เปิดใจนักเต้นเท้าไฟ “ครูเฟรม-วีรภัทร” จากความชอบตั้งแต่เด็ก สู่แดนเซอร์ศิลปิน นักร้อง ผันตัวเองไปเป็นเด็กฝึกที่เกาหลี ลบคำดูถูก อาชีพเต้นกินรำกินไปได้ไม่ไกล สอนสนุกจนบรรดาเหล่านักเรียนต้องรีเควสต์ ผ่านทุกบททดสอบของชีวิต ดิ้นรนเพียงคนเดียวมาตั้งแต่เด็ก กับอีกบทบาทเบื้องหลังครูสอนเต้น BNK48 พร้อมก้าวสู่การเป็นนักออกแบบท่าเต้นค่ายเพลงเกาหลีชื่อดังในอนาคต
จากแดนเซอร์ สู่เด็กฝึกที่เกาหลี
“แรงผลักดันของเฟรมน่าจะเป็นเพราะว่า เราเกิดมาไม่ได้มีครบเหมือนคนอื่น คือเฟรมจะนึกเสมอว่า คนเรามันมีสองแบบ คือคนที่เกิดมาพร้อม กับเกิดมาไม่พร้อม ถ้าคนที่เขาเกิดมาพร้อม ถ้าเขามีเงิน เขาจะเรียนในระดับไหนเขาก็ได้
แต่ในเมื่อเราเกิดมาแล้วเราไม่ได้มีซัปพอร์ตตรงนี้ สิ่งแรกที่เฟรมคิดคือ ต้องดิ้นรนหาเงินมาให้ได้ก่อน โดยที่เราไม่อยากรบกวนคนอื่นแล้ว เพราะว่าการรบกวนคนอื่นมันจะทำให้มีปัญหาตามมาอะไรหลายๆ อย่าง เราก็เลยตัดสินใจว่าออกมาหาเงินเอง”
ครูเฟรม-วีรภัทร จันทนางกูล วัย 26 ปี ครูสอนเต้นที่เรียกได้ว่าเป็นมาสคอตของ The inner studio ไม่ว่าจะใครที่สนใจเข้ามาเต้นที่นี่ เป็นต้องรีเควสว่าต้องเป็นครูเฟรมเท่านั้น ด้วยบุคลิกนิสัยส่วนตัว เป็นกันเอง เข้าถึงง่าย บวกกับยิ่งสอนยิ่งสนุก ทำให้มัดใจเหล่านักเรียนให้สมัครเข้ามาเรียนกันอย่างไม่ขาดสาย
The Inner Studio เป็นสถาบันสอนเต้นที่มีหลากหลายแนวการเต้นให้ได้เลือก ไม่ว่าจะเป็นการเต้นสำหรับการออกกำลังกาย หรือการเรียนเต้นจริงจัง ทั้งคลาสเรียนรวม และคลาสเรียนเต้นส่วนตัว กับแนวเต้นทั้ง K-Pop เพลงไทย Hiphop Street Jazz
ไม่รอช้าไปล้วงลึกตัวต้นของครูเฟรม ว่าทำไมเหล่าบรรดาเหล่าลูกศิษย์ต้องรีเควสต์ว่าต้องเป็นเป็นครูเฟรมเท่านั้น โดยนักเต้นเท้าไฟคนนี้เล่าว่า เริ่มเต้นมาตั้งแต่เด็กๆ เห็นเพื่อนเต้นและรู้สึกว่าตัวเองน่าจะได้เช่นกัน จึงลองดู และบวกกับชื่นชอบเพลงเกาหลี ยิ่งทำให้เต้นเป็นเรื่องสนุก
“มาเต้นเพราะว่าชอบตั้งแต่เด็กเลยครับ เหมือนกับว่าชอบอะไรที่เกี่ยวกับดนตรี แล้วก็รู้สึกว่าพอเราเริ่มเต้น แล้วเรารู้สึกว่าเราทำได้ดี ก็เลยอยากผันตัวมาเป็นครูเพื่อถ่ายทอดให้เด็กๆ ที่เขาชอบในสิ่งที่เขารัก ได้ทำเต็มที่
จริงๆ จุดเริ่มต้นคือตอนสมัยมัธยมมีเพื่อนคนหนึ่งเขาเต้น คือตอนนั้นไม่รู้จักการเต้นเลย เป็นคนขี้เขินมาก แต่ว่ามีเพื่อนคนหนึ่งเขาเต้นเพลงเกาหลี Girls Generation แล้วเขาเต้นให้ดู รู้สึกว่าชอบมาก ก็เลยให้เขาสอนเราหน่อย
พอเขาสอนเรา รู้สึกว่าเราทำได้ดี จำท่าได้ ก็เลยแบบว่าชอบตั้งแต่นั้นมาตลอด ก็พยายามแกะท่าเอง เรียนกับคุณครู แล้วก็มีโอกาสได้ไปเรียนเมืองนอกบ้าง ไปเรียนที่เกาหลี ฮ่องกง
ตอนนั้นเกาหลีเพิ่งจะเข้ามาเองมั้ง สมัยWonder Girls, Girls Generation, Shinee ยังไม่บูมเลยครับ ตอนนั้นกลายเป็นว่าเหมือนพอเต้นกับเพื่อนในโรงเรียน ก็เลยอยากมีชมรม พอเริ่มมีชมรม มันก็จะมีสายตาหลายๆ สายตาที่เขาจะมองมาว่าอะไรอ่ะ ค่อนข้างดูถูกนิดนึง แต่เฟรมก็ไม่ได้สนใจ เพราะว่าตอนนั้นเราก็ยังเรียนสายวิทย์อยู่
คือจริงๆ เฟรมได้โควตาวิศวะ หรืออะไรพวกนี้เลย เพราว่าเฟรมเรียนสายวิทย์ แต่ว่าเราแค่เต้นเพราะว่าเราชอบเฉยๆ แต่ก็แบบมันทำให้เราจุดประกายว่าแบบอยากทำเราก็ทำ เราไม่ต้องสนใจใคร”
ย้อนกลับไปช่วง 4 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะมาเป็นครูสอนเต้นที่ The inner studio ครูเฟรมเล่าว่า ตัวเองได้รับโอกาสให้ไปเป็นเด็กฝึกอยู่ที่ค่ายเพลงประเทศเกาหลี ด้วยการไปออดิชันด้วยตัวเอง และยังเป็นคนไทยคนเดียวที่ได้เข้าไปฝึกอีกด้วย
“มีโอกาสได้เป็นเด็กฝึกอยู่ที่ค่ายเพลงเกาหลีประมาณ 8 เดือน ก็เลยกลับมา มันเป็นค่ายเล็กๆ ครับ ชื่อว่า สตาร์ โรส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์
ตอนนั้นเฟรมเก็บตังค์ไปเรียนเต้นที่เกาหลีเอง ทีนี้ได้รู้จักกับผู้ใหญ่ที่นั่น เขาเหมือนพูดบอกว่ามีค่ายหนึ่งอยากได้เด็กไทย ลองไปดูไหม แล้วเราว่าง เราก็เลยไปออดิชัน แต่ตอนไปออดิชันคือเราพูดเกาหลีอะไรไม่เป็นเลย แล้วคนเกาหลีเขาไม่พูดอังกฤษกัน ก็เลยลองไปงูๆ ปลาๆ ไป ปรากฏได้เป็นเด็กฝึก
เฟรมเป็นคนไทยคนเดียว แต่ว่าในนั้นเขาจะมีเด็กผู้ชายที่เขาหามาเรื่อยๆ ตอนแรกเขาจะทำเป็นบอยแบรนด์ขึ้นมา แล้วให้เราเมนแดนซ์ตัวหลักในการสอนเพื่อนเต้นด้วย เรื่องท่าเต้น เรื่องเด็กฝึกเฟรมไม่ค่อยพูดกับใคร เพราะว่าไม่ค่อยอยากป่าวประกาศมันจะดูเหมือนว่าเรายอตัวเอง ถ้าใครถามก็จะบอกเฉยๆ
ด้วยความที่ว่าพอเราได้เป็นเด็กฝึก เราก็อยากลองดู ก็เลยซ้อม เรียนอยู่ในค่ายตั้งแต่สิบโมงถึงสี่ทุ่ม 6 วันเต็ม ได้พักวันอาทิตย์วันเดียว แล้วก็ได้ฝึกอยู่อย่างนั้น แล้วก็ได้ดูการทำงานเบื้องหลังของการถ่ายทำ MV ทำคอนเสิร์ตบ้างสุดท้ายก็ตัดสินใจกลับมาเป็นครูที่นี่
ตอนนั้นเราได้เป็นแค่เด็กฝึก แต่ด้วยความที่ว่า ค่าใช้จ่ายมันค่อนข้างเยอะ ไหนจะค่าตั๋ว ค่าที่อยู่ ค่ากิน ที่โน่นค่าครองชีพมันสูง แล้วเฟรมไม่ได้มีครอบครัว ไม่มีพ่อแม่ ตัวคนเดียวตั้งแต่อายุ 18 ปี
