ตำรวจสาวสายบันเทิง? “เดินสายล่ามง” แต่ผู้คนสงสัย “เอาเวลาที่ไหนไปประกวด” ตั้งวงโยนคำถาม ถ้าไม่ใช่เด็กนายจะทำแบบนี้ได้หรือเปล่า? กูรูชี้เรื่องนี้คือ “ความไม่เท่าเทียม” ที่ตำรวจต้องพบเจอ
ไม่ใช่เด็กนาย ทำแทนไม่ได้...
กลายเป็นที่วิจารณ์กันสนั่นอีกแล้วกับ “ผู้กองแคท”หรือ ร.ต.อ.อาทิติยา เบ็ญจะปักตำรวจหญิงสังกัดสำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติ ที่ล่าสุดก็ออก “เดินสายล่ามง” โดยเป็น “ตัวแทนลงประกวดเวทีนางสาวไทย นครราชสีมา 2567”
ทำเอาโลกโซเชียลฯ ออกตั้งคำถามถึง “ความเหมาะสม” ในการมาประกวดนางงาม เพราะต่างก็รู้กันดีว่า “การประกวดนางงาน”จำเป็นต้องมีการเข้าค่ายเก็บตัว และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย จนก่อให้เกิดข้อสงสัยว่า แบบนี้จะไม่กระทบกับงานตำรวจหรือ?
{"ผู้กองแคท"-ร.ต.อ.อาทิติยา}
ด้าน พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้ออกมาตอบประเด็นร้อนนี้ว่า “ผู้กองแคท” อยู่ในสังกัด “สำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติ”รับผิดชอบเรื่อง “งานเอกสาร และงานพิธีการด้านต่างๆ”
และยอมรับว่าในระเบียบ “ไม่มีข้อห้ามชัดเจนว่า ไม่ให้ประกวดนางงาม”แต่เป็นระเบียบลักษณะกว้างๆ ไม่ให้ประพฤติหรือกระทำการที่เป็นการเสื่อมเสีย
ส่วนเรื่อง “การลาราชการ”หากมีการไปประกวดก็ต้องดูว่า มีการลาที่ถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ต้องไม่ให้เสียหายต่อราชการตำรวจ เป็นหน้าที่ของต้นสังกัด ที่จะดูแลและควบคุมตรงนี้
เกี่ยวกับเรื่องนี้ หลายคนวิจารณ์หนักว่า “ชอบงานบันเทิงแล้ว มาเป็นตำรวจทำไม? เอาเวลาไหนมาลาหยุดขนาดนั้น” บ้างก็สะท้อนแทนตำรวจหลายนายว่า “คุณรู้ไหม ตำรวจบางคนแทบไม่ได้ใช้วันลาเลย”และตลอดเวลาที่รับราชการมา “ทำหน้าที่อะไร”
คงไม่มีใครให้คำตอบได้ดีไปกว่าคนวงใน และ “ดร.โต้ง” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์พูตระกูลรองอธิการบดี ประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต ก็ยินดีช่วยวิเคราะห์ว่า “ต้องทำหน้าที่อะไรในกรมตำรวจ ถึงสามารถไปประกวดนางงามได้?”
คำตอบคือต้องดูว่า ทำหน้าที่อะไร เกี่ยวข้องกับ “การประชาสัมพันธ์”อย่างการเป็นโฆษก, รองโฆษก หรือทีมโฆษกไหม ซึ่งประชาสัมพันธ์ทำหน้าที่แค่แจ้งข้อมูลข่าวสารให้ประชาชน “แต่ไม่ใช่ไปประกวดนางงามนะครับ”
“ผมว่าประชาชนต้องการ คนที่มาเป็นตำรวจด้วยจิตวิญญาณ ที่มาทำหน้าที่ตำรวจ ประชาชนส่วนใหญ่คงไม่ได้ต้องการ ตำรวจที่มาประกวดนางงามนะครับ”
อาจจะบอกได้ว่า “ไม่ได้มีข้อห้าม”แต่ก็ต้องถามกลับด้วยว่า มันเป็น “มาตรฐานเดียวกันหรือเปล่า” ถ้ากรณีนี้สามารถทำได้ หมายความว่าตำรวจที่ทำหน้าที่คล้ายๆ กัน ก็สามารถลาไปประกวดได้ ไม่งั้นมันเกิดปัญหาที่ว่า..
“เป็นเด็กนายไหม พูดง่ายๆ นะครับ เด็กนายก็ทำได้ พอไม่ใช่เด็กนาย จะทำได้หรือเปล่า?”
{“ดร.โต้ง”- นักอาชญาวิทยา}
“ทำได้” เพราะ “ระบบอุปถัมภ์?”
