“อายุไม่ได้เป็นตัวกำหนดความสำเร็จ” คือ คำนิยามสาววัย 23 รายนี้ ที่ขายภาพได้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ กระทั่งก้าวสู่เส้นทางสายอาชีพอย่างจริงจัง เธอยังโด่งดังในหมู่คนรักงานศิลป์ มีผู้คนชื่นชอบจนถึงกับขายแม้กระทั่ง “จานสี” ได้ แถมยังมีคนรอภาพวาด จนคิวแน่นไปถึงปี 65 แล้วตอนนี้!!
ศิลปินศิลปะแฟนตาซี-จานสี สร้างเงินล้าน!!?
“ไม่เคยคิดว่าจะขายงานศิลปะ ตอนที่เข้ามาเรียนจิตรกรรม คิดว่าเราจะหารายได้จากการประกวด เหมือนกับตอนเด็กๆ ที่เราประกวด เพราะช่วงที่เราประกวดตอนเด็กๆ เราก็ได้เงินเยอะอยู่นะคะ
งานประกวดจะมีงานประกวดใหญ่ๆ ที่เงินรางวัลมันสูงมากๆ เราคิดว่ารายได้เราก็คงจะเป็นอย่างนั้น ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะขายงานได้เลย เพราะว่าในช่วงเวลานั้น วัยใกล้เคียงกัน มันไม่มีคนที่ขายงานได้เป็นตัวอย่างเลย…”
ผู้หญิงผมสั้นในชุดเดรสสีดำ ผู้นั่งอยู่ด้านหน้า ทีมข่าว MGR Live คือ โบว์-ปัณฑิตา มีบุญสาย ศิลปินรุ่นใหม่มาแรง วัย 23 ปี ศิษย์เก่าจากรั้วศิลปากร ซึ่งกำลังโด่งดังกับภาพวาดแนว “Fantasy Art” ซึ่งมีฝีไม้ลายมือจนสร้างผลงาน ชนิดที่ว่ามีคนจองคิวให้เธอวาดถึงปีหน้า รวมทั้งมีนักแสดงชื่อดัง อย่าง “ณเดชน์ คุกิมิยะ” ยังสั่งซื้อผลงานของเธอ
“คนที่อายุใกล้เคียงที่สุด คือ เราห่างจากพี่เขา 15 ปีไปแล้ว พี่เขาเป็นศิลปินช่วงกลางๆ มันไม่มีวัยใกล้กัน ที่เรามองเป็นตัวอย่างได้เลย เราก็คิดว่าการขายงานมันก็คงอีกสักพักหนึ่ง คงไม่ใช่ในเร็วๆ นี้
คงจะขายได้ในช่วงประมาณสัก 30-35 ปีไปแล้ว เพราะว่าช่วงนั้นเขาจะเล่าให้ฟังว่า คนที่จะซื้องาน เขาจะดูพัฒนาการเราไปเรื่อย ดูไปเลย 10 ปี 20 ปี กว่าเขาจะซื้องาน
มันก็มีคำปลูกฝังในหลายๆ อย่างเข้ามา แต่ตอนนั้นก็คิดการใหญ่ไว้เหมือนกัน ว่า อยากประสบความสำเร็จในช่วงอายุที่ยังเรียนไม่จบ โบว์ตัดสินใจทักไปหาพี่ๆ ศิลปินช่วงวัยกลางๆ ว่า พี่มีการวางแผนเตรียมตัวยังไง
แต่ทุกคนก็จะให้แนวคำปลอบใจมากกว่า แล้วบอกว่าเราอย่าคิดเร็วไปนะ ปี 3 อยู่เลย ยังมีเวลาอีกเยอะ มีเวลาให้ค้นหาตัวเอง ก็เลยรู้สึกว่าเราพร้อมแล้วที่จะค้นหาตัวเองได้แล้วในช่วงนี้ จึงได้เริ่มทั้งฝึกหรือเริ่มพยายามค้นหาดูงานบ่อยๆ จนทำให้เราค้นหาตัวเองได้ไว และประสบความสำเร็จไว”
ด้วยระยะเวลาเพียง 2 ปี เธอกลับขายผลงานศิลปะได้กว่า 200 ชิ้น ว่ากันว่า เธอสามารถสร้างรายได้จากงานศิลปะ รวมเป็นมูลค่าหลักล้าน ซึ่งศิลปินวัย 23 คนนี้ให้คำตอบว่า ได้ประสบความสำเร็จในเรื่องของรายได้และตัวผลงาน โดยตั้งเป้าหมายการวาดรูปเป็น 80% ในชีวิต
“ตอนนี้รายได้ ก็มาจากการที่วาดรูป 100% แต่ว่าในอนาคตจริงๆ อยากให้ความรู้สึกตัวเอง ในตอนเด็กที่วาดรูปเป็นงานอดิเรกมันยังอยู่ จริงๆ อยากให้เป็นงานอดิเรกมากกว่า งานอดิเรกเกิดจากการทำเพราะชอบ ไม่อยากทำเพราะเป็นหน้าที่ที่เป็นอาชีพ
เราคิดว่าในอนาคต อาจจะพยายามผลักให้วาดรูป มันเป็น 80% ในชีวิต และ 10% เป็นการใช้ชีวิตมากกว่า เพราะรู้สึกว่าไม่ได้ตั้งเป้าว่าเราต้องทำงานได้จำนวนมหาศาล แต่พยายามอยากตั้งเป้าให้มันเป็นการที่เอาไปพัฒนาต่อ และทำให้ชีวิตมีความสุขมากกว่า
ไม่ว่าจะเป็นการให้ทุนการศึกษาเด็ก ซึ่งโบว์ให้ทุนการศึกษาน้องๆ ในคณะทุกปีอยู่แล้ว และการสร้างการทำกุศลอะไรบางอย่างขึ้นมา มันก็เป็นโปรเจกต์ในอนาคตที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง”