ถ้าคนอื่นเห็นภายนอกจะเห็นว่าหัวเราะ โหวกเหวก จริงๆ เป็นเด็กระยอง ด้วยความที่ว่าคุณพ่อคุณแม่ ย่า เสีย คนที่เลี้ยงมาเสียหมดเลย แล้วพอเราอยู่ระยอง เราเรียนถึงม.6 แต่ว่าพวกญาติๆ คนอื่นเขาไม่ซัปพอร์ตเราในเรื่องค่าใช้จ่าย เราก็ไม่อยากรบกวนเขา ก็เลยตัดสินใจขอออกจาก ม.6 แล้วก็บอกเขาว่า เดี๋ยวขอมาอยู่กรุงเทพฯ เองนะ มาเรียน กศน.เอง แล้วก็มาทำงานเอง
ก็ตัดสินใจมาอยู่กรุงเทพฯ แล้วก็เหมือนกับเราเริ่มจากการเป็นแดนเซอร์ทั่วไปก่อน แล้วก็เก็บเงินเองมาเรื่อยๆ ก็มีจ๊อบสอนบ้างก็รับ ก็จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่ได้ติดต่อคนที่ระยองเลยมาประมาณตั้งแต่อายุ 18 ปี
คุณพ่อเสียตั้งแต่ตอนเฟรมประมาณ ป.6 คุณแม่เขาไปมีครอบครัวใหม่ตั้งแต่เฟรมได้ 8 เดือน ก็เลยอยู่กับคุณย่ามาสักพักหนึ่ง ประมาณ ม.3 คุณย่าก็เสีย ก็เลยอยู่ที่บ้านย่า แต่ว่าอาเขาก็ที่จะช่วยบ้าง แต่ว่าพอมัธยมค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ทีนี้เราไม่อยากรบกวนเขา เราก็เลยหนีปัญหามาที่นี่”
จากเด็กต่างจังหวัด เริ่มต้นจากการเป็นแดนเซอร์ ชื่นชอบในการเต้นเป็นชีวิตจิตใจ ลงแข่ง cover dance จนชนะ จนได้ป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันที่ประเทศเกาหลีถึง 2 ปีซ้อน พร้อมทั้งไปแข่งกับอีกหลายประเทศจนชนะที่เกาหลีอีกด้วย จึงทำให้เส้นทางสู่อาชีพนี้มีคอนเนกชัน มีผู้ใหญ่ที่เคารพรักให้โอกาสได้ทำในสิ่งที่รักต่อไป
“บวกกับต้องเป็นตัวแทนไทยไปแข่งเต้นที่เกาหลี เหมือนกับได้แข่ง cover dance แล้วก็เลยชนะที่นี่ แล้วก็ไปแข่งที่เกาหลี มันอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่าง ม.6 เราก็เลยตัดสินใจขอออกดีกว่า เดี๋ยวเราทำงาน เก็บเงินเอง
อันนั้นเป็นการแข่ง cover dance คือเหมือนกับว่า ที่เกาหลีเขาจะมีโครงการ K-POP Cover Dance Festival คือเขาจะไปหลายๆ ประเทศ แล้วก็หาทีม cover ประจำแต่ละประเทศ 1 ทีม เพื่อไปแข่งกันที่เกาหลี 20-30 ทีม เฟรมได้ไป 2 ปี จำปีไม่ได้ แต่ว่าตอนนั้นชนะทั้ง 2 ครั้ง ชนะที่ไทย แล้วก็ไปชนะที่เกาหลีด้วย ที่ 1 หมดเลย 2 ครั้ง แล้วก็ได้รู้จักคอนเนกชันจากพี่ผู้ใหญ่ที่โน่น ก็เลยลองไปเป็นเด็กฝึก
ถ้ามีโอกาสเรียนก็จะเรียนต่อ เพราะว่าพอเรามาอยู่จุดนี้งานมันก็เยอะอยู่แล้ว ก็ตัดสินใจทำงานก่อนดีกว่า แล้วเดี๋ยวถ้ามีโอกาสเรียนก็จะกลับไปเรียน
ตอนแรกตั้งใจจะเรียนหลังจากที่เข้ามาที่กรุงเทพฯ แต่ว่าตอนนั้นงานเยอะมาก เราก็อยากจับไว้ก่อน มันเป็นคอนเนกชัน โอกาสของเรา ก็เลยยังไม่ได้เรียนต่อ ตอนนี้ถ้าพูดถึงวุฒิก็คือจบแค่ ม.3”
ตลอดระยะเวลา 8 เดือน ที่ได้รับโอกาสไปเป็นเด็กฝึกที่เกาหลี แต่ด้วยกำลังซัปพอร์ตไม่มากพอ ต้องมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เงินที่มีอยู่ติดบัญชีต้องติดลบ ทนกินมาม่ากับข้าวฟรีจากหอพักตลอดเวลา 8 เดือน เพราะใจแน่วแน่ อดทน อยากเป็นไอดอลให้ได้
“สาเหตุหลักเพราะว่าไม่มีใครซัปพอร์ต ไหนจะค่าตั๋ว ค่าที่พัก ค่ากิน ซึ่งมันเยอะมาก ค่าครองชีพที่โน่นเขาสูง เงินในบัญชีหมดเกลี้ยงเลย เงินเราล้วนๆ ตอนนั้นน่าจะประมาณแสนสองแสนบาท หมดเกลี้ยงเลยแค่ก้าวออกจากห้อง ค่ารถไฟฟ้า ค่ากินที่นั่นก็มื้อนึงก็ 300 บาทแล้ว ขั้นต่ำนะ ไหนจะการซ้อมการเดินทางมันค่อนข้างเยอะ แล้วปัจจัยต่างๆ ไหนจะยา เสื้อผ้าอะไรพวกนี้ แบบสุด
จนพอถึงบัญชีเราใกล้จะติดลบ ก็ปรึกษาเพื่อนว่าเอาไงดี แต่คือใจเราไม่อยากกลับ ใจเราอยากไปต่อ เพราะว่ากว่าจะได้โอกาสตรงนี้มามันไม่ใช่ง่ายๆ เพราะว่ามีอีกหลายคนที่เขาอยากได้แบบนี้มาก เราอยากไปต่อ
จนเพื่อนมันพูดบอกว่า ไม่จำเป็นต้องตะกุยตะกายขนาดนั้นก็ได้ ถ้าเราไม่มีก็ถอยออกมา ค่อยสร้างใหม่ แล้วค่อยกลับไปใหม่ มันก็จริง เพราะต่อให้เราดื้อดึงอยู่ต่อไป มันก็จะติดลบไปเรื่อยๆ แล้วเราก็จะไปขอยืมคนอื่น ถ้าไม่มีผู้ใหญ่และเพื่อนช่วยเหลือก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน
ตอนนั้นกินมาม่า คือที่หอเขาจะเป็นฟรีมาม่า ให้กินฟรีเลยกับข้าว เฟรมกินมาม่า 8 เดือนเต็ม เพราะว่ามันไม่มีตังค์ ก็เอามาม่ามากินฟรี ห่อสองห่อก็ต้องกินทุกวัน จนหน้าบวมโซเดียม หนักเลยครับ แต่ว่าเพื่อความอยู่รอดก็ต้องกิน”
แม้ความฝันการเป็นไอดอลดับวูบลง ก็ไม่น้อยใจ ถือเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ชั้นดีของชีวิต สอนให้เข้มแข็งขึ้น ในเมื่อได้ลองทำแล้ว แต่ไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ ก็หันกลับมาทบทวนตัวเองว่าเก่งอะไร คำตอบที่ได้คือ การเป็นครูสอนเต้น
“ในความจริงเฟรมก็อยากเป็นไอดอลแหละ แต่พอเราลองไปอยู่จุดนั้นแล้วมันไม่ได้ เราก็ต้องทำใจ อย่างแรกเลยก็คือยอมรับเลยว่า เราไปถึงจุดนั้นไม่ได้นะ แล้วก็ลองหาตัวเองใหม่ว่าเราเก่งอะไร
