รับสนอง “ผู้ว่าซีอีโอ” ใช้งบฯ 66 ไปพลางก่อน แค่ 1.8 ล้านล้าน “สำนักงบฯ” รับงบฯ 67 ล่าช้า 8 เดือน คาด พ.ร.บ.งบฯ 67 ประกาศใช้ พ.ค.ปีหน้า ย้ำ ผู้ว่าฯ 76 จังหวัด ทำความเข้าใจ ให้ “หน่วยรับงบประมาณ” ในพื้นที่ ทำแผนใช้จ่ายเป็นเวลา 8 เดือน ใช้ได้ไม่เกิน 2 ใน 3 ของแต่ละแผนงานปีงบ 66 ขีดเส้น ส่งแผนฯ 15 ก.ย.ยันต้องสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนสภาพัฒน์ฉบับที่ 13 และ แผนนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ
วันนี้ (10 ก.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในเวทีประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยพบปะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ได้ให้ข้อมูลกับผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด ต่อวิธีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน
“โดยเฉพาะ ให้หน่วยงานรับงบประมาณ ทุกระดับในจังหวัด เสนอกรอบระยะเวลาในการขยายระยะเวลาในการใช้จ่ายไปพลางก่อนจาก 6 เดือนเป็น 8 เดือน คือ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 - พ.ค. 2567 โดยมีกรอบวงเงินงบประมาณใช้ไปพลางก่อนในช่วง 8 เดือนนี้ ไม่เกิน 1.8 ล้านล้านบาท โดยหน่วยงานจะต้องส่งรายการที่ต้องใช้เงินมาภายใน 15 ก.ย. 2566”
ทั้งนี้ สำนักงบฯ ก็จะอนุมัติจัดสรรงบประมาณให้ก่อนวันที่ 1 ต.ค. 66 และการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นปีงบประมาณใหม่ สามารถเบิกจ่ายได้แต่ไม่เกินกรอบงบประมาณปี 2566
โดยก่อนหน้านี้ สำนักงบประมาณ แจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ลงนามหนังสือ ประกาศวิธีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน
หลังจากก่อนหน้านี้ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ โดยอนุมัตินายกรัฐมนตรี ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน แล้ว
สำหรับสาระสำคัญของวิธีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน มีดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ
1.1 ให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันในไตรมาสที่ 1 ไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 เฉพาะเดือน เม.ย.และเดือน พ.ค.ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (1 ต.ค. 2566 - 31 พ.ค. 2567)
เว้นแต่รายจ่ายประจำที่มีความจำเป็นต้องก่อหนี้ผูกพัน 12 เดือน ให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามที่ต้องดำเนินการจริง โดยจำแนกเป็นรายเดือนส่งให้สำนักงบประมาณ อย่างช้าภายในวันที่ 15 ก.ย. 2566
1.2 การจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้ดำเนินการ ดังนี้
(1) หน่วยรับงบประมาณที่ตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้จัดทำแผนภายในวงเงินไม่เกิน 2 ใน 3 ของแต่ละแผนงานและรายการ (งบประมาณรายจ่ายงบกลาง) ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
รวมถึงที่มีการโอนเปลี่ยนแปลงตามกฎหมาย สำหรับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้สอดคล้องตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ
(2) หน่วยรับงบประมาณที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และมีงบประมาณรายจ่ายที่รับโอนมาจากหน่วยรับงบประมาณอื่นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้จัดทำแผนเต็มตามจำนวนงบประมาณรายจ่ายของแต่ละแผนงานที่ได้รับโอนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
กรณีที่วงเงินดังกล่าวไม่เพียงพอในการจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามข้อ 1.1 ให้แจ้งจำนวนเงินที่ยังขาดอยู่ของแต่ละแผนงานให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณเป็นรายกรณีจากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
1.3 การจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ให้หน่วยรับงบประมาณใช้ผลผลิตหรือโครงการเดิมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แต่อาจปรับปรุงวิธีดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ตามความจำเป็น โดยคำนึงถึงแนวทางดำเนินการและงบประมาณรายจ่ายที่ขอรับเงินจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ด้วย ทั้งนี้ จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้
(1) ไม่จัดทำแผนสำหรับผลผลิตหรือโครงการ ที่สิ้นสุดลงแล้วในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
(2) ไม่จัดทำแผนสำหรับค่าใช้จ่ายที่เป็นการผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการใหม่ ยกเว้นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานปกติของหน่วยรับงบประมาณที่ต้องดำเนินการภายหลังจากสัญญาเดิมสิ้นสุด ซึ่งหากไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหายต่อการปฏิบัติราชการ
(3) ค่าใช้จ่ายในแผนงานบุคลากรภาครัฐ ให้พิจารณาตามความจำเป็นได้ในทุกงบรายจ่าย
(4) ค่าใช้จ่ายในแผนงานพื้นฐาน และแผนงานยุทธศาสตร์ให้พิจารณาตามความจำเป็นได้ในทุกงบรายจ่าย ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายในลักษณะงบลงทุนปีเดียว ให้พิจารณาความจำเป็นตามภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หากไม่ดำเนินการจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการปฏิบัติราชการหรือประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ
(5) ค่าใช้จ่ายในแผนงานบูรณาการ ให้จัดทำแผนเท่าที่จำเป็นเพื่อใช้ปฏิบัติงานที่ต่อเนื่องจากโครงการ/งาน ที่ดำเนินการไว้แล้ว หรือที่ได้ทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันไว้แล้วก่อนปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมทั้งภารกิจที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หากไม่ดำเนินการจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการปฏิบัติราชการหรือประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ
(6) ค่าใช้จ่ายในแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ และงบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียนให้พิจารณาเท่าที่จำเป็น
1.4 เมื่อหน่วยรับงบประมาณได้รับความเห็นชอบแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณจากสำนักงบประมาณแล้ว ให้แจ้งรัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแลหรือควบคุมกิจการของหน่วยรับงบประมาณ หรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย แล้วแต่กรณีทราบ เพื่อใช้ในการกำกับดูแลและติดตามการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณ
สำหรับงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ให้หน่วยรับงบประมาณแจ้งหน่วยงานเจ้าภาพหลัก เพื่อแจ้งให้ผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการทราบ เพื่อใช้ในการกำกับดูแลและติดตามการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณ
ข้อ 2 การอนุมัติเงินจัดสรร
2.1 เมื่อสำนักงบประมาณให้ความเห็นชอบแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ แล้ว สำนักงบประมาณจะพิจารณาอนุมัติเงินจัดสรรให้หน่วยรับงบประมาณตามความจำเป็นและภารกิจ ตามแผนงาน ผลผลิตหรือโครงการ
เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 โดยหน่วยรับงบประมาณไม่ต้องยื่นขอรับอนุมัติเงินจัดสรร
2.2 การอนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น แก่หน่วยรับงบประมาณที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้เพียงพอต่อการดำเนินการตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ
ที่จัดทำตามข้อ 1.2 (2) ให้คำนึงถึงวงเงินงบประมาณรายจ่ายแต่ละแผนงานที่เสนอตั้งสำหรับหน่วยรับงบประมาณนั้น ตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
2.3 การอนุมัติเงินจัดสรรสำนักงบประมาณจะจัดทำใบอนุมัติเงินจัดสรร ตามแบบที่สำนักงบประมาณกำหนด
2.4 เมื่อหน่วยรับงบประมาณได้รับอนุมัติเงินจัดสรรแล้ว กรณีเป็นรายจ่ายที่ต้องดำเนินการหรือเบิกจ่ายโดยสำนักงานในส่วนภูมิภาค ให้หน่วยรับงบประมาณเร่งดำเนินการส่งเงินจัดสรรต่อไปยังสำนักงานในส่วนภูมิภาคภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร เพื่อให้สำนักงานในส่วนภูมิภาคดำเนินการใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันต่อไป
ข้อ 3 การบริหารงบประมาณรายจ่าย
3.1 การใช้งบประมาณรายจ่ายตามที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรรการโอนงบประมาณรายจ่าย การโอนเงินจัดสรร หรือการเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้
(1) ไม่เป็นการกำหนดอัตราบุคลากรอัตราใหม่
(2) ไม่ก่อให้เกิดรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ยกเว้นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานปกติของหน่วยรับงบประมาณที่ต้องดำเนินการภายหลังจากสัญญาเดิมสิ้นสุด ซึ่งหากไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหายต่อการปฏิบัติราชการหรือประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ
(3) กรณีเป็นค่าใช้จ่ายเดินทางไปราชการต่างประเทศ ให้ขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณก่อน
(4) งบประมาณรายจ่ายในลักษณะงบลงทุนปีเดียว ค่าครุภัณฑ์ที่มีวงเงินต่อหน่วยต่ำกว่า 1 ล้านบาท และค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่มีวงเงินต่อหน่วยต่ำกว่า 10 ล้านบาท
ให้ใช้จ่ายตามรายการที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร การโอนเงินจัดสรรหรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรจากรายการตามวรรคหนึ่ง หรือจากรายการอื่นมาสมทบ หรือกำหนดเป็นรายการตามวรรคหนึ่ง ให้ขออนุมัติสำนักงบประมาณก่อน
3.2 กรณีหน่วยรับงบประมาณมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร ให้ขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ ได้เฉพาะกรณี ดังนี้
(1) มีความจำเป็นต้องจ่ายตามข้อผูกพันสัญญา คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
(2) ต้องดำเนินการตามข้อตกลงที่รัฐบาลทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ
(3) มีความจำเป็นและเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน
3.3 การปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่กำหนดไว้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปพลางก่อน ทั้งนี้ ต้องไม่เกินกว่าระยะเวลาการจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามข้อ 1.1 และต้องอยู่ภายในวงเงินตามข้อ 1.2
ข้อ 4 การติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณให้หน่วยรับงบประมาณติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณตามระบบการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
ข้อ 5 การหักงบประมาณรายจ่าย
เมื่อหน่วยรับงบประมาณได้รับอนุมัติเงินจัดสรร และนำไปใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันแล้ว ให้จัดทำบันทึกการใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันและการเบิกจ่ายไว้สำหรับนำไปหักออกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ประกาศใช้บังคับแล้ว ดังนี้
(1) งบประมาณรายจ่ายที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรรจากแผนงาน ผลผลิตหรือโครงการ ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้นำไปหักออกจากแผนงาน ผลผลิตหรือโครงการเดียวกัน ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
(2) งบประมาณรายจ่ายที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรรจากแผนงาน ผลผลิตหรือโครงการ ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 หากมีการย้ายหรือเปลี่ยนแผนงาน ผลผลิตหรือโครงการในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้นำไปหักออกจากแผนงาน ผลผลิตหรือโครงการ ที่ตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567
(3) งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่อนุมัติเงินจัดสรร
ตามข้อ 2.2 ให้แก่หน่วยรับงบประมาณที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566ให้นำไปหักออกจากแผนงาน ผลผลิตหรือโครงการ ของแต่ละหน่วยรับงบประมาณ ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
(4) งบประมาณรายจ่ายงบกลางที่อนุมัติเงินจัดสรรให้หน่วยรับงบประมาณในกรณีอื่นใดที่นอกจากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่สำนักงบประมาณอนุมัติเงินจัดสรรให้หน่วยรับงบประมาณ
ตามข้อ 2.2 ให้นำไปหักออกจากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเดียวกัน หรืองบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทั้งนี้ สำนักงบประมาณอาจกำหนดรูปแบบและวิธีการในการหักงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณถือปฏิบัติต่อไป
ข้อ 6 การจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ การอนุมัติเงินจัดสรร การบริหารงบประมาณรายจ่าย การติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณ นอกเหนือจากวิธีปฏิบัติฉบับนี้ ให้ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณที่เกี่ยวข้อง