบริการสาธารณะที่ดี และให้ผู้รับบริการมีความพอใจ ซึ่งจากการประเมินผล จะทำให้ทราบว่ามีส่วนใดที่ต้องปรับปรุง เพื่อนำไปขยายผลใช้ในการดำเนินรายการทั่วประเทศ ในวิทยุเครือข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น