xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อมั่นผู้บริโภค ก.พ.ร่วงยกแผง ต่ำสุด 5 เดือน เผยสงครามยืดเยื้อเสียหาย 2.44 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.พ. 65 ร่วงยกแผง ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน เจอโอมิครอน น้ำมันพุ่ง สินค้าแพงกดดันหนัก คาดความเชื่อมั่นวูบต่อ ทำคนระวังจับจ่ายใช้สอย กระทบเศรษฐกิจฟื้นตัว ห่วงเงินเฟ้อพุ่ง เล็งประเมินจีดีพีใหม่ ส่วนพิษรัสเซีย-ยูเครน ทำส่งออกลด วัตถุดิบขาด คาดยืดเยื้อทั้งปี 65 เสียหาย 2.44 แสนล้าน กระทบจีดีพีไทยเหลือ 2.7%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมประจำเดือนก.พ. 2565 ลดลงจากระดับ 44.8 เป็น 43.3 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ลดจาก 28.5 มาอยู่ที่ 27.5 ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต ลดจากระดับ 52.5 มาอยู่ 50.8 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 37.2 , 40.1 และ 52.6 ลดลงจาก 38.7 , 41.4 และ 54.4 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 โดยมีสาเหตุมาจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง และส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจของไทยในอนาคต รวมถึงการที่ระดับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและปัญหาราคาสินค้าแพง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

“ปัจจุบันภาวะสงครามยังยืดเยื้อและบานปลาย อาจส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดน้อยลง และระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เพราะราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น โดยล่าสุดแตะระดับ 130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาวะสงคราม ก็ยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวตามไปด้วย และที่น่าเป็นห่วงอีก ก็คือ ภาวะเงินเฟ้อที่มีโอกาสขยายตัว 5% ซึ่งน่ากังวล โดยจะมีการติดตามสถานการณ์และประเมินเป้าหมายจีดีพีปีนี้อีกครั้ง” นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีต่อเศรษฐกิจไทย พบว่ามีผลกระทบทางตรงต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังพื้นที่พิพาทลดลง 70-90% เนื่องจากกำลังซื้อหดตัวลงมา ขณะที่การขนส่งมีความยุ่งยาก ใช้เวลา และมีต้นทุนสูง รวมทั้งรายได้จากนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มหายไป 80-100% เนื่องจากกำลังซื้อในพื้นที่หดตัวลงมาก การเดินทางมีความยุ่งยาก

นอกจากนี้ ต้นทุนวัตถุดิบจะเพิ่มขึ้น เพราะต้องจัดหาทดแทนจากพื้นที่อื่นๆ เช่น ธุรกิจหาอาหารสัตว์ จะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบ เพราะสินค้าที่ไทยนำเข้ารัสเซียอันดับต้นๆ คือ น้ำมันดิบ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช ขณะที่นำเข้าจากยูเครน เช่น พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเหล็ก

ทั้งนี้ ได้จัดทำสมมติฐานกรณีผลกระทบรัสเซีย-ยูเครนไว้ 3 ระดับ คือ กรณีความขัดแย้งจบใน 3 เดือน เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ 73,425 ล้านบาท กระทบต่อจีดีพี 0.5% ส่งผลจีดีพีทั้งปีอยู่ที่ 3.7% เงินเฟ้อ 3-3.5% จบใน 6 เดือน มูลค่าความเสียหาย 146,850 ล้านบาท กระทบต่อจีดีพี 0.9% ส่งผลจีดีพีทั้งปีอยู่ที่ 3.3% เงินเฟ้อ 3.5-4.5% และขัดแย้งยืดเยื้อตลอดปี 2565 มูลค่าความเสียหาย 244,750 ล้านบาท หรือกระทบจีดีพี 1.5% ส่งผลจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 2.7% เงินเฟ้อ 4.5-5.5%


กำลังโหลดความคิดเห็น