ถ้าให้ตั้งคำถามเรื่อง “ระบบอุปถัมภ์” ในแวดวงสีกากี ก่อนหน้านี้ “ผู้กองแคท” ก็มีกรณีที่ผลักให้ผู้คนตั้งข้อสงสัยถึง “เส้นทางการรับราชการ” ที่เติบโตอย่างรวดเร็วจนผิดสังเกตอยู่เหมือนกัน
ส่งให้หลายต่อหลายคน ต่างทึ่งใน “ความสำเร็จอันก้าวกระโดด” ของอดีตนักร้องและนางงาม อย่าง“แคท” ที่สามารถอัปเลเวลยศจาก “ตำรวจชั้นประทวน” มาเป็น “ว่าที่ร้อยตำรวจเอก” ได้ในเพียงเวลาแค่ 3 ปี
คือเธอจบปริญญาตรี, โท และปริญญาเอกจาก คณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย เข้ารับราชการตำรวจในปี 63 โดยติดยศ สิบตำรวจโทหญิง ตำแหน่ง ผบ.หมู่
ต่อมาได้เข้ารับการอบรมในหลักสูตร “กอส.รุ่นที่ 47” หรือ “การฝึกอบรมข้าราชการตำรวจ และบุคคลที่บรรจุ หรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร” ในปี 64 จนกระทั่งอีก 2 ปี เธอก็ได้ติดยศ “ว่าที่ร้อยตำรวจเอก”ในที่สุด
หลักสูตร “กอส.” นี่เอง ที่เป็นที่ครหากันว่า มันคือ “หลักสูตรอัปยศ” ดร.โต้ง สะท้อนจากประสบการณ์ว่า ตำรวจชั้นประทวนหลายคนที่จบปริญญาเอก ยังไม่สามารถเป็นนายตำรวจได้เลย ทั้งที่ทำงานมาหลายปี นี่แหละเป็นที่มาของคำว่า “2 มาตรฐาน”
อีกคำถามที่หลายคนสงสัยคือ ต่อให้การลาจะถูกระเบียบ แต่ก็ “เป็นไปไม่ได้” ที่จะ “ไม่กระทบกับงานตำรวจ” ดังนั้น การที่ผู้กองแคททำเรื่องพวกนี้ได้ เพราะ “ระบบอุปถัมภ์” หนุนอยู่หรือเปล่า?
“ประเด็นแรก เราต้องดูก่อนว่า การที่เขาไปประกวดนางงามเนี่ย ไปอย่างไร ใช้สิทธิ์วันลาอะไร สองปฏิเสธไม่ได้ครับ ระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทย ยังมีอยู่”
ดร.โต้ง มองว่า ”การมาทำงานตรงนี้ ก็ปฏิเสธ ไม่ได้ว่า ต้องใกล้ชิดผู้บังคับบัญชา” นี่คือ “ความไม่เท่ากัน” ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพบเจอ หลายพื้นที่กำลังตำรวจไม่เพียงพอ ทำให้ตำรวจหลายนายขนาดป่วย ก็ยังต้องมาทำงาน
พร้อมตั้งคำถามว่า “ทำไมถึงมีเวลาไปอย่างอื่นได้” ขณะที่หลายคนต้อง “ทำงานกันสายตัวแทบขาด” สะท้อนถึงความเป็น 2 มาตรฐานในองค์กรสีกากี
“ถ้าแม้แต่พนักงานตำรวจยังถูกปฏิบัติ ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เราก็คงคาดหวังไม่ได้หรอกว่า เขาจะปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันกับประชาชน”
นี่เป็นเรื่อง “วัฒนธรรมองค์กร” ที่ต้องปรับเปลี่ยนของ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” หมายความว่า ทั้งเรื่อง ระบบอุปถัมภ์ หรือหลายๆ เรื่องที่องค์กรนี้อาจมองว่า เรื่องเหล่านี้สามารถทำได้
แต่เมื่อสังคมรอบข้างมีกระแสวิจารณ์หนักว่า เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและทำไม่ได้ ฉะนั้น วัฒนธรรมในองค์กรก็ต้องปรับเปลี่ยน ให้เข้ากับคนในสังคมและเป็นไปตามหลักสากล
ดูโพสต์นี้บน Instagram
...กลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์สนั่นโซเชียลฯ ว่าแบบนี้ ถือเป็นการเบียดบังเวลาราชการหรือไม่? และนี่คือคำตอบจากคนวงในที่ช่วยวิเคราะห์เอาไว้...
>>> https://t.co/fptBm3ISzG
.#ผู้กองแคท #แคทอาทิติยา #นางสาวไทย2567 #ประกวดนางงาม #ตำรวจ #ตำรวจไทย pic.twitter.com/WvnS0eKTzv— livestyle.official (@livestyletweet) February 9, 2024
@livestyle.official ...กลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์สนั่นโซเชียลฯ ว่าแบบนี้ ถือเป็นการเบียดบังเวลาราชการหรือไม่? และนี่คือคำตอบจากคนวงในที่ช่วยวิเคราะห์เอาไว้... #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #ผู้กองแคท #แคทอาทิติยา #นางสาวไทย2567 #ประกวดนางงาม #ตำรวจ #ตำรวจไทย ♬ original sound - LIVE Style
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟชบุ๊ก “กระทรวงนางงามแห่งประเทศไทย”, “นางสาวไทย -Miss Thailand Organization”, “บอสแคท อาทิติยา (Cat Organizer)”, “แคท อาทิติยา”, ละครเรื่อง "สารวัตรใหญ่", “เขาวานให้หนูเป็นสายลับ”, “นักรบตาปีศาจ”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **