“สถาบันฯ เป็นหน่วยงานสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย โดยนำนิติวิทยาศาสตร์กับความรู้ทางการแพทย์ มาร่วมพิสูจน์ถือเป็นหลักสากล ปกติทั่วไปมักใช้พยานบุคคลซึ่งอาจมีการกลับคำให้การสลับไปมาแต่ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
“เดอะป้อม” พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า จริงๆ แล้วหลักฐานทางการแพทย์ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบไบโอเมตริกซ์ (Biometrics) ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ลักษณะเฉพาะทางกายภาพ การสแกนม่านตา ใบหน้า ลายนิ้วมือ ดีเอ็นเอ (DNA) ซึ่งมีฐานข้อมูลบางส่วนแต่เน้นทางดีเอ็นเอของผู้เกี่ยวข้องกระทำความผิดเป็นหลัก รวบรวมประมาณ 3 แสนกว่าราย เป็นประวัติเฉพาะกลุ่มคดีร้ายแรงเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม เนื่องจากปัจจุบันคดีอาชญากรรมต่างๆ ทวีความรุนแรงขึ้น แต่เราจะพยายามขยายขอบเขตมากกว่านั้นแต่ยังติดขัดข้อกฎหมายเกี่ยวข้องด้านละเมิดสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ ยังบริการประชาชนที่อาจเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอย่างเท่าเทียมกัน เช่น พิสูจน์สารเสพติดในร่างกายผู้ถูกกล่าวหากรณีเจ้าหน้าที่รัฐกลั่นแกล้ง , พิสูจน์ศพตรวจดีเอ็นเอหาความเป็นเครือญาติในคดีอาชญากรรมสำคัญๆ หรือ ศพไร้ญาติบุคคลสูญหาย เป็นต้น
ย้อนเรื่องราวในวัยเด็กวาดฝันอนาคตอยากเป็นผู้พิพากษา จึงเข้าศึกษา ป.ตรี นิติศาสตร์บัณฑิต ม.รามคำแหง และเรียนต่อ สำนักอบรมกฎหมาย เนติบัณฑิตยสภา (สมัย 36) จบปี 2526 แต่เนื่องจากคุณสมบัติบุคคลจะสอบผู้พิพากษา ต้องมีคุณวุฒิด้านกฎหมาย ไม่น้อยกว่า 2 ปี เลยมาสอบตำรวจแทนและติดได้เข้าอบรมที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ประมาณ 8 เดือน ก่อนออกมาประดับยศ ร้อยตำรวจตรี รับราชการครั้งแรก รองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สภ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด เมื่อปี 2528
“ตอนแรกคิดว่าจะเป็นตำรวจ แค่ 2 ปี และกลับไปสอบเป็นผู้พิพากษาแต่ระหว่างทำงานบทบาทหน้าที่ของตำรวจก็สามารถช่วยเหลือดูแลประชาชนได้ค่อนข้างเยอะพร้อมจับกุมคนร้ายควบคู่กัน รู้สึกประทับใจจึงไม่ได้ไปสอบผู้พิพากษาและอัยการอีกเลยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา”
ต่อมา ย้ายสู่นครบาล ปี 2532 เป็น รองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สน.ชนะสงคราม เหตุการณ์สำคัญในช่วงนั้น คือ อยู่ชุดจับกุมผู้กระทำผิด “พฤษภาทมิฬ ปี 35” มีการเผาทำลายสถานที่ราชการและโจรกรรมทรัพย์สินของรัฐ จากนั้นปี 2540 ขยับเป็น สารวัตรสอบสวน สน.ห้วยขวาง ทำคดีสำคัญหลายเรื่อง อาทิ พญ.นิชรี มะกรสาร วิสัญญีแพทย์ รพ.จุฬาฯ ถูกยิงเสียชีวิต โดยมี นายสุขุม เชิดชื่น ซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในขณะนั้น ตกเป็นผู้ต้องหาจ้างวานฆ่า
