xs
xsm
sm
md
lg

เขียงหมูหนองคายลั่นลดราคาได้้แต่อยู่ได้ไม่นานต้องเจ๊ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หนองคาย - ผู้ประกอบการฟาร์มหมูและเขียงหมูชาวหนองคาย ระบุลดราคาหมูตามที่รัฐบาลต้องการได้ แต่ทำได้ไม่นานผู้ประกอบการรายย่อยเจ๊งหมด ชี้รัฐควรแก้ไขที่ต้นเหตุ ปล่อยไปตามกลไกตลาด ขืนคุมมากจะพังทั้งระบบ

นายเอกรินทร์ คุโณปการ อายุ 32 ปี เจ้าของถาวรฟาร์ม เลขที่ 233 หมู่ 6 ต.โพธิ์ชัย อ.เมืองหนองคาย ฟาร์มเลี้ยงหมูและเขียงหมูรายใหญ่ในจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะให้มีการปรับราคาเนื้อหมูลงให้เหลือ ก.ก.ละ 98 บาทนั้น ก็สามารถลดราคาได้แต่ผู้ประกอบการทั้งฟาร์มหมู เขียงหมู และผู้ค้ารายย่อย ไม่สามารถที่จะอยู่ได้นาน และจะต้องเจ๊ง เลิกกิจการไปในเร็ววัน เนื่องจากการที่ราคาหมูปรับสูงขึ้นนั้นมีปัจจัยหลายอย่าง

อาทิ ราคาอาหารหมูปรับราคาแพงขึ้นกว่าเดิมถึงร้อยละ 30 ในทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นอาหารหมูสำเร็จรูป, หัวอาหาร และการซื้อวัตถุดิบมาผสมอาหารให้หมูเอง เมื่อราคาต้นทุนสูงขึ้น ค่าแรงเพิ่มขึ้น เขียงหมูก็จำเป็นต้องปรับราคาขึ้นตาม ในขณะเดียวกันประชาชนกลับมีความสามารถซื้อน้อยลง เศรษฐกิจไม่ดี คนตกงานมากขึ้น ขณะนี้พบว่าผู้ประกอบการฟาร์มหมูรายย่อย ที่มีแม่หมูไม่ถึง 10 ตัว ทยอยปิดฟาร์มเลิกเลี้ยงหมูไปมากแล้ว

เนื่องจากทนแบกรับสภาพไม่ไหวและไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะสามารถทรงตัวอยู่ได้ รวมทั้งเสี่ยงต่อการเกิดโรคท้องร่วมติดต่อในหมู หรือ โรคพีอีดี ที่ส่งผลให้ลูกหมูกินนมจากแม่หมูที่ติดเชื้อไวรัส จนทำให้น้ำนมแห้ง ขาดนมเมื่อลูกหมูกินนมแม่หมูเข้าไปทำให้ลูกหมูท้องร่วงและตายในที่สุด

ขณะนี้โรคพีอีดีพบมากในจังหวัดทางภาคตะวันตกของไทย ส่งผลให้หมูขาดตลาดและกลายเป็นผลกระทบทั่วทุกภาคของประเทศ

โดยรัฐบาลควรที่จะแก้ไขให้ตรงประเด็น การปรับลดราคาหมูหน้าเขียง หมูเนื้อแดงไม่ให้ขายเกิน 98 บาท/ก.ก.นั้นเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด รัฐควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง กล่าวคือ หากราคาหมูขยับเพิ่มขึ้นในราคาที่ประชาชนรับได้ ประชาชนผู้บริโภคก็จะปรับสภาพเลือกบริโภคได้และก็จะเป็นวัฎจักร แต่หากรัฐสวนกระแส ลดราคาหมูหน้าเขียง

แต่ราคาอาหารหมูพุ่งสูงไม่หยุด ผู้ประกอบการเลี้ยงหมูไม่สามารถที่จะยึดอาชีพนี้ได้อย่างแน่นอน จะมีเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่รายที่จะเป็นผู้ผูกขาดตลาดหมูในอนาคต

ทั้งนี้ถาวรฟาร์มแห่งนี้เป็นฟาร์มหมูขนาดแม่หมู 50 ตัว เลี้ยงหมูประมาณ 700 ตัว เชือดหมูวันละ 4 ตัว หรือประมาณ 400 ก.ก. ส่งขายยังตลาดสดทุกแห่งในจังหวัดหนองคายและประเทศลาว ซึ่งเป็นฟาร์มที่บริหารจัดการเองทุกขั้นตอน

กำลังโหลดความคิดเห็น