xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานต่างชาติ “แย่งอาชีพ” คนไทย? ถึงเวลาทำให้ได้มากกว่าทักษะเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมจัดหางาน ลงพื้นที่ตรวจสอบ หลังพบเบาะแส ตลาดขนาดใหญ่ “คนขายก็ต่างด้าว-คนซื้อก็ต่างด้าว”!! ชวนกูรูตอบคำถาม คนไทยกำลังโดน “แย่งอาชีพ” หรือเปล่า?

คนไทยกำลังโดน “แย่งงาน” จริงหรือเปล่า

หลัง “กรมจัดหางาน” ลงพื้นที่ “กวาดล้างชาวต่างชาติที่เข้ามาแย่งอาชีพคนไทย ในกรุงเทพฯ” สมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยกับสื่อว่า ได้รับแจ้งเบาะแสว่า พบชุมชนเมียนมา ขนาดใหญ่ ในพื้นที่พระโขนง

มีการเปิดตลาดจำหน่ายสินค้าเมียนมา และลูกค้าทั้งหมดเป็นชาวเมียนมา จึงได้ลงไปตรวจสอบ การทำงานของคนต่างด้าวในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อไม่ให้กระทบต่อ “โอกาสการมีงานทำของคนไทย”

จากลงพื้นที่ทำให้พบแรงงานต่างด้าว ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตและทำงานนอกเหนือสิทธิ ทั้งหมด 19 ราย เป็นชาวเมียนมา 13 ราย, อินเดีย 3 ราย, เวียดนาม 2 ราย และกัมพูชา 1 ราย



“เพื่อไม่ให้กระทบโอกาสการมีงานทำของคนไทย”เป็นคำพูดที่น่าสนใจ ทีมข่าวจึงตั้งคำถามยัง ผศ.ดร.วชิร คูณทวีเทพผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้าและบริการ ม.หอการค้าไทย ว่า คนไทยกำลังโดนแย่งงานหรือเปล่า?

“ถ้าถามว่า ถูกแย่งจริงไหม คือมันต้องดูด้วยบริบท ว่าจริงๆ แล้วเนี่ย แรงงานที่เข้ามาเขาทำอาชีพอะไร อย่างไร”

ดร. วชิร อธิบายให้เห็นภาพว่า เมื่อแรงงานต่างชาติ เข้ามาทำงานในไทยแล้ว พวกเขาก็เห็นช่องทางในการประกอบอาชีพบางอาชีพ ที่มันอาจจะไปทับซ้อนกับคนไทย อย่างเรื่อง “การค้าขาย”

จากการหาข้อมูลของทีมข่าว พบว่า “การขายของในร้าน” หากแรงงานต่างชาติจะทำ ต้องเป็นงานที่มีนายจ้างและได้รับบอนุญาตตามMoUที่ รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ

แต่ถ้าจะถามว่า เรากำลังโดนแย่งงานหรือไม่? คงต้องดูตามเขตพื้นที่ตรงนั้นว่า มีการทำงาน ทับซ้อนกับอาชีพของคนไทยหรือเปล่า

“ถ้าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ ที่มีการค้าการขายของคนไทยโดยปกติอยู่แล้ว แล้วคนที่เข้ามาเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ ที่เป็นต่างด้าว แล้วเข้ามาค้าขายทับซ้อน อันนี้จะเป็นการแย่งงาน"

                                                                    {ดร.วชิร คูณทวีเทพ}

อีกมุมมองจาก รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย ช่วยวิเคราะห์แก่ทีมข่าวเพิ่มเติม เพื่อให้เห็นภภาพชัดขึ้นอีก
“การเข้ามาประกอบกิจการของต่างชาติและจีน หากเป็นไปตามกฎหมาย และข้อตกลงทางการค้าFTAย่อมทำได้ หากเลี่ยงโดยใช้นอนิมี ย่อมสะท้อนปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย และข้อตกลงทางการค้าของไทย”

กูรูรายนี้มองว่าเรื่องนี้ ถ้าเปิดเสรีให้มีการแข่งขันไม่ใช้ผูกขาด คนได้ประโยชน์คือ “ผู้บริโภค” แต่ถ้าทุนท้องถิ่น ทุนไทย สู้ไม่ได้ จะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง อาจอยู่ภายใต้การครอบงำของทุนต่างชาติได้

“ซึ่งมีผลกระทบต่อSMEsและร้านค้ารายย่อย งานบางอย่างต่างชาติไม่มีอนุญาตทำงาน หรือไม่มีสัญชาติไทย ไม่สามารถทำได้ รัฐต้องกำกับดูแล และบังคับใช้กฎหมายครับ”



