นพ.โอภาส หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ เผยโอกาสการติดเชื้อซ้ำคนที่หายจากโรคโควิด-19 เกิดขึ้นได้น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ เพราะคนส่วนใหญ่จะมีภูมิที่สามารถป้องกันการการติดเชื้อซ้ำได้ แต่ระดับของภูมิที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อครั้งแรกตกลงไม่เท่ากัน
เมื่อวันที่ 15 ม.ค.เฟซบุ๊ก “Opass Putcharoen” หรือ นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้โพสต์ให้ความรู้ระบุว่า “โอกาสการติดเชื้อซ้ำของโควิด-19 คนที่หายจากโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่จะมีภูมิที่สามารถป้องกันการการติดเชื้อซ้ำได้ แต่ระดับของภูมิที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อครั้งแรกตกลงไม่เท่ากัน ได้มีโอกาสตรวจระดับของภูมิคุ้มกัน neutralizing antibody ด้วยวิธี surrogate neutralizing antibody ของมหาวิทยาลัย Duke-NUS ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่าคนที่ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงมักจะมีภูมิที่อยู่สูงและนานกว่าคนที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยๆ แต่ระดับของภูมิทุกคนทุกระดับความรุนแรงลดลงตามระยะเวลา
อีกปัจจัยคืออายุ คนที่อายุน้อยที่เวลาติดแล้วไม่มีอาการระดับของบางรายอาจจะต่ำจนมีโอกาสเกิดติดเชื้อซ้ำได้ ตอนนี้กำลังรวบรวมข้อมูลระยะยาวที 1 ปีหลังการติดเชื้อครั้งแรก “แต่โอกาสที่เกิดขึ้นไม่น่าจะบ่อย" โอกาสเกิดขึ้นได้น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนผู้ที่ติดเชื้อหกพันกว่าราย มีรายงานผู้ป่วยที่ติดเชื้อซ้ำอย่างน้อย 4 รายที่ยืนยันว่าเชื้อที่ติดซ้ำเป็นคนละสายพันธ์ุกับการติดเชื้อครั้งแรก อาการของการติดเชื้อซ้ำของ 4 รายมีทั้งอาการมากและอาการน้อย ปริมาณไวรัสในทางเดินหายใจก็อาจจะสูงและแพร่กระจายได้ มีการศึกษาหาโอกาสของการติดเชื้อซ้ำพบว่าคนที่ติดเชื้อซ้ำประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ไม่มีอาการ ต่างจากการติดเชื้อครั้งแรกที่มีอาการประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ การประมาณจำนวนผู้ที่ติดเชื้อซ้ำน่าจะยากเพราะส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่ยังคงสามารถแพร่กระจายเชื้อได้
ดังนั้น หากเคยเป็นโควิดมาก่อนมีโอกาสติดเชื้อซ้ำและแพร่กระจายเชื้อได้ ยังคงต้องใช้มาตรการการแพร่กระจายเชื้อเช่นเดียวกับคนอื่นๆ เช่น การใส่หน้ากาก การทำความสะอาดมือ distancing และน่าจะต้องฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิเหมือนคนที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน”
คลิกโพสต์ต้นฉบับ