จุดแข็งในภาพวาดของศิลปินคนนี้ คือ ความแข็งแรงของลายเส้นที่ชัดเจน หลายคนมองว่า ฝีมือลายเส้นมีความโดดเด่นเกินกว่าผู้หญิงจะวาดภาพนั้น ซึ่งการพัฒนาฝีมือ และไม่หยุดนิ่งของเธอ สามารถสร้างมูลค่าผลงานที่น่าเหลือเชื่อ อย่าง “จานสี” ที่มีการจองเต็มไปถึงปี 65 โดยสั่งจองหมดภายใน 1 ชั่วโมง
“ปกติแล้วมันมาจากความขี้เกียจด้วยค่ะ ก็เลยสั่งทำจานสี สั่งทำพิเศษเลย ตัดมา 40 ครั้ง 30-40 อัน แล้วก็เอามาทำงาน รูปนึงใช้จานสีเต็มจาน แล้วก็ไม่ใช้ แล้ววางไว้ พอขึ้นชิ้นงานใหม่ก็หยิบจานสีอันใหม่ขึ้นมาทำ แล้วพอเป็นจำนวนที่มันมากขึ้น ก็เลยลองเอามาเรียงๆ กันถ่ายรูปลงเฟซบุ๊ก มันมีคนสนใจทักมา
เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย! จานสีแม่งขายได้ว่ะ ก็เลยนำไปใส่กรอบดู กลายเป็นว่ามันขายหมด ภายในไม่ถึง 1 ชั่วโมง ทั้งหมด 20 อัน
มันทำให้แบบเฮ้ย มันเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของเราเหมือนกัน ที่มันไม่ใช่งาน Art ที่เป็นที่เราทำ ด้วยหยาดเหงื่อ แต่มันเป็นผลพลอยได้จากของที่เราทำ แล้วมันเกิดมาเป็นสิ่งนี้ นั่นคือ จานสี เรารู้สึกว่าประโยชน์ตรงนั้น เรามาทำเป็นทุนการศึกษาเด็ก คือ มันมาจากการขายจานสีทั้งหมด ตอนนี้ก็จัดไป 2 รอบแล้ว หลังจากนั้น ก็มีคิวจานสี ที่มีการจองเกิดขึ้นแบบงงๆ
ตอนนั้นรู้สึกว่ากลายเป็นเราขายโดยตัวของชื่อเสียงเหรอ แต่เราก็รู้สึกว่าพอมันเกิดประโยชน์จากตรงนี้ เราก็อยากจะกระจายประโยชน์ตรงนี้ไปให้กับเด็กๆ ก็เลยเกิดเป็นโปรเจกต์ที่เป็นทุนการศึกษาขึ้นมา
เราไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆ เลย เลือกกรอบใดๆ เราก็เป็นคนออกทั้งหมด คือ ไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ
จานสีก็มีจอง จนล่าสุดก็ลองทำกวนๆ ขึ้นมา เฮ้ยมันยังจะขายได้อยู่รึเปล่า มันเป็นสีที่ใช้แล้ว ไม่ใช่จานสีที่เอามาป้าย อันนี้แค่หลอดเปล่าๆ ที่นำมาแปะ แล้วขายได้ มันกลายเป็นว่า มึงกล้าทำกูก็กล้าซื้อวะ มันก็เลยขายได้ รู้สึกว่ามันคงเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่คงจะจำไปตลอดชีวิตเลย
มันคงเป็นเรื่องของการรักษามาตรฐานของตัวเอง รักษาภาพพจน์ และความที่เรายังเป็นเด็ก มันก็ต้องมีเรื่องของการอ่อนน้อมถ่อมตน โบว์เคยโดนผู้ใหญ่ปรามเรื่องการวางตัวว่าอย่าเหลิงในชื่อเสียงนะ ซึ่งเราก็ยังทำตัวปกติเหมือนเดิม แต่ว่าเรื่องของการวางตัว เราก็ต้องทำให้มีมาตรฐานมากขึ้น ทำให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น เราจะทำแบบลุควัยเด็กเหมือนเดิมก็คงไม่ได้แล้ว
และเรื่องของการพัฒนาผลงาน ซึ่งการเป็นศิลปินที่มันอยู่ได้ในปัจจุบันนี้ งานเราต้องน่าสนใจ และมีการพัฒนาต่อตัวงานตลอดเวลา ทำให้เราสามารถอยู่เป็นศิลปินแนวหน้าได้
จริงๆ คิวมันยาวไปกว่านั้น ถ้ายังยืนยันที่จะรับอยู่ แต่ด้วยความที่เราเปิดรับไม่กี่เดือน เราอยากรู้สึกว่าปี 66 เป็นปีที่เราพักผ่อน เดินทางรอบโลก ถ้าโควิดมันหมด คือ คิดว่าควรหยุดรับได้แล้ว มันไปสุดที่ปี 65
ยังมีคนทักมาเรื่อยๆ แต่ว่าปิดรับทุกอย่างแล้ว ไม่รับแล้ว”
ค่านิยมไทย เด็ก “วิทย์-คณิต” ต้องเรียนหมอ
เมื่อหวนรำลึกกว่าที่เธอจะเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จ จุดเริ่มต้นบนเส้นทางศิลปะของเธอ เธอยอมรับว่าเกิดความไม่มั่นใจ ว่าเส้นทางแห่งนี้สามารถเลี้ยงชีพได้จริง
