“จตุพร” ชี้เปรี้ยง “แจกเงินดิจิทัล” เอื้อกลุ่มทุนรายใหญ่ ปูดที่มาแหล่งเงินจากตั๋วสัญญาจะซื้อสินค้าล่วงหน้า ผลประโยชน์ต่างตอบแทน เชื่อ ยิ่งการเมืองไม่แน่นอน ยิ่ง เลื่อนเร็วขึ้น
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(19 ก.ย.66) นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์รายการประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน “หนัก?”
สาระสำคัญ มีการประเมินโครงการแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทรวม 5.6 แสนล้านบาท ว่า จะมาเร็วขึ้น คาดจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายนนี้ เนื่องจากรัฐบาลประกาศร่นเวลามาต่อเนื่องจากปี 2567 ในเดือนเมษายน ถอยลงเป็นกุมภาพันธ์ พร้อมส่อเค้าถึงการเปลี่ยนพื้นที่ใช้จ่ายจากรัศมี 4 กิโลเมตร เป็นทั้งอำเภอตามภูมิลำเนาในบัตรประชาชนของผู้ใช้จ่าย
โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 5.6 แสนล้านบาท พรรคเพื่อไทยจะแจกให้ประชาชนตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป โดยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เน้นเป็นสัญญาช่วงการหาเสียงที่ผ่านมา อ้างมุ่งหวังกระตุุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว โดยกำหนดเงื่อนไขให้ใช้จ่ายได้ในรัศมีพื้นที่ 4 กิโลเมตรตามภูมิลำเนาในบัตรประชาชน
“จตุพร” เชื่อว่า ถ้าโครงการนี้ให้ซื้อขายได้เฉพาะผลผลิตสินค้าท้องถิ่นหรือชุมชนจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชาวบ้านรากหญ้าได้ชัดเจนกว่า เศรษฐกิจจะเกิดสะพัดหมุนเวียนในชุมชน แต่นโยบายของรัฐบาลกลับมีแนวโน้มให้ใช้จ่ายซื้อสินค้าทั่วไป ดังนั้น ย่อมไปกระตุ้นให้เฉพาะผู้ผลิตสินค้าที่เป็นกลุ่มทุนใหญ่เร่งทำการผลิตส่งมาขายชาวบ้าน ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน แล้วชีวิตคนจนก็อยู่แบบเดิมๆ อีก
รูปแบบโครงการแจกเงินครั้งนี้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยหมายมั่นปั้นมือให้เป็นการเริ่มใช้จ่ายเงินดิจิทัลแทนเงินสด ซึ่งมีกระบวนการแปรรูปผ่านการแลกเปลี่ยนไม่แตกต่างจากการถือครองเงินคูปองไปแลกซื้อสินค้า ดังนั้น กระบวนการตั้งต้นของโครงการนี้จึงมีทั้งส่วนที่เป็นดิจิทัลและอนาล็อกผสมส่วนในตลาดสินค้าทุนการผลิตทั่วไป
“จตุพร” กล่าวว่า ในกระบวนการอนาล็อกแล้ว ต้นทางของเงินทั้งโครงการจำนวน 5.6 แสนล้านบาทคาดที่มาในรูปแบบรัฐทำสัญญาหรือตั๋วสัญญาจะซื้อสินค้าจากบริษัทกลุ่มทุนการผลิตรายใหญ่ ซึ่งจะมีกี่บริษัทก็ตาม แต่ปกติการผลิตสินค้าแล้วมีต้นทุนประมาณ 35% ของมูลค่าการผลิตตามสัญญา หรือรวม 5.6 แสนล้านบาทของมูลค่าโครงการนี้
พร้อมทั้งประเมินรูปแบบที่มาของเงินในโครงการว่า เมื่อกลุ่มทุนใหญ่ผู้ผลิตสินค้าได้สัญญาจะซื้อสินค้าล่วงหน้าจากรัฐด้วยมูลค่าแตกต่างกันไปตามจำนวนบริษัทกี่รายก็ตาม (แต่ทั้งหมดรวมอยู่กรอบโครงการ 5.6 แสนล้านบาท) บริษัทก็นำสัญญาไปขอกู้เงินจากธนาคาร (หรือธนาคารของรัฐ) มาทำการผลิตสินค้าส่งป้อนตลาด
ปกติแล้วธนาคารจะอนุมัติเงินให้มากถึง 70% ของในสัญญาจากรัฐหรือรวมมูลค่า 5.6 แสนล้านบาท ดังนั้น กลุ่มทุนการผลิตจะกู้ธนาคารเท่าใดตามกรอบทุนตั้งต้นการผลิตประมาณ 35% หรือตามการอนุมัติของธนาคาร 70% ย่อมทำได้ตามขนาดธุรกิจการผลิตสินค้าที่รัฐให้สัญญาจะซื้อไว้
“เมื่อที่มาของเงินเป็นรูปแบบนี้ แสดงว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจของประชาชนเลย แต่เป็นการกระตุ้นกลุ่มทุนการผลิตรายใหญ่ที่มีเงินกองเป็นแสนล้านทั้งนั้น ดังนั้น ในด้านผลประโยชน์ต่างตอบแทนแล้ว เชื่อว่าโครงการนี้จะมาเร็วขึ้น คาดช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้จะเห็นแนวโน้มที่เป็นจริงแล้ว เพราะพวกเขา (เพื่อไทย) คิดไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว แต่บอกไม่ได้กลัวถูกธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันทางเศรษฐกิจอื่นๆ รุมยำเอา”
กระบวนการทำสัญญาจะซื้อสินค้าโครงการรวมมูลค่า 5.6 แสนล้านบาทโดยรัฐอยู่ในสถานะเป็นหนี้นั้น กลุ่มทุนย่อมกล้าทำการผลิตสินค้า เพราะส่วนหนึ่งกลุ่มทุนใช้เงินกู้จากธนาคารมาผลิต แล้วรัฐทยอยแบ่งจ่ายใช้คืนในช่วง 4 ปีงบประมาณผูกพันประมาณปีละแสนกว่าล้านบาท ซึ่งเริ่มเห็นเค้าลางกับการปรับงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ให้เพิ่มวงเงินกู้อีกประมาณ 1.3 แสนล้านบาทจนทำให้งบประมาณปี 2567 ขยับเพิ่มเป็นวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท
การแบ่งจ่ายคืนสัญญาจะซื้อสินค้าจำนวนเงิน 5.6 แสนล้านบาท แล้วถูกกระบวนการถัดมาแปรรูปเป็นเงินดิจิทัลผ่านกระเป๋าเงินที่เรียกว่า “บล็อกเชน” ดังนั้น ในระยะ 4 ปีการจ่ายคืนของรัฐดัวยงบผูกพัน จึงผลักดันให้เงินดิจิทัลลามไปเข้าตลาดทุน (ตลาดหุ้น) มีมูลค่าขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในแต่ละรอบการทำธุรกรรม
“ด้วยการแปรสภาพของโครงการแจกเงินหมื่นบาทให้ประชาชน 56 ล้านคน ย่อมเป็นรูปแบบผสมทั้งอนาล็อกและดิจิทัล โดยกลุ่มทุนรายใหญ่พวกเศรษฐีเก่าเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ในโครงการนี้ แต่หวังว่า กระบวนการแปรสภาพที่มาของเงิน 5.6 แสนล้านบาทนี้ จะไม่เกิดขึ้นเป็นจริง เพราะประเทศจะเสียหายหนักซ้ำไปอีก”
ขณะนี้โครงร่างนำประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้เริ่มเข้าเค้ากลายร่างเป็นจริงเป็นจังขึ้นแล้วในประเทศที่สมมติชื่อ “สารขัณฑ์” แม้เรื่องนี้ยังไม่มีมูลความจริงจะเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่มีร่องรอยจะเป็นไปตามการเกิดขึ้นของประเทศสารขัณฑ์เท่านั้น
โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตขณะนี้เห็นเค้าลางการเร่งให้เกิดในช่วงพฤศจิกายนนี้แล้ว เนื่องจากรัฐบาลไม่รู้อนาคตจะได้อยู่นานแค่ไหน เพราะมีข้อกล่าวหามากมายรุมถล่มพฤติกรรมธุรกิจส่อขัดกับมาตรฐานต้องห้ามทางจริยธรรมนักการเมือง โดยมีทั้งการสร้างสะพานเก็บเงินข้ามคลองพระโขนง การถูกเปิดโปงกลุ่มนอมินีเครือขายซื้อที่ดินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น อีกอย่างข้อกล่าวหาเหล่านี้ถูกยื่นไปตามกระบวนการตรวจสอบแล้ว วันใดหากถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ใครจะมาสานงานต่อได้
นอกจากนี้ ยังประเมินว่า เค้าลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเริ่มปรากฏขึ้น โดยมีร่องรอยตั้งแต่รัฐบาลประกาศร่นเวลาโครงการเงินดิจิทัลจากเมษายน 2567 มาเป็นกุมภาพันธ์ 2567 อย่างไรก็ตาม คาดว่าโครงการจะเกิดเร็วขึ้นไปอีก ซึ่งมีแววส่อว่า จะเริ่มในช่วงพฤศจิกายนนี้
รัฐบาลยังจ้องปรับเปลี่ยนพื้นที่การใช้จ่ายจากรัศมี 4 กิโลเมตร ขยายเป็นทั้งอำเภอตามภูมิลำเนาในบัตรประชาชนของผู้ใช้ รวมทั้งสถานการณ์ทางด้านสภานิติบัญญัติเกิดรอยปริแยกทำให้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ซี่งมีปัญหาสุขภาพรุมเร้าอยู่ มีโอกาสจะสละตำแหน่ง สิ่งเหล่านี้ย่อมแสดงถึงอาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้เร็วอย่างไม่คาดคิดกันก็ย่อมเป็นไปได้
“เค้าลางเช่นนี้ ล้วนบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงจะมาเร็วขึ้น รัฐบาลจึงหวั่นไหวถึงอนาคตของตัวเองว่า จะอยู่ได้นานแค่ไหน จึงต้องเร่งโครงการ 5.6 แสนล้านบาทให้เป็นงบผูกพันในการซื้อสินค้าจากกลุ่มทุนส่งไปให้ชาวบ้านได้ซื้อในวงเงินหนึ่งหมื่นดิจิทัลต่อคนให้เร็วขึ้น เพื่อผ่องถ่ายผลประโยชน์ได้แบ่งจ่ายไปให้ทุนใหญ่กินรวบ”
“จตุพร” เห็นว่า ในทางการเมืองขณะนี้ดูเหมือนไม่มีอะไร ดูเหมือนนิ่งๆ แต่ในความนิ่งกลับมีความอึกทึก เพราะความสัมพันธ์สลับซับซ้อนทางอำนาจที่ลึกลงไปแล้ว แต่ละกลุ่มกลับรอโอกาสการเปลี่ยนแปลงเอาไว้ สิ่งนี้จึงเป็นตัวเร่งให้โครงการดิจิทัลจะเกิดเร็วขึ้น ดังนั้น ประชาชนต้องไม่ชะล่าใจในความเงียบสงัดที่ซ่อนเสียงเอาไว้