xs
xsm
sm
md
lg

ชมรมอนุรักษ์ สวล.แปดริ้ว “ปั้นนักสืบสายน้ำ” ดูแลแม่น้ำบางปะกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฉะเชิงเทรา – ชมรมรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทรา วางเป้าหมายดำเนินการรักษาสิ่งแวดล้อมในจังหวัดปี 51 มุ่งเน้นโครงการปลูกจิตสำนักให้กับเยาวชนในจังหวัด คือ “โครงการนักสืบสายน้ำ” เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ “แม่น้ำบางปะกง” ที่มีลำน้ำหลักที่สำคัญ

พระครูสุนทรกิจประยุต ผู้บริหารโรงเจวัดโสธรวรารามวรวิหาร ในฐานะประธานชมรมรักษ์สิ่งแวดล้อม จังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยถึงเป้าหมายการดำเนินการรักษาสิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทรา ในปี 2551 ว่า จะดำเนินโครงการปลูกจิตสำนักให้กับเยาวชนในจังหวัด คือ “โครงการนักสืบสายน้ำ”

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากวันที่ 20 กันยายน 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จประพาสทางเรือจากท่าน้ำผ่านฟ้าลีลาศ ไปจนถึงประตูท่าไข่ จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมระยะทาง 72 กิโลเมตร และปีนี้ครบรอบ 14 ปี แห่งการรณรงค์รักษาแหล่งน้ำของประเทศ ถือเป็นตัวอย่างแห่งการพลิกฟื้นสภาพคลองเน่าเหม็นเต็มไปด้วยผักตบชวาให้กลายเป็นลำคลองแห่งความภาคภูมิใจ 14 ปี แห่งการพัฒนาคลองแสนแสบ จึงเป็น 14 ปี แห่งการสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นความภาคภูมิใจของชาวฉะเชิงเทรา รวมทั้งชาวไทยทุกคน

ทางชมรมเห็นว่า จังหวัดฉะเชิงเทรา มีแม่น้ำสายหลักที่สำคัญ คือ แม่น้ำบางปะกง มีลำน้ำหลักที่สำคัญได้จำนวนมาก อาทิ คลองแสนแสบ คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต คลองบางพระ คลองท่าไข่ คลองพระยาสมุทร คลองท่าลาด ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันคุณภาพลำน้ำสายหลักเริ่มไม่เหมาะสมกับการอุปโภคบริโภคและมีแนวโน้มว่าจะเสื่อมลง เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนตลอดลำน้ำในการจัดการคุณภาพน้ำให้มีความยั่งยืน สายน้ำหลายสาย จึงกำลังเจ็บป่วยทรุดโทรม

ปัญหาคุณภาพน้ำกลายเป็นเรื่องสำคัญที่คนไทยต้องรับผิดชอบร่วมกัน การเฝ้าจับตาดูแลสายน้ำ จึงเป็นการเฝ้าระวังตรวจสุขภาพของเราเอง โครงการนักสืบสายน้ำ จึงเป็นโครงการอันเกิดขึ้นบนความจริงที่ว่า เด็กๆ และคนธรรมดาทั่วไปสามารถเรียนรู้ตรวจสอบ และดูแลสายน้ำใกล้บ้านและที่ใดก็ตามได้ด้วยตัวเอง การตรวจดูสายน้ำที่ว่านี้ทำได้ง่าย ไม่ต้องอาศัยนักวิทยาศาสตร์ วิชาการล้ำลึกสูงส่ง หรือสารเคมีราคาแพงใดๆ แต่ต้องอาศัยหัวใจรักธรรมชาติของนักสำรวจ เป็นเครื่องมือสำคัญอันดับแรก ด้วยการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัวนี้เอง ที่จะเป็นหนทางให้เด็ก ๆ และผู้ใหญ่ในชุมชนได้เข้าใจ รัก หวงแหน และดูแลรักษาสายน้ำในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม ด้วยตัวเองต่อไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมชองชุมชน องค์กรส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาในการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง จึงต้องทำการส่งเสริมบทบาทของเยาวชนจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้ ประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและเฝ้าระวังคุณภาพของแม่น้ำบางปะกง ลำคลองต่างๆ ตลอดจนเชื่อมโยงให้เกิดเครือข่ายเยาวชนและชุมชนลุ่มน้ำขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น