xs
xsm
sm
md
lg

มท.ล้อมคอก “เสาไฟฟ้าท้องถิ่น” รับลูกผู้ตรวจแผ่นดิน สั่งผู้ว่าฯ สแกนยิบกี่ต้นกี่หลอด แยกส่องสว่าง พ้น “ประติมากรรม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาดไทย ล้อมคอก “เสาไฟฟ้าประติมากรรม” ท้องถิ่นทั่วประเทศ รับลูก “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” สั่งผู้ว่าฯทั่วประเทศ ตั้งคณะทำงานสแกนละเอียดยิบ ไฟกี่ต้นกี่หลอด งบจากส่วนไหน เงินอุดหนุนเท่าใด แยกติดตั้งเสาไฟฟ้าสองสว่างกับประติมากรรม ออกจากกัน ย้ำ! ไม่ปิดกั้นเพิ่มประติมากรรม เพื่อความสวยงามพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ

วันนี้ (17 ส.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทย เวียนหนังสือด่วนที่สุดถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด แจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อ 11 ก.ค. 2566

ในประเด็นการดำเนินโครงการก่อสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรม ขององค์กรปกครองส่วนทองถิ่น (อปท.) ก่อนเสนอเรื่องกลับมายังผู้ตรวจการแผ่นดิน ภายใน 30 วัน

พบว่า เป็นคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะเรื่องร้องเรียน กรณี อปท. ไม่กำกับดูแลการใช้งบประมาณท้องถิ่น เกี่ยวกับการดำเนินโครงการก่อสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรม ให้เกิดประโยชน์ ทำให้เสียโอกาสในการใช้งบประมาณ

หนังสือฉบับนี้ กำชับว่า หาก อปท.จะก่อสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรม พร้อมอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพประสิทธิผล และตรวจสอบได้

มท. แจ้งว่า ข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุ ให้อปท.ควรแยกการติดตั้งเสาไฟฟ้ากับรูปทรงประติมากรรม “ออกจากกัน” โดยการติดตั้งเสาไฟฟ้า ต้องมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยในชร่วิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นหลัก

“ส่วนการสนับสนุนเอกลักษณ์ของท้องถิ่นด้วยรูปทรงประติมากรรม เพื่อเพิ่มความสวยงามของพื้นที่ และสนับสนุนการท่องเที่ยว ควรก่อสร้าง “ในพื้นที่ชุมชนหรือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ” ตามความเหมาะสมในบางจุดเท่านั้น”

มท. ยังขอให้จังหวัดตั้งคณะทำงาน ดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณโครงการจัดซื้อจัดจ้าง “เสาไฟฟ้าประติมากรรม” รวมถึงโครงการก่อสร้างอื่น ๆ ภายหลังที่ อปท.เสนอแผนเพื่อพิจารณาด้วย

ข้อสั่งการสุดท้ายถึงผู้ว่าฯ ให้แจ้ง อปท.ในพื้นที่ สำรวจรายละเอียดข้อมูล งบประมาณ และสถานที่ตั้ง ของโครงการก่อสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรม

ว่าจัดสร้างในรูปแบบใดบ้าง เช่น กินรี เครื่องบิน ปลาฉลาม ฯลฯ มีเสากี่ต้น ไฟกี่หลอด ราคาต้นละกี่บาท สถานที่ติดตั้ง ระยะถนนกี่แยก ใช้ข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติใดจัดสร้าง งบจากส่วนไหน เงินอุดหนุน สถ.เท่าไร และรายชื่อหน่วยงานที่สนับสนุน

ที่ดำเนินการก่อสร้างที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน และบันทึกข้อมูล เสนอ สถ.ทราบ ภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้

สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตอนหนึ่งที่ยกตัวอย่าง เสาไฟฟ้ากินรีขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ ระบุว่า

ได้เวียนหนังสือข้อเสนอแนะถึง กรมบัญชีกลาง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกระทรวงมหาดไทย

หลังจาก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน เคยแจ้ง มท. พิจารณาสั่งการประเด็นนี้ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี 2555 ปี 2561 ปี 2564 และล่าสุดปี 2566

ล่าสุด ได้เสนอแนะให้ ติดตามการแก้ไขปัญหา ซึ่งพบข้อสังเกต 3 ประเด็น

1. ยังไม่มีการกำหนดรายละเอียด คุณลักษณะเฉพาะ และราคากลางของเสาไฟฟ้าประติมากรรมสำหรับเป็นมาตรฐานอ้างอิงราคาประกอบการจัดซื้อจัดจ้าง

ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางจะจัดทำฐานข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดซื้อจัดจ้าง โดยมุ่งว่าจะส่งผลต่อความคุ้มค่า โปร่งใส เกิดประสิทธิผล และตรวจสอบได้มากยิ่งขึ้น

และต้องพัฒนาระบบให้มีการจัดหมวดหมู่ ประเภทของสินค้าและพัสดุให้ง่ายต่อการค้นหาและตรวจสอบได้สะดวก

2. ยังไม่มีแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

แต่กรมบัญชีกลางจะกำลังเสนอมาตรการป้องปราม ต่อคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ

โดยให้ส่วนขั้นตอนการประชาคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ควรต้องแจ้งวงเงินงบประมาณที่ใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างในแต่ละครั้ง

เพื่อให้ทราบว่า การจัดซื้อจัดจ้างนั้นวงเงินเท่าไหร่ เพื่อประกอบการพิจารณาถึงความคุ้มค่าที่จะได้รับ ที่สำคัญ อปท.ต้องแจ้ง สตง.เพื่อทราบด้วย

3. แนวทางและมาตรการเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำกับการใช้จ่ายงบประมาณในการติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมของ อปท.

ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้มีการหารือถึงเรื่องการกำกับการใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพโดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ

เรื่องเสาไฟฟ้ากับเรื่องประติมากรรม โดยเสาไฟฟ้าเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ที่สามารถกำหนดราคากลางได้และต้องชัดเจนเรื่องความคุ้มค่า เช่น ความสูงของเสาไฟ ความสว่าง ระยะห่าง เป็นสิ่งต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจน

สำหรับเรื่องประติมากรรมนั้นเป็นเรื่องที่กล่าวกันมาโดยตลอดว่า มีราคาแพงและอาจไม่คุ้มค่า ซึ่งประเด็นนี้ การกำหนดช่วงราคาและรายละเอียดวัสดุที่ใช้

เช่น ปูนปั้นหรือวัสดุอื่นใดจะชัดเจนมากขึ้น และสำคัญที่สุดคือพื้นที่ที่ในการติดตั้งเสาไฟฟ้าต้องมีความเหมาะสม หรือในบางพื้นที่ที่ต้องการความปลอดภัยต้องใช้แสงสว่างให้เพียงพอ การติดตั้งเสาไฟฟ้าธรรมดาก็สมประโยชน์แล้ว

สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลในการใช้งบประมาณ เมื่อได้กำหนดแนวทางไว้แล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดให้มากขึ้น

มีข้อเสนอแนะให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการ กำชับ สถ.แจ้งแนวปฏิบัติไปยังแต่ละจังหวัดเพื่อให้ทุกจังหวัดแจ้ง อปท.ในพื้นที่ให้ทราบถึงแนวทางการก่อสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมพร้อมอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าด้วย

การดำเนินงานต้องแยกเรื่องเสาไฟฟ้ากับรูปทรงประติมากรรมออกจากกันและต้องยึดหลักความคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพประสิทธิผล และตรวจสอบได้

การติดตั้งเสาไฟฟ้าต้องมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นหลัก

ส่วนรูปทรงประติมากรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ควรก่อสร้างในพื้นที่ชุมชนหรือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเฉพาะจุดเพื่อสร้างสีสัน บรรยากาศ และความโดดเด่นของพื้นที่

กรมบัญชีกลางต้องเร่งรัดเสนอมาตรการป้องปรามในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุในภาครัฐต่อคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ โดยเร็ว

พร้อมกันนี้ สตง. ต้องเร่งรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบการจัดซื้อเสาไฟฟ้าประติมากรรมของ อปท.ทั่วประเทศ

รวมถึงแนวทางการแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการจัดซื้อเสาไฟฟ้าประติมากรรมต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

นอกจากนี้ ย้ำให้จังหวัดและอำเภอในฐานะผู้กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ อปท.ดำเนินการรวบรวมข้อมูลเรื่องการก่อสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมว่า มีรายละเอียดอย่างไร ทั้งโครงการ งบประมาณ และสถานที่ตั้ง

โดยขอให้มีการรายงานตามลำดับชั้นตั้งแต่จังหวัด ไป สถ. จนถึง มท.เพื่อทราบ โดยให้ สถ.ใช้เป็นฐานข้อมูลและแนวทางกำหนดนโยบายให้ทุก อปท.ได้ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิผล

รวมถึงลงพื้นที่ตรวจสอบเกี่ยวกับความคุ้มค่าและการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟฟ้าประติมากรรม รวมถึงโครงการก่อสร้างอื่นๆ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอมาด้วย เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญที่สุด

เป้าหมายหลักของการติดตั้งเสาไฟฟ้า คือ “แสงสว่าง” เพื่อความปลอดภัย หากจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้แสงสว่างมากขึ้นต้องคำนึงเรื่องความประหยัดร่วมด้วย

เช่น นำเทคโนโลยีช่วยตอบโจทย์ความคุ้มค่า ในทางกลับกันประติมากรรมนั้นเป็นเรื่องสุนทรียศาสตร์จึงทำให้มูลค่านั้นสูงขึ้น ซึ่งไม่ตรงวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน.


กำลังโหลดความคิดเห็น