กสว.อนุมัติงบแก้ปัญหาและตอบสนองภาวะวิกฤติเร่งด่วนของประเทศในการแก้วิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 รวม 155 ล้านบาท ย้ำต้องต่อจิ๊กซอว์กับหน่วยงานหลักระดับพื้นที่และระดับชาติให้ครบ ตั้งโจทย์วิจัยและทำงานร่วมกันเพื่ออุดช่องโหว่ของปัญหา เชื่อมต่อแผนงานโดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ที่แท้จริงและยั่งยืน
ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) วาระพิเศษ โดยมีวาระสำคัญ คือ การอนุมัติงบประมาณแผนงานแก้ไขปัญหาและตอบสนองภาวะวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ ปีงบประมาณ 2566 ให้แก่แผนงานย่อยรายประเด็น “งานวิจัย นวัตกรรมและการใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน ฝุ่นละออง PM2.5 แบบมุ่งเป้าและบูรณาการ” จำนวน 155 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2566-2567 เพื่อดำเนินงานทดลองนำร่องทั้งในระดับพื้นที่ ณ จังหวัดเชียงใหม่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล และระดับประเทศ
การดำเนินงานในพื้นที่มีเป้าหมายเร่งด่วนเพื่อนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ไปสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานหลักและหน่วยงานในพื้นที่เพื่อลดการเผาในภาคการเกษตรและภาคป่าไม้ การควบคุมการปล่อยไอเสียจากการคมนาคมในพื้นที่เมือง การยกระดับมาตรการและกลไกในการลดฝุ่นควันข้ามแดน ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีลดฝุ่นของไทยให้กับประเทศเมียนมาและลาว และการถอดบทเรียนกฎหมายของสิงคโปร์และอินโดนีเซีย รวมทั้งการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางที่บูรณาการชุดข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะวิเคราะห์และออกแบบให้เหมาะสมกับหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ เพื่อกำกับติดตาม เตือนภัย และสนับสนุนการตัดสินใจการบริหารจัดการทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ
ในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ประชุมจัดทำตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการฝุ่นละอองขนาดเล็ก และประชุมร่วมกับกรมควบคุมมลพิษในการเตรียมการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงกลยุทธ์ และร่วมสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการให้กับกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน (ปกร.) เพื่อขับเคลื่อนร่างกฎหมายอากาศสะอาด
ที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะว่าการแก้ปัญหา PM2.5 เป็นบทเรียนเชิงนโยบายที่สามารถขยายผลไปยังโครงการอื่น ๆ ที่สำคัญเร่งด่วนได้ โดยมีวัตถุประสงค์แก้ปัญหาให้กับประเทศ มิใช่การสร้างผลผลิตเพื่อตอบโจทย์ประเทศ ดังนั้นจะต้องสร้างจิ๊กซอว์ให้ครบว่าจะต้องดำเนินการอะไรบ้าง เพื่อคลี่ให้เห็นปัญหาที่ ววน. จะเข้าไปทำงานร่วมกับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ และไม่ซ้ำซ้อนกับงานที่หน่วยงานหลักดำเนินการอยู่ สามารถอุดช่องโหว่ของห่วงโซ่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมทั้งตรวจสอบแหล่งกำเนิดที่แท้จริงของฝุ่นละอองและวิธีแก้ไขปัญหาที่หน่วยงานอื่นอาจมองข้าม และทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จในภาพรวมอย่างแท้จริง โดยขอให้เชิญหน่วยงานหลักมาร่วมทำโจทย์วิจัยร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้วย
ขณะที่ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า งานนี้อาจไม่สำเร็จในช่วงเวลาอันสั้น เพราะการมุ่งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต้องใช้เวลานาน สิ่งที่ต้องระวังคือแผนงานที่มีข้อต่อจำนวนมาก จึงต้องมีรายละเอียดในการเชื่อมต่อแผนงาน และคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ที่แท้จริงและยั่งยืนมากกว่าการทำงานให้สำเร็จตามข้อกำหนด
“สกสว.จะต้องสื่อสารไปยังหน่วยรับงบประมาณว่านักวิจัยจะต้องมีผลผลิตจากงานวิจัยที่ให้ความมั่นใจได้ว่ามีองค์ความรู้ที่นำไปใช้งานเพื่อแก้ปัญหา PM2.5 ได้จริง” ประธาน กสว.กล่าวทิ้งท้าย
นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบสถานะเงินกองทุนส่งเสริม ววน. สิ้นปีงบประมาณ 2566 เป็นเงิน 5,812.56 ล้านบาท และเห็นชอบแผนปฏิบัติการการจัดสรรงบประมาณและวงเงินงบประมาณรายจ่ายของกองทุนส่งเสริม ววน. ประจำปีงบประมาณ 2567 แบ่งเป็นงบประมาณจัดสรร 20,486.88 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่าย 21,060.77 ล้านบาท โดย แผนด้าน ววน. ที่สำคัญ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้พัฒนาอย่างยั่งยืน การพัฒนา ววน. ระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค และการพัฒนากำลังคนและสถาบันด้าน ววน. ให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและยั่งยืน ทั้งนี้งบประมาณรายจ่ายที่จัดสรรให้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณรายจ่าย 2567 ซึ่งจะมีผลต่อเมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ประกาศบังคับใช้แล้ว และงบประมาณที่ได้รับจัดสรรตรงตามกรอบงบประมาณที่ได้รับจัดสรรเบื้องต้น รวมทั้งเห็นชอบกรอบงบประมาณโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวน 20 โครงการ เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 653.6729 ล้านบาท