xs
xsm
sm
md
lg

“กางเกงช้างไทย เมดอินไชน่า!!” มีลิขสิทธิ์อาจไม่พอ เรียกร้อง “มารยาทคู่ค้าระหว่างประเทศ” [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กางเกงช้าง” สินค้าเอกลักษณ์เมืองไทย แต่ดันกลายเป็นไปผลิตที่ “จีน” ตรวจสอบพบ “ลิขสิทธิ์” ชัดเจน ทวงถามมารยาทในฐานะ “ประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน” เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการถูกก๊อบฯความเป็นไทย





“กางเกงช้าง” Soft Power ที่ถูกก๊อบปี้?

“กางเกงช้าง” สินค้าที่ดูเหมือนจะถูกมองว่า นี่แหละคือ “Soft Power ไทย” เพราะเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนบ้านเรา แต่กลับกลายเป็นว่า 70% ที่ขายอยู่ในตลาด “นำเข้ามาจากจีน”เสียอย่างนั้น

เรียกได้ว่า “กางเกงช้างจากจีน” ได้รับความนิยมจากพ่อค้าแม่ขายอย่างมาก เพราะนำมาขายต่อได้กำไรดี เนื่องจากราคาต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าสินค้าในไทยมาก ถึงคุณภาพจะด้อยกว่า แต่นักท่องเที่ยวเอกกลับไม่ได้สนใจที่มา พวกเขาสนใจเรื่องของราคาเป็นหลัก

 
ด้านนายกฯ อย่าง “เศรษฐา ทวีสิน” ตอบคำถามสื่อถึงประเด็นนี้ จากเคสจีนผลิตกางเกงช้าง และตอนนี้กำลังตีตลาดไทยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของความรวดเร็วทางการค้า
คือที่ไหนมีโอกาส ก็ต้องเร่งฉกฉวยกันไป ดังนั้น เราต้องเร่งดูเรื่องลิขสิทธิ์ “ถ้าเราช้าก็จะมีคนเอาไปทำก่อน เรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนอย่างนึง ที่เราจะต้องไปพูดคุยกัน”
ล่าสุด ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ คอนเฟิร์มว่า “กางเกงลายช้าง”และ “กางเกงลายแมว”มีการ “จดลิขสิทธิ์” เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของไทยแล้ว
แต่ที่เห็น “กางเกงช้างก๊อบฯmade in China” จากการสำรวจตลาดแล้วพบว่า มีการทำให้ผิดเพี้ยน หรือมีรูปแบบที่แตกต่างออกไป ซึ่งต้องไปพิจารณาต่อว่า กฎหมายจะครอบคลุมได้มากแค่ไหน


เมื่อ “Soft Powerไทย” แต่กลายเป็น “made in China”ไปเสียแล้ว ทางทีมข่าวจึงขอให้ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย และนักวิชาการด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ ช่วยวิเคราะห์และได้คำตอบว่า

ในแง่ธุรกิจและศักยภาพทางธุรกิจ ต้องดูว่าศักยภาพในการทำให้สินค้า “ติดตลาด”ในบ้านเราเป็นยังไง เมื่อเทียบกับสินค้าจากเกาหลีหรือยุโรป ที่เวลาจะไปซื้อ ต้องไปซื้อที่ประเทศนั้นๆ เท่านั้น

“แง่ธุรกิจ มันติดตลาดได้แบบนั้น มันทำให้คนเชื่อถือในสินค้า และทำให้คนรู้สึกว่า มันต้องเป็นสินค้าของบ้านนั้นเมืองนั้น ต้องทำและผลิตโดยคนประเทศนั้นๆ อันนี้มันก็จะคุ้มครองตัวเองได้ ถูกไหมครับ”

และอีกประเด็นคือ “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”หากมีการลอกเลียนแบบ ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าของไทย สิ่งที่คนไทยใช้ค้าขาย ในประเทศที่มีปฏิสัมพันธ์อันดีต่อกัน ดร.เจษฎ์ จึงตั้งคำถามว่า...
“มันควรหรือไหมที่ประเทศจีนจะปล่อยให้ บรรดาผู้ผลิตของจีนลอกเลียนแบบของไทย อย่างเอิกเกริก”

เพราะในแง่ “ภาคีสมาชิกองค์การค้าโลก” เรื่องแบบนี้ไม่ควรทำต่อกัน ต้องมาคุย มาทำความเข้าใจ หาจุดรวมในการทำมาค้าขาย ที่จะใช้สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ โดยไม่ล่วงล้ำกัน

                                                      {“ดร.เจษฎ์” กูรูด้านกฎหมายลิขสิทธิ์}

“เลียนแบบ” เรื่องที่โดนซ้ำแล้วซ้ำเล่า

นี่ไม่ใช่กรณีแรกที่สินค้าไทยถูกต่างประเทศนำไปขาย หรือจดลิขสิทธิ์ เคสเมื่อหลายปีก่อน มีสินค้าส่งออกสำคัญอย่าง “ข้าว”ก็เคยมีเรื่องคล้ายๆ แบบนี้เกิดขึ้นมาแล้ว อย่าง “จัสมาติ” (Jasmati)

