xs
xsm
sm
md
lg

ดรามา “ศิลปิน AI” ไม่เน้นฝีมือ แต่พึ่งเครื่องมือ ควรไหม? คว้ารางวัล-เรียก “ศิลปะ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลายเป็นเรื่องวุ่นๆ เมื่อ “ศิลปิน AI” ชนะการประกวดวาดภาพจากการใช้ “เครื่องมือ” ช่วย ท่ามกลางหยาดเหงื่อของ “ศิลปิน” ผู้ใช้ “ฝีมือ” ของตัวเองเข้าประชัน จนกลายเป็นที่ถกเถียงอย่างหนักว่า อะไรคือนิยามคำว่า “ศิลปะ” และ “ศิลปิน” ที่ควรได้รับการยอมรับกันแน่!!?

เป็นเรื่อง!! AI คว้ารางวัลชนะเลิศ

เป็นตื่นตาตื่นใจของใครหลายคน เมื่อการมาถึงของ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ สามารถรังสรรค์รูปวาดได้อย่างงดงาม แต่ไม่เท่านั้น ทุกวันนี้ AI ยังสามารถ แต่งเพลง หรือ เขียนนิยาย ได้อีกด้วย หรือ AI กำลังเข้ามาแย่งอาชีพของใครหลายคนหรือเปล่า?

และยิ่งเป็นที่ถกเถียงในวงการศิลปะอย่างหนัก เมื่อ “เจสัน อัลเลน (Jason Allen)” ศิลปิน AI Art ได้ส่งภาพเข้าประกวดในงานแข่งขันวิจิตรศิลป์ ในหมวดหมู่ดิจิทัล Fine Arts ซึ่งจัดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา รัฐโคโลราโด และได้คว้ารางวัลที่ 1 ไป

ผลงานนี้ชื่อว่า Théâtre D’opéra Spatial หรือ “โรงละครโอเปราอวกาศ” โดยใช้ Midjourney AI ซึ่งเป็น AI ที่ใช้ในการสร้างภาพศิลปะ ทำให้นี้เป็นผลงานจาก AI ชิ้นแรกที่ได้รางวัลศิลปะ



[ ภาพที่ AI สร้างชนะรางวัลที่ 1 ]
ผลักให้กลายเป็นที่โต้แย้งและดรามาในต่างประเทศ เพราะภาพดังกล่าว เจสัน ไม่ได้เป็นคนวาดเอง แต่ถูกสร้างโดย AI ต่างจากผู้เข้าประกวดคนอื่นที่ใช้ โปรแกรมในการวาดภาพ เช่น Photoshop หรือ ซอฟต์แวร์อื่นๆ สำหรับวาดภาพ จึงเป็นที่มาของคำถามว่า ภาพที่ AI สร้างนั้นนับเป็นงาน ศิลปะหรือเปล่า?

แล้ว AI สร้างภาพได้อย่างไร อธิบายง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น Midjourney AI เป็นโปรแกรมสร้างภาพจากข้อความ คือ เราแค่ ใส่ “คำ” หรือ “ข้อความ” ที่ต้องการให้วาดแล้ว AI จะประมวลจากคลังข้อมูลที่มีแล้วสร้างเป็นผลงานใหม่ขึ้นมา

ศักยภาพของ AI ทุกวันนี้ ยังไม่สามารถวาดภาพขึ้นมาเองได้ เป็นเพียงแต่การดึงภาพศิลปะหรืองานอาร์ต ที่มีอยู่แล้วนำมาทำซ้ำและผสมผสานกัน จนเกิดเป็นผลงานใหม่ขึ้นมาเท่านั้น

แล้วถ้าผลงานที่ AI สร้างเกิดจากการป้อนข้อมูลและรวบงานอาร์ตที่มีอยู่แล้ว มาทำซ้ำแล้วสร้างใหม่ ผลงานที่ถูกสร้างโดย AI จะนับว่าเป็นงานศิลปะหรือเปล่า?



เมื่อเวลาเปลี่ยนนิยามของ “ศิลปะ” ก็เปิดกว้างขึ้นตามยุดสมัยเช่นกัน ถ้าจะถกเถียงถึงความหมายของศิลปะคงใช้เวลานาน แต่ถ้ายังวัดตามความหมายเดิม สามารถทำความเข้าใจง่ายๆ ได้ว่า ศิลปะ คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อแสดงออกซึ่งอารมณ์ ความรู้สึก ปัญญา ความคิด

Ken Weiner หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท GumGum ผู้ให้บริการ AI ได้ให้ความเห็นกับสื่อต่างประเทศว่า นิยามคำว่าศิลปะทุกวันนี้ ยังไม่สามารถนับรวมศิลปิน AI ให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันได้

“จนกว่า AI จะถูกเขียนโค้ดและตั้งโปรแกรมให้ซึมซับแรงบันดาลใจ พูดคุยกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติและสามารถระบายความรู้สึกออกมาในเชิงสร้างสรรค์ได้ งานศิลปะที่ AI ประดิษฐ์โดยที่ไม่อาจปราศจากนายผู้ออกคำสั่งได้ ไม่นับว่าเป็นงานศิลปะ”

ถึงแม้ AI จะสามารถผลิดงานศิลปะได้อยู่เกณฑ์ที่สวยงาม แต่มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นจาก ความรู้สึกนึกคิดของตัว AI เอง แต่มาจากการป้อนคำสั่งของ มนุษย์

“จินตนาการ” สิ่งที่มนุษย์ต่างจาก AI

ในยุคที่ไม่ต้องใช้ ดินสอ แปรงพู่กัน หรือไม่ต้องลงแรงอะไร ก็สามารถสร้างงานศิลปะได้ เพียงแค่ป้อนคำสั่งให้ AI อย่างนี้ จุดยืนของศิลปินจะถูกแทนที่ด้วย AI หรือเปล่า?

“AI ไม่ได้เข้ามาแทนที่มนุษย์ แต่เข้ามาเติมเต็มและช่วยให้มนุษย์ทำงานได้เร็วขึ้น ทำสิ่งอยากทำให้ได้ดีมากขึ้น”

คือมุมมองของ ผศ.ดร.สุกรี สินธุภิญโญ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกล่าวเอาไว้ผ่านงานเสวนา “AI วาดรูป เทรนด์การสร้างผลงานศิลปะ แทนที่ หรือ เติมเต็ม ฝีมือและจินตนาการมนุษย์”

สอดคล้องกับทัศนะจาก ผศ.ศุภวัฒน์ หิรัญธนวิวัฒน์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทายาลัย ที่บอกไว้ว่า AI ช่วยแปลงภาพในหัวเราให้ปรากฏเป็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น เป็นเครื่องมือที่ทำให้การทำงานศิลปะมีความสะดวกขึ้นอีกหนึ่งช่องทาง



AI มันช่วยต่อยอดจินตนาการของเรา อย่างเราอยากวาดภาพที่ดูสลัวๆ มีแสงไฟเล็กๆ ตอนกลางคืน เราก็ป้อนคำสั่งให้ AI มันก็จะแสดงภาพออกมา

พอเราเห็นก็จะได้รู้ว่าสีแบบนี้เป็นอย่างไร สวยดีไหม โดยที่เรายังไม่ต้องลงมือวาด แบบนี้ AI ช่วยลดระยะเวลาในการทำงานให้เรา ให้เราทดลองความคิด เห็นภาพจินตนาการของเราก่อนลงมือทำ

“ทุกวันนี้ AI เข้ามาช่วยทำงานหลายอย่าง เช่น ออกแบโลโก้ ทำโปสเตอร์ ก็อาจมีผลต่อคนที่ทำงานด้านนี้อยู่บ้าง แต่ AI ยังเข้ามาแทนที่ศิลปินไม่ได้ แม้ AI สร้างสรรค์ผลงานได้ว้าวขนาดไหน คนสะสมงานก็ยังนิยมผลที่มาจากฝีมือมนุษย์มากกว่า”

งานศิลปะที่มีเอกลักษณ์ส่วนใหญ่แล้วจะมีที่มาที่ไป มาจากตัวตนความรู้สึก แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดผลงาน รวมถึงกระบวนการการสร้างงานด้วย งานศิลปะจากฝีมือมนุษย์นั้นมีพลัง ซึ่ง AI ไม่สามารถทำได้

ทั้งสองยังบอกว่า ต้องมองให้ออกระหว่าง “ฝีมือ” และ “เครื่องมือ” นับวันจะยิ่งมี AI ที่มีศักยภาพและความสามารถหลากหลายเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์



แต่ AI ไม่มีจินตนาการ มันทำงานกับข้อมูลเดิมที่มี แต่มนุษย์มีจินตนาการ มีความรู้สึกที่อยากทำสิ่งใหม่ อยากไปต่อ ที่สำคัญ มนุษย์ก็ยังคงเป็นผู้ที่ต้องคิดต่ออยู่ดีว่าจะวาดหรือจะทำอะไรและอย่างไร

ยังมีมุมมองของ Arushi Kapoor เจ้าของอาร์ทแกเลอรี่ที่ ลอสแอนเจลิส ลอนดอน ที่ให้ความเห็นกับสื่อต่างประเทศว่า ยังมีพื้นที่ สำหรับงานศิลปะแบบแฮนด์เมดและยังมีคนที่หลงใหลในความสร้างสรรค์จากฝีมือของมนุษย์อยู่ โดยมีเทคโนโลยีอย่าง AI มาเพื่อช่วยสนับสนุน ไม่ใช่เพื่อมาทดแทนทั้งหมด

“ถ้ามองในมุมที่เป็นแง่ดี การวิวัฒนาการของ AI กลายมาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำหรับศิลปินที่เป็นมนุษย์ ในการ ยกระดับ ผลงานของตัวเอง พวกเราทุกคนหวังว่าเทคโนโลยีจะมาช่วยพวกเรา ไม่ใช่มาแทนเรา”

สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณข้อมูลบางส่วน : www.number24.co.th
ขอบคุณภาพ : www.swr.de



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น