พอเรากลับมา เรารู้ว่าเราเก่งเรื่องการสอน เรื่องการถ่ายทอดให้แก่คน แล้วปรากฏว่ามันประสบความสำเร็จกว่าการเป็นไอดอล เราก็จะภูมิใจในตัวเองแล้วว่า เราเลือกทางที่ถูก
แต่ว่าไม่ใช่แบบว่า น้อยใจที่เราเลือกทางนั้น เราถือว่ามันคือประสบการณ์สอนให้เราเข้มแข็งขึ้นในการเปลี่ยนมุมมอง ในสายอาชีพนี้มากขึ้น”
ลบคำดูถูก พิสูจน์ตัวเอง
จากเด็กต่างจังหวัด พ่อเสียชีวิตตั้งแต่เด็ก แม่ไปมีครอบครัวใหม่ ย่าที่เลี้ยงดูมาก็ต้องมาเสียชีวิต ทำให้สูญเสียเสาหลักครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก ต้องใช้ชีวิตตัวคนเดียว ดิ้นรนหนทาง บอกตัวเองเสมอว่าต้องสู้ต่อไป
ทำให้ตอนนี้มียึดอาชีพครูสอนเต้น สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่ามีรายได้มั่นคงสามารถเลี้ยงชีพตัวเองได้ ซึ่งแต่ละเดือนตกอยู่ที่ประมาณเดือนละ 20,000-30,000 บาท
“ตัวคนเดียวค่อนข้างเยอะ สำหรับหลายปีแล้ว ก็มีอุปสรรคค่อนข้างเยอะ แต่ก็แบบว่า ก็ต้องสู้ เราก็ต้องสู้ต่อไปจนมาสอนที่ The inner studio อาชีพเต้นคนเราสมัยก่อนจะมองว่า มันไม่ยั่งยืนหรอก มันไปได้ไม่นานหรอก แต่ที่นี่คือสามารถทำเป็นงานประจำได้ เฟรมก็เลยปักหลักอยู่ที่นี่ ช่วยกันทำ
จุดพลิกผันที่เอาอาชีพนี้เป็นหลัก ก็ตั้งแต่มาทำที่ The inner studio แต่ก่อนเฟรมก็เป็นแดเซอร์มาก่อน เป็นแดนเซอร์ให้ดารา อย่างพี่ ทาทายัง พี่มอส ปฏิภาณ ก็คือหลายคน
แต่พอเรามาถึงตรงนี้ เราลองมาสอนที่นี่ เราสมัครเข้ามาที่ The inner studioรู้สึกว่าเราสอนทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่แล้วเขาเข้าใจ เขาสามารถเต้นตามที่เราต้องการได้ เราเลยรู้สึกว่าเรามีความสามารถเรื่องการถ่ายทอด ทำยังไงให้คนที่เขาเต้นไม่เป็น สามารถเต้นเป็น
ก็เลยรู้สึกว่าอยากทำอาชีพนี้ ทำไปเรื่อยๆ เลย เราไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะเป็นยังไง แต่เราอยากทำไว้ก่อน ก็เลยเลือกทำอาชีพนี้เลยดีกว่า”
แรงกดดันในวัยเด็ก ทำให้พัฒนาตัวเองมากกว่าคนอื่น ดิ้นรนหาเงินด้วยตัวเองโดยที่ไม่รบกวนคนอื่น ชีวิตคนเราไม่เหมือนกัน เชื่อว่าโอกาสเป็นสิ่งที่สำคัญ ครูเฟรมก็ยอมรับว่าโชคดีที่มีโอกาสเข้ามาให้ได้พิสูจน์ตัวเอง
“แรงผลักดันของเฟรมน่าจะเป็นเพราะว่า เราเกิดมาไม่ได้มีครบเหมือนคนอื่น คือเฟรมจะนึกเสมอว่า คนเรามันมีสองแบบ คือคนที่เกิดมาพร้อม กับเกิดมาไม่พร้อม ถ้าคนที่เขาเกิดมาพร้อม ถ้าเขามีเงิน หรืออะไร เขาจะเรียนในระดับไหนเขาก็ได้
แต่ในเมื่อเราเกิดมาแล้วเราไม่ได้มีซัปพอร์ตตรงนี้ สิ่งแรกที่เฟรมคิดคือ ต้องดิ้นรนหาเงินมาให้ได้ก่อน โดยที่เราไม่อยากรบกวนคนอื่นแล้ว เพราะว่าการรบกวนคนอื่นมันจะทำให้มีปัญหาตามมาอะไรหลายๆ อย่าง เราก็เลยตัดสินใจว่าออกมาหาเงินเอง
เผื่อมีโอกาสเดี๋ยวเราจะเรียนเอง แต่ว่าเฟรมมองว่าโอกาสสำคัญมาก ในชีวิตคนเรา เพราะว่าต่อให้เราเรียนสูงแค่ไหน ถ้าโอกาสมาหาเรา มันวิ่งเข้ามาหาเรา แล้วเราไม่จับเอาไว้ มันก็เหมือนศูนย์เปล่า แล้วเฟรมได้มีโอกาสทำแดนเซอร์ ไปออดิชัน ไปเป็นเด็กฝึก เฟรมก็อยากจะเอาไว้ก่อน
ไม่ใช่ว่าการศึกษาไม่สำคัญ การศึกษาของคนไทยสำคัญอยู่แล้ว แต่ชีวิตคนเราไม่เหมือนกัน บางคนโอกาสอาจจะสำคัญกว่าในชีวิตของเขา เฟรมก็เลยอยากคิดบวก แล้วก็ถ้ามีโอกาสก็สัญญากับที่บ้านไว้ว่าอยากจะเอาใบปริญญามาให้เขาสักใบหนึ่ง
แต่ว่าตอนหลังก็มีโอกาสได้ติดต่อที่บ้านบ้าง ญาติคนอื่น กลายเป็นว่า จากที่เขาเคยดูถูกเรา จนทะเลาะแบบหนักจนเฟรมหนีออกจากบ้านเลย ไปอยู่คนเดียว ไปอยู่บ้านเพื่อน
พอเราพิสูจน์ให้เขาเห็นได้ว่า พอเรามาถึงตรงนี้ เราสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง มีเงินเก็บของตัวเอง มีทรัพย์สินของตัวเองได้ เขาเลิกพูดเลย แล้วกลายเป็นว่าเขาสนับสนุนเรามากกว่าแต่ก่อน ก็คือเหมือนกับว่าไม่ต้องไปพูดอะไรมาก ทำให้เขาเห็น แล้วเดี๋ยวเขาจะเชื่อเองในสิ่งที่เราตั้งใจของเราเอง”
จากเมื่อก่อนที่บ้านไม่ยอมรับในอาชีพนักเต้น ว่าไม่สามารถไปได้ดีได้ จนทะเลาะหนักทำให้ครูเฟรมต้องหนีออกจากบ้าน วันนี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่าสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง
“ครอบครัวไม่ได้ส่งเสริม ด้วยความที่ว่า เขาอยากให้เราเรียนวิชาการ อยากให้มีอาชีพที่ดี คือเราก็เข้าใจเขา แต่ว่าเรารู้ตัวเองว่าเราถนัดอะไร เราก็อยากทำให้เขาเห็นว่า เราสามารถไปตรงนี้ได้นะ
ซึ่งสมัยก่อนคนแอนตี้ด้านนี้มาก แต่ว่าพอมายุคนี้ สมัยนี้ คนเปิดกว้างขึ้นเยอะมาก ทุกวันนี้คนส่งเด็กมาเรียน ผู้ใหญ่มาเรียน เพราะว่าการเต้นมันไม่ใช่แค่มาเต้นแล้วก็จบไป หนึ่งมันเสริมบุคลิกภาพ สองสร้างความกล้า สามสร้างความมั่นใจ สี่เรื่องลำดับความคิด การจำท่า มันสามารถไปเสริมกับการเรียน หรือว่าในอาชีพของตัวเองได้ค่อนข้างเยอะเลย
แล้วก็สำคัญที่สุดคือการได้มาปลดปล่อย เหมือนแบบเด็กนักเรียนเรียนมาเครียด บางคนทำงานเยอะ พอมาเต้นปุ๊บ มันเหมือนเป็นการเอาพวกนี้ออกไปจากร่างกายเรา แล้วทำให้เรามีความสุขมากขึ้น ฉะนั้นกิจกรรมพวกนี้มันกลายเป็นเหมือนบำบัดไปในตัว ว่าทำให้คนที่เครียดๆ หรือไม่มีความสุข เกิดความสุขขึ้นมาได้”
