xs
xsm
sm
md
lg

กรมรางพร้อมลุยรถไฟฟ้า 20 บาท รอนโยบายชัด ชี้เป้ากลุ่มผู้มีรายได้น้อยทำได้ก่อน คาดอุดหนุนขั้นต้นปีละ 307 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมรางพร้อมรับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เผยกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทำได้ก่อน มีระบบและเครื่องมือพร้อม คาดรัฐหาเงินอุดหนุน 307 ล้านบาท/ปี พร้อมแนะทำโปรฯ แบบช่วงเวลา เช่นต้นปี ช่วง 3 เดือนแรก จูงใจประชาชนเปลี่ยนโหมดเดินทางลดปัญหาฝุ่น PM 2.5

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยมีนโยบายเรื่อง ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น กรมราง ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลระบบราง มีความเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ เพียงแต่รอนโยบายที่ชัดเจนก่อนว่า รัฐบาลจะตัดสินใจดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายใด และจะดำเนินการเมื่อใด มีระยะเวลาดำเนินการแค่ไหน เนื่องจากจะต้องมีการพิจารณาในด้านงบประมาณที่จะใช้ในการอุดหนุนหรือชดเชยส่วนต่างสำหรับผู้ประกอบการเอกชนด้วย

ซึ่งจากข้อมูลที่กรมรางได้ศึกษาวิเคราะห์เบื้องต้น กรณีอุดหนุนเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด และสามารถดำเนินการได้ทันทีเพราะมีความพร้อมด้านระบบซอฟต์แวร์ มีเครื่องมือ มีกองทุนสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ปัจจุบันรัฐมีการดูแลค่าเดินทางผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 750 บาทต่อเดือน โดยหากประเมินจากค่าโดยสารปัจจุบันเฉลี่ยที่ 30-40 บาท/เที่ยวใช้วงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเดินทางได้ 10-15 เที่ยว/เดือนเท่านั้น ทำให้ไม่จูงใจในการเดินทางด้วยระบบราง ทำให้ผู้ถือบัตรใช้รถเมล์เดินทางที่ค่าโดยสารถูกกว่าเพราะจะได้เที่ยวเดินทางที่มากกว่า

แต่หากลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าลงเหลือ 20 บาทตลอดสาย วงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะใช้เดินทางได้เที่ยวเพิ่มขึ้น จะจูงใจให้ผู้มีรายได้น้อยหันมาใช้รถไฟฟ้าเพิ่มตามไปด้วย ในขณะที่ข้อมูลพบว่าปัจจุบันกลุ่มผู้มีรายได้น้อยใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเดินทางด้วยรถไฟฟ้าประมาณ 30,000 คน/วัน (จากผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าทั้งหมดกว่า 1 ล้านคน-เที่ยว/วัน) ดังนั้น ประเมินว่ารัฐจะอุดหนุนส่วนต่างส่วนเกินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประมาณ 307 ล้านบาท/ปี และคาดว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยหันมาใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก


หรือกรณีอุดหนุนประชาชนทุกกลุ่ม อาจจะกำหนดเป็นเงื่อนไข ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายแบบช่วงเวลา เช่น เดือน ม.ค.-มี.ค. เป็นเวลา 3 เดือน คาดว่าจะใช้เงินอุดหนุนกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงที่มีปัญหา PM 2.5 เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้าเดินทาง เป็นการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและลดปัญหาปริมาณฝุ่น PM 2.5 ไปด้วย และยังลดค่าครองชีพให้ประชาชน สามารถนำเงินไปใช้ในการดำรงชีพอื่นๆ หมุนเวียนการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ

หรืออุดหนุนประชาชนทุกกลุ่มในบางเส้นทางที่เป็นของรัฐ เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นอกจากนี้ ยังสามารถกำหนดเป็นตั๋วเดือน สำหรับผู้เดินทางประจำ ซึ่งปัจจุบันผู้ให้บริการแต่ละสายทางดำเนินการอยู่แล้ว โดยเฉลี่ยราคา 25 บาท/เที่ยว


นายพิเชฐกล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารระบบรางเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะวันที่ฝนตก รถติด มักมีการทำสถิติผู้โดยสารสูงสุดอยู่บ่อยครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นวันศุกร์ปลายเดือนสิงหาคม 2566 และมีฝนตกช่วงเย็น ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT BTS และ Airport Rail Link มากสุด ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการระบบรางรวมเป็น 1,757,790 คน-เที่ยว สูงที่สุดอีกครั้ง (New High) ตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)

โดยรถไฟระหว่างเมือง จำนวน 74,452 คน-เที่ยว, รถไฟฟ้า Airport Rail Link จำนวน 77,723 คน-เที่ยว (นิวไฮ), รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง จำนวน 27,715 คน-เที่ยว (นิวไฮ), รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) จำนวน 525,455 คน-เที่ยว (นิวไฮ), รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) จำนวน 75,829 คน-เที่ยว, รถไฟฟ้าสายสีเขียว จำนวน 924,828 คน-เที่ยว (นิวไฮ ตั้งแต่มี covid-19), รถไฟฟ้าสายสีทอง จำนวน 8,285 คน-เที่ยว, รถไฟฟ้าสายสีเหลือง จำนวน 43,381 คน-เที่ยว


กำลังโหลดความคิดเห็น