“จุดเริ่มต้นวาดรูป คือ ย้อนไปตั้งแต่ก่อนช่วงเข้าอนุบาล คือ ช่วงนั้นโบว์คิดว่าใครหลายๆ คน ก็ต้องเริ่มวาดรูปก่อนจะเขียนตัวอักษร หรือตัวหนังสือ เราก็วาดวงกลม สามเหลี่ยม คือ เริ่มชื่นชอบ จำได้ว่าประมาณ 3 ขวบ
คือ ที่บ้านเขาจะเห็นพัฒนาการเรามาตลอด ตั้งแต่ก่อนเข้าอนุบาล ประถม จนเราเริ่มโดดเด่นที่สุดในห้องก่อน คือ ทั้งเรื่องของคะแนน มันก็ค่อนข้างที่จะได้ดี
ที่บ้านเขารู้สึกว่าโบว์ชื่นชอบทางด้านนี้ อยากจะสนับสนุน เขาก็จะสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์ เรื่องทุนในการซื้อของอุปกรณ์ เพราะว่าอุปกรณ์ศิลปะ ก็ราคาค่อนข้างสูง แต่เขาก็ยินดีที่จะสนับสนุน แล้วเรื่องของการประกวดวาดภาพ เขาก็ช่วยสนับสนุนของการประกวด นำภาพไปส่งประกวดบ้าง
เริ่มประกวดวาดรูปตั้งแต่ประถม จนถึง ม.6 เลย คือ เดินสายประกวดวาดภาพมาตลอด ส่วนใหญ่จะเป็นการฝึกเองกับฝึกในโรงเรียน แต่ถึงอยู่ในโรงเรียน คือ ฝึกเอง เรียนรู้ด้วยตัวเอง ก็ฝึกฝน จริงๆ เมื่อก่อนฝึกจากการแข่งขัน เพราะว่ามันต้องซ้อมช่วงเช้า ช่วงเย็น เพื่อจะไปแข่งแต่ละที่ ก็อาศัยการฝึกซ้อมทุกวัน”
แม้จะชื่นชอบและสนุกกับศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ แต่เมื่อเริ่มโตขึ้นจนถึงวัยมัธยมปลาย เธอเกิดความรู้สึกลังเลใจ ส่งผลให้เลือกเรียนสายวิทย์-คณิต เพื่อสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะสัตวแพทย์
“ตอนเด็กๆ ก็ไม่ได้อยากเข้าจิตรกรรมเลยค่ะ คือ ไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่ามีคณะนี้อยู่ในประเทศ รู้ว่ามีคณะที่เรียนเกี่ยวกับวาดรูป แต่ก็ไม่ได้สนใจอะไร
คิดว่าเราชอบวาดรูป แต่ไม่ได้อยากให้การวาดรูปเป็นอาชีพ ไม่ได้ซีเรียสตรงนั้น รู้สึกว่าอยากวาดรูปเป็นงานอดิเรกมากกว่า ช่วงนั้นเรียนสายวิทย์-คณิต
ตอนนั้นก็อยากเข้าสัตวแพทย์ วิศวกรรม คือ อยากเข้าอะไรแบบนี้มากกว่า ตอนนั้นก็ตั้งใจเรียน แต่ก็ควบคู่กับการวาดรูปไปด้วย ก็ไม่เคยทิ้ง จนมาช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อ ที่ต้องเข้ามหา’ลัย ช่วงนั้นรู้สึกว่า วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ไม่ได้ตอบโจทย์ตัวเองขนาดนั้น
โบว์ไปลองถามอาจารย์แนะแนว เขาก็บอกว่าเธอก็ลองไปสอบสถาปัตย์ดูสิ มีทั้งสายวิทย์-คณิต ที่เธอเรียนอยู่ และมีศิลปะที่เธอชอบ แต่ว่าพอเข้ามาติวสถาปัตย์จริงๆ มันก็ไม่ได้วาดรูปอย่างที่เราอยากทำค่ะ เพราะตอนติวมันก็วาดเป็น Perspective (ทัศนียภาพ) มีการจัดฉากองค์ประกอบอะไรที่มันไม่ได้ชอบขนาดนั้น
และพอถามรุ่นพี่เขาก็บอกว่า พอเข้ามาจริงๆ มันก็ไมได้วาดรูปเลย มีแต่ตัดโมเดล เขียน Sketch up ในคอมพ์ จนตอนนั้นก็เปลี่ยนเบนมาเป็นนิเทศศิลป์ ตอนนั้นก็ยื่น Port หมดเลย ยื่น Port ศิลปากร ก็ยื่นหมดทุกที่ ก็ติดทุกที่เลย
แต่ว่าก็มีประกาศว่ามีสอบของจิตรกรรม อาจารย์ที่มัธยมก็แนะนำให้ลองไปสอบดู ลองไปสอบวัดความรู้ ความสามารถดูว่า เราฝีมือประมาณนี้ สามารถสอบได้ไหม ก็ลองไปสอบดู ไม่ได้คาดหวังว่าติดอะไรเลยค่ะ เพราะแค่เตรียมตัวไป เราก็เตรียมตัวไม่ดีด้วย
เราไม่ได้ติว ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องใช้อะไรในเกณฑ์การวัดการสอบ เราก็เข้าไปสอบแล้วดันติดขึ้นมา วันที่ประกาศผล มันเป็นวันเดียวที่ยืนยันสิทธิ์ของมหา’ลัยอื่นด้วย”
อย่างไรก็ดี ผลปรากฏว่า เธอสามารถสอบติดสาขาจิตรกรรม เมื่อเธอถามความคิดเห็นจากทางบ้าน ทุกคนต่างสนับสนุนให้เลือกเส้นทางศิลปะ เพราะเป็นสิ่งที่ชื่นชอบตั้งแต่เด็ก
“วันนั้นก็นั่งคิดกับคุณแม่ ว่าจะเอายังไงต่อ แต่ที่บ้านก็ให้เลือกที่โบว์มีความสุข ที่จะอยู่ตรงนั้น ที่บ้านก็ไม่ได้ซีเรียส ก็คิดว่าถ้าไม่มีงานทำ ก็กลับมาช่วยงานที่บ้านได้ จนยืนยันสิทธิ์ไป
แต่พอเข้ามาเรียนจริงๆ ด้วยความที่เรามาจากสายสามัญ เราไม่ได้ฝึก skill ด้านศิลปะด้านอื่นเลย เพราะเรามาจากสายแข่งขัน คือ ทำแค่ตามโจทย์ คุณสั่งโจทย์มาเราทำ
พอมาเรียนก็ต้องใช้ความคิด เราต้องคิดเองอะไรเอง ในช่วงแรกปรับตัวยากมาก แต่ว่าเรามาจากพื้นฐานเป็นคนชอบแข่งขันอยู่แล้ว เราก็ไม่อยากแพ้ในรุ่น เราก็พยายามฝึกทุกเย็นๆ ทำให้ฝีมือ… ช่วงรอยต่อ ม.6 กับปี 1 มันค่อนข้างก้าวกระโดด มันก็เลยทำให้เรียนจิตรกรรมแล้ว Happy”
จุดหักเหของชีวิตที่เกิดขึ้นกับเธอนั้น เธอยอมรับว่าหนึ่งในการตัดสินใจ เพราะค่านิยมที่ปลูกฝังของไทย ที่เด็กสายวิทย์จะต้องสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ อีกทั้งในโรงเรียนยังไม่มีสายศิลปะให้เธอเลือก
“มีส่วนมากเลยค่ะ เพราะเหมือนกับว่า ตอนที่อยู่มัธยมตอนเลือกสาย ม.3 ขึ้น ม.4 ตอนนั้นก็ยอมรับว่าชอบเรียนวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์ ก็เลยเลือก
เพราะตอนนั้นที่มัธยมไม่ได้มีสายศิลปะ มีแค่สายสังคม สายภาษาไปเลย คือ ตัวเลือก Choice สายมันน้อยก็เลยเลือก และด้วยค่านิยมของที่บ้านด้วย เขาก็อยากให้มีตัวเลือกในการเลือกของแต่ละคณะกว้างขึ้น เพราะว่าวิทย์-คณิต มันสอบได้กับทุกอย่างเลย ก็เลยเข้าไป
ตอนเด็กๆ เรื่องที่เขาให้เขียนเรื่องความฝัน โตขึ้นอยากเป็นอะไร วิชาแนะแนวหรือของเกือบทุกวิชา ตอนเด็กๆ โบว์ก็ไม่เคยเขียนว่าอยากเป็นศิลปิน อยากเป็นจิตรกร
เราก็รู้สึกว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่เพ้อฝัน มันดูไม่มีอยู่จริง มันไม่เหมือนคุณหมอที่จบมาเป็นนายแพทย์ หรือเป็นคุณครูที่มียศอย่างชัดเจน ข้าราชการ มันไม่มีอะไรที่ชัดเจน มันดูไม่มีอยู่จริง ก็เลยไม่เคยเขียนลงไปเลยค่ะ”
เติมเต็มแรงบัลดาลใจ-เปิดโลกท่องเที่ยว
จากเด็กผู้เคยคิดว่าตัวเองมีทักษะการวาดรูป และมั่นใจในผลงาน กลับกลายเป็นต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด ในรั้วคณะจิตรกรรม โดยพยายามสร้างเอกลักษณ์ ฝึกฝนฝีมือให้เท่าทันเพื่อนร่วมรุ่น จนฝีมือเธอก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว และกลายเป็น 1 ใน 4 จตุรเทพของรุ่น
“จริงๆ เอกลักษณ์ มันฝังอยู่ตั้งแต่เด็กเลยค่ะ เคยเจอคำถามนี้ก็เลยลองเอางานตั้งแต่เด็ก ย้อนไปตั้งแต่ประถมจนถึงปัจจุบัน ก็เอามาเรียงดูว่าเอกลักษณ์ของเราเกิดขึ้นตอนไหน คือ ถ้าเป็นลักษณะสไตล์งาน หรือสีที่ใช้ คีย์แปลน มันเกิดมาตั้งแต่เด็ก
คือ มันไม่เคยหายไปจากเราเลย ก็ยังคงอยู่ในทุกๆ รูป คีย์แปลน สีที่ใช้ มันก็เกิดจากอุปนิสัยของเราเอง หรืออะไรบางอย่างที่เราใช้สีเหล่านั้น แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องของแนวงาน ที่คนมารู้จักเราจริงๆ จะเป็นช่วงของ Thesis ช่วงปี 4 ช่วงปี 5
ท้อ-เหนื่อยก็ไม่ทำ!! “เคยรู้สึกท้อตอนอยู่ช่วงปี 3 ช่วงที่ค้นหาตัวเอง ทักไปถามศิลปิน คือ ตอนนั้นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แล้วเราเลือกเอก เรารู้สึกว่าพอเลือกเอกแล้ว มันต้องทำเฉพาะทางจริงๆ จึงรู้สึกว่าต้องจริงจังได้แล้ว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ท้อ แต่ท้อแป๊บเดียว แล้วรู้สึกว่าท้อนานไม่ได้ หลังจากนั้น ก็เริ่มทำจริงๆ ส่วนเรื่องคิดงานไม่ออก ถ้าคิดงานไม่ออก ก็จะไม่คิดเลย จะไปทำอย่างอื่นเลย ถ้าสมมติวันไหนเหนื่อย ท้อ ก็จะไม่ทำอะไรเลย จะอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย แล้วค่อยทำในวันที่รู้สึกอยากทำ ไม่เคยรู้สึกว่าวันไหนไม่อยากทำ ก็ไม่เคยฝืนทำนะคะ รู้สึกว่ามันเหนื่อย ต่อให้พรุ่งนี้มันเป็นวัน deadline แต่ถ้าวันนี้ไม่อยากทำ ก็จะไม่ทำ ถ้าคิดงานไม่ออกก็จะเดินออกจากบ้านเลย ปกติจะเดินไปเรื่อยๆ ในหมู่บ้าน หรือไม่ก็ดูหนัง จริงๆ ดูหนังเป็นส่วนหนึ่งของการที่คิดเรื่องของงานออก เพราะว่าปกติชอบดูหนังผ่านองค์ประกอบภาพ สีภาพ Mood Tone ในภาพ อย่างนี้มากกว่า กลายเป็นว่าเป็นคนดูหนังไม่รู้เรื่องเลย ดูแต่การจัดองค์ประกอบ การจัดสี แสง ในฉากๆ นั้น ที่ผู้กำกับเป็นคนสร้างมา รู้สึกว่าหนังเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนางานเหมือนกัน เพราะว่าเราเองก็ชอบเสพการจัดองค์ประกอบ แล้วเกิดมาเป็นการจัดองค์ประกอบในงานของเราเหมือนกัน” |
ช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่จะเริ่มรู้จัก Thesis ที่เป็นแนวงานเหมือนกึ่งแฟนตาซี กึ่ง surreal
ในรุ่นจะมีแก๊งที่เขาเรียกว่า จตุรเทพ ในรุ่นจะมี 4 คน มีผู้ชาย 3 คน แล้วมีเราเป็นผู้หญิงในนั้น ก็จะถูกเรียกใช้จากอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นงานใหญ่ๆ ของมหา’ลัย หรือที่ออกทางสื่อ ก็จะใช้แก๊ง 4 คนนี้ ถือว่าเป็นหัวขบวนของการศึกษาของรุ่นอยู่เหมือนกัน ถือว่าโดดเด่นสุดในรุ่นนั้น”
ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ มีความฝันที่อยากประสบความสำเร็จโดยเร็ว เธอเลือกที่จะหาแรงบันดาลใจ โดยหางานศิลปะหลายๆ ที่ สร้างเอกลักษณ์ของตนเอง โดยเส้นทางที่ว่านั้น คือ การวาดภาพแนว “Fantacy Art” และ “Surreal” ที่มีคู่แข่งน้อย
“ในทุกๆ ครั้งจะ search ก่อนว่า Gallery ที่ใกล้ที่สุดในละแวกนั้นคือที่ไหน และจะดูว่ามีนิทรรศการอะไรบ้าง คือ เข้าไปในเว็บไซต์ของทางมิวเซียม ว่า มิวเซียม Gallery มีงานใครแสดงอยู่บ้าง น่าสนใจไหม แล้ว list ไว้
ส่วนใหญ่จะได้ inspire จากการไป Gallery ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมันจะมีศิลปินท้องถิ่นของเขา และศิลปินที่เขาเชิญจากต่างประเทศ ที่เราต้องบินไปดูที่ฝรั่งเศส ถึงลอนดอน เราถึงจะได้ดูศิลปินเซตนี้
จะมีให้เราดูหลากหลาย ที่มันเป็นจริง ที่แตกต่างกับงานที่เราเห็นในจอคอมพ์ ซึ่งมันต่างมากจริงๆ เรารู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของประโยชน์จากการเดินทาง”
ไม่แค่เก็บกลับมาพัฒนาฝีมือตัวเอง แต่เธอเลือกวาดตรงสถานที่นั้นเลย ซึ่งบรรยากาศ อุณหภูมิ สี ในต่างประเทศ มีความแตกต่างกัน
“มันก็ต่าง ไม่ว่าพืชพันธุ์ของต้นไม้เอง แสง หรือท้องฟ้า ความใส หลายๆ อย่างมันต่างอยู่ แต่ว่าไม่เคยมองว่าไทยไม่สวย แต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์ของมัน
ในความรู้สึก คือ ตอนไปญี่ปุ่น Gallery มันถูกกระจายตัวในทุกๆ พื้นที่ของตัวประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่กันดารแค่ไหน ก็มี Gallery และเป็น Gallery ที่น่าสนใจ แล้วรถไฟก็ไปถึง คือ มันง่ายต่อการดูงานศิลปะมาก
จากโตเกียวทะลุไปชิบะ มันง่ายมาก แต่ว่าเหมือนบ้านเราเองมันยากตรงที่ว่า Gallery เรามันกระจุกอยู่ตรงในกรุงเทพฯ เหมือนกับว่าในนครปฐมเองก็มี Gallery แต่ว่าด้วยการเดินทางไม่สะดวก มันทำให้คนไม่ได้เข้าไปดูใน Gallery ที่อยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งมันรู้สึกว่าสนใจมาก
แม้กระทั่ง Gallery ที่ในมหา’ลัยเองที่สนามจันทน์ เราเองก็แสดง Thesis ที่นั่นทุกปี แต่ว่าคนจะมาเยอะที่สุด คือ วันเปิดวันเดียว นอกนั้นคนจะมาแค่คนสองคน เพราะพื้นที่มันอยู่ไกลและมันก็อยู่ลึกมาก ไม่มีอะไรมารองรับ หรือคมนาคมไม่สะดวก เรารู้สึกว่าถ้าเปลี่ยนโครงสร้าง ต้องเปลี่ยนใหญ่มากๆ เพื่อศิลปะในบ้านเรา”
ช่องโหว่ของ “ศิลปะ” ไร้ทุนสนับสนุน
เธอยังสะท้อนงานศิลปะในประเทศไทยนั้น ยังเห็นช่องโหว่ คือ การไม่มีเงินสนับสนุนศิลปินจากภาครัฐ ในเส้นทางนี้
“รู้สึกว่าทุนมันเป็นปัจจัยสำคัญ คือ ถ้ามีทุนจากก้อนหนึ่ง เราก็จะสามารถทำสิ่งที่เราอยากทำได้ อาจจะไม่ใช่เป็นการวาดเขียน ปั้นอะไรขึ้นมา ศิลปะมันกว้างกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นงาน Installation (ศิลปะการจัดวาง) วิดีโอ Art หลายๆ อย่าง
แต่ว่าทุกอย่างแล้ว ล้วนก็ต้องใช้ทุน รู้สึกว่าถ้าเรามีทุนสนับสนุนในบ้านเราเพียงพอ หรือมีทุนที่เขาเล็งเห็นว่าศิลปะมันช่วยพัฒนาประเทศยังไง มันคงทำให้วงการศิลปะเราดีขึ้น
เพราะว่าตอนไปญี่ปุ่น ทางรัฐบาลก็มีทุนสนับสนุนศิลปินของเขา ในการผลิตงานศิลปะ แล้วงานศิลปะของเขาหลายๆ ที่ มันกลายเป็นแลนด์มาร์กในการท่องเที่ยว เรารู้สึกว่าเขาเห็นประโยชน์ของการใช้ศิลปะ ในการ present ความเป็นชาติของเขาขึ้นมา
รู้สึกว่าเขาฉลาดในการ present แต่ว่าบ้านเราอาจจะมีเรื่องของวัฒนธรรม ศาสนา หรือโครงสร้างของวัฒนธรรมอันหนึ่งขึ้นมา ที่เขาอาจจะ fix ว่า ศิลปะในความหมายของเขา คือ ศิลปะในวัดวาอาราม ที่เป็นงานจิตรกรรมไทย หรือ การรำ วัฒนธรรมหลายๆ ที่มันครอบ จนทำให้เราไม่สามารถหลุดออกจากความเป็นศิลปะในยุคสมัยเดิมได้ เพราะว่าศิลปะมันกว้างกว่านั้น เรารู้สึกว่ามันสามารถเอาเงินส่วนนี้ไปพัฒนาศิลปะ ในแขนงอื่นได้ ที่มันช่วยให้ประเทศเรามันโอเคขึ้น”
อีกทั้งในบางเรื่องที่คนมองงานศิลปะว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่สามารถเปิดกว้าง และไม่สามารถจับต้องสิ่งเหล่านั้นได้
“คิดว่าด้วยความที่เขาไม่เข้าใจ และไม่เปิดกว้างพอ ที่จะดูศิลปะในแบบอื่นๆ แต่ว่าในอนาคตคิดว่ามันต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะว่าเด็กรุ่นใหม่เองจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มุมมองที่เปลี่ยนไป เพื่อสามารถทำให้ประเทศเรามีการพัฒนามากขึ้น”
ในมุมมองของศิลปินรุ่นใหม่ ยังมีความหวัง อยากให้มีพื้นที่แสดงออกทางศิลปะ ให้กระจายไปส่วนอื่นๆ บ้าง
“คงเป็นเรื่องพื้นที่แสดง หรือพื้นที่แสดงออกทางศิลปะมากกว่า เพราะรู้สึกว่าอยากให้กระจายไปส่วนอื่นบ้าง คือ เราเองก็มีความตั้งใจที่เราไปสร้างสตูดิโออยู่ที่ระยอง คือ ในบ้านเกิด สร้างเป็นพื้นที่แสดงงานของเรา ตั้งแต่เด็กจนโต ในพื้นที่เล็กๆ ของเรา
รู้สึกว่าตัวเราเองก็อยากพัฒนาชุมชนที่บ้านเรา รู้สึกว่าถ้าตรงนั้นถูกพัฒนามันก็อาจจะเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กของการท่องเที่ยวในจังหวัดระยอง หรือพื้นที่ในตำบล ซึ่งตรงนั้นเป็นพื้นที่ตำบล ในละแวกบ้านในตำบลนั้น มันก็จะเป็นโดมิโน มีการทำเป็นร้านต่างๆ ขึ้นมา มันก็เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงิน การท่องเที่ยวภายในตำบล รู้สึกว่าเราเองอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่ท้องถิ่นตรงนั้นได้”