นอกจากนี้ ครูเฟรมยังมองว่าอาชีพนี้สามารถก้าวหน้าได้ อยู่ที่ทัศนคติของคนมองมากกว่า หากให้ความสำคัญกับอาชีพนี้รับรองว่าไปได้ไกลแน่นอน
และอยากให้พ่อแม่ทุกคนที่ลูกชื่นชอบทางนี้ ไม่อยากให้กีดกัน อยากให้ซัปพอร์ตในสิ่งที่เด็กชอบ เพราะถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมให้เด็กไม่ติดเกม และไม่ติดโทรศัพท์ได้
“สำหรับเฟรมมองว่าก้าวหน้าได้ มันอยู่ที่ทัศนคติของแต่ละคน คือถ้าเราคิดบวก ให้ความสำคัญ ให้ความบวกกับกับอาชีพนี้มันไปได้แน่นอน ในความคิดเฟรมนะ ตอนนี้เราสอนไหว แต่พอเราแก่ขึ้น เราอาจจะไม่ไหวแล้ว เราก็แค่ปรับตัวโดยการที่สอนน้อยลง แต่เราไปปั้นครูคนอื่นขึ้นมา เพื่อให้เขามาเป็นทีมเรา แล้วเราก็ไปเป็นเหมือนมาสเตอร์อีกทีนึง
หลังจากนั้นเราอาจจะไปทำเบื้องหลังก็ได้ ในการออกแบบท่าเต้น ดูแลศิลปินอะไรพวกนี้ครับ ซึ่งมันสามารถทำไปได้อยู่ระยาวเลย อยู่ที่ว่าเราจะปรบตัวแบบนั้นมากกว่า
อยากให้ผู้ปกครองเขาเปิดใจ ให้ความสำคัญกับความชอบของเด็ก คือเด็กอนาคตเขายังไม่รู้หรอกครับว่าเขาอยากจะเป็นไอดอล หรือเป็นนักร้องหรือเปล่า แต่ ณ ตอนนี้เขาชอบเต้น เขาสามารถทำด้านนี้ได้เต็มที่ ด้วยใจรักของเขา อยากให้ผู้ปกครองผลักดันไปเลย
เข้าใจในมุมเขาว่า เขาอยากให้เด็กๆ มีอนาคต หรือมีอาชีพที่มั่นคงในชีวิตของเขา แต่ว่าเฟรมอยากให้เขาเปิดใจมากกว่า การเต้นมันไม่ได้ปิดกั้นในเรื่องของอาชีพ
และอีกอย่างมันเป็นกิจกรรมที่เสริมบุคลิกของเด็กอยู่แล้ว ที่สำคัญเลย ทำให้เด็กส่วนใหญ่ไม่ติดมือถือ และไม่ติดเกม อันนี้ส่วนใหญ่ค่อยข้างเยอะ ผู้ปกครองจะชอบมาบอก อยู่บ้านน้องคนนี้เล่นแต่มือถือ แม่เลยส่งมาเต้น กลายเป็นว่าเด็กจะชอบเต้น มาทุกครั้ง ทำให้เขามีกิจกรรมใหม่ๆ ได้ทำ”
บททดสอบชีวิต พัฒนาแบบไม่หยุดยั้ง
ครูเฟรมเล่าถึงวิธีคิดของตัวเองที่ต้องเติบโตโดยที่ไม่มีพ่อแม่มาซัปพอร์ต แม้จะเจอคำดูถูก ต้องมีใจที่เข้มแข็ง ทุกคนมีมุมเกเร แต่ต้องรู้จักปรับตัว และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา
“จริงๆ พวกนี้อาจจะต้องเกี่ยวกับเรื่องทัศนคติ คือ ถ้าพูดตามตรงนะ เฟรมตัวคนเดียวขนาดนี้ ถ้าเราไม่ได้เจอผู้ใหญ่ที่เขาคอยสอนเรา หรืออะไรอย่างนี้ มีโอกาสในการเจอผู้ใหญ่ เฟรมอาจจะเป็นเด็กเกเร เด็กแว้น หรือเด็กข้างทางไปแล้ว
รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนโชคดีที่เราได้เจอผู้ใหญ่ที่เขาคอยสอนเราว่า ต้องทำแบบนั้นนะ ต้องทำแบบนี้นะ เราต้องโตไปเป็นแบบนี้ ซึ่งทุกคนมีมุมเกเรกันหมด มีแน่นอน แต่ว่าเกเรได้ แต่ต้องปรับตัว เฟรมก็จะคิดแบบนี้ ผิดก็ขอโทษ แล้วเราก็ทำใหม่ ปรับปรุงตัวใหม่
สำหรับเฟรมได้มีโอกาสเจอผู้ใหญ่ที่เขาคอยสอนในการใช้ชีวิตตัวคนเดียว เจอหลายคนมากผู้ใหญ่ที่เขาอยู่คนเดียวเหมือนกัน เขาเลยสอนว่า มันต้องคิดแบบนี้นะ ต้องทำตัวแบบนี้นะ แล้วเราจะอยู่คนเดียวได้ โดยที่เราไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ซึ่งมันก็จริง”
ครูเฟรมเล่าอีกว่า ส่วนใหญ่จะพบเจอผู้ใหญ่ที่คอยให้ข้อคิด คอยให้คำปรึกษาในชีวิต จากการสอนเต้น ทำให้เข้าใจมุมมองในการใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่มากขึ้น
“ยกตัวอย่าง พี่หญิง เขาเป็นประธานกรรมการโรงพยาบาลเจตนิน ตรงชิดลม เขาก็เหมือนให้เฟรมไปสอนเต้น ได้รู้จักกันจากการสอนเต้น จากครูคนอื่น พอไปสอนก็ได้สนิทกัน เขาก็จะสอนเลยว่าเธออย่าทำแบบนี้นะ อย่าทำแบบนั้นนะ
คือพอเราได้คลุกคลีกับผู้ใหญ่ เราได้เข้าใจมุมของผู้ใหญ่ว่าทำไมเขาคิดแบบนี้ แล้วเราก็จะเข้าใจเหตุผลว่า อ๋อที่เขาคิดแบบนี้ เพราะว่าอะไร”
กว่าจะเก่งมาได้ขนาดนี้ต้องฝึกหนัก บอกกับตัวเองเสมอว่าเป็นครูที่เรียนและสอนในเวลาเดียวกัน ในขณะเดียวกัน ยังย้ำอีกว่า สายอาชีพนี้ต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาหากอยากก้าวกระโดดไปไกลกว่าคนอื่น
“จริงๆ สายอาชีพนี้ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา คือเราจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ อย่างทุกวันนี้ที่เฟรมสอน เฟรมก็จะคิดบวกแบบว่าการสอนทุกวันนี้เหมือนเราเรียนไปในตัว
จะมีคติของเราที่บอกว่า เราเป็นครูที่เรียนและสอนในเวลาเดียวกัน คือเหมือนกับว่าเราสอนคนอื่นเราก็ให้คนอื่น แต่ในขณะเดียวกันเราเรียนรู้ในการสอนคนอื่นว่าสอนคนนี้ คนที่เขาไม่มีพื้นฐานเลย ทำยังไงให้เขาเต้นได้ ทำยังไงให้เขาเข้าใจในสิ่งที่เราถ่ายทอดให้เขา
มันก็เป็นเหมือนกับการว่าเราเรียนรู้ว่า อ๋อใช้คำแบบนี้นะ บอกเขาแบบนี้นะ แล้วเขาเก็ต พอเขาเก็ตเราก็จะรู้ว่าอ๋อมันคือวิธีแบบนี้ กลายเป็นว่าทุกวันนี้เราต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เหมือนได้สอนในคลาสหนึ่งมันเหมือนเราได้ซ้อมเต้นไปในตัว
เท่ากับว่าทุกวันนี้เฟรมซ้อมเต้นมาตลอด 3 ปี อยู่ที่นี่เหมือนเราได้เต้น ได้ขยับร่างกายอยู่ตลอดเวลา ทุกวัน ไม่มีวันไหนที่ไม่ได้เต้นเลย มันก็แบบว่าทำให้เราเหมือนก้าวกระโดดไปไกลกว่าคนอื่น”
ยอมรับมีน้อยใจในชีวิตบ้างที่ไม่เพียบพร้อมอย่างคนอื่น แต่ก็ได้เพียงแต่บอกตัวเองอยู่ตลอดเวลา อย่าท้อ อย่าถอย ต้องอยู่คนเดียวด้วยตัวเองให้ได้ และต้องสู้ต่อไป
“น้อยใจในชีวิตไหม มีแน่นอน เพราะว่า บางทีสมมติว่าเราเหนื่อย เรารับงานเยอะๆ จนล้น จนเหนื่อย พอมาถึงห้องบางทีเรารู้ว่าเราไม่มีใครซัปพอร์ตข้างหลัง ก็จะมีน้อยใจบ้าง ก็จะมีแบบคิดถึงคนบนฟ้าก็จะมีบ้าง คือเราก็ต้องบอกตัวเองว่ายังไงเราก็ต้องสู้ต่อไป อย่าท้อ อย่าถอย สู้ต่อไป เอาให้แบบว่าอยู่คนเดียวได้ด้วยตัวเอง จะคิดแบบนี้
ช่วงที่ดาวน์ที่สุดอาจะเป็นช่วงที่เข้ามากรุงเทพฯ เพราะว่ามันเหมือนเราเริ่มต้นชีวิตใหม่เลย เราไม่มีคอนเนกชัน เราไม่รู้จักอะไรเลย แต่ว่าพอเราพยายามคิดบวก เราต้องสู้ เราต้องกระโดดเข้าไปหาโอกาส คือเราจะรอให้โอกาสวิ่งมาหาเราไม่ได้ เราต้องเป็นคนสร้าง เปิดทางให้โอกาสมาหาเราเอง
วิธีปรับตัวของเฟรมง่ายๆ คือ อย่างแรกต้องคุยกับตัวเองก่อนว่า สู้นะเว้ย อย่าท้อนะเว้ย โอกาสมันแค่นี้เอง มันเป็นแค่เรื่องจิ๊บๆ ก็จะบอกกับตัวเองอย่างนี้เสมอๆ แล้วก็พยายามคิดบวกกับสิ่งที่ตัวเองทำ ทำแล้วมันดีทำไปเลย ขอแค่ไม่ต้องไปรบกวนใคร ไม่ทำให้ใครลำบากแค่นี้พอ”
บางครั้งเหนื่อยจนอยากออกไปทำอาชีพอื่น แต่สุดท้ายด้วยใจรักก็หนีไม่พ้น การเป็นครูสอนเต้น เพราะทุกวันนี้การเต้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว
“มีบ้างอยากลองไปทำอย่างอื่น แต่ก็สุดท้ายแล้วใจเรารักด้านนี้จริงๆ คือกลายเป็นว่าทุกวันนี้การเต้นมันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตแล้ว แค่กลับไปห้องอย่างน้อยต้องเปิดเพลงเต้นในห้องน้ำ (หัวเราะ) มันเป็นที่ที่เรามีสมาธิที่สุด ก็มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้ว ถ้าวันใดวันหนึ่งเฟรมไม่เต้นจะรู้หงุดหงิดมาก วันนี้ต้องสักเพลง”
ปั้นไอดอล เบื้องหลังครูสอนเต้น BNK48
แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จในด้านการเป็นไอดอล แต่การเป็นไอดอลก็ยังถือเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ที่ยังอยากทำอยู่หากมีโอกาสอีกครั้ง แต่ด้วยเงื่อนไขของอายุ ทำให้เปลี่ยนวิธรคิดในเมื่อสานฝันตัวเองไม่สำเร็จในด้านนี้ ก็หันมาผลักดันลูกศิษย์คนอื่นที่สนใจ ให้ไปยืนบนจุดนั้นได้
ทำให้ครูเฟรมมีสิ่งที่ภูมิใจอีกหนึ่งอย่าง นั่นคือการได้เป็นเบื้องหลัง เป็นครูฝึกสอนเต้นให้แก่ น้องโมเน่-ภาริตา ริเริ่มกุล หรือโมเน่ BNK48 รุ่นที่ 3
“จริงๆ ก็ยังอยากเป็นอยู่ครับ เพราะว่ามันเป็นความฝันของเราอยู่แล้ว แต่ว่าด้วยอายุตอนนี้มัน 26 ปีแล้ว ถ้ามีโอกาสก็อยากทำ แต่เราก็เปลี่ยนความคิดด้วยการที่ว่า ถ้าเราอยากทำ แต่เราทำไม่ได้ นั้นเราให้เด็กๆ เขาทำแทนให้เรา
ก็กลายมาเป็นครูสอนเต้น แล้วก็ถ่ายทอดให้เด็กเขา แล้วก็ผลักดันเขาให้ไปเป็นตัวแทนความฝันของเรา เราก็จะมีความสุขแล้ว เห็นลูกศิษย์ได้ไปเป็นในสิ่งที่เราอยากเป็น เราก็จะภูมิใจ
ตอนนี้ก็จะมีคนหนึ่งครับชื่อน้องโมเน่ เขาเรียนกับเฟรมตั้งแต่ 7-8 ขวบเลย จนถึง 11-12 ปี ตอนนี้เซ็นสัญญาเป็น BNK รุ่นที่ 3 เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ก็ประสบความสำเร็จ
โมเน่คือโดนเฟรมดุ โดนเฟรมว่าเยอะมาก แต่เขาไม่ท้อ เขาไม่ถอย เขาจะสู้ เขาจะทำ สนิทกับคุณแม่ คุณแม่ก็บอกว่าเขาจะทำให้ครูเฟรมเห็นให้ได้ว่าเขาจะเป็นเพื่อเราให้ได้ ประทับใจ แล้วเขาก็ทำให้เราเห็น ทุกวันนี้ก็คุยกับคุณแม่ตลอดว่าเราภูมิใจจริงๆ นะว่าเขาทำเพื่อเรา ก็ภูมิใจกับเขา”
เมื่อถามถึงความเห็นของครูเฟรมว่า ทำไมไทยเราที่ทำวง บอยแบรนด์ เกิร์ลกรุ๊ป ขึ้นมาถึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จอย่างที่ควร มาเป็นช่วงๆ แล้วก็หายไป ครูเฟรมบอกว่าอยากให้ทุกคนเปิดใจมากขึ้นกว่านี้ในการสร้าง T-POP และถ้ามีโอกาสตนก็อยากจะผลักดันในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
“มันอยู่ที่คนคิด จริงๆ มองว่าการทำบอยแบรนด์ เกิร์ลกรุ๊ป ทุกประเทศมันทำได้หมด แต่มันแค่เป็นเพลงไทย เป็นเพลงประเทศใครประเทศมันแค่นั้นเอง
คือจริงๆ อย่างเพลงเกาหลี อยู่ดีๆ คนก็จะตีความว่ามันคือแนว K-Pop แต่จริงๆ มันก็คือเพลงๆ หนึ่งเหมือนกัน บ้านเราก็เหมือนกัน ถ้าเราทำขึ้นมา
เฟรมมองว่ามันก็ไม่ผิดที่จะทำ เพราะมันก็คือการครีเอตขึ้นมาในอีกแบบหนึ่ง ในการสร้างบอยแบรนด์ และเกิร์ลกรุ๊ป แต่ว่าแค่เป็นภาษาไทยบ้านเรา อยากให้คนเปิดใจมากขึ้นในการสร้าง T-POP บอยแบรนด์
เรื่องนี้เฟรมก็คิดมาสักพักเหมือนกันนะครับ คือถ้าพูดตามตรงถ้าไม่มีลิซ่า Blackpink คือเขาเป็นเหมือนใบเบิกทางในการทำให้คนไทยเห็นว่า คนไทยไปได้นะ ในจุดๆ นี้
แต่ส่วนตัวเฟรม พอเราไปถึงตรงนั้นแล้ว ไปเป็นเด็กฝึกแล้วกลับมา เฟรมก็เกิดความคิดใหม่ อยากทำ T-POP ที่เป็นแบบบอยแบรนด์ เกิร์ล กรุ๊ป ที่เป็นของไทยขึ้นมา ถ้ามีโอกาสก็อยากผลักในด้านนี้”
นอกจากนี้ ครูเฟรมยังเล่าถึงประสบการณ์ในการไปเป็นเด็กฝึกที่เกาหลี ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการสอนที่ไทยได้เป็นอย่างนี้ นั่นคือเรื่องของระเบียบวินัย และยังถือเป็นบททดสอบไปในตัว
“สิ่งที่ได้ไปเป็นเด็กฝึกที่เกาหลี สิ่งแรกคือ การฝึกที่เหี้ยมมากในค่าย คือเขาจะต้องให้ไปถึงที่ค่ายสิบโมง แล้วอยู่ยันสี่ทุ่ม อันนี้เรื่องแรกที่ได้คือระเบียบวินัย ค่อนข้างระเบียบวินัยเลย
ถ้าสายคุณก็โดนลงโทษอยู่ดี ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม คุณจะต้องรักษาเวลา ซึ่งที่เกาหลีเขาจะซีเรียสมาในการรักษาเวลา เราก็เอามาปรับใช้ที่นี่ เราก็จะบอกเด็กว่า ต้องมาให้ตรงเวลานะ ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม
สองคือตอนไปถึงค่าย เขาจะให้เราขัดห้องน้ำ ขัดรองเท้าให้เจ้านาย ทุกคนตลอด เพื่อเป็นการลดอีโก้ลง เพราะว่าสมมติว่าเด็กคนหนึ่งเข้าไปเป็นเด็กฝึกได้ เขาจะรู้สึกพราวแล้ว ฉะนั้นเขาจะต้องลดอีโก้ลง ให้คิดว่าเราเป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่ง เพื่อในการเจอกับคนอื่นไม่ให้เรามั่นใจจนเกินไป ไม่รู้สึกว่าพราวจนเกินไป ให้รู้สึกว่าเหมือนเราเป็นเพื่อนกัน รุ่นเดียวกัน ซึ่งตรงนี้เฟรมชอบมาก
สามก็คือเรื่องการฝึก เขาจะฝึกจริงจังมาก สมมติว่าเขาเปิดเพลงขึ้นมาเต้น ถ้าเต้น 10 รอบ คุณต้องเต้นแรงเต็ม 10 รอบ โดยที่ไม่ผ่อนเลย ถ้าผ่อนคนหนึ่งเขาปิดเพลงใหม่ ถือว่าคุณเอาเปรียบคนอื่น ซึ่งอันนี้เฟรมชอบเหมือนกัน ตรงที่ว่าต้องให้ความสำคัญกับเมมเบอร์ในทีมด้วย ไม่ใช่ว่าคุณได้เข้ามา จะเต้นยังไงก็ได้ ไม่ได้ คุณต้องก้าวไปด้วยกัน ด้วยความสามัคคี
ตอนนั้นเขาให้เราเป็นแบบ ค่อนข้างให้ความสำคัญในเรื่องของการเต้น เหมือนแบบพอถึงตอนเย็นก็คือเขาให้เรานำวอร์มอัป สอนเบสิกท่าเต้น คิดท่าเต้นให้แต่ละคน ก็ค่อนข้างสนุก ท้าทายดี เราก็ได้ทดสอบตัวเองไปในตัว”
ลูกศิษย์รีเควสต์ว่าต้องเป็น “ครูเฟรม”
“มันจะดูอวยตัวเองไปไหม (หัวเราะ) ก็ feedback ตอนนี้ก็ค่อนข้างดีคำ เหมือนบางคนก็อยากมาเต้นกับเราค่อยข้างเยอะเลย แบบว่าเป็นคลาสเรา เหมือนตอนนี้เฟรมเป็น Mascot ของที่นี่ไปแล้ว ที่ the inner studio ใครมาที่นี่ก็บอกนี่ไงครูเฟรม หัวทองๆ ก็อยากเรียนกับเรา
ขอบคุณที่เขา feedback กลับมาแต่เราดีๆ แต่เราก็จะแบบถามเขา ถามลูกค้าเสมอ ถามนักเรียนเสมอ ครูสอนเป็นไงบ้าง มีตรงไหนที่ไม่เข้าใจไหม ก็พูดกับเราได้เลย เพราะว่าเราอยากเอาตรงนี้มาปรับใช้ และปรับเปลี่ยนวิธีการสองเราให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ลูกค้าเขาแฮปปี้กับการที่เขายอมมาที่นี่และได้เรียนกับเราแล้วมีความสุข”
ตอบข้อสงสัยทำไมคิวแน่นเอี้ยด เป็นคนตลก เข้าได้กับทุกคน เป็นจุดแข็งที่สำคัญทำให้มัดใจเหล่าบรรดาลูกศิษย์ได้สำเร็จ
“จริงๆ ทำให้คิวแน่นขนาดนี้ เฟรมว่าน่าจะเป็นนิสัยส่วนตัวเฟรม เพราะว่าเราเป็นคนตลก เราเป็นคนที่ไม่คีปลุคเลย แบบว่ารั่ว คือเราเข้าได้กับทุกคนมากกว่า จุดนี้สำหรับคิดว่าเป็นจุดแข็งสำหรับเรา
คือมันเป็นทำให้คนเข้าหาเราได้ง่าย เข้าถึงตัวได้ง่าย แล้วเราเป็นตัวของตัวเองในการสอนคนนี้ เขาก็จะรู้สึกว่าสนุก ครูคนนี้ตลก แล้วแบบบวกกับสอนให้เขาเจ้าใจได้ง่ายขึ้น ก็เลยเป็นจุดแข็งทำให้คนอยากเรียนกับเราตลอด
ผู้ปกครองเลยบอกว่าให้เรียนกับครูเฟรมได้ไหมคะ อะไรอย่างนี้ แย็บๆ นิดหนึ่ง เพราะว่าเด็กส่วนใหญ่ที่ Feedback ที่เขาบอกมาคือเด็กเขามีความสุข ความสุขแบบว่าอยากมาอีก ซึ่งพอผู้ปกครองเขาเห็นแบบนี้ เขาอยากสนับสนุน แต่ว่าครูที่นี่ดีทุกคนเลย เขาสนุกทุกคน และก็สอนเข้าใจทุกคนเลย ก็อยากให้ลองเรียนหลายๆ คน
ช่วงนี้เยอะเลยครับ เยอะกว่าเดิมอีก เพราะว่าเด็กจะชอบเต้น แล้วบางคนจะรีเควสต์เราเลย อยากเรียนกับครูเฟรม ก็จะแนะนำให้เรียนตาม Level ก็จะมี 5-7 ปี 8-12 ปี แล้วก็มีรุ่นคลาสผู้ใหญ่ ใครสนใจก็จะแนะนำให้เข้าตาม Level เพราะว่าแต่ละ Level การสอนจะไม่เหมือนกัน ยิ่งโตท่าก็จะยากขึ้นตาม Level”
เรียนกับครูเฟรมได้มากกว่าการเต้น เพราะจะสอนให้รู้จักวิธีคิดด้วย อยากให้ตั้งใจให้มาก ไม่อยากให้มาเสียดายทีหลัง
“หลักๆ เฟรมจะสอนให้เขาคิดดีกับสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ ส่วนใหญ่ก็จะมาจากการที่ดูยูทูปเฟรมในยูทูป แล้วแบบอยากเรียนกับครูคนนี้ แต่พอมาถึง เจาจะแบบว่าซน หรือสมาธิหลุดบ้างเราก็จะสอนในเรื่องของการสมาธิ สมาธิอยู่กับสิ่งหรือว่าจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เขาทำอะไรอย่างนี้ครับ
สองคือให้เขาเต็มที่กับสิ่งที่เขาชอบ ไม่ให้มาเสียดายทีหลัง สามคือให้คิดถึงคุณพ่อคุณแม่ที่เขาอุตส่าห์ยอมจ่ายเงินเพื่อมาเรียนกับเรา ฉะนั้นคุณต้องเรียนให้เต็มที่ ต้องมารับความรู้ให้ได้มากที่สุด เฟรมจะค่อยข้างซีเรียสกับความคิดเด็ก อยากให้เขาคิดบวก
ก็มีบ้างที่ดุ เราก็จะดุตามหน้างาน เราดุแต่เราก็จะสอนเขาไปในตัวว่าเราดุทำไม เราดุเพราะอะไร แล้วเด็กส่วนใหญ่ที่เราดุเขาก็จะฟังรับทราบค่ะ แล้วพอกลับมาอีกครั้งหนึ่งเขาก็จะเข้าใจมากขึ้น แล้วก็เป็นระเบียบมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เราก็โอเค เราภูมิใจกับเด็กที่เขาเข้าใจเรา
แต่ว่าเวลาที่เฟรมดุเราก็ดุจริงๆ เอาร้องไห้เลย เพราะว่าเราถือว่าคุณมาเรียนกับเราแล้ว คุณเป็นนักเรียนเราแล้ว เราก็ต้องสอนที่มากกว่าเต้น สอนให้เขาคิดดีกับสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ ให้เขาเต็มที่ ไม่ใช่ว่าแบบคุณอุตส่าห์ถ่อมาตั้งไกลเพื่อมาเรียนกับเรา แต่คุณมาเล่น มาซน อันนี้ไม่ได้แล้ว คือเราเห็นใจผู้ปกครองที่เขาผลักดันลูกเขา เราก็อยากให้เต็มที่ ให้เกินร้อย เราก็จะดุตามนั้น”
แกะท่า 5 นาทีสอนได้เลย
เรียกได้ว่าสั่งสมประสบการณ์มานานตั้งแต่เด็ก จนทำให้ตอนนี้ใช้เวลาเพียงแค่ 5 นาทีก็สามรถสอนลูกศิษย์ได้จบจบเพลงกันเลยทีเดียว คงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนถึงสนใจเข้ามายื่นใบสมัครเป็นลูกศิษย์กันไม่ขาดสาย
“นักเรียนถามเยอะมาก เวลาครูเฟรมแกะท่า ครูเฟรมมองปุ๊บแล้วเต้นได้เลยป่ะ ถ้าเป็นแต่ก่อน สมัยเริ่มเต้นแรกๆ นาน ใช้เวลาแบบอาทิตย์หนึ่งเลย เพราะว่าเรายังไม่ชินกับร่างกายเรา ซ้ายขวา หน้าหลัง หัวเอียง
แต่พอเราทำจนชิน ทำมาเรื่อยๆ ทำมาตลอดตั้งแต่อายุ 13 ปี ตอนนี้คือเฟรมแค่ถือมือถือแล้วเฟรมก็มองก็จำได้เลย เร็วสุดเคยแกะแค่ 5 นาทีก็ได้เลยทั้งเพลง เพราะว่าเราทำจนชิน
อย่างแรกเลยเวลาแกะท่าคือเราต้องเข้าใจร่างกายเราเองก่อนว่าอันไหนซ้าย อันไหนขวา บางทีแบบว่าพอบอกให้เด็กยกมือซ้าย นึกไม่ออกทั้งที่มันมีมือเดียวของเรา มันต้องอาศัยการทำซ้ำๆ ต่อเนื่องหลายๆ ปี จนตอนนี้เราเข้าใจสรีระร่างกายตัวเอง พอเราดูคลิปปุ๊บ เรารู้แล้วว่าเขามูฟไปทางไหน เราก็จะค่อนข้างไวนิดหนึ่ง
บางทีพี่เจ้าของบอกว่า เฟรมแกะเพลงนี้ให้พี่หน่อย มาจอ 5 นาทีเข้าไปสอนเลย (หัวเราะ) อันนี้อาจจะเป็นพรสวรรค์อีกอย่างหนึ่งด้วยในเรื่องของการจำ การเข้าใจร่างกายตัวเอง
พอเราเป็นครูเราต้องคอยอัปเดตเพลงด้วยว่า สมมติว่าเพลงนี้มันกำลังเป็นเทรนด์ หรือว่านักเรียนรีเควสต์ ครูเฟรมอยากเต้นเพลงนี้ช่วยหน่อย เราก็ต้องไปทำการบ้านในการแกะท่า หรือว่าในการดูท่ามาก่อน ก็ทำอยู่ตลอดเวลา อัปเดตเทรนด์ใหม่ๆ ตลอดเวลา”
เรียกได้ว่านอกจากมีพรสวรรค์ไหม ต้องมีพรแสวงด้วย เพราะตอนนี้ฝึกฝนจนเรียกได้ว่า การเต้นอยู่ในสายเลือดไปแล้ว ครูเฟรมยังยอมรับอีกว่า เป็นเหมือนสิ่งติดตัวไปจนตาย
“คนส่วนใหญ่ Feedback มาอาจจะเป็นเพราะว่าเฟรมมีพรสวรรค์ในเรื่องของการจำ หนึ่งคือการจำ สองคือการพูด พูดยังไงให้คนเข้าใจ อาจตะเป็นพรสวรรค์ของเราตรงนี้ก็ได้
แต่ว่าส่วนตัวเฟรมตะคิดว่า มันคือพรแสวงในการหาไอเดียหาโน่น หานี่มาเต้นใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตลอดเวลา แล้วเราก็เอามาใช้คู่กันทั้งพรสวรรค์ พรแสวง”
แม้จะจบเพียงแค่ชั้น ม.3 แต่ประสบการณ์ที่สั่งสมมา รวมถึงการเก็บเงินเพื่อไปเรียนเต้นก็ทำให้เกิดเป็นครูเฟรมในวันนี้ได้
“จริงๆ ด้านการสอนเฟรมว่ามันคือประสบการณ์ เราต้องอาศัยประสบการณ์ล้วนๆ เลย คือถามว่ามันมีวิชาด้านนี้ไหม มันมีโดยตรง แต่ว่าล้วนๆ เลยต้องเกิดจากประสบการณ์ คือต้องลองสอนก่อน แรกๆ อาจจะผิดๆ ถูกๆ บ้าง แต่ว่าเราก็รับคำคอมเมนต์ของคนที่เรียนกับเรา ถามเขาก็ได้ว่าเราสอนเป็นไงบ้าง ถ้าตรงไหนไม่ดีเราก็เก็บมาปรับเรื่อยๆ
ส่วนหนึ่งคือความมั่นใจ เพราะว่าการเป็นครูต้องเจอคนเยอะๆ แล้วเราจะต้องเป็นผู้นำกับคนอื่น ฉะนั้นเราต้องมั่นใจ สองรับฟัง สามยอมรับ ยอมรับว่าถ้าเราสอนตรงนี้ไม่ดี เก็บมาแล้วก็เอาปรับเปลี่ยนวิธีการ
เพราะแรกๆ เฟรมมาสอนที่นี่หรือที่ไหน เฟรมก็จะโดนคอมเมนต์เหมือนกันว่า สอนจริงจังไปนะ สอนอธิบายไม่เข้าใจนะ แต่มันอยู่ที่ตัวเราแล้วว่าเราจะปรับตัวไหม เราจะเปลี่ยนแปลงตรงนี้ไหม ถ้าเราเปลี่ยนได้ มันจะเพอร์เฟกต์ขึ้นไปเรื่อยๆ เราก็จะกลบข้อด้อยของเราไปเรื่อยๆ ทุกคนมันต้องมีจุดแรกกันหมดทุกคน”
ประสบความสำเร็จอีกขั้นของชีวิต
จากเด็กอายุ 13 ปี ดิ้นรนด้วยตัวเองมาตลอด เรียกได้ว่าตอนนี้ประสบความสำเร็จไปอีกขั้นของชีวิต สามารถตอบโจทย์ว่าอาชีพนักเต้น อาชีพครูสอนเต้นสามารถหล่อเลี้ยงชีวิตมาได้จนถึงตอนนี้
“ตอนนี้ถามว่าประสบความสำเร็จไหม ก็ขั้นหนึ่ง เพราะว่าเราสามารถตอบโจทย์กับคนที่ถามว่า จะยึดอาชีพนี้เป็นงานประจำได้ไหม เฟรมถือว่าตอนนี้ประสบความสำเร็จในขั้นหนึ่ง ในการที่เราอยู่ตรงนี้ ทำอาชีพนี้ แล้วเราสามารถอยู่ตัวคนเดียวได้โดยที่ไม่พึ่งใคร มีเงินเดือนเข้าตลอดเวลา ก็คือว่าประสบความสำเร็จ
แต่ว่าอนาคตอยากประสบความสำเร็จกว่านี้ไหมก็อยาก จริงๆ ใจลึกๆ ของเฟรม ด้วยความที่ว่ายังอยากเป็นไอดอลแหละ เพราะว่าเราก็เรียนร้องเพลงด้วย เพราะคุณพ่อเป็นนักดนตรีกลางคืน เฟรมก็จะอยู่กับเสียงเพลงตั้งแต่เด็กเลย”
ส่วนในอนาคตต่อไปนั้นก็ฝันว่า อยากเป็นนักออกแบบท่าเต้นให้กับค่ายเพลงดังที่เกาหลีใต้ อย่างวายจีเอนเตอร์เทนเมนต์
“ก็อยากจะเป็นครูที่ดีให้แก่รุ่นต่อๆ ไปด้วย กับอีกอันหนึ่งคืออยากโคโรกราฟเฟอร์ นักออกแบบท่าเต้นให้แก่ศิลปินค่ายดังๆ ถ้ามีโอกาสก็อยากจะลองไปในจุดนั้น
แต่ที่ใฝ่ฝันที่สุดเลย คืออยากไปเป็นคนโคโรกราฟให้แก่บริษัท Blackpink เพราะเราชอบ Blackpink มาก ชอบลิซ่ามาก เพราะลิซ่าเป็นจุดประกายด้านไอดอลที่เขาสู้ชีวิต ยอมเทรนด์ถึง 5 ปี
ซึ่งเด็กเทรนด์เขาจะรู้กันอยู่แล้วว่า ถึงคุณจะได้เป็นเด็กฝึก แต่คุณก็อาจจะไม่ถูกเลือกให้เดบิวต์ก็ได้ อาจจะเสียเวลาชีวิตไป 5-6 ปี แค่ลิซ่าเขาได้ เขาสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ เราก็เลยแบบ อยากไปทำเบื้องหลังให้เขาที่โน่น อย่างน้อยมันก็เป็นอีกจุดๆ ในการเป็นแรงผลักดัน ณ ตอนนี้
ตอนนี้เฟรมก็จะฝึกฝนเรื่องของการออกแบบท่าเต้น ออกแบบโคโรกราฟ เพื่อเก็บผลงาน ถ้ามีโอกาสก็อยากจะยื่นให้เขาดู ถ้าเขาชวนเราไปทำงานได้ ก็โอเคนะ ก็จะอีกความฝันหนึ่ง
แต่ส่วนใหญ่จะหนักไปที่เต้นลงยูทูป อย่างเช่น สมมติว่า พี่เขารีเควสต์มาว่าอย่างได้เพลงๆ หนึ่ง แต่มันไม่มีท่าเต้น แต่ลูกค้าชอบมาก เขาอยากเข้า เราต้องไปคิดท่าเต้น ซึ่งในยูทูปจะมีหลายเพลงมากที่เราออกแบบท่าเต้นให้ศิลปินของเพลงนี้ ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดี ยอดวิว 30-40 ล้านวิว
มีเพลงปี้จนป่น เพลงนี้ก็ค่อนข้างดัง ยอดวิว ยอดวิวก็ประมาณ 33 ล้านวิว แล้วคนเต้นทางบ้านเยอะมาก เหมือนบางทีเขาแท็กมาให้ดูบอกว่า เปิดเพลงนี้แล้วก็เต้นตามเรา ซึ่งมันก็ประสบความสำเร็จเหมือนกันกับเรา เขาเต้น เขาชอบท่าเรา ถ้ามีโอกาสก็อยากจะออกแบบท่าเต้นที่ไทยด้วยกัน ทั้งเมืองนอกด้วย”
กว่าจะมีวันนี้ต้องผ่านบททอดสอบของชีวิตมาอย่างหนักหน่วง สู้จนทำให้กลายเป็นครูตอนเต้นที่เหล่าบรรดาลูกศิษย์รีเควสต์จนไม่ค่อยจะมีเวลาพักกันเลยทีเดียว
ครูเฟรมยังได้ฝากถึงคนที่ต้องสู้มาด้วยตัวคนเดียวมาตลอดว่า อุปสรรคเหล่านั้นเป็นเพียงบททดสอบในชีวิตว่าเราจะคู่ควรกับความสำเร็จนั้นมากแค่ไหน
“จากเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่ง จากเด็กระยอง กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนผ่านอะไรมาเยอะมาก อุปสรรค เฟรมเชื่อว่าชีวิตทุกคนมีอุปสรรคทุกคน แต่อยู่ที่ว่าคุณจะสู้ไหม คุณจะมองว่ามันเป็นบททดสอบของชีวิตไหม อยากให้ทุกคนคิดบวก
เวลาเราเจออะไรเข้ามามันกำลังทดสอบเราอยู่ว่าคุณจะก้าวข้ามตรงนี้ไปได้ไหม ถ้าก้าวข้ามได้ คุณจะเป็นอีกคนที่มีภูมิคุ้มกัน เฟรมมองว่ามันมีภูมิคุ้มกันว่าคุณสามารถต่อสู้กับเรื่องพวกนี้ได้ ยิ่งคุณผ่านอุปสรรคพวกนี้มาเท่าไหร่ มันจะเหมือนเป็นยาที่ทำให้เรามีภูมิคุ้มกันในการก้าวข้ามในเรื่องพวกนั้นไปได้ง่ายเลย
ก็อยากให้ทุกคนสู้ๆ นะครับ อย่าน้อยใจในชีวิตตัวเอง ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เกิดมาบนกองเวินกองทอง หรือมีครบเหมือนคนอื่น แต่เราสามารถสร้างได้ตัวเองจริงๆ อันนี้บอกได้เลย
เชื่อว่าทุกคนก็มีความใฝ่ฝัน แต่ว่ามันก็อยู่ที่เราลงมือทำ เพราะต่อให้เรานั่งนึก นั่งคิดอย่างเดียว แต่เราไม่ลงมือทำ มันก็ไม่ประสบผลสำเร็จอยู่ดี
เพราะเฟรมเชื่อว่าทำดีกว่าคิด หรือว่าแค่เราพูดออกไปเฉยๆ แต่ถ้าเราไม่ลงมือทำก็ไม่ประสบความสำเร็จ ถึงแม้ว่าเราทำไปแล้ว มันจะไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือประสบความสำเร็จ ทำไปก่อนดีกว่าไม่ทำเลย
เวลาเฟรมสอนเด็ก มันเป็นท่าที่อยาก แล้วเขาทำไม่ได้ เขาก็จะมาพูดกับเฟรมว่า ครูหนูทำท่านี้ไม่ได้สักที ทำไมเพื่อนคนอื่นเขาทำได้ เฟรมก็ตะบอกว่า ทำไปก่อนลูก เพราะว่าพวกนี้มันต้องใช้เวลา เหมือนกันชีวิตคนเรามันต้องใช้เวลา เรียนหนังสือยังต้องใช้เวลาจำคำศัพท์ จำข้อมูลอะไรอย่างนี้ครับ
นั่นแหละทำไปก่อน ดีกว่าไม่ทำเลย เพราะว่าถ้าคุณไม่ทำเลยมันก็ศูนย์ แต่ถ้าทำไปเรื่อยๆ มันก็จะค่อยๆ เพิ่มให้เราเก่งเรื่องนั้นเอง”
นอกจากนี้ ครูเฟรมยังฝากถึงคนที่สนใจ และชื่นชอบในการเต้น the inner studio เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่จะทำให้ทุกคนที่มาเรียนประทับใจได้อย่างแน่นอน
“ก็ฝาก the inner studio ด้วยนะครับ ก็อยากให้คนที่สนใจในการเต้น หรือว่าอยากลองมาเต้นโดยไม่มีพื้นฐานเลย ก็อยากให้ลองมาเรียนกันนะครับ เพราะว่าคุณครูที่นี่ใจดี แล้วก็สนุกแน่นอน ทุกคนมาประทับใจแน่นอน จะมีการสอนตั้งแต่ระดับเบสิก จนถึงระดับแอดวานซ์เลย ก็อยากให้มากันนะครับ”
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพ : อินสตาแกรม@framevalenkung
ขอบคุณสถานที่ : TheInner Studio (ชั้น 3 ห้างเอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดาภิเษก)
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **