ทำไมต้องจัดการระบบผ่าน “บล็อกเซน”? นักวิชาการถาม แล้วเงินมาจากไหน แน่ใจนะว่า “คิดก่อนทำ” ย้ำโครงการนี้น่าเป็นห่วง เพราะ “ภาพไม่ชัดเจน”
เทียบติดไหม? กับระบบ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”
เงินดิจิทัล 10,000 นโยบายชูโรงของรัฐบาลเพื่อไทย ที่หลายคนยังคงถกเถียงกัน เพราะเนื่องจากยังไม่ได้ฟันรายละเอียดที่แน่ชัด ทำให้หลายตั้งคำถาม ว่ามันจะใช้การได้จริงๆ หรือเปล่า?
ระบบการแจกเงินคือให้ประชาชนโดยตรงผ่าน “กระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต” ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้น โดยไม่ต้องลงทะเบียน เพราะเชื่อมต่อกับบัตรประชาชน แม้ไม่มีสมาร์ทโฟนหรือแอปฯ “ก็สามารถใช้เงินได้ด้วยเลขบัตรประชาชน 13 หลัก”
ชวนคุยกับ “นุช”ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ อาจารย์อาคันตุกะ มหาวิทยาลัยเซาท์แธมป์ตัน ประเทศสหราชอาณาจักร ว่าโครงการนี้ มีข้อหน้าเป็นห่วงอะไรบ้าง?
“ดร.นุช” พูดถึงประเด็นแรกก่อนว่า หากไม่มีสมาร์โฟนหรือแอปฯ ก็ใช้บัตรประชนได้ แต่บัตรประชาชนมันถูกออกแบบมาให้ใช้แบบนั้นหรือเปล่า?
“เวลาเราไปทำธุรกรรม แล้วเขาเอาบัตรประชาชนเราไปเสียบนะคะ แล้วมีข้อมูลของเราขึ้นมา มันเป็นข้อมูลทะเบียนราษฎร์เนอะ มันไม่ได้บอกว่าเราเคลื่อนย้ายตัวเองจากจุดนี้ ไปจุดนี้ มันไม่ใช่ Dynamic Data”
ถ้าเทียบอย่าง “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ที่มีการออกมาให้เหมือนบัตรเดบิต บัตรเครดิต ที่รัฐใส่เงินเข้า แล้วเราสามารถกดใช้ได้ ซึ่งมันถูกออกแบบให้มีฐานข้อมูลแบบDynamic “เป็นความแตกต่างของบัตรแต่ละใบ ไม่ใช่ว่ามีบัตร1ใบแล้วทำได้ทุกอย่าง”
“อันที่ 2 สมมติได้เงินมาแล้ว ใช้ได้ด้วยไม่ว่ามันจะผ่านวิธีอะไรก็เถอะ เงินตรงนี้เท่าที่ฟังมา เขาจะใช้บล็อกเซนใช่ไหม คือต้องถามว่า ทำไมต้องเป็นบล็อกเชน?”
“บล็อกเชน” คือฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แบบกระจายศูนย์ ซึ่งจะบันทึกข้อมูลเป็นชุดๆ เรียงต่อกันเหมือนกับโซ่ โดยหลักการของการทำธุรกรรม จะให้ทุกคนในเครือข่ายเป็นผู้ยืนยัน และทุกชุดข้อมูลที่เกิดขึ้นในระบบจะเชื่อมถึงกัน
โดยรวมแล้ว “บล็อกเชน” เป็นเทคโนโลยีที่ดี แต่คนที่เข้าใจเรื่องนี้ยังมีน้อยมาก บางอย่างแค่ระบบธรรมดา มันก็สามารถทำงานได้เหมือนกัน“ต้องดูว่าระบบธรรมดาของเรา มันทำงานได้ดีเท่าบล็อกเชนหรือเปล่า”
“แล้วถ้าบล็อกเซนไม่ได้ช่วยทำให้มันดีกว่าขนาดนั้น มันก็กลายเป็นทำเกินกว่าความจำเป็น”
การใช้ “บล็อกเชน” กับเรื่องนี้ คนได้รับเงินก็ต้องเข้าใจระบบมันด้วย เพราะมันไม่เหมือนกับเรารูดบัตรเครดิต ที่เสร็จแล้ว เราจะรู้ทันที่ว่าเราจ่ายเงินแล้ว มันมีระบบของมันอยู่ “ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ”
“เงินมาจากไหน”? คำถามที่ยังคาใจ
อีกเรื่อง ดร.นุช ตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า การให้เงินประชาชนทุกคนตั้งแต่ อายุ 16 ขึ้นไป ใช้เงินจำนวนไม่น้อย “หลายแสนล้านบาท” แล้ว “เงินมาจากไหน?”
“ถ้าบอกว่าไม่ก่อหนี้ แล้วเงินมาจากไหน?”
การที่เราจะฉีดเงินเข้าไปในระบบ เราไม่สามารถเสกเงินจากอากาศ แล้วมายัดเข้าไปในระบบ มันจะส่งผลต่อ “มูลค่าของเงิน” เพราะปริมาณเงินมันเพิ่มขึ้น
“มันต้องไม่ลอยมาจากอากาศนะ เพราะเมื่อไหร่ที่เป็นแบบนั้น มันก็เหมือนการพิมพ์เงินขึ้นมาใหม่”
โครงการนี้ได้ออกแบบมาให้ “ครบวงจรและครอบคลุมแล้วหรือยัง”? สมมติว่าหากได้เงินไปแล้ว เขาอยากซื้อของ แต่ไม่มีอุปกรณ์รับเงิน “วอลเล็ต” หรือต้องการเงินสดมากกว่า จะทำยังไง?
“ตั้งแต่ต้นจนจบเนอะ จากเราให้เงินเขาไปแล้ว กระบวนการตรงนี้ไปถึงขั้นตอนสุดท้าย ปลายสายสิ้นสุดโครงการเนี่ย เรามีกระบวนการอะไรบ้าง”
และในกระแสสังคมก็มีคนถามว่า นโยบายแบบนี้ สุดท้ายแล้วเงินจะไม่ไหลไปอยู่กลุ่มทุนใหญ่หรือ? ดร.นุช บอกว่าอยู่ที่เงื่อนไขว่า ได้มีการกำหนดรายละเอียดอะไรหรือเปล่า
“เขาต้องอุปกรณ์อะไรบ้าง? มีกระบวนการอะไรหรือเปล่า? มีเงื่อนไขอะไรบ้างไหม เช่น เขาต้องมีวอลเล็ตนะ แต่บางร้านค้าที่ไม่มีมือถือ หรือไม่มีอุปกรณ์ที่จะเปิดเป็นดิจิทัลวอลเล็ตได้ เขาก็รับเงินไม่ได้หรือเปล่า?เขาจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้หรือเปล่า”
“ภาพไม่ชัด”!! แน่ใจนะว่าคิดมาดีแล้ว?
“ภาพไม่ชัด”คือคำตอบของ ดร.นุช เมื่อถามว่าที่คนกังวลกับโครงการนี้ เพราะดูเหมือนมันจะไม่ได้ถูกคิดมาอย่าง “ถี่ถ้วน” เพราะเรื่องแบบนี้คิดเร็วๆ ไม่ได้ มันจะทำให้เงินหลายล้านหลุดหายออกไป
“เวลาที่เราบอกว่า เราให้ไปแล้ว ประชาชนเอาไปใช้บริโภค แล้วมันจะกลับมาเป็นภาษี กลับมาเป็นรายได้ธุรกิจ อันนี้ได้มีการศึกษาที่ตัวเลขจริงแล้วใช่ไหม?”
วิธีนี้อาจไม่ได้ส่งผลให้ธุรกิจหรือเศรษฐกิจเติบโต ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ เดิมเขาใช้เงินเดือนละ 10,000 บาท แต่ได้เพิ่มจากรัฐอีก 10,000 บาท ก็จะคิดว่าเขาต้องใช้เงินเพิ่มเป็น 20,000 ทำให้อัตราการบริโภคเพิ่มขึ้น
แต่ถ้าเขาใช้ไม่หมดล่ะ? กลายเป็นว่าเขาใช้เงินที่รัฐให้มา 10,000 แล้วส่วนของตัวเองก็นำไปเก็บหรือไปออม แบบนี้ไม่ทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้น เป็นเพียง “การให้เงินมาใช้ทดแทน”
และ รศ.ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง คืออีกคนที่ช่วยฝากข้อกังวลต่อโครงการนี้เอาไว้
มองว่านโยบายนี้รัฐบาลต้อง “กู้เงินหรือก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติม”ต้องระมัดระวังความเสี่ยง ภาระทางการคลังที่อาจเพิ่มขึ้นถ้าก่อหนี้มากเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาได้
“การก่อหนี้มากเกินไป อาจทำให้ นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นได้ และบริษัทจัดอันดับเครดิต อาจปรับมุมมองแนวโน้มอันดับเครดิตได้”
แต่เวลานี้ประเทศคงยังไม่โดนปรับลดเครดิต เพราะตอนนี้ฐานะทางการคลังโดยรวมยังมีเสถียรภาพพอ แต่อยากให้รัฐบาล “ให้น้ำหนักกระตุ้นการลงทุน มากกว่ากระตุ้นการบริโภคครับ”
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
ขอบคุณภาพ : accesstrade.in.th
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **