xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้า หั่นจีดีพีปี65เหลือ3.1%เพิ่มเป้าเงินเฟ้อเป็น6%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม.หอการค้าไทย ปรับลดเป้าจีดีพีปีนี้ เหลือ 3.1% จากเดิม 4.2% เหตุสงครามยืดเยื้อ ดันราคาพลังงานโลกสูงขึ้น กระทบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 6 %


นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ราคาพลังงานโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง กระทบภาพรวมเศรษฐกิจ จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เหลือ 3.1% จากเดิมคาดว่าจะโต 4.2% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.0% จากประมาณการเดิม 1.5% ขณะที่การส่งออกของไทยปีนี้ยังดี ขยายตัวได้ 6.3% จากประมาณการเดิมที่ 5.4%

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลทุก 1 บาทต่อลิตร กระทบจีดีพีลดลง 0.2% ส่วนการขึ้นราคาเบนซินทุก 1 บาทต่อลิตร กระทบจีดีพีลง 0.1% ซึ่งหากขึ้นราคาทั้งดีเซลและเบนซินรวมกัน มีผลต่อต่อจีดีพี 0.3% โดยรายได้จากการท่องเที่ยว จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด และการเปิดประเทศโดยคาดว่า ช่วงครึ่งปีหลัง จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้าไทยประมาณ 5 ล้านคน รวมทั้งการอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ก็จะมีส่วนช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 2 แสนล้านบาท

ด้านนายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงาน ,ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ,ราคาวัตถุดิบนำเข้าปรับสูงขึ้น กระทบอัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ทำให้อุปสงค์โดยรวมของโลกชะลอตัว และสร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางของประเทศหลักๆ ต้องตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และทำให้ช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับต่างประเทศกว้างขึ้น จึงมีเงินทุนไหลกลับเข้าไปที่ตลาดสหรัฐฯ ส่งผลให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าว โดยปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่าไปใกล้เคียงกับระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากช่วงต้นปีที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะเดียวกันเงินบาทที่อ่อนค่า จะส่งผลดีต่อมูลค่าการส่งออกในปีนี้

สำหรับปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ยังต้องติดตามสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอีก ,การแพร่ระบาดของโควิดที่ยืดเยื้อยาวนาน ทำให้เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ และปัญหาชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตทั่วโลก


ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 65 โดยแบ่งเป็น 4 กรณี คือ

1. กรณีฐาน (Base Case) : การปรับให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ไม่ได้ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นจนเกินระดับที่ระบบสาธารณสุขของไทยจะรองรับได้ โดยในกรณี Base Case นี้คาดการณ์ GDP ไว้ที่ 3.1% ซึ่งมีโอกาสจะเป็นไปได้ 60%

2. กรณีที่ดีกว่า (Better Case) : ราคาน้ำมันดิบโลกเฉลี่ยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ราว 100 ดอลลาร์/บาร์เรล และมีผลทำให้อุปสงค์รวมของโลก ทั้งการส่งออก และการท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยในกรณี Better Case นี้ คาดการณ์ GDP ไว้ที่ 3.5% ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ 10%

3. กรณีที่แย่กว่า (Worse Case) : คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบง.) ทยอยปรับราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกิน 40 บาท/ลิตร ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมช่วงที่เหลือของปีนี้ทั้ง 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% โดยในกรณี Worse Case นี้คาดการณ์ GDP ไว้ที่ 2.9% ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ 20%

4. กรณีที่แย่ที่สุด (Worst Case) : เป็นกรณี Worse Case รวมกับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกสูงเกินกว่า 130 ดอลลาร์/บาร์เรล และมีผลทำให้อุปสงค์รวมของโลก ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยวชะลอตัวลงจากกรณีฐาน โดยในกรณี Worst Case นี้ คาดการณ์ GDP ไว้ที่ 2.3% ซึ่งมีโอกาสจะเป็นไปได้ 10%


กำลังโหลดความคิดเห็น