“มหาดไทย” ชี้ช่อง 49 อบจ. กู้เงินจาก “เงินทุนส่งเสริมกิจการ อบจ.” ใช้จ่ายเงินเดือน สวัสดิการ “ค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าใช้จ่ายอื่น” แก่บุคลากรสาธารณสุข ที่ถ่ายโอนมาสังกัดท้องถิ่น ไม่เพียงพอ เฉพาะ รพ.สต. 3,263 แห่ง บุคลากร 11,839 คน ตลอดปี 2566 หลัง รัฐบาลรักษาการ อ้างเหตุ “งบกลาง” 991 ล้าน ใช้จ่ายเงินเดือน สวัสดิการ ติดไม่สามารถดำเนินการได้จากกฎหมายเลือกตั้ง
วันนี้ (16 ส.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เวียนหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และสำนักงานเงินทุนส่งเสริมกิจการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 49 จังหวัด
เพื่อรับทราบแนวทางปฏิบัติการใช้จ่ายเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่รับการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)
กรณี ที่ อบจ. 49 แห่ง ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไป สำหรับสนับสนุนบุคลากร แต่ไม่เพียงพอ (เพิ่มเติม)
สถ. เห็นว่า เพื่อเป็นการซักซ้อม แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของบุคลากรที่ถ่ายโอน มาสังกัด อบจ.เกี่ยวกับเงินเดือน ค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ ของบุคลากรที่ถ่ายโอน
กรณี อบจ. ดำเนินการตามแนวทางการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณ ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมีเงินสะสมไม่เพียงพอ ที่จะจ่ายเนินค่าตอบแทนดังกล่าว
“อบจ. ทั้ง 49 แห่ง อาจขอกู้เงินจากเงินทุนส่งเสริมกิจการ อบจ. เพื่อจ่ายเป็นเงินเดือน สวัสดิการ (ค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียนบุตร และค่าใช้จ่ายอื่น) ให้แก่บุคลากรถ่ายโอน โดยถือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการขอกู้เงินจากเงินทุนฯ นี้”
โดยสามารถเสนอให้คณะกรรมการเงินทุน อบจ. พิจารณาและในกรณีที่ขอกู้เงินไม่เกินจำนวนเงินที่ อบจ.ฝากไว้กับเงินทุนฯ โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
ขณะที่เมื่่่อ พ.ค. 2566 สถ. เวียนแนวทางฉบับแรก หลังจากสำนักงบประมาณ (สงป.) มีหนังสือถึง มหาดไทย แจ้งการใช้ จ่าย “งบกลาง” รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
เพื่อจัดสรรให้แก่ อบจ. 49 จังหวัด เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามข้างต้น ของบุคลากรที่ถ่ายโอน วงเงิน 991,435,800 บาท
สงป. ระบุว่า กรณี “งบกลาง” รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้จากกฎหมายเลือกตั้ง แต่ นายกรัฐมนตรี เห็นชอบให้ อบจ. พิจารณาใช้จ่ายจากงบฯ 2566 รายการที่ได้รับจัดสรรก่อน หรือพิจารณาใช้จ่ายจากรายการที่ดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว
และให้ใช้งบประมาณเหลือจ่าย และ/หรือรายการที่หมดความจำเป็น และ/หรือรายการ ที่คาดว่า จะไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
รวมถึงพิจารณานำเงินรายได้ หรือเงินสะสมคงเหลือมาสมทบ หากดำเนินการแล้วมีงบประมาณไม่เพียงพอ ก็ให้ขอรับการจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นอีกครั้ง
โดย อบจ. สามารถดำเนินการโอนงบประมาณรายการที่ไม่จำเป็นต้องใช้ หรือมีความจำเป็นน้อยกว่า ไปตั้งจ่ายเพิ่มเป็นค่าตอบแทนให้แก่บุคลากรดังกล่าว โดยการดำเนินการสามารถแยกพิจารณาได้ ดังนี้
1. ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 กรณี มีเงินจัดสรรเหลือจ่ายจากการดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์หรือจากการจัดซื้อ จัดจ้างแล้ว
หัวหน้าหน่วย รับงบประมาณอาจโอนเงินจัดสรรหรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรดังกล่าวไปใช้จ่ายเป็นรายจ่ายใดๆ ภายใต้แผนงาน ผลผลิตหรือโครงการเดียวกันได้ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากสำนักงบประมาณ
กรณี อบจ.ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไป สำหรับสนับสนุนการโอนบุคลากรฯ โดยพิจารณา “โอนเปลี่ยนแปลง” ไปใช้จ่ายในรายการดังกล่าวที่มีความจำเปีน หรือไม่เพียงพอก่อน
และหากใช้จ่ายยังไม่เพียงพอ ก็สามารถโอนเปลี่ยนแปลง รายการเงินอุดหนุนเฉพาะกิจที่เหลือจ่ายได้
2. ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2563 กรณี การโอนเงินงบประมาณรายจ่ายใน “งบลงทุน” โดยการโอนเพิ่ม โอนลด ไปตั้งจ่ายรายการใหม่
หากงบประมาณยังไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณได้ ให้ อบจ. พิจารณาจ่ายเงินจากงบประมาณ โอนงบประมาณรายการที่เหลือจ่าย หรือมีความจำเป็นน้อยกว่าไปตั้งจ่ายเพิ่ม
หรือหาก งบประมาณยังไม่เพียงพอ สามารถนำเงินสะสมเพื่อไปจ่าย เป็นเงินค่าตอบแทนให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานได้ โดยต้องได้รับอนุมัติจากผู้บริหารท้องถิ่น
ส่วนกรณี หาก อบจ.ได้รับการจัดสรรงบถ่ายโอนที่ไม่เพียงพอ ในส่วนของ “ค่าตอบแทนทางการแพทย์และฝ่ายสนับสมุนอื่นๆ ซึ่งมิใช่ข้าราชการ ลูกจ้าง หรือ พนักงานจ้าง” ให้นำหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขมาใช้บังคับโดยอนุโลม
รวมถึงการจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานที่ถ่ายโอนฯ โดยต้องดำเนินการ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น
เมื่อเร็วๆ นี้ สถ.ได้มีหนังสือถึงสำนักงบประมาณ เพื่อขออนุมัติงบประมาณ ดังกล่าว เพื่อจ่ายให้ รพ.สต. 3,263 แห่ง ใน 49 จังหวัด จำนวนบุคลากร 11,839 คน งบประมาณทั้งสิ้น 991,434,800 บาท.
มีรายงานด้วยว่า ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. เห็นชอบตัวเลขล่าสุดจำนวนบุคลากร ที่ประสงค์ถ่ายโอนมาสังกัด อบจ. ในปีงบประมาณ 2567 และ 2568
โดยให้ สถ. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ อบจ. พิจารณาตรวจสอบข้อมูล และแจ้งให้ฝ่ายเลขานุการฯ ภายในวันที่ 28 ส.ค.นี้
รวมถึงให้ คณะทำงานด้านกฎหมาย พิจารณาแนวทางการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของสถานบริการสาธารณสุขชุมชน ที่ถ่ายโอนให้แก่ อบจ.
รวมถึง จัดทำข้อมูลเรื่องการจ่ายค่าใช้บริการอินเตอร์เน็ต ของ สอน. และ รพ.สต. ที่่ถูก สธ..ระงับจ่ายงบประมาณ.