กระทั่งปี 2547 พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ อดีตรอง ผบ.ตร. มาเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทาบทามโอนย้ายตำรวจงานสอบสวนมาช่วยองค์กรเพราะส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่มีประสบการณ์ รวมถึงกฎหมายดีเอสไอ สามารถนำความรู้มาใช้พัฒนาและสร้างประโยชน์ได้ ในตำแหน่ง ผู้อำนวยการส่วนคดีอาญาพิเศษ 3 สำนักคดีอาญาพิเศษ รับผิดชอบคดีฉ้อโกง ฮั้วประมูล
ปี 2551 มาเป็น ผู้บัญชาการสำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ดูแลเรื่องส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีนมาอยู่ในไทยโทรศัพท์หลอกคนชาติเดียวกันที่พักอาศัยในประเทศจีน แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหลอกเรื่องภาษี เงินประกันสังคม มีวิิธีการพูดโน้มน้าวไม่ทำตามจะยึดอายัดทรัพย์ จึงขอความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ แต่สามารถเอาผิดได้เพียงข้อหา “ซ่องโจร” เพราะผู้เสียหายอยู่ประเทศจีนและไม่ค่อยออกมาให้ข้อมูล เกรงรู้สึกอับอายที่ถูกหลอก ช่วงนั้นมีบัญชีม้าเริ่มระบาด โดยยุคก่อนใช้บัตรเอทีเอ็ม รอกดเงินหน้าตู้ เมื่อเหยื่อโอนเงินมาแล้วรีบกดเงินออกทันที ปัจจุบันเป็นการหลอกโอนเงินจากมือถือแล้ว
จนปี 2558 ขึ้นเป็นรองอธิบดีกรม มีคดีสำคัญมากมาย ทั้ง คดีวัดพระธรรมกาย คดี “วิคตอเรีย ซีเครท” ค้ามนุษย์ ได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าชุดลงพื้นที่จับกุม สุดท้าย ปี 2563 มาอยู่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน
แม้จะไม่มีความรู้ด้านการแพทย์แต่หลักการความรู้ด้านกฎหมายและงานสอบสวน นำมาประยุกต์ใช้ด้านนิติวิทยาศาสตร์ พัฒนาหน่วยงานถึงไม่ได้ลงมือผ่าศพเองก็ตาม เช่น ระเบียบข้อบังคับ ระบบการจัดเก็บของกลาง การตรวจหรือการทำลายของกลาง การเก็บร่องรอยพยานหลักฐานจะต้องเป็นขั้นตอน การนำหลักฐานไปใช้ต้องทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและการได้หลักฐานมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ฯลฯ
อายุราชการก่อนเกษียณอีกไม่กี่เดือน คิดว่าอยากพัฒนาบริการประชาชน เรื่องการชันสูตรหลังการเสียชีวิต คือ ทำกฎหมายกระบวนการดูแลศพที่ไม่มีญาติเพื่อพิสูจน์หาบุคคลเครือญาติในภายหลังก็จะช่วยนำศพกลับไปทำพิธีทางศาสนาจะไม่ต้องกลายเป็นศพไร้ญาติ หรือบางคนมีญาติแต่ไม่มีเงินทำพิธีทางศาสนา ต้องจัดเก็บอย่างถูกวิธี ถ้าวันใดพร้อมเรื่องค่าใช้จ่ายก็นำไปได้ หรือตั้งมูลนิธิคอยช่วยเหลือจัดการศพ
“ข้าราชการไม่ว่าจะทำงานตรงไหนหรือได้รับมอบหมายภารกิจจากผู้บังคับบัญชาแล้วก็ต้องทุ่มเทโฟกัสเพื่อให้ผลงานออกมาดีและสิ่งที่ตั้งใจลงมือไปนั้นจะเป็นการสร้างคุณค่าแก่ตัวเราเองจนเป็นที่ยอมรับ เกิดความเชื่อถือและประโยชน์ต่อส่วนรวม สังคม ประเทศชาติ ซึ่งเป็นคติที่ทำให้มาถึงทุกวันนี้”
"จิบชาตราชั่ง"