“แย่งหรือทดแทน” เพราะ “แรงงานไทยไม่ทำ”

ส่วนในมุมของ “แรงงาน” การดูว่าเรากำลังถูกแย่งงานหรือไม่ ต้องดูว่า แรงงานที่เข้ามาทำงาน ทับซ้อนกับความต้องงานของคนไทยหรือเปล่า“ดร.วชิร” บอกว่า แรงงานที่มาอย่างถูกกฎหมาย จะมีลักษณะงานที่ไม่ทับซ้อนกับงานที่คนไทยทำ

แต่ปัญหาของเรื่องนี้คือ แรงงานผิดกฎหมายกลุ่มนี้ ต่างจากกลุ่มที่แย่งงานคนไทยทำหรือไม่ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่า เขาเข้ามาทำงานอะไร พื้นที่ไหน แล้วมันไปทับซ้อนกับอาชีพของคนไทยหรือเปล่า

แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมายนั้น อาจไม่ได้มาแย่งงานคนไทย เพราะตอนนี้ไทยเองก็ “กำลังขาดแคลนแรงงาน” ดร.วชิร อธิบายต่อว่า แรงงานที่ไทยต้องการ ส่วนมากเป็นแรงงานทักษะต่ำ หรือคนใช้แรงงาน

“ซึ่งแรงงานประเภทนี้ คนไทยส่วนใหญ่เริ่มที่จะถอยออกมา” เพราะผลตอบแทนที่ต่ำ ไม่สอดครองกับค่าครองชีพของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น และเรื่องนี้ก็ส่งผลต่อผู้ประกอบการว่าจะจ้าง “แรงงานไทย” หรือ “ต่างด้าว”

”สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องมองก็คือ “ต้นทุนและศักยภาพในการแข่งขัน” ว่าจะเลือกจ้างแรงงานไทย ก็มีต้นทุนค่าจ้างที่สูงกว่า หรือแรงงานต่างด้าวเพื่อลดต้นทุน “อันนี้เป็นการแย่งงานไหม มันก็ก้ำกึ่งครับ

“คนไทยไม่ทำหรือผู้ประกอบการไม่รับคนไทย เพราะต้นทุนแพงกว่า มันมีหลากหลายมิติที่มองได้”



เรื่องนี้ในมุมของ ดร.อนุสรณ์ มันสะท้อนถึง ค่าจ้างค่าตอบแทน สวัสดิการในสายวิชาชีพและแรงงานรับจ้างทั่วไป ไม่สามารถแข่งขันกับบางประเทศได้ ทำให้แรงงานบ้านเราไหลไปทำงานนอกประเทศ

“เรื่องนี้เป็นผลจาก โครงสร้างระบบเศรษฐกิจและค่าจ้างค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม สำหรับแรงงานบางระดับ บางวิชาชีพ”

ดร.วชิร บอกอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ การถูกแย่งงานอาจไม่มีแค่แรงงานที่เป็น “มนุษย์” เพราะต่อให้ไม่ใช้แรงงานต่างด้าวในการลดต้นทุน บางธุรกิจก็หันไปใช้ เทคโนโลยี มาแทนที่แรงงานคน “อันนี้ คนไทยก็จะตกงานอยู่ดี”

“สุดท้ายแล้วการใช้แรงงานคนมันก็มีต้นทุนที่สูงขึ้นเลยๆ ครับ ผมเชื่อว่าในหลายอาชีพหรือในหลายธุรกิจเองก็มีการปรับตัว ในเรื่องการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อลดต้นทุนทางด้านแรงงานลง”

ดร.วชิร ยังมองภาพอนาคตว่า “แรงงานไทยจะต้องมีมัลติฟังก์ชั่น” หมายความว่า เราจะมีแค่ทักษะสกิลเดียว แล้วจะอยู่รอดได้ในยุคปัจจุบันนั้นยาก แรงงานต้องพัฒนาตัวเอง ให้สูงขึ้นกว่า แรงงานทักษะต่ำที่เป็นค่าจ้างรายวัน

                                                                  {ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ}

ภาพนี้สอดคล้องกับมุมมองของ ดร.อนุสรณ์ ที่แม้เทคโนโลยี จะเข้ามาแทนที่แรงงานคน แต่ก็ทำให้เกิด ตำแหน่งงานใหม่ๆ ที่ต้องใช้ทักษะสูงขึ้น ดังนั้น...

“ระบบการศึกษาและการพัฒนาทักษะแรงงาน ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : www.utcc.ac.th



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น