ความพยายามในการจดทะเบียนข้าวสายพันธุ์ที่ปลูกในรัฐเท็กซัส อเมริกา เพื่อจงใจที่ต้องการ “หลอกลวง”ให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า ข้าวพันธุ์ดังกล่าวเป็น “ข้าวหอมมะลิ” (Jasmine)หรือ “ข้าวหอมมะลิของไทย”

สมุนไพรไทยเองก็เคยโดนต่างชาติ นำไปจดสิทธิ์บัตรอยู่หลายครั้งเช่น “เปล้าน้อย” สมุนไพรนี้มีคุณสมบัติในการรักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร แต่ถูก “ญี่ปุ่น” นำไปสกัดเป็นยา และจดทะเบียนกับองค์การอนามัยโลก (WHO)ภายใต้ชื่อ “เปลาโนทอล”

หรือ "ตุ๊กตุ๊ก”ก็เคยมีบริษัทสัญชาติอเมริกัน ขอยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า "ตุ๊กตุ๊ก" แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ยื่นขอคัดค้านไป เพราะ "ตุ๊กตุ๊ก” เป็นคำสามัญ เช่นเดียวกับคำว่า "แท็กซี่" ซึ่งจะไม่สามารถนำไปจดเครื่องหมายการค้าได้


                                                        {“จัสมาติ” ข้าวหอมมะลิ จากอเมริการ}

ยังมีอีกหลายอย่างที่เป็นของไทย ที่ถูกต่างชาตินำไปใช้ ถาม ดร.เจษฎ์ บอกว่า เราต้องตระหนักเรื่องนี้กันได้แล้ว และหากลไกในดำเนินการที่จะแก้ปัญหาพวกนี้
 
“มันก็ต้องตื่นรู้ รัฐบาลก็ต้องเป็น โต้โผหลักที่จะช่วยจัดการ โดยเฉพาะหน่วยงานการต่างประเทศที่กระจายอยู่ทั่วโลก เราก็ต้องทำกันอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้น เราก็ต้องโดนกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

เพราะที่ผ่านมา “เราอาจตระหนักในแง่การร้องแรกแหกกระเชอ” แต่ไม่มีวิธีการว่าจะทำยังไง เพื่อป้องกัน ติดตามแก้ปัญหาได้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

และยิ่งตอนนี้เราควรสนใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น เพราะไทยเองก็มีนโยบายในการส่งเสริมการส่งออกเรื่อง “วัฒนธรรม” แต่ “เราส่วนใหญ่อาจจะผลักดันแต่หน้าบ้าน เราไม่ค่อยที่จะป้องกันหลังบ้าน”



ยกตัวอย่าง “กางเกงช้าง” ที่สามารถดึงดูดเงินจากนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งเรามัวหลงอยู่กับคำว่าSoft Power พยายามหาคำนิยามให้กับมัน แต่...

“ทำไม ไม่พากันคุ้มครอง ทำไมไม่พากันดูแล ทำไมไม่พากันพัฒนา ทำไมไม่ป้องกัน กันไม่ให้บรรดาคนที่ลอกเลียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับโลก เอาของเราไปล่ะ?”

การคุ้มครองสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ ของไทย มีวิธีที่มากมายทั้งเรื่อง กฎหมาย อย่างการคุ้มครองด้วย “ลิขสิทธิ์” คุ้มครองด้วย “ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” หรือ“การพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจ” และ ”เชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

“แต่ละเรื่องมันอาจเป็นแต่ละกรณี มันบอกไม่ได้ว่า ทุกเรื่องแก้ด้วยวิธีนี้ แต่มันต้องมีแผนว่า ถ้าเกิดเรื่องแบบนี้เราจะทำยังไง แล้วมันก็ต้องมีรายละเอียดในการเดินตามแผน”





ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)





@livestyle.official ...ใครไม่อยากสนับสนุน “ของก๊อบฯ” โดยไม่ตั้งใจ เช็กกันดีๆ นะว่าใช่ “กางเกงช้าง made in China” หรือเปล่า? และนี่คือคู่มือที่ได้จาก ผู้บริหารโรงงานผลิตกางเกงช้างรายใหญ่ในเชียงใหม่ @chinrada.shop ... #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #กางเกงช้าง #กางเกงลายช้าง #elephantpants #softpower #madeinthailand #madeinchina #ท่องเที่ยว #ประเทศไทย #แฟชั่น ♬ original sound - LIVE Style


สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
คลิป : นลธวัช กาญจนสุวรรณ์
ขอบคุณภาพ : www.smpcplc.com, shopee.co.th, cinnamonsociety.com



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น