xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ผู้นำภาค ปชช.รับเหมาทำแทนจนได้ขึ้นเป็นใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระบุการเมืองภาคประชาชนแม้จะเข้มแข็งแต่ก็ไม่เป็นหนึ่งเดียว “จอน” ชี้ตั้งพรรคการเมืองของประชาชนยังอีกนาน พร้อมเรียกร้องออกมาเคลื่อนไหว ให้มีการปฎิรูปสื่อ แก้ รธน. สร้างรัฐสวัสดิการ การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าและภาษีมรดก นักวิชาการเฉ่งผู้นำภาคประชาชนเคลื่อนไหวสนใจแต่กระแสสื่อ แถมมีลักษณะรับเหมาทำแทนประชาชนจนได้ดิบได้ดีเป็นนักการเมือง

นายจอน อึ้งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวในงานเสวนา ก้าวต่อไปของการเมืองภาคประชาชนหลังการเลือกตั้งทั่วไป 2550 ในงานรัฐศาสตร์วิชาการ วานนี้ (3 ม.ค.) ว่า นับตั้งแต่มีการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การรัฐประหารและการต่อต้านรัฐประหารในระยะหลังทำให้การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้น แม้ว่าโดยภาพรวมแล้วจะไม่ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน บางทีก็เป็นขั้วตรงกันข้ามด้วยซ้ำเหมือนกรณีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในกรุงเทพฯ การต้านโรงถลุงเหล็กที่บางสะพาน จ.ประจวบคิรีขันธ์ การต่อต้านเขื่อน หรือการต่อสู้ด้วยความรุนแรงของชาวมุสลิมบางส่วนที่ชายแดนใต้ ซึ่งก็ถือเป็นการเมืองภาคประชาชนเช่นกันดีหรือไม่ดีนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ทั้งหมดก็เป็นการต่อสู้ของประชาชนผู้ไม่มีอำนาจที่มีลักษณะปกป้องสิทธิประโยชน์ของตัวเอง

นายจอน กล่าวว่า การเมืองภาคประชาชนมีเป้าหมายเพื่อกำกับดูแลตัวแทนของตัวเองในระบบประชาธิปไตยและเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศได้ในทุกระดับ นอกจากนี้ยังต้องมีพรรคการเมืองของประชาชนที่ต้องเริ่มต้น สร้างรากฐานจากในระดับชุมชนและไม่จำเป็นต้องมีพรรคเดียว ซึ่งคงต้องใช้เวลา อีกนาน แต่ในเบื้องต้นจะต้องมีการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการปฏิรูปสื่ออย่างจริงจัง แก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสร้างระบบรัฐสวัสดิการขึ้นมาโดยให้ความสำคัญกับการปฏิรูปที่ดิน การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าและภาษีมรดก เป็นต้น เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่

ในขณะที่นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า จริงๆ แล้วคำว่า การเมืองภาคประชาชนเป็นคำใหม่เริ่มใช้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแตกต่างกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนกลุ่มต่างๆ ก่อนหน้านั้นที่มักจะมุ่งเน้นการเรียกร้องผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มชาวนา กลุ่มกรรมกร ฯลฯ

นายศิโรตม์ กล่าวว่ามีข้อสังเกตว่าผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำการเมืองภาคประชาชนในระยะหลังก็เปลี่ยนแนวทางการเคลื่อนไหวโดยแทนที่จะอิงกับการเรียกร้องทางชนชั้น กลับมาเล่นการเมืองที่อ้างถึงผลประโยชน์ส่วนรวมและของชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไปอย่างตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นเน้นย้ำว่าคนชั้นล่างก็ยังไม่มีปากเสียงในสังคมการเมืองไทยอยู่ดี เพราะในขณะเดียวกันผู้นำภาคประชาชนเหล่านี้ก็มีลักษณะที่รับเหมาทำแทนประชาชนโดยอ้างว่าตนเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งหมด

"แม้พวกเขาจะมีสิทธิเคลื่อนไหวโดยชอบธรรม แต่เท่ากับว่าเป็นการเพิกเฉย ต่อการจัดตั้งและการรวมกลุ่มของประชาชน โดยหันมาให้ความสนใจเพียงว่าจะเล่นกับสื่ออย่างไรจะทำให้สื่อยอมรับและชิงพื้นที่ในสื่อได้อย่างไรเท่านั้น"

นายศิโรตม์ กล่าวด้วยว่า ผู้นำการเมืองภาคประชาชนยังมีท่าทีต่อต้าน หรือเพิกเฉยประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาผ่านการเลือกตั้งแต่สนับสนุนการเมืองทางตรงที่มาจากภาคประชาชน แต่ในขณะเดียวกันก็เท่ากับเป็นการสนับสนุนการทำรัฐประหาร โดยจะเห็นได้ว่าหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผู้นำของภาคประชาชนเข้าไปมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาของคณะรัฐประหาร เป็น สนช. เป็น ส.ส.ร. หรือเข้าไปในองค์กรอิสระต่างๆ หรือไปแทนที่ในตำแหน่งของนักการเมืองที่อ้างตัวว่าเป็นตัวแทนของประชาชนเหมือนกัน

ด้านนางรสนา โตสิตระกูล กรรมการสหพันธ์เพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของพลเมืองจะทำให้การเมืองในระบบตัวแทนดีขึ้น องค์กรพัฒนาเอกชนทำหน้าที่เป็นเหมือนเพื่อนเพื่อสนับสนุนให้พลเมืองทวงสิทธิที่ควรจะได้รับ

อย่างไรก็ตาม ระบอบประชาธิปไตยเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับระบบทุน แต่ปัญหาอยู่ที่ประชาชนไม่มีทุน เวลานักการเมืองจะลงเลือกตั้งก็ต้องขอนายทุน ด้วยเหตุนี้ นักการเมืองจะเป็นตัวแทนของประชาชนได้อย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่จะประชาชนจะจ่ายเงินให้กับนักการเมืองเพื่อลงเลือกตั้งแทนที่จะให้รับเงินจากกลุ่มทุนเพื่อให้เป็นตัวแทนจริงๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น