“ธีระชัย” ชี้ รัฐบาลแจกเงินดิจิทัลเพิ่มจีดีพีได้น้อยและไม่ยั่งยืน แต่หนี้สาธารณะ 5.6 แสนล้าน จะยั่งยืนกว่า ทั้งมีคำถามว่าเป็นการเลี่ยงการตรวจสอบโดยรัฐสภาหรือไม่ ที่เลี่ยงบาลีไปใช้งบค้างท่อ และให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐจ่ายไปก่อน แล้วตั้งงบชดเชยภายหลัง มัดมือชก ส.ส. ตบหน้าประชาชน ซ้ำอาจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญเพราะตอนแถลงนโยบายไม่ได้บอกแหล่งที่มารายได้ที่จะนำมาใช้
วันนี้ (21 ก.ย.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสตฺ์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในหัวข้อเรื่อง “เงินดิจิทัลเลี่ยงการตรวจสอบ?” มีรายละเอียดดังนี้
บทความในไทยพับลิกา บรรยายเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการเงินดิจิทัล
ซึ่งผมมีข้อสังเกตว่าอาจเป็นการเลี่ยงการตรวจสอบโดยรัฐสภา ดังนี้
***หนึ่ง จีดีพี ที่เสกด้วยหนี้สาธารณะ มีความยั่งยืนหรือไม่?
ผมขอเริ่มต้นอธิบายว่า:-
จีดีพี ประกอบด้วย C+I+G+(X-M)
โดย C คืออุปโภคบริโภคของเอกชน/ I คือการลงทุนของเอกชน/ G คือการใช้จ่ายของรัฐบาล/ และ (X-M) คือส่งออกหักด้วยนำเข้า
ดังนั้น ถ้าเพิ่ม G ก็จะเสกให้ จีดีพี เพิ่มขึ้นโดยง่าย รัฐบาลยังไม่ต้องทำงานอะไร
ถามว่า ทำไมไม่เพิ่ม G ไปเรื่อยๆ แจกทุกเดือน หรือเพิ่มแจกคนละ 1 แสนบาท คนละ 1 ล้านบาท?
ผมตอบว่า:- เพราะ จีดีพี ที่ไม่ได้โตจากการทำงานของประชาชน จะนำไปสู่เงินเฟ้อ และเมื่อหนี้สาธารณะสูงเกินไป ก็จะกระทบการคลัง และค่าเงินบาท
เว้นแต่ถ้าเพิ่ม G เป็นงบลงทุน ซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มรายได้รัฐบาลในอนาคต
ส่วนโครงการเงินดิจิทัล ที่เพิ่ม G เพื่อกินใช้ประจำวันนั้น ไม่ต่างจากครอบครัวไม่มีเงิน แต่ยังรูดเครดิตการ์ดเอามากินเที่ยว
บทความในไทยพับลิกา ระบุว่า
[[“รัฐบาลคาดการณ์ว่าจากการอัดฉีดเงินงบประมาณ 560,000 ล้านบาท...จะไปหมุนอยู่ในระบบเศรษฐกิจประมาณ 4 รอบ คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.2 ล้านล้านบาท”]]
ผมตั้งข้อสังเกตว่า เป็นความฝันกลางวัน
ตัวเลข จีดีพี จะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาด และจะได้ผลเพียงครั้งเดียว ไม่ยั่งยืน
แต่หนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้น 560,000 ล้านบาท กลับจะยั่งยืน และกระทรวงการคลังมีภาระต้องหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกปี
***สอง เป็นการเลี่ยงกระบวนการตรวจสอบโดยรัฐสภาหรือไม่?
บทความในไทยพับลิกา ระบุว่า
“แต่ถ้ายังมีเงินไม่เพียงพอสำหรับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท อีก
อาจจะต้องใช้แหล่งเงินนอกงบประมาณมาช่วยเสริม
โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐสำรองจ่ายเงินไปก่อน ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 จากนั้นรัฐบาลจะตั้งงบประมาณมาชดเชยให้ในภายหลัง
(ถ้า) รัฐบาลจะมีวงเงินเครดิตเหลือ..ยังไม่พอใช้อีก..นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง ก็ต้องแก้ประกาศ ขยายสัดส่วน..ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ
จากปัจจุบันไม่เกิน 32% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี อาจจะเป็น 35% หรือมากกว่านี้เป็นการชั่วคราว”]]
ผมขอเรียนให้ท่านนายกเศรษฐาฯ ทราบว่า เอกสารวิชาการของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อธิบายไว้ดังนี้
[[“งบประมาณแผ่นดิน หมายถึง แผนเกี่ยวกับการใช้จ่ายของรัฐบาล และจัดหารายรับ ให้เพียงพอกับการใช้จ่าย
สำนักงบประมาณนำเสนอรัฐบาล เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาอนุมัติ
ซึ่งงบประมาณแผ่นดิน..มีการวัดผลลัพธ์และค่าใช้จ่ายอย่างเป็นรูปธรรม ให้ผู้ทำงานรับผิดชอบต่อผลงาน..เน้นการจัดการทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่า”]]
ผมขอเรียนว่า การตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่า รัฐบาลจัดหารายรับให้เพียงพอกับการใช้จ่าย และมีการวัดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ให้เกิดความคุ้มค่า หรือไม่ นั้น
ต้องดำเนินการในรัฐสภา
ต้องไม่ใช่การกระทำแบบลับๆ ล่อๆ โดยเลี่ยงบาลีไปใช้งบประมาณค้างท่อ ทั้งที่เป็นเงินเตรียมไว้สำหรับโครงการอื่นที่ผ่านรัฐสภาไปแล้วก่อนหน้า
ส่วนการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐสำรองจ่ายเงินไปก่อน ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 แล้วรัฐบาลค่อยตั้งงบประมาณมาชดเชยให้ในภายหลัง นั้น
ไม่ใช่การกระทำแบบลับๆ ล่อๆ อย่างเดียว
แต่เป็นการตบหน้าประชาชน
เพราะการตั้งงบประมาณมาชดเชยให้ในภายหลัง นั้น เป็นการ 'มัดมือชก' ผู้แทนประชาชน ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน
คำศัพท์กฎหมายฝรั่งเศสเรียกว่า fait accompli
การที่สถาบันการเงินของรัฐจ่ายเงินไปก่อน แล้วค่อยมาขออนุมัติงบประมาณภายหลัง ถึงแม้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ให้ทำได้
แต่จะต้องยึดหลักถ่วงดุลในรัฐสภา Check and Balance
จะต้องทำเฉพาะกรณีจำเป็นยิ่งยวด เช่น เกิดภัยพิบัติที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องเร่งรับจำนำข้าวตามผลผลิตที่กำลังจะเก็บเกี่ยว เป็นต้น
การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ใช่เรื่องที่เร่งด่วนฉุกเฉิน เพราะการล็อกดาวน์ในวิกฤตโควิดได้ผ่านพ้นไปแล้ว
ถ้าหากบทความในไทยพับลิกาถูกต้อง ผมขอแนะนำให้ท่านนายกฯ เศรษฐา ทบทวน เพราะจะเสียเครดิตทางการเมืองแบบไม่ฟื้น
***สาม มีการปฏิบัติฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือไม่?
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 162 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
“คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ
และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนํามาใช้จ่ายในการดําเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่”
เหตุผลที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ดังนี้ ก็น่าจะเพื่อให้รัฐสภา ตรวจสอบ ถกแถลง และเสนอแนะ ในประเด็นแหล่งที่มาของรายได้
ถ้ารัฐบาลไม่เก็บภาษีเพิ่ม ไม่ลดงบประมาณด้านอื่น ก็จะต้องยอมรับให้ชัดเจนว่า แหล่งที่มาจะไม่มาจากรายได้ของรัฐบาล
แต่แหล่งที่มาสำหรับเงินดิจิทัล จะต้องกู้หนี้สาธารณะ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
และการชี้แจงประเด็นนี้ จะต้องทำต่อรัฐสภาในการแถลงนโยบาย ไม่ใช่มาทำภายหลัง ไม่ใช่มาทำผ่านสื่อมวลชน
ดังนั้น ถ้าหากสมมติท่านนายกฯ เศรษฐา ไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาสำหรับเงินดิจิทัล ในวันที่แถลงนโยบาย (ผมไม่ได้ฟัง)..
ผมมีความเห็นว่า อาจจะเข้าข่าย ผิดหลักจริยธรรม ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหลายมาตรา
จึงขอเรียนแนะนำด้วยความหวังดี
วันที่ 21 กันยายน 2566
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