อย่างไรก็ดี เธอยอมรับว่า โซเชียลมีเดียเป็นกำลังหลัก ที่ทำให้ศิลปินไทยลืมตาอ้างปาก คนเห็นผลงานเรามากขึ้น
“คิดค่ะ รู้สึกว่าพอเราโตขึ้น โซเชียลมีเดียมันเป็นส่วนสำคัญ อย่างการที่เขาจะเห็นงานในแวบแรกก่อนที่เขาจะตัดสินใจซื้อ แล้วรู้สึกว่ายุคเราขายงานได้เร็วด้วย เพราะโซเชียลมีเดีย
ในยุคสมัยก่อนการที่เขาจะเห็นงานศิลปะ คือ จาก Gallery เท่านั้น ต้องเดินไปที่ Gallery ไปดูงานศิลปะ หรือน้อยคนจะมาดูที่มหา’ลัย คือ ไม่มีใครว่างดูขนาดนั้น ซึ่งเปอร์เซ็นต์ของคนในประเทศ คิดว่าไม่ถึง 20% ด้วยซ้ำไป ที่เขาจะว่างดูในวันเสาร์อาทิตย์ หรือเวลาว่างที่จะไปเสพศิลป์ใน Gallery ซึ่งคิดว่าคนส่วนใหญ่ก็จะทำงานเช้าเลิกเย็น แล้วกลับไปนอน เสาร์อาทิตย์ก็พักผ่อน มันยากมากที่เขาจะเสพงานศิลปะเพื่อจรรโลงใจในชีวิตเขา
พอมีโซเชียลมีเดียเข้ามา เขาว่างตอนไหนเขาสามารถเปิดดูงานศิลปะได้ตอนนั้น รู้สึกว่าเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญ ในการที่เราประสบความสำเร็จในทุกวันนี้”
“ไม่มีวันไส้แห้ง ถ้างานเรามีการพัฒนา”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน เธอเป็นที่จับตามองในฐานะศิลปิน ในวงการศิลปะ ย้อนกลับไปเธอยอมรับว่าศิลปะเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน ไม่เคยมีแนวคิดว่างานศิลปะจะสร้างรายได้ และสามารถยึดอาชีพ “ศิลปิน” เป็นอาชีพหลักอย่างปัจจุบัน
“ความคิดมันหายไปตั้งแต่ขายงานชิ้นแรกได้ค่ะ พอขายงานชิ้นแรกแล้วรู้สึกมีไฟมาก รู้สึกว่ามันก็เป็นเงินที่จำนวนเยอะ ที่เราสามารถอยู่ได้ ภายใน 1 เดือน รู้สึกว่าอย่างน้อยก็คิดว่ามันน่าจะอยู่ได้ ขายได้สักชิ้นมันก็น่าจะอยู่ได้แล้ว
จริงๆ ศิลปินส่วนใหญ่ คือ ถ้าที่ประสบความสำเร็จ ก็ไม่มีใครไส้แห้ง เท่าที่เห็น คือ มันขึ้นอยู่กับการ present ตัวผลงานว่า งานเรามีความน่าสนใจยังไง มีการพัฒนาต่อยังไง”
ในสังคมต่างมองว่าอาชีพนี้จุดจบคือ “ศิลปินไส้แห้ง” เธอในฐานะที่เป็นศิลปิน ที่สามารถทำลายคำเหล่านี้ คิดว่าตราบใดที่ศิลปินมีเส้นทางของตัวเอง และไม่หยุดพัฒนางาน ศิลปินคนนั้นไม่มีวันไส้แห้ง
“มันก็ไม่มีวันที่จะไส้แห้งหรอกค่ะ ถ้างานเรามีการพัฒนาต่อ หรือทำในรูปแบบที่มันแตกต่างจากคนทั่วไปจริงๆ โบว์เป็นคนชอบวาด Portrait มาก วาดเป็นหน้าคน แต่ว่าเราก็มองในเส้นทางของเราว่า ถ้าเราวาด Portrait เราต้องไปแข่งกับใครบ้าง
มันมีคนเก่งที่วาดคนเหมือน ในเส้นทางนี้กี่คน ก็พยายามดู เราก็รู้สึกว่าเราไม่มีวันข้ามเขาไปได้แน่เลย มันอาจจะสุด แต่อาจจะไปไม่ได้เท่าเขา และสมมติว่าเรามีเงินก้อนนึง เราก็คงอยากไปซื้อคนที่เก่งกว่านั้น ในราคาที่มันอาจจะบวกแพงขึ้นนิดนึง แต่เราได้งานที่ดีไปเลย
โบว์รู้สึกว่าพยายามสร้างทางตัวเอง ที่มันแตกต่าง และคู่แข่งน้อยทางการค้า หรืออะไรก็ตามแต่ และการให้ความสนใจ พอเราสร้างทางใหม่ขึ้นมา ทุกคนก็จะให้ความสนใจ มันก็ทำให้
เราก็เป็นหัวในเส้นทางนั้น โบว์รู้สึกว่า ถ้าคนพยายามหาทางตัวเองเจอ ไม่มีวันไส้แห้งหรอกค่ะ”
ด้วยลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้มูลค่าผลงานของเธอก็พุ่งสูงขึ้น กระทั่งภาพบางชิ้นสามารถสร้างเงินได้ตั้งแต่เรียนไม่จบ โดยความสำเร็จของผู้หญิงคนนี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่ผ่าน “ความคิด” ตั้งแต่ก่อนจบการศึกษา
“จริงๆ เริ่มไม่ขอเงินผู้ปกครอง ตั้งแต่ปี 4 เทอม 1 ผลงาน Thesis ชุดนั้นจะมีกลิ่นอายของความเป็นเฟลมิซ เพราะว่าในทุกชิ้น จะวาดแค่ผู้หญิงแค่คนเดียว แล้วที่เหลือเป็นสัตว์ จริงๆ เหมือนเป็นการจำลองโลกๆ หนึ่ง ในภาพ ขายได้รวมๆ ก็จำนวนหนึ่ง
ไม่เคยจำกัดความว่างานเป็นอะไร แต่ว่าจะเรียกว่า Surreal บางคนจะเรียกว่า Fantasy art จริงๆ มันก็เป็นได้ทั้ง 2 อย่าง แล้วแต่จะเรียกเลย
กลุ่มคนซื้อที่ดูมาจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สะสมงาน ที่เขาคอยสะสมงานเพื่อเก็งกำไรต่อในอนาคต ที่เขาจะดูว่าเราโตขึ้น มีการพัฒนาอะไร ยังไงบ้าง ซึ่งมีการขายในตลาด มันมีราคาที่มีกลไกตลาดอยู่แล้วค่ะ
กับอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ที่ซื้อเก็บเอาไว้ติดบ้าน ซื้อชื่นชอบ ซื้อแล้วไม่ได้ผ่านการเก็งกำไรต่อ ก็จะมี 2 กลุ่มที่ซื้อ ส่วนใหญ่จะเป็นโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ไอจี และจากรายการหรือบทสัมภาษณ์หลายๆ ที่ ที่ทำให้คนรู้จัก”
โดยผลงานที่ภูมิใจแล้วขายได้ราคาดี มักจะมาในรูปแบบของการประมูลหารายได้ ซึ่งถูกตีราคาที่ค่อนข้างสูง ในฐานะคนที่มีอาชีพศิลปิน อายุน้อยในเส้นทางแห่งนี้ ยงคงมุ่งมั่นพัฒนาฝีมือต่อไป
“ส่วนใหญ่มันจะไปในรูปแบบของการประมูลค่ะ และการร่วมงานกับสื่อบางสื่อ กับการร่วมงานแล้วรู้สึกว่า ภาพชิ้นนั้นมันกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ของเราไปเลย ว่าเคยอยู่หน้าปกอันนี้
มันตีราคาไปค่อนข้างสูง รู้สึกตื่นเต้นนิดนึง เพราะว่าเรายังเป็นเด็กอยู่ แล้วมีคนให้ความสนใจขนาดนั้น”
ตั้งเป้า “มอบเงินสนับสนุน” ให้ศิลปิน “คิดว่าสุดจริงๆ คงไปสากล คือ ถ้ามันสามารถขยายไปทางอื่นได้ก็คงไป ถ้าสุดทางจริงๆ ก็คงอยากไปสากล แต่ว่าพอสากลแล้วเราก็อยากทำศิลปะเพื่อคนอื่น โบว์คิดว่า จะตั้งเป็นองค์กร เพื่อให้ทุนการสนับสนุนศิลปิน เพื่อทำงานศิลปะต่อไป คือ เราอยากเป็นหนึ่งในกลไก ที่ทำให้วงการมันรันต่อมากกว่า ถ้ามันสุดทางแล้วของมัน รู้สึกว่าคงไม่มีอะไรสุดไปกว่านั้น คงกลับมาเพื่อศิลปะในประเทศมากกว่า” โดยการสร้างผลงานต่างๆ เธอไม่ได้คิดถึงรายได้ ว่าต้องได้เงินเป็นจำนวนมาก เพราะงานส่วนใหญ่จะเป็นการประมูลเพื่อการกุศล “ส่วนใหญ่ในการประมูลหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา มันเป็นเพื่อการกุศล ตัวเราเองก็พอใจในราคาเท่านี้ คือ เป็นพื้นฐานที่เราตั้ง หลังหักจากเกินตรงนั้นไป เราเป็นเพื่อการกุศลทั้งหมดเลยค่ะ ในประมูลที่ผ่านๆ มา ที่มันเป็นจำนวนเยอะ ด้วยความที่ตอนเด็ก ทุนของคณะมันน้อยมาก ทุนแค่หลักพัน เรารู้สึกว่าอุปกรณ์ศิลปะแค่สีหลอดหนึ่งเกือบ 1,000 บาท โบว์รู้สึกว่าทุนในลักษณะอย่างนี้ มันก็ไม่ได้ช่วยให้เด็กมีชีวิตที่ดีขึ้นขนาดนั้น เราเองก็รู้สึกว่า เราเป็นรุ่นพี่ที่ห่างกับเขาไม่กี่ปี เราประสบความสำเร็จ เราแค่อยากจะทำอะไรเพื่อเด็กๆ เพื่อพัฒนาวงการศิลปะ เด็กเองก็จะมีอุปกรณ์ที่ดีๆ ใช้ อุปกรณ์ที่พร้อมที่เขาจะสามารถพัฒนางาน หรือว่าทำงานสร้างสรรค์ที่มันขับเคลื่อนวงการให้มันดีขึ้น โบว์รู้สึกว่า เราอาจจะเป็นหนึ่งส่วนที่พัฒนาตรงนั้นได้” |
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **