“ภูเก็ต” ไข่มุกอันดามัน วันนี้กำลังไปได้สวยกับโครงการ “ภูเก็ต แซนด์ บ็อกซ์” แถมล่าสุดยังได้ “รัสเซลล์ โครว์” (Russell Crowe) พระเอกคนดัง นักรบแกลดิเอเตอร์ ร่วมโปรโมทภูเก็ตให้อีกแรง (รวมถึงสถานที่อื่น ๆ ในเมืองไทย) หลังเดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องใหม่ในเมืองไทย
พูดถึงภูเก็ตนอกจากหาดทราย ทรายทะเลที่สวยงามมีชื่อเสียงในระดับโลกแล้ว ย่าน “เมืองเก่าภูเก็ต” (Phuket Old Town) ที่วันนี้นอกจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งไข่มุกอันดามันแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย
*จากชิโน-โปรตุกีส สู่ ชิโน-ยูโรเปี้ยน
เมืองเก่าภูเก็ต เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีความเป็นมากว่า 100 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ในยุคภูเก็ตเมืองแห่งเหมืองแร่สุดบูม ที่มีชาวต่างชาติทั้งชาวจีน อินเดีย อาหรับ และยุโรป เข้ามาทำการค้าและอาศัยอยู่ที่ภูเก็ตเป็นจำนวนมาก (เช่นเดียวกันเมืองท่าอื่น ๆ ในแหลมมลายู เช่น ปีนัง มะละกา และสิงคโปร์)
การเข้ามาของชนชาติต่าง ๆ ก่อให้เกิดการผสมผสานทั้งวิถีความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม อาหารการกิน รวมถึงมีการนำรูปแบบของสถาปัตยกรรม “ชิโน-โปรตุกีส” ที่ยุคนั้นได้รับความนิยมแพร่หลายในแหลมมลายู เข้ามาก่อสร้างเป็นจำนวนมากในย่านเมืองเก่าภูเก็ต
อาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีส เริ่มสร้างขึ้นครั้งแรกในย่านเมืองเก่าภูเก็ตราว ปี พ.ศ.2446 ที่ปัจจุบันยังหลงเหลือ “บ้านชินประชา” ซึ่งเป็นอาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีสแบบดั้งเดิมที่ยังรักษาสภาพไว้ได้ดีมาก ๆ ให้ผู้สนใจได้เที่ยวชมกัน
ขณะที่อาคารตึกแถวสไตล์นี้ในย่านเมืองเก่าที่ส่วนใหญ่สร้างหลังยุคแรก (ยุคบ้านชินประชา) จะเป็นอาคารที่ผสมผสานระหว่างงานศิลปกรรมแบบเอเชีย (จีน) และยุโรป ซึ่งไม่ได้มีความเป็นโปรตุเกสที่เด่นชัด หากแต่ในภาพรวมมีความเป็นยุโรปมากกว่า เนื่องจากว่า ได้รับทั้งอิทธิพลของอังกฤษและดัตช์ (เนเธอร์แลนด์) เข้ามาผสมด้วยในยุคหลัง
ด้วยเหตุนี้นักวิชาการบางคน รวมถึงชาวชุมชนเมืองเก่าภูเก็ตส่วนใหญ่ และอีกหลาย ๆ คนในภูเก็ต จึงเรียกอาคารสถาปัตยกรรม (ชิโน-โปรตุกีส) ในเมืองเก่าภูเก็ตเสียใหม่ว่า “ชิโน-ยูโรเปียน” โดยเชื่อว่าจะสามารถอธิบายถึงอัตลักษณ์ของอาคารเหล่านี้ได้ชัดเจนกว่า ซึ่งก็มีทั้งผู้เห็นด้วยและเห็นต่าง
อาคารชิโน-ยูโรเปี้ยน ส่วนใหญ่ในเมืองเก่าภูเก็ต จะเป็นตึกสูง 2-3 ชั้น มีหน้าแคบแต่มีความลึก มีฟังก์ชั่นใช้สอยเป็นแบบกึ่งร้านค้ากึ่งที่อยู่อาศัย โดยด้านหน้าเป็นร้านค้า ด้านหลังที่ลึกเข้ามาเป็นส่วนพักอาศัย
นอกจากนี้อาคารเหล่านี้ยังมีจุดเด่นสำคัญคือ “อาเขต” (Arcade) หรือ “หง่อคาขี่” (ภาษาจีนฮกเกี้ยน) เป็นทางเดินเท้าใต้ตึกด้านหน้าผ่านช่องโค้ง ที่สร้างต่อเนื่องเชื่อมกันเป็นระยะ ๆ เป็นแนวทางเดินสาธารณะ ให้ผู้เดินใช้หลบแดดหลบฝนเวลาเดินใต้อาคาร ซึ่งเหมาะกับสภาพอากาศของภูเก็ต “เมืองฝนแปดแดดสี่” เป็นอย่างดี
ปัจจุบันอาคารชิโร-ยูโรเปี้ยน สุดคลาสสิกเหล่านี้ในเมืองเก่าภูเก็ต ได้ถูกปรับปรุงตกแต่งให้สวยงามเพื่อการท่องเที่ยว หลายจุดมีการนำสายไฟลงใต้ดิน ไม่ดูเกะกะรกสายตา ขณะที่อาคารหลายหลังได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นร้านอาหาร ร้านกาปฟ-เครื่องดื่ม เบเกอร์รี่ ร้านขายของที่ระลึก รวมถึงบูธีคโฮเต็ลที่พักขนาดเล็กสุดเก๋ในบรรยากาศเมืองเก่าอันสุดคลาสสิก
*ยลตึกเก่าสุดคลาสสิก
ย่านเมืองเก่าจังหวัดภูเก็ต ตั้งอยู่กลางเมืองภูเก็ต มีหลายเส้นทางให้นักท่องเที่ยวได้เลือกเดินทัวร์เมืองเก่า โดยสามารถแบ่งได้เป็น 6 เส้นทางหลัก ๆ คือ 1.ถนนภูเก็ต ถนนรัษฎา และถนนระนอง 2.ถนนพังงา ถนนภูเก็ต และถนนมนตรี 3. ถนนถลาง 4.ถนนกระบี่ และถนนสตูล 5.ถนนดีบุก ถนนเยาวราช ตรอกสุ่นอุทิศ และซอยรมณี และเส้นสุดท้ายคือเส้นที่ 6.ถนนกระษัตรี
นักท่องเที่ยวที่มาเดินทัวร์เมืองเก่าภูเก็ต จะได้ยลมนต์เสน่ห์ของอาคารเก่าสไตล์ชิโน-ยูโรเปี้ยน อันสวยงามสุดคลาสสิก ที่มีทั้งอาคารที่ตกแต่งใหม่อย่างสวยเนี้ยบ และอาคารที่คงบรรยากาศแบบเก่าแก่ดั้งเดิมดูสวยงามเป็นธรรมชาติ
สำหรับจุดท่องเที่ยว-เช็คอินที่ เด่น ๆ ก็อย่างเช่น “บ้านชินประชา” บ้านสไตล์ชิโน-โปรตุกีส สร้างเป็นรุ่นแรก (พ.ศ.2446) จัดแสดงในรูปแบบพิพิธภัณฑ์มีของดีให้ชมมากมาย, “พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว” อาคารหลังนี้มี 2 ชั้น งดงามไปทรวดทรงอันสมส่วน และโค้งซุ้มประตู หน้าต่าง ลวดลายปูนปั้นประดับต่าง ๆ
“อาคารไชน่า อินน์” อีกหนึ่งบ้านสวยที่วันนี้เปิดเป็นร้านอาหาร-กาแฟ เครื่องดื่ม มีหน้าร้านสวยเก๋ในสไตล์จีนให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปกัน, “หงวนซุนต๋อง” ร้านขายยาสมุนไพรที่เก่าแก่ที่สุดในภูเก็ต ที่ยังคงบรรยากาศดั้งเดิมสุดคลาสสิก, “ศาลเจ้าแสงธรรม” ศาลเจ้าเก่าแก่อายุนับร้อยปี สถาปัตยกรรมรูปแบบจีนประเพณี อันสวยงามขรึมขลังเปี่ยมศรัทธา
รวมไปถึงบรรยากาศตึกเก่าแบบสวยทั้งซอย ที่ “ซอยรมณีย์” ที่ในอดีตเป็นซอยแหล่งเริงรมย์สถานโลกีย์ แต่มาวันนี้กลายเป็นจุดเช็คอินต้องห้ามพลาดของผู้มาเยือนย่านเมืองเก่าภูเก็ต
*เมืองเก่าภูเก็ต ชุมชนท่องเที่ยวไม่ธรรมดา
ในย่านเมืองเก่าภูเก็ตยังมี “สตรีทอาร์ต” ภาพวาดสวย ๆ งาม ๆ แทรกประดับตามผนังกำแพงตามถนนและตรอกซอกซอยต่าง ๆ ให้ถ่ายรูปกันอย่างเพลิดเพลิน
นอกจากนี้ที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ตยังมีวิถีแห่ง “เพอรานากัน” หรือที่ชาวภูเก็ตเรียกว่า “บ่าบ๋า” ที่เป็นอีกเอกลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ตให้ได้สัมผัสกัน ทั้งในด้านความเป็นมาและการจัดแสดงที่ “พิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์” พิพิธภัณฑ์ขนาดกะทัดรัดที่จัดแสดงเรื่องราวของชาวเพอรานากันให้เราชมกันอย่างเข้าใจง่าย สนุกเพลิดเพลิน
รวมถึงได้สัมผัสวิถีแห่งบ่าบ๋า ผ่านงานศิลปวัฒนธรรมการแต่งกาย ศิลปะเครื่องเซรามิก และอาหารการกินต่าง ๆ
และด้วยมนต์เสน่ห์อันหลากหลายของเมืองเก่าภูเก็ต ทาง “ชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต” จึงได้จัดทริป “ยลเมืองเก่า เล่าความหลัง สัมผัสวิถี เสน่ห์เมืองทุ่งคา”
กิจกรรมนี้เป็นทริปพานักท่องเที่ยวทัวร์วัฒนธรรม สัมผัสกับเมืองเก่าภูเก็ต (อดีตเมืองทุ่งคา) ในรูปแบบที่แตกต่าง แต่ว่าลึกซึ้งกว่าทั่วไป รวมถึงพาชมสิ่งที่เป็นดังอันซีนซุกซ่อนอยู่ในย่านเมืองเก่าภูเก็ตแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ชม-ช้อป บ้านตีเหล็กแบบโบราณแหล่งสุดท้ายในเมืองเก่า, ทดลองทำอาหารพื้นเมืองภูเก็ต อย่างหมี่ฮกเกี้ยน รวมถึงอาหารบ่าบ๋า และจิบชา-กาแฟ ของว่าง ควบคู่ไปกับการชมการแสดงของ “คุณแอนนี่” เจ้าของฉายา "นางฟ้ากู่เจิ้ง" ผู้พิการทางสายตา แต่ว่าสามารถเล่นกู่เจิ้งได้อย่างยอดเยี่ยม ไพเราะน่าประทับใจ
และด้วยการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นของ “ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต” ซึ่งมีแนวคิดใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูอนุรักษ์เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป ทำให้ชุมชนแห่งนี้ได้รับรางวัล “อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย” (Thailand Tourism Awards) หรือ “รางวัลกินรี” ถึง 2 สมัยติดกัน ได้แก่ รางวัลดีเด่น (ครั้งที่ 12 ปี 2562) และ รางวัลยอดเยี่ยมในครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 13 ปี 2563) สาขาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของชุมชนแห่งนี้
ไม่เพียงเท่านั้นวันนี้เมืองเก่าภูเก็ตยังมีอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญ (มาก) ในการเดินหน้าสู่เมืองมรดกโลก ซึ่งทางกรมศิลปากรและจังหวัดภูเก็ตได้มีแผนการขอขึ้นทะเบียนย่านเมืองเก่าภูเก็ตให้เป็นมรดกโลก จากองค์การยูเนสโก ที่วันนี้กำลังเดินหน้าตามขั้นตอนต่าง ๆ
เนื่องจากเมืองเก่าภูเก็ต เป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต มีจุดเด่นในเรื่องของสถาปัตยกรรมมีเอกลักษณ์แบบชิโน-โปรตุกีส (เหมือนกับเมืองมรดกโลก ปีนัง-มะละกา ของมาเลเซีย) นอกจากนี้เมืองเก่าภูเก็ตยังมีความโดดเด่นในเรื่องของการทำเหมืองแร่ ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญในยุคปัจจุบัน
สำหรับย่านเมืองเก่าภูเก็ต ใครที่มาเที่ยวก็จะได้พบกับรอยยิ้ม และน้ำมิตรไมตรี ซึ่งที่นี่ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคน
อย่างไรก็ดีถ้าหากว่ามีผู้ที่ส่อเจตนาไม่ดี จะมาเยือนภูเก็ตด้วยจิตอกุศล ชาวชุมชนที่นี่ก็พร้อมที่จะปฏิเสธแบบมีอายระต่อมารผจญ เพื่อไม่ให้ชุมชนเมืองเก่าต้องเสื่อมเสียมัวหมอง ไม่มีเสนียดจัญไรเข้ามากล้ำกราย
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline