xs
xsm
sm
md
lg

สภา กทม.โชว์ผลงาน 1 ปี ผ่านงบหมื่นล้าน แก้ “เส้นเลือดฝอย” ดูแลคนเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในโอกาสที่สภากรุงเทพมหานคร ชุดที่ 13 ครบรอบ 1 ปี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับภารกิจสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) ในหลายมิติ
โดยประธานสภา กทม. กล่าวสรุปถึงบทบาทของสภา กทม. กับฝ่ายบริหารว่าทั้ง 2 ฝ่าย มีอำนาจหน้าที่แยกขาดจากกัน โดยสภา กทม.ทำหน้าที่ออกกฎหมาย ติดตามการทำงาน และช่วยสนับสนุนการบริหาร กทม.ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร รับผิดชอบการกำหนดนโยบายและการบริหารราชการกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมาย
ภารกิจสภา กทม.-ฝ่ายบริหาร

นายวิรัตน์ กล่าวถึงการทำงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ว่า สภา กทม.มีคณะกรรมการสามัญประจำสภา 12 คณะ ต่อมาเพิ่มอีก 1 คณะ โดย นางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ รองประธานสภา กทม. เป็นประธาน มีหน้าที่ช่วยประสานงานกับฝ่ายบริหาร เรื่องระเบียบ ญัตติ วาระต่างๆ ที่จะบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมสภา กทม.

“ในการประชุมสภา มีเรื่องราวต่างๆ เข้ามามากมาย เพื่อสะท้อนภาพที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก.ได้เห็นในพื้นที่ต่างๆ ทั้ง 50 เขตของ กทม. ผ่านสิ่งที่ ส.ก.ช่วยกันตรวจสอบ รับทราบปัญหา และหาแนวทางแก้ไข ส่วนใหญ่เป็นปัญหาพื้นฐานเรื่องถนน และสาธารณูปโภค และความต้องการของชุมชน ปัญหาทั้งหมดจะรวบรวมนำมาสู่กระทู้ ญัตติส่งสัญญาณและสะท้อนภาพให้ฝ่ายบริหารรับทราบ”

ผ่านงบหมื่นล้านแก้ปัญหา “เส้นเลือดฝอย”

ในการประชุมสภากทม.เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2566 ผู้ว่าฯ กทม.เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เข้าสู่การประชุม จำนวน 90,819.48 ล้านบาท จำแนกได้ดังนี้
รายจ่ายของกรุงเทพมหานคร 90,000 ล้านบาท และรายจ่ายของการพาณิชย์กรุงเทพมหานคร 819.48 ล้านบาท
เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณต่างๆ ได้มีงบประมาณเป็นหลักในการจ่ายเงินงบประมาณ เหตุผลความจำเป็นของการตั้งงบประมาณแบบสมดุลของกรุงเทพมหานคร ภายใต้การคำนึงถึงความคุ้มค่า ผลประโยชน์ที่จะได้รับ และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ พร้อมรายงานสถานะการเงินการคลังของกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 20 ก.ค. 66 ภาระหนี้ตามโครงการต่อเนื่องที่ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว ณ วันที่ 30 กันยายน 2565

​ร่างข้อบัญญัติฯ ที่ได้เสนอเข้าสู่สภากทม.เพื่อพิจารณารับหลักการในวาระที่หนึ่ง ประกอบด้วย งบประมาณตามนโยบายด้านเดินทางดี จำนวน 7,913 ล้านบาท ด้านปลอดภัยดี จำนวน 1,700 ล้านบาท ด้านโปร่งใสดี จำนวน 82 ล้านบาท ด้านสิ่งแวดล้อมดี จำนวน 7,137 ล้านบาท ด้านสุขภาพดี จำนวน 2,664 ล้านบาท ด้านเรียนดี จำนวน 488 ล้านบาท ด้านเศรษฐกิจดี จำนวน 36 ล้านบาท ด้านสังคมดี จำนวน 285 ล้านบาท และด้านบริหารจัดการดีจำนวน 258 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังจัดสรรงบประมาณเพื่อลงสู่เส้นเลือดฝอย ครอบคลุม 50 เขต อีกจำนวน 3,356 ล้านบาท
และหากจำแนกงบประมาณตามลักษณะงานและลักษณะรายจ่ายพบว่าเป็นการจัดบริการของสำนักงานเขต สูงสุดถึง 22.85%
สำหรับงบประมาณปี 67 แยกตามหน่วยงาน ระดับสำนัก มีจำนวน 54,713,217,100 บาท งบกลาง 14,718,825,400 บาท และสำนักงานเขต 20,567,957,500 บาท สำนักที่ขอจัดสรรมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ สำนักการโยธา 11,563 ล้านบาท สำนักการระบายน้ำ 8,936 ล้านบาท และสำนัสิ่งแวดล้อม 7,579 ล้านบาท กลุ่มเขตที่ขอจัดสรรงบประมาณสูงสุดตามลำดับ คือ กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก 4,744 ล้านบาท กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ 3,296 ล้านบาท กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ 3,371 ล้านบาท กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ 3,231 ล้านบาท กลุ่มเขตกรุงธนใต้ 3,055 ล้านบาท และกลุ่มเขตกรุงเทพกลาง 2,870 ล้านบาท

ภายหลังเปิดให้สมาชิกสภา กทม.ร่วมอภิปราย ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรับหลักการร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อ พิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ
จำนวนทั้งสิ้น 45 ท่าน โดยมี นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง เป็นประธาน กำหนดให้พิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สภาได้พิจารณารับร่างข้อบัญญัติ หรือภายในวันที่ 4 กันยายน 2566

นอกจากนี้ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา สภา กทม.ได้พิจารณางบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวนกว่า 10,000
ล้านบาท ซึ่งนำเงินสะสมของกทม.มาใช้ ถือเป็นการจัดทำงบประมาณครั้งแรกของผู้ว่าฯกทม. และเป็นการพิจารณาการใช้จ่ายงบประมาณร่วมกันครั้งแรกของสภา กทม.

​“เรื่องการแก้ปัญหาเส้นเลือดฝอยถือว่าท่านสอบผ่าน เพราะเป็นโครงการที่เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้จริงๆ ถือเป็นการตอบโจทย์ทั้งฝ่ายบริหารและสภา กทม ต้องขอบคุณผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่เห็นความสำคัญของ ส.ก.ทั้ง 50 คน ที่ช่วยกันนำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนมาสู่สภา”

เร่งสางวิกฤตฝุ่น-นํ้าท่วม จราจร

ประธานสภา กทม. สะท้อนภาพการทำงานตลอด 1 ปี ว่า หลังจากที่ ส.ก.ได้ร่วมกันอภิปรายปัญหาของประชาชนในสภา กทม.ทั้งปัญหาเร่งด่วน การจราจร ไฟฟ้าส่องสว่าง ได้มีการพูดคุยและนำเสนอผ่านไปยังผู้บริหารเพื่อให้เข้าไปแก้ไขปัญหา รวมทั้งส่งต่อปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การออกข้อบัญญัติเพื่อควบคุมมลพิษ ที่เกิดขึ้นจากรถยนต์ใน กทม.โดยเฉพาะการเปลี่ยนเครื่องยนต์ของรถขนส่ง
สาธารณะให้เป็นเครื่องยนต์ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเข้าไปตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว

ส่วนอุปสรรคของการทำงาน นายวิรัตน์ ยอมรับว่า เนื่องจากสภากทม ชุดปัจจุบัน เป็น ส.ก.เก่าด้วยเห็นว่ามีระเบียบต่างๆ เปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก จึงต้องการผลักดันให้แก้ไขพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 โดยให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) เนื่องจากใน กทม. มี 50 เขต และมีชุมชนกว่า 2,000 ชุมชน การดูแลประชาชนยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ หากมี ส.ข.จะไปช่วยเติมในส่วนที่ขาดนี้ไปได้

นอกจากนี้ ต้องการให้มีผู้ช่วย ส.ก.สนับสนุนการทำงานคนละ 2 ตำแหน่ง และตำแหน่งที่ปรึกษาประธานสภา กทม. เช่นเดียวกับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มีผู้ช่วย ส.ส.ซึ่งขณะนี้ทางสภา กทม.อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งหมดเป็นการสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ร่วมกับฝ่ายบริหารเพื่อผลักดันให้คนกรุงเทพมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น