“รศ.ดร.เจษฎ์” หวั่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สร้างความขัดแย้งรอบใหม่ แนะก้าวไกล รับฟังความเห็นอดีตแกนนำผู้ชุมนุม รัฐบาล ส.ส.-ส ว. เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการนิรโทษกรรม ก่อนดันกฎหมายดังกล่าวเข้าสภา ชี้ความผิดในคดี ม.112-ปาระเบิด-เผารถตำรวจ-ยุยงปลุกปั่น ไม่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่ใช่คดีการเมือง ติงหากดึงดันเอาผิดคณะรัฐประหาร บ้านเมืองวุ่นวายแน่!
กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางสำหรับการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ของพรรคก้าวไกล ซึ่งกำลังเดินสายขอเสียงสนับสนุนจากกลุ่มต่างๆ ก่อนที่จะเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาในสมัยประชุมหน้า ที่จะเปิดในวันที่ 12 ธ.ค.2566 นี้ ขณะที่บางฝ่ายมองว่าการออกกฎหมายดังกล่าวจะช่วยสร้างความปรองดองให้ทุกสีเสื้อ แต่บางฝ่ายกลับเกรงว่าจะนำมาซึ่งความขัดแย้งระลอกใหม่
อีกทั้งประเด็นที่สังคมสนใจคือ ใครบ้างที่จะได้รับการนิรโทษกรรมจากกฎหมายฉบับนี้? และหากจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม ใครบ้างที่ควรมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางและรายละเอียดของกฎหมายดังกล่าว?
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย มองว่า การจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมโดยตีขลุมว่าทุกเรื่องเป็นการนิรโทษกรรมคดีการเมืองนั้นอาจจะก่อให้เกิดปัญหาได้ เพราะการตีความคำว่า “คดีการเมือง” ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ดังนั้น ถ้าจะมีคำว่าความผิดทางการเมืองก็ต้องนิยามให้ชัดเจนว่าความผิดทางการเมืองหมายความว่าอะไร คดีลักษณะใดที่เป็นคดีการเมือง ต้องแจกแจงให้ชัดเจน เช่น การชุมนุมตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ถึงเท่าไหร่ ในพื้นที่ไหน การกระทำที่เกี่ยวข้องกับการเมืองที่จะได้รับนิรโทษกรรมนั้นมีลักษณะใดบ้าง เช่น การการขึ้นเวทีปราศรัย ปิดล้อมสถานที่ราชการ การปิดถนน
ส่วนความผิดบางกรณีไม่เกี่ยวกับการเมือง เช่น การที่ผู้ชุมนุมบางกลุ่มใช้ความรุนแรง ปาระเบิด เผารถตำรวจนั้นไม่เกี่ยวกับคดีการเมือง แต่เป็นคดีอาญา ความผิดในคดี ม.112 ก็ไม่ใช่คดีทางการเมือง เพราะมาตรา 112 เป็นความผิดที่เกี่ยวกับการดูหมิ่น ให้ร้ายพระมหากษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์ ในเมื่อเป็นการกระทำผิดต่อพระมหากษัตริย์แล้วนักการเมืองจะมาคุยกันเองให้นิรโทษกรรมมันไม่บังควร หรือกรณีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เรื่องการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนทำผิดกฎหมาย แล้วไปตีขลุมเอาว่าพฤติการณ์เหล่านี้เป็นคดีการเมือง ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นคนละเรื่องกันก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
“การที่จะนิยามว่าเป็นคดีการเมืองต้องนิยามลักษณะที่สามารถสื่อได้ว่าเป็นคดีการเมืองจริงๆ ไม่ใช่บอกว่านิรโทษกรรมคดีการเมืองแล้วคุณไปพ่วงคนที่ทำความผิดในมาตรา 112 ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเรื่องการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้ที่สำเร็จราชการแทนพระองค์ หากต้องการพ้นจากความผิดเรื่องนี้ควรใช้วิธีขอพระราชทานอภัยโทษจะเหมาะสมกว่า โดยจะขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายๆ ไป หรือจะขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปก็ได้ ส่วนว่าพระองค์จะทรงพิจารณาโปรดเกล้าหรือไม่อยู่ที่พระบรมราชวินิจฉัยของพระองค์ท่าน” รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุ
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรมตามแนวทางของ “พรรคก้าวไกล” นั้นระบุว่าต้องกระทำโดย “คณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนภาคประชาชนและนักวิชาการด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน” ขณะที่มุมมองของ “รศ.ดร.เจษฎ์” มองว่าคณะกรรมการดังกล่าวอาจยังไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
รศ.ดร.เจษฎ์ แนะนำว่า ก่อนที่พรรคก้าวไกลจะเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือหยิบยกเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมาผลักดัน ควรจะมีการปรึกษาหารือและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการที่พรรคก้าวไกลเสนอ แกนนำซึ่งอยู่ในการชุมนุม ตัวแทนพรรคการเมือง ตัวแทนรัฐบาล รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันคิดพิจารณาว่าถ้าจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองควรจะทำแบบไหน จะนิรโทษกรรมการกระทำผิดในลักษณะใดบ้าง และรายละเอียดของกฎหมายควรเป็นอย่างไร เพราะท้ายที่สุดพระราชบัญญัติต้องเข้าสู่สภา ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของ ส.ส.และ ส.ว.ถ้าไม่ทำความเข้าใจกับบุคคลเหล่านี้ไว้ก่อนจะมีปัญหาได้ พอมีปัญหาจะกลายเป็นว่าแทนที่จะนิรโทษกรรมเพื่อสร้างความปรองดองกลับกลายเป็นว่าจะสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ขึ้นมาอีก
โดยการรับฟังความเห็นก่อนที่จะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภานั้นสามารถทำได้ 2 แบบ คือ 1.รับฟังความเห็นจากกลุ่มเฉพาะ ได้แก่ กลุ่มที่ร่วมในการชุมนุม กลุ่มที่มีคดีเกี่ยวกับการชุมนุม และ 2.เป็นการหารือกับสาธารณชน โดยเชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ส.ส. ส.ว. มาร่วมพิจารณา เพื่อให้เห็นภาพร่วมกันว่ากฎหมายนิรโทษกรรมที่จะผลักดันให้ผ่านสภาจะมีลักษณะแบบไหน อย่างไร จะหาทางที่ทำร่วมกันในลักษณะใด เพื่อให้เคลื่อนไปสู่สัมฤทธิผล และไม่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งครั้งใหม่ตามมา
ส่วนประเด็นที่ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับก้าวไกลระบุว่า การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมการกระทำของคน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่กระทำเกินกว่าเหตุ ทั้งผู้สั่งการ และระดับปฏิบัติการ 2) การกระทำผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา เว้นแต่เป็นการกระทำโดยประมาท และ 3) การกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 (คดีกบฏล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ คดีล้มล้างอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ คดีแบ่งแยกการปกครอง)
ด้าน รศ.ดร.เจษฎ์ มองว่า กรณีที่เจ้าหน้าที่ทำร้าย หรือใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุกับผู้ชุมนุม หรือทำให้ประชาชนเสียชีวิตนั้นอาจไม่เข้าข่ายการนิรโทษกรรมก็ได้ แต่การจะไปรื้อฟื้นเอาผิดกับคณะรัฐประหารนั้นเท่ากับเป็นการสร้างปัญหา เพราะการไปบอกว่าผู้ที่ทำรัฐประหารคือกบฏเท่ากับยัดโทษประหารให้เขา เป็นความผิดที่ร้ายแรงมาก ซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะเกิดความวุ่นวายตามมา
“เรื่องอะไรที่มันจบแล้วควรจะจบไป อย่ารื้อขึ้นมาเพราะมันจะก่อเหตุพิพาทขึ้นใหม่ สร้างความบาดหมางขึ้นอีกครั้งหนึ่ง บ้านเมืองจะวุ่นวาย อะไรที่นิรโทษกรรมไปแล้วก็ให้แล้วไป” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j