xs
xsm
sm
md
lg

จิตแพทย์ชี้ "อาชีวะ" ก่อเหตุรุนแรงไม่ใช่แค่ระบบ "รุ่นพี่" ห่วงผูกค่านิยม "สถาบัน" กับการค้นหาตัวตน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จิตแพทย์ ชี้วัยรุ่น อาชีวะ ก่อเหตุรุนแรง ไม่ใช่แค่ระบบ "รุ่นพี่" แต่อยู่ที่พื้นฐานเด็ก ครอบครัว วุฒิภาวะ ความคิด สิ่งแวดล้อมด้วย ชี้ "วัยรุ่น" ต้องการมีตัวตน ค้นหาอัตลักษณ์และความภูมิใจ แต่ตีความผิดไปผูกโยงไปกับค่านิยม ศักดิ์ศรีสถาบัน เอามาเป็นตัวเอง ย้ำความรุนแรงไม่แก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะเด็กอาชีวะ ช่างกล ที่เกิดขึ้นบ่อยในระยะนี้ ว่า เบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่า พื้นฐานของเด็กแต่ละคนต่างกัน ทั้งเรื่องวุฒิภาวะ ความคิด สิ่งแวดล้อม ซึ่งต้นทุนด้านระบบความคิดมีผลต่อการกระทำของแต่ละคน โดยเฉพาะวัยรุ่นต่างต้องการจะมีตัวตนในสังคม จึงต้องมีบางอย่างที่ผูกโยงกันเป็นเครือข่าย จนเกิดเป็นความภูมิใจที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ความภูมิใจที่เกิดขึ้น ควรมีคุณค่าที่ดีต่อสังคม แต่หากเกิดการยึดติดกับอะไรบางอย่างเพียงอย่างเดียวอาจจะเกิด “ความหลง” จึงเกิดเป็นประเด็นที่ว่าอยู่สถาบันไหนที่ทำให้ตัวเองรู้สึกภูมิใจ

“ส่วนการแสดงออกมา จะต้องอาศัยคนรุ่นก่อนหน้าที่จะเป็นโมเดลที่ดีให้เด็กรุ่นน้อง มีพฤติกรรมทางบวกให้กับสังคม แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวกับรุ่นพี่ทั้งหมด เพราะความรุนแรงมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น การลอกเลียนแบบ ต้นทุนที่เป็นภูมิคุ้มกันทางจิตใจ การบ่มเพาะในครอบครัวไม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา แต่ใช้เจรจาสื่อสารในการสอน ดังนั้น พื้นฐานครอบครัวเป็นอันดับแรก ต่อมาก็ระบบโรงเรียน ระบบรุ่นพี่ ดังนั้น ไม่ใช่แค่ปัจจัยรุ่นพี่อย่างเดียว เพราะหากเด็กที่มีต้นทุนที่ดี ต่อให้รุ่นพี่ทำไม่ดี เด็กก็ไม่ทำตาม” นพ.พงศ์เกษมกล่าว


ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผอ.กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในมุมของจิตวิทยาวัยรุ่นไม่มีความซับซ้อนอะไร เป็นเพียงวัยที่กำลังค้นหาอัตลักษณ์ของตนเอง ว่าเราเป็นใคร ดังนั้นการที่เราเป็นใครสักคน เป็นส่วนหนึ่งของอะไรสักอย่าง ก็ทำให้วัยรุ่นรู้จักความเป็นตัวเองของเขาได้ดีขึ้น เป็นพัฒนาการของวัยรุ่นในช่วงหนึ่ง การค้นหาอัตลักษณ์ หาตัวตน รวมถึงค่านิยมในสังคมที่เขาอยู่ การที่สถาบันหนึ่งจะสร้างความเป็นสถาบันของตัวเองขึ้นมา เพื่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่น ความสามัคคี เป็นมิติด้านสังคม แต่การส่งต่อค่านิยมจากรุ่นสู่รุ่น อาจไปกระทบการค้นหาตัวเองของวัยรุ่นที่อาจไม่เข้าใจแล้วเกิดการตีความผิดๆ ว่า ค่านิยม ศักดิ์ศรีของสถาบันที่ต้องยึดถือ แปลว่าเราต้องยึดเป็นตัวเรา ไม่ให้ใครมาแตะต้อง นี่เป็นความเข้าใจที่ไม่ชัดเจนของรุ่นวัย เพราะไม่มีค่านิยมของสถาบันที่อยากสร้างขึ้นมาเพื่อการทำลายล้าง ค่านิยมจริงๆ เป็นของดี แต่ถูกตีความผิดจากการค้นหาอัตลักษณ์ของวัยรุ่นที่เขาไม่เข้าใจ หรือตรงค่านิยมที่ดีงาม

เมื่อถามว่าการที่มีข่าวเกี่ยวกับเด็กที่ใช้ความรุนแรง แล้วมักจะเกิดความรุนแรงในลักษณะคล้ายกันต่อมา พญ.ดุษฎีกล่าวว่า เป็นลักษณะการลอกเลียนแบบ (Copy Cat) ฉะนั้นเวลามีการสื่อสารเรื่องนี้ก็จะเป็นการส่งต่อแนวคิดความรุนแรง ที่จะเกิดการลอกเลียนแบบความรุนแรง

ถามว่าเด็กที่ก่อเหตุแล้วออกข่าวอาจรู้สึกว่า ตัวเองเท่ และมีความภูมิใจ สื่อควรนำเสนอข้อมูลอย่างไร พญ.ดุษฎีกล่าวว่า สื่อสามารถสื่อได้เลยว่า ความรุนแรงไม่ใช่ความเท่ และความนิยมของสถาบันก็ไม่ใช่ความผิด จึงไม่ควรมีการตีตราสถาบันหรือตัวเด็กที่ก่อความรุนแรง แต่สิ่งที่เราควรตีตราคือ “ความรุนแรง” อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ยืนยันว่า ไม่เคยถูกแก้ไขด้วยความรุนแรงได้ การจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จะต้องทำให้ถูกต้อง ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ใช่การประณามโจมตี เพราะเราไม่สามารถการันตีได้ว่าเมื่อเจ็บตัวหรือทำให้อายแล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง บางครั้งอาจจะได้ผลแต่ก็จะมีผลข้างเคียงตามมาด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น