เผยเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ “รอบเกาะรัตนโกสินทร์” ที่ถูกเก็บซ่อนไว้มานานหลายศตวรรษ ชี้ “4 สุดยอดสถานที่” จุดประกายไอเดีย พร้อมแนะ “5 แลนด์มาร์ก”ที่ขาเที่ยวไม่ควรพลาด
** เกร็ดประวัติศาสตร์ กับความลับที่ต้องเล่า!! **
“ที่ผ่านมาเจอคนถามบ่อยมากว่า เที่ยวที่ไหนได้บ้าง ส่วนใหญ่ก็จะตอบว่าเป็นวัดโพธิ์ วัดพระแก้ว มันก็เดิมๆ และส่วนใหญ่คนรู้หมดแล้ว เราก็รู้ หรือดูในโบรชัวร์เขาก็รู้อยู่แล้ว”
“ซองทิพย์ เสริมสวัสดิ์ศรี” รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม มิวเซียมสยาม บอกเล่าถึงแรงผลักสำคัญที่ทำให้แม่งานอย่างเธอ จัดเทศกาลศิลปะ “เปิดเกาะรัตนโกสินทร์” ครั้งประวัติศาสตร์นี้
ยิ่งลงพื้นที่ไปเดิมตามตรอกซอกซอย ก็ยิ่งเจอหลายมุมที่ไม่เคยถูกหยิบมาพูดถึงความพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นตัวอาคาร สถานที่ บ้านเรือน รวมถึงเรื่องที่ถูกเล่าต่อกันมาภายในครอบครัว ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของตึกรามบ้านช่องด้วย
“เราได้รับฟังจากฐานะของการเป็นเพื่อนกัน เลยงงว่าทำไมเรื่องนี้ไม่ถูกเล่าต่อไปข้างนอก คือคนภายในครอบครัวรู้สึกว่า มันไม่มีอะไรน่าสำคัญหรอก แต่เขาไม่รู้หรอกว่า เราในฐานะคนที่ทำงานด้านประวัติศาสตร์พิพิธภัณฑ์ เรารู้สึกว่า ถ้ามันถูกหยิบเล่า มันคือเกร็ดประวัติศาสตร์”
สิ่งที่น่าสนใจคือ แถวนี้ถือว่าเป็นย่านเก่าแก่ มีความสำคัญโดยเฉพาะเสน่ห์ของตึกต่างๆ และพิพิธภัณฑ์สุดแนวแห่งนี้ก็ทำงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และตั้งอยู่บนเกาะรัตนโกสินทร์ แต่ก็ถือว่ามีความสมัยใหม่และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีบทบาทเยอะ ดังนั้นเธอจึงอยากทำให้งานในครั้งนี้ออกมาแบบที่ไม่หลุดตัวตน
“เรารู้จักหลายๆ คนที่อยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ด้วยกัน พิพิธภัณฑ์ คนทำงานหรือมหาวิทยาลัย เขาเคยคุยกันว่า น่าจะมีหน่วยงานหรือองค์กรอะไรที่เป็นแกนกลาง ในการร่วมมือกันจัดงาน เหมือนภาครัฐและเอกชน แต่ไม่มีแกนตรงกลาง
เราก็เลยอุปโลกน์ตัวเอง เพราะอย่างที่หนึ่ง เราเป็นองค์กรภาครัฐ และหน้าที่หลักคือทำพิพิธภัณฑ์ด้วย คือทำเรื่องส่งเสริมการเรียนรู้ให้คนเข้าพิพิธภัณฑ์ เราเลยคิดว่ามันถึงเวลาแล้ว
พอทำงานมาระยะเวลาหนึ่ง เรามีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์หลายแขนง ประจวบเหมาะกับรถไฟฟ้า(สถานีสนามไชย) ขึ้นหน้าบ้านพอดี และเป็นที่แรกที่คนจะเข้าถึงเวลาจะมาเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์”
สำหรับเทศกาลศิลปะ “เปิดเกาะรัตนโกสินทร์ Cultural District 2021” จัดขึ้นเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ “ประวัติศาสตร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์” ให้เป็นแหล่งเรียนรู้หรือแหล่งท่องเที่ยวที่มีค่าอีกครั้ง เพื่อสร้างสรรค์โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เกาะรัตนโกสินทร์ ผ่านงานศิลปะที่หลากหลาย
ให้คนในพื้นที่เห็นคุณค่าพื้นที่ตัวเองและรู้สึกภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์กิจกรรมที่เอื้อต่อกิจการตัวเองในอนาคต และเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ภายใต้แนวคิด “ติดเกาะ กับตึกเก่า”ที่ถูกหยิบมาจัดแสดงครั้งล่าสุดนี้
** “4 แห่งอันซีน” จุดกำเนิดไอเดีย **
แน่นอนว่า แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในเนื้อหานี้ ย่อมไม่ใช่แลนด์มาร์กยอดฮิตที่ผู้คนจดจำได้จนชินตา เพราะสถานที่เหล่านี้ไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อน และนี่คือ “4 สถานที่สุดอันซีน” ที่กูรูด้านประวัติศาสตร์รายเดิมอยากบอกต่อ ให้ผู้คนได้รับรู้มากที่สุด
1.ร้านชาอ๋องอิวกี่
คือร้านชาร้านแรกๆ ของประเทศไทย ซึ่งนำเข้าวัตถุดิบจากเมืองจีน ตั้งอยู่สี่แยกเสาชิงช้า มีมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เข้ารัชกาลที่ ๗ ซึ่งแต่ก่อนเป็นชาที่คนในวังนิยมซื้อ โดยมีบันทึกไว้ว่า ตำหนักนี้ใช้ชาอะไร คนที่มาซื้อเป็นใคร และนั่งรถมายังไง
โดยจากประวัติศาสตร์ตามโฉนดที่ดินบอกไว้ว่า เจ้าของคือรัชกาลที่ ๕ และเมื่อย้อนกลับไปมองหลักฐานจะพบว่า มีกาพย์เห่เครื่องคาวหวานที่ท่อนหนึ่งพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับชา ซึ่งเป็นชาจากร้านนี้นั่นเอง แต่เพราะถูกเล่าเฉพาะภายในครอบครัว และคิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ต้องเล่าต่อ จึงไม่มีคนรู้จักมากนัก
เหตุผลอีกข้อที่ทำให้ธุรกิจอย่างชาจีนไม่เป็นที่พูดถึงมากนักในยุคหลังๆ คือ เด็กรุ่นใหม่กินชาไข่มุก จะมีก็แต่คนเก่าๆ ที่กลับมาซื้อ ส่งผลให้ธุรกิจเริ่มซบเซา และการที่ได้หยิบยกเรื่องนี้มาทำงาน ก็หวังว่าจะเป็นอีกช่องทางที่ช่วยส่งเสริมธุรกิจดั้งเดิมให้ฟื้นตัว และเป็นที่รู้จักได้อีกครั้ง
2.โรงหนังควีนส์
คือโรงหนังแห่งแรกๆ ของไทย แต่ปัจจุบันกลายเป็นที่จอดรถ หากไม่สังเกตจริงๆ คงไม่รู้ แต่สิ่งที่กูรูด้านประวัติศาสตร์เอะใจคือ รางผ้าม่านที่ซ้อนกันเป็นตับ จึงลองเดินออกมาดูจนได้คิดออกว่าเป็นโรงหนังเก่า
เมื่อได้พูดคุยกับผู้จัดการเก่าของที่นี่จึงได้รับการคอนเฟิร์มให้มั่นใจอีกครั้งว่า นี่คือ “โรงหนังควีนส์” ส่วนรางผ้าม่านที่เห็นนั้นคือ ม่านเอาไว้คั่นแต่ละรายการแสดงก่อนหนังเริ่ม เช่น มหรสพตลกหน้าม่าน, วงดนตรีเล่นคอนเสิร์ตเต็มวง ซึ่งจะหยิบมาโชว์ก่อนจะเริ่มโหมโรงในสมัยนั้น
ส่วนกิมมิกเฉพาะตัวของที่นี่คือ เวลานั่งดูหนังจะมีกลิ่นหอมออกมาจนเป็นที่เลื่องลือ ต้นเหตุมาจากที่นี่โด่งดังเรื่องหนังแขก “ไม่ใช่อะไรหรอก เวลามีหนังแขก แขกก็จะเข้ามาดูแล้วมันเหม็น” ซึ่งแม้แต่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก็เคยเสด็จมาที่นี่แล้ว
3.วังของราชสกุลทองใหญ่
คือบ้านขุนนางที่ทำกิจการหรือคุณประโยชน์ให้แผ่นดิน เป็นวังเก่าแก่ที่มีสภาพเสื่อมโทรม เพราะรัชกาลที่ ๖ ไม่ได้พระราชทานโฉนดที่ดินไว้ให้แก่ราชสกุลทองใหญ่ วังแห่งนี้จึงยังถือเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่มีการซ่อมแซม มีเพียงทายาทของวังบางคนที่ยังอาศัยอยู่
ด้วยลักษณะบ้านที่เป็นไม้สักหลังใหญ่ รวมถึงสไตล์การตกแต่งที่มีเอกลักษณ์ ในตอนที่ลงพื้นที่และไปพบเจอเข้า
ซองทิพย์จึงคิดว่าไม่ใช่บ้านคนธรรมดาทั่วไป เมื่อถามเพิ่มเติมยิ่งทำให้มั่นใจ หลังพบว่ามีพนักงานละแวกนั้นเป็นหนึ่งในทายาทของวังนี้
ส่วนวังแห่งนี้เป็นต้นราชสกุลทองใหญ่ มีศักดิ์เป็นโอรสของรัชกาลที่ ๔ และเป็นเจ้ากลุ่มแรกๆ ที่ทำงานรับใช้ชาติ เมื่อทายาทของวังยอมเปิดประตูพาชม รองผอ. ฝ่ายนิทรรศการมิวเซียมสยาม จึงพบเข้ากับ “เตียงแห่งประวัติศาสตร์”
คือ เตียงที่ทำด้วยหวายถักขนาดใหญ่ พร้อมโลโก้ตรงกลาง วษ.พระพันวษา ซึ่งสมเด็จย่าของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นผู้พระราชทานให้แก่เจ้าของวัง แต่ตอนนี้ถูกทิ้งไว้ไม่ได้รับการซ่อมแซม เพราะเห็นว่าไม่ใช่สมบัติของตระกูลนั่นเอง
4.โบสถ์คริสต์ในวัดบวรนิเวศวิหาร
สถานที่สุดอันซีนสุดท้ายที่กูรูด้านประวัติศาสตร์เอ่ยถึง ด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นปนน่าประหลาดใจ คือมีโบสถ์คริสต์ที่ตั้งอยู่ในใจกลางวัดไทยแห่งนี้ โดยครั้งแรกที่ได้ลองเดินเข้าไปสำรวจดูด้านใน และพิจารณาจากสิ่งก่อสร้าง สไตล์การตกแต่งต่างๆ ที่มีเอกลักษณ์ ก็ทำให้สมมติฐานที่ตั้งไว้ว่า ต้องเป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่า ยิ่งชัดเจนมากขึ้น
โดยเฉพาะเก้าอี้ที่ใช้นั่งซึ่งเป็นไม้ยาวๆ มีพนักพิง ที่ตั้งเรียงกันเป็นแถวตอนลึก ที่ช่วยทำให้ได้คำตอบว่าคือ การตั้งใจออกแบบให้มีสไตล์เดียวกับโบสถ์คริสต์ต่างแดนในสมัยนั้นเป๊ะ ส่งให้ค้นพบว่าคือการสร้างตามสิ่งที่รัชกาลที่ ๖ ทรงโปรดนั่นเอง
** “5 แลนด์มาร์ก” ห้ามพลาด!! **
เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ขาเที่ยวไม่ต้องเดินสุ่มตามหาตึกเก่า หรือเสิร์ชหาที่เที่ยวย่านนี้ในกูเกิลอีกต่อไป เพราะครั้งนี้มิวเซียมสยามได้รวบรวมข้อมูลตึก อาคาร บ้านเรือนทั้งหมด “รอบเกาะรัตนโกสินทร์” มาไว้ในหนังสือ “Storied Structure ติดเกาะ กับตึกเก่า” หมดแล้ว
โดยแบ่งออกเป็นหมวดต่างๆ ทั้งหมด 12 หมวดด้วยกัน เช่น หมวดวิมานพระอินทร์ ตึกไทยในวังหลวง, หมวดรั้วรอบขอบเมือง, หมวดวัดเก่าแก่ก่อนตั้งกรุง, หมวดบ้านเรือนไทยสมัยต่างๆ รวมถึงหมวดตึกเก่าแก่ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นที่พักโรงแรมไปแล้วก็มี และนี่คือ 5 สถานที่ที่ไม่ควรพลาด ที่ทางทีมข่าวหยิบมาให้เสพเป็นตัวอย่าง ดังนี้
1.พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มไหสูรยพิมาน
มาเริ่มกับที่แรกที่ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และอยู่คู่บ้านคู่เมืองมาอย่างยาวนาน ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง ตัวพระที่นั่งจะเป็นอาคารท้องพระโรงแบบจารีต และเป็นที่ที่ใช้ในพระมหากษัตริย์เสด็จฯ ออกขุนนาง ออกมหาสมาคม
นอกจากนี้ยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ตั้งแต่ในอดีต และยังคงมีการใช้งานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
2.กำแพงเมือง ประตูนคร
ถือเป็นไฮไลท์สำคัญอีกแห่งแถวย่านนี้เลยก็ว่าได้ สำหรับกำแพงพระนครที่หน้า “วัดบวรฯ” (วัดบวรนิเวศวิหาร) แห่งนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวกำแพงเมืองที่สร้างขึ้นล้อมรอบกรุงเทพ ที่มีมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เลยทีเดียว
ตามประวัติศาสตร์บอกไว้ว่า ตอนที่เริ่มสร้างครั้งแรกนั้น เป็นประตูไม้ที่ทาด้วยดินแดง แต่เมื่อเวลาผ่านไปในสมัยของรัชกาลที่ ๓ ก็ได้มีการพัฒนาปรับปรุงขึ้นมา ด้วยการก่ออิฐต่อเติมด้านบนจนกลายมาเป็นหอรบ
พอมาถึงในสมัยรัชกาลที่ ๔ ก็ได้มีการรื้อและสร้างใหม่เป็นยอดประตู และก่ออิฐถือปูนแทน ซึ่งจริงๆ แล้วประตูรอบกรุงเทพไม่ได้มีแค่ที่นี่เท่านั้น เพราะมีทั้งหมดถึง 63 ประตู แบ่งเป็นประตูใหญ่เหมือนที่นี่ 16 ประตู และเป็นประตูเล็กอีก 47 ประตูด้วยกัน
3.ศาลาการเปรียญวัดโพธิ์
มาต่อกันที่วัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญยิ่งอย่าง “วัดพระเชตุพนฯ” (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร) ที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน
เพราะเป็นวัดโบราณที่ถูกสร้างขึ้นมากว่า 300 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ซึ่งชื่อเดิมคือ “วัดโพธาราม” หรือที่ทุกคนรู้จักและเรียกติดปากกันว่า “วัดโพธิ์”
ในอดีต พระอุโบสถหลังเดิมของวัดโพธิ์นั้นตั้งอยู่ตรงหัวมุมของกำแพงวัดทางด้านทิศใต้เหมือนในปัจจุบันนี้ จนในสมัยรัชกาลที่ ๑ ได้มีการสร้างอุโบสถขึ้นมาใหม่ทางทิศเหนือของโบสถ์หลังเก่า จึงทำให้ต้องเปลี่ยนมาเป็นศาลาการเปรียญแทนนั่นเอง
4. บ้านร้อยปี ตรอกตึกดิน
ที่นี่เป็นเรือนของหลวงสมรภูมิพิชิต(สกุลไชยาคำ) มีการสร้างมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕ หรือต้นรัชกาลที่ ๖ กันเลยทีเดียว ถึงแม้จะเดินทางผ่านเวลาหลายศตวรรษแล้ว แต่เรือนหลังนี้ยังมีสภาพดีและคงความสวยงามได้อย่างน่าทึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีทายาทรุ่นที่ 4 อาศัยอยู่ ก็เลยมีการบำรุงซ่อมแซมอยู่เสมอ
ผังเรือนแห่งนี้มีลักษณะเป็นรูปตัวแอล ซึ่งตรงตามแบบฉบับเรือนไม้ในยุคสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๗ ทุกระเบียบนิ้วคือ มีมุขยื่นออกมาด้านหน้าที่ปลายด้านใดด้านหนึ่งของบ้าน ตรงมุมตัวแอลนั้นจะทำเป็นเฉลียงหน้าเรือน เพื่อใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นทางหลักในการเข้าออกนั่นเอง
ส่วนระเบียงไม้ชั้นสองของเรือนก็มีความสำคัญที่บ่งบอกว่า เรือนหลังนี้มีอายุมากกว่าร้อยปีมาแล้ว เพราะมีลักษณะคล้ายกับระเบียงไม้รอบตำหนักวังวรวรรณ ที่มีการต่อเติมขึ้นในสมัยเดียวกัน ถ้าหากนักท่องเที่ยวที่มาเยือนได้พบเห็นจะต้องประทับใจอย่างแน่นอน
5. ตึกแถวชั้นเดียวแบบจีน
ความน่าสนใจของสถานที่นี่คือ สมัยโบราณตึกแถวดั้งเดิมแห่งนี้เป็นห้องแถวไม้ธรรมดา ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นตึกปูนสไตล์จีน มีชั้นเดียว หลังคาหน้าจั่ว และมุงด้วยกระเบื้องดินเผา ก่อสร้างกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แต่ปัจจุบันไม่หลงเหลือให้เห็นแล้ว
จะมีก็แต่ตึกแถวชั้นเดียวที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๖ แต่เรื่องของรูปแบบโครงสร้างคงไม่ต่างจากสไตล์จีนดั้งเดิมเท่าไหร่ เช่น ตึกแถวชั้นเดียวถนนดินสอ ตึกแถวชั้นเดียวตรอกสะเต๊ะ และตึกแถวชั้นเดียวในตรอกที่เชื่อมระหว่างซอยสุขา 1 กับซอยสุขา 2
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ตั้งอยู่ในละแวกเดียวกัน ถ้าขาเที่ยวได้ลองมาหามุมชิคๆ ถ่ายรูปละแวกนี้ดูสักครั้งต้องได้ภาพสวยๆ กลับไปและจะประทับไม่รู้ลืมอย่างแน่นอน
ดาวน์โหลดคู่มือเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์ “Storied Structure ติดเกาะ กับตึกเก่า” ได้ที่ http://knowledge-center.museumsiam.org/news/detail/58
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : จิราพร ภาระพงษ์
ขอบคุณภาพ : onceinlife.co, แฟนเพจ “Cultural District Bangkok” และหนังสือ “Storied Structure ติดเกาะ กับตึกเก่า”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **