หนองคาย - ตำรวจหนองคายรวบแก๊งต้มตุ๋น หลังออกอุบายได้มรดก 155 ล้านบาท อ้างไม่มีเงินจ่ายภาษี ตระเวนหาคนมีเงินช่วยออกให้ก่อนแล้วจ่ายคืนภายหลังพร้อมดอกเบี้ย ซ้ำปลอมเอกสารระบุจาก รมว.คลัง ให้ช่วยเหลือ เหยื่อเมืองหนองคายหลงเชื่อควักเงินสดให้รวมกว่า 6 ล้านบาท กว่าจะรู้ตัวถูกหลอกก็นานข้ามปี โร่แจ้งตำรวจตามรวบตัวได้ทันที 2 อีก 1 กำลังตามจับกุม
พ.ต.ท.ฉกาจน์ เทียมวงศ์ รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองหนองคาย สั่งการให้เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนนำหมายศาลจังหวัดหนองคาย เลขที่ จ.37/2551 ลงวันที่ 30 ม.ค.51 ไปทำการจับกุมนายโสทร พรหมทะสาร อายุ 66 ปี อดีตผู้จัดการองค์การโทรศัพท์สาขาอำเภอศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย และนางระเบียบ พรหมทะสาร อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 132 หมู่ 6 ต.มีชัย อ.เมืองหนองคาย สองสามีภรรยา ในความผิดข้อหาร่วมกันฉ้อโกง, ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม โดยจับกุมทั้งสองคนได้ที่บ้านพักแล้วนำตัวมาสอบสวนที่สภ.เมืองหนองคายนานกว่า 2 ชั่วโมง
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากมีนางวรรณ (นามสมมติ) ชาวอำเภอเมืองหนองคาย ซึ่งเป็นผู้เสียหาย ได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ถูกนายโสทร และนางระเบียบหลอกลวงเอาเงินของตนไปประมาณ 6 ล้านบาท ขอให้เจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมตัวทั้งสองคนมาดำเนินคดีให้และอยากจะได้เงินคืน
นางวรรณ ให้การว่า เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา นายโสทรและนางระเบียบซึ่งเป็นคนรู้จักกันมาก่อนได้พานางเบญจมาภรณ์ จันทรทิพรักษ์ อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 189/11 หมู่ 2 ต.หนองกอมเกาะ อ.เมืองหนองคาย ไปพบตนที่บ้าน โดยนางเบญจมาภรณ์ บอกกับตนว่าได้รับมรดกจากสามีที่เพิ่งเสียชีวิตจำนวน 155 ล้านบาท
แต่นางเบญจมาภรณ์ไม่มีเงินจ่ายภาษีมรดก จึงอยากจะขอยืมเงินสดจากตนไปเป็นค่าดำเนินการจ่ายภาษีก่อนแล้วจะจ่ายเงินคืนให้ภายหลังพร้อมดอกเบี้ย นอกจากนี้ยังได้นำหนังสือราชการจากกระทรวงการคลัง อ้างถึงผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายให้ช่วยดูแลเรื่องการดำเนินการจ่ายเงินมรดกแก่นางเบญจมาภรณ์ให้ถูกต้อง ลงชื่อนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
โดยนางเบญจมาภรณ์ได้นำหนังสือราชการนี้มาแสดงให้ตนดูเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ตน ประกอบกับเห็นว่านายโสทร และนางระเบียบเป็นคนคุ้นเคยจึงเชื่อใจและยอมให้เงินกับทั้งสามคน ซึ่งทั้งสามมาเอาเงินกับตนหลายครั้งๆ ละหลายแสนบาท รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 6 ล้านบาทและทั้งสามคนกำชับไม่ให้ตนบอกเรื่องดังกล่าวกับคนอื่นไม่เช่นนั้นชีวิตจะไม่ปลอดภัย
ผ่านมาหลายเดือนทั้ง 3 คนกลับไม่ยอมติดต่อมา ทั้งไม่นำเงินมาคืนให้สักที จึงเริ่มเอะใจและเล่าเรื่องราวให้ลูกสาวฟัง ทำให้รู้ว่าถูกหลอก และหนังสือจากกระทรวงการคลังนั้นเป็นการปลอมแปลงเอกสารราชการจึงเข้าแจ้งความต่อตำรวจ
สอบสวนนายโสทร และนางระเบียบ ให้การภาคเสธ โดยรับว่าได้มาเอาเงินจากนางวรรณจริง แต่เงินทุกบาทได้มอบให้กับนางเบญจมาภรณ์ไปทั้งหมด และไม่ทราบว่านางเบญจมาภรณ์นำเงินไปทำอะไร แต่จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่านายโสทร นางระเบียบ และนางเบญจมาภรณ์นั้นเคยรู้จักกันมาก่อน
เนื่องจากนางเบญจมาภรณ์เคยถูกจับคดีฉ้อโกงเงินค่าบัตรเติมเงินโทรศัพท์ แล้วนายโสทร เป็นนายประกัน ช่วยประกันตัวนางเบญจมาภรณ์ ให้รอดจากการถูกดำเนินคดีที่ศาลจังหวัดสกลนครมาแล้ว ทำให้เชื่อได้ว่าทั้ง 3 คนได้ร่วมกันวางแผนหลอกลวงเอาเงินของนางวรรณ โดยที่นายโสทร และนางระเบียบ ทราบมาว่านางวรรณเพิ่งขายที่ดินได้เงิน 12 ล้านบาท จึงอาจจะคิดวางแผนร่วมกับนางเบญจมาภรณ์ดำเนินการดังกล่าว และขณะนี้ทราบว่านางเบญจมาภรณ์ได้ไปซื้อบ้านจัดสรรที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้ติดตามตัวนางเบญจมาภรณ์มาสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไป