xs
xsm
sm
md
lg

หงุดหงิดเด็กได้ แต่ต้องจัดการตัวเอง “ครูบอลลี่” ตัวจี๊ดสายฮา ขวัญใจนักเรียน [มีคลิป]

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





เปิดใจตัวแทนแม่พิมพ์ของชาติ “ครูบอลลี่-ธีรพงศ์” ในวันที่สังคมหมดความศรัทธาในตัว “ครู” ทำร้ายเด็ก-ใช้อำนาจข่มขู่ และนี่คือคำตอบของ “เรือจ้าง” ที่เห็นคุณค่าของอาชีพ มุ่งมั่น-ตั้งใจหล่อหลอม ให้ศิษย์มีอนาคตที่ดี





อย่าเพิ่งหมดหวังในตัว “ครู”




“ครูอยากจะให้มองเรื่องการประกอบอาชีพ และก็มองที่ตัวบุคคลนะครับ การประกอบอาชีพไม่ว่าอาชีพไหนก็ตาม ทุกอาชีพย่อมมีจรรยาบรรณ ย่อมมีสิ่งถูกกำหนดเอาไว้ว่าคุณจะประกอบอาชีพนี้ คุณต้องกระทำสิ่งใด และไม่ควรกระทำสิ่งใด อันนี้ทุกคนต้องรู้”

มัดแกะสองข้าง สวดชุดจีนสีฟ้า ใบหน้าฉูดฉาดไปด้วยบรัชออนเหนือโหนกแก้ม ไม่ใช่ใครที่ไหน เขา คือ“ครูบอลลี่-ธีรพงศ์ มีสัตย์” วัย 30 ปี เรือจ้างผู้นำเอาความเอ็นเตอร์เทนมาสอดแทรกกับการสอนวิชาภาษาอังกฤษ จนกลายเป็นหนึ่งในชั่วโมงเรียนในใจของเด็กๆ เรียกได้ว่าภาพยืนพูดสอนเด็กนักเรียนของครูผู้นี้ กลายเป็นภาพที่ถูกแชร์และพูดถึงในสังคม

[หน้าจริงที่สื่อไม่ค่อยได้เห็น ก่อนแปลงร่างเป็นครูสุดจี๊ด ขวัญใจเด็กๆ]

ไม่รอช้า ทีมข่าว MGR Live ได้มีโอกาสคว้าตัวคุณครูวิชาภาษาอังกฤษ จากโรงเรียนประสาทรัฐประชากิจ จ.ราชบุรี มาพูดคุย เพื่อสะท้อนมุมมองตัวอย่างแม่พิมพ์ของชาติ พร้อมทั้งเคล็ดลับการสอนให้นักเรียนรักและอยากเรียน

ท่ามกลางกระแสดรามา ครูทำร้ายเด็กด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด จนทำให้สังคมเสื่อมศรัทธากับอาชีพนี้ โดยครูบอลลี่เปิดใจให้ฟังว่า ในฐานะครูรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งการกระทำที่เกิดขึ้นจะโทษ เป็นเพราะจรรยาบรรณวิชาชีพไม่ได้

“มันต้องขึ้นอยู่กับตัวบุคคล เพราะฉะนั้นเราจะโทษจรรยาบรรณวิชาชีพไม่ได้ จรรยาบรรณวิชาชีพ คือ สิ่งที่ควรจะเคารพ สิ่งที่ควรจะตระหนัก และสิ่งที่บอลจะรู้ เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ตัวบุคคลแต่ละคนมากกว่า

บางคนให้ความเคารพมาก บางคนให้ความเคารพน้อย บางคนให้ความเคารพแต่อาจจะหลงลืม หรือบางคนอาจจะเป็นอารมณ์ชั่ววูบ ที่ทำให้ต้องหลงลืมไป เป็นสถานการณ์ที่ทำให้ใช้คำจรรยาบรรณก็ไม่ได้ ต้องใช้คำว่าอารมณ์หรือลักษณะส่วนบุคคลมากกว่า ที่ทำให้ปัญหาเกิดขึ้น


สำหรับครูมันก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้า น่าเศร้าสำหรับตัวเด็กเอง แล้วก็เป็นเรื่องที่เห็นใจ สำหรับหลายๆ ฝ่าย

คนทุกคนย่อมมีอารมณ์ แต่คนทุกคนต้องมีขันติ ต้องมีความอดทน ครูก็มองว่ามันเป็นเรื่องที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับบุคคลอื่น ไม่ว่าจะสายอาชีพ ไม่ว่าด้วยการกระทำที่เป็นการกระทำด้านร่างกาย หรือการกระทำทางด้านการกล่าวด้วยวาจา

หรือไม่ว่าจะเป็นบนโลกโซเชียลก็ตาม เพราะว่ามันก็ถือว่าเป็นการที่ล่วงละเมิดสิทธิของคน โดยการทำร้ายร่างกาย โดยการใช้คำว่าบูลลี่ก็ได้ เพราะว่าบูลลี่ คือ การรังแก การรังแกไม่ได้หมายความว่า โซเชียลบูลลี่อย่างเดียว มันคือการรังแกทางด้านร่างกาย และจิตใจด้วย ด้านวาจาด้วย

มันก็เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่ควรเกิดขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นมันอยู่ตัวบุคคลที่กระทำ ว่ามันเกิดขึ้น เกิดจากอารมณ์ของคุณ หรือเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว หรือสถานการณ์ที่บีบบังคับให้ต้องทำเช่นนั้น”

ผ่านสายตาของเขา ในการทำงานเผชิญกับปัญหาต่างๆ ทำให้ครูบอลลี่ได้มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และมองถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า การเหตุการณ์รุนแรงของครูและนักเรียน ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของอาชีพ และบางครั้งบั่นทอนจิตใจแก่ครูที่ประพฤติปฏิบัติในเส้นทางที่ถูกต้องมาโดยตลอด

“ถามว่าเมื่อมีข่าวแย่ๆ เกี่ยวกับครูเกิดขึ้น ครูรู้สึกยังไง มันก็รู้สึกเสียใจ ที่เราได้เห็นว่าเพื่อนร่วมสายงาน หรือบุคคลที่ประกอบอาชีพเหมือนเรา เขาได้กระทำสิ่งที่ผิดพลาดไป แต่ทุกอย่างมันเกิดขึ้น Everything happens for a reason ทุกอย่างเกิดเพราะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งเหตุปัจจัยนั้นคนที่จัดการปัญหาที่เกิดขึ้น คนที่จัดการกับสถานการณ์นั้น การจัดการมันอาจจะมีรูปแบบการจัดการที่แตกต่างกัน

ซึ่งพอบุคคลเหล่านั้นเลือกจะใช้วิธีนั้น ในการจัดการกับปัญหา มันกลับกลายเป็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และมันกลับกลายเป็นว่า มันส่งผลกระทบต่อคนที่ทำดีมาโดยตลอด หรือคนที่สู้กับสายงานนี้มาตลอด


ถามว่าเสียใจไหม มันก็รู้สึกเสียใจ แต่ถามว่าเราจะเลิกทำสิ่งที่ดีให้แก่สังคมไหม เราก็ไม่เลิก เพราะว่าทุกเส้นทางของการทำงาน หรือทุกเส้นทางเดินในชีวิต คนเรามันก็ต้องมีอุปสรรค ซึ่งเส้นทางของการเป็นครู ถ้าไม่ครูคนนั้นประสบ ครูคนอื่นก็ต้องเจอ ก็ต้องประสบเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นครูคิดว่า ไม่วันนี้ก็วันหน้า ก็ต้องมีใครสักคนที่ต้องเจอกับสถานการณ์เดียวกัน แล้วก็ต้องสู้กับมัน ในเมื่อผิดพลาดไปแล้ว คนบางคนก็อาจจะสำนึกผิด อาจจะอยากได้รับโอกาส เพราะฉะนั้นครูคิดว่าเขาก็ควรได้รับโอกาสในการปรับปรุงตัวนะครับ”

ถึงแม้การกระทำของครูที่ทำร้ายเด็กนักเรียนในปกครองนั้น จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์ แต่เขาในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพนี้ กลับมองว่าไม่อยากให้เหมารวม มองครูทุกคนไม่ดี อยากให้สังคมให้โอกาส เพื่อที่ให้เขาได้พิสูจน์ตัวเอง

“สังคมก็ควรจะให้โอกาสกับเขา เพื่อที่จะให้เขาปรับปรุงตัว เพื่อที่จะให้เขาพิสูจน์ตัวเองว่า สังคมของครูหรือเส้นทางเดินของครู มันไม่ใช่ทุกคน มันไม่ใช่ทุกพื้นที่ ทุกวิชาที่จะเป็นแบบนั้น มันยังมีครูที่ดีหลายๆ คน ยังมีครูที่น่ารัก มันยังมีนักเรียนหลายๆ คนที่ชื่นชอบในประเทศไทย เพราะฉะนั้นอย่าให้ทุกคนตัดสินคน หรือคนผิดแค่คนเดียว

แล้วปล่อยให้ครูอีกหลายหมื่น หลายแสนคนต้องมาเป็นผู้รับผิดในการกระทำของคนไม่กี่คน อยากจะให้โอกาสกับคนเหล่านั้น และอยากให้โอกาสกับครูที่เหลืออยู่ ได้โชว์ศักยภาพ ได้พิสูจน์ตัวตนเขา

เพราะว่าสิ่งหนึ่งเลย คือ ครูก็เป็นบุคลากรที่จะพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านของจรรยามารยาท ไม่ว่าจะเป็นในด้านของความรู้ ด้านความรู้ในวิชาที่เขาต้องเรียนในอนาคตต่อไปข้างหน้า ที่จะให้สังคมพัฒนาต่อไป”




ยอมรับตัวเอง “เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส”


“จรรยาบรรณของครูก็คือ ตัวกำหนดว่าคุณเป็นครู คุณต้องมีพิมพ์ที่สวยงาม คุณต้องแม่พิมพ์ที่ถูกต้อง เพื่อที่จะเวลาที่คุณพิมพ์สินค้าออกมา หรือพิมพ์ตัวตุ๊กตาออกมา มันจะได้ผลงานที่ดีเยี่ยม ได้ผลงานที่ตอบโจทย์กับสังคม และสามารถที่จะไปต่อยอดพัฒนาสังคมได้ในอนาคต”

ครูวัย 30 ปี สะท้อนมุมมองถึงจรรยาบรรณวิชาชีพครู ให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้นอีกครั้ง โดยเปิดมุมมองให้ฟังว่า คำว่าจรรยาบรรณครู คือ สิ่งที่ต้องดำเนินตาม เป็นสิ่งที่กำหนด ให้รู้ลิมิตของตนเอง

“จรรยาบรรณสำหรับครู คือ สิ่งที่ถูกต้อง ที่ถูกขีดเอาไว้แล้ว ให้คนได้เดินตาม มันอาจจะเป็นกรอบที่เราตีไว้ให้ แต่ถามว่าเราจำเป็นต้องอยู่ในกรอบตลอดเวลาไหม เราไม่ได้จำเป็นต้องอยู่ในกรอบตลอดเวลา แต่เราต้องนึกถึงกรอบตลอดเวลาว่า ลิมิตของคุณทำได้แค่ไหน ลิมิตของคุณใน Positions ของความเป็นครู คุณทำอะไรได้บ้าง คุณพูดอะไรได้บ้าง คุณคิดอะไรได้บ้าง พยายามที่จะมีสติในการพูด ในการคิด ในการกระทำ เพื่อที่จะหลีกคนอื่น หรือเพื่อจะชี้ทางให้แก่คนอื่น เพื่อให้เขากลายเป็นลูกพิมพ์ กลายเป็น product กลายเป็นผลผลิตที่มันถูกต้อง ตามทำนองคลองธรรมของวัฒนธรรมประเทศชาติของเราครับ”


อย่างไรก็ดี ครูบอลลี่ ที่มักจะเปิดเผยรอยยิ้มตลอดบทสนทนาเสมอ ได้เสริมถึงการจัดการกับอารมณ์ เมื่อต้องรับมือกับเด็กนักเรียนยากๆ ว่าคนทุกคนย่อมมีอารมณ์ แต่ทุกคนต้องมีความอดทน และการรับมือ จัดการกับอารมณ์ของตนเองที่แตกต่างกันออกไป

“สำหรับครูในการจัดการกับอารมณ์ตัวเอง ต้องยอมรับว่าครูก็คนคนหนึ่ง คือมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง ซึ่งยังไม่ตรัสรู้เองโดยชอบ เพราะฉะนั้นการที่เรามีอารมณ์โกรธ มีอารมณ์หงุดหงิด ไม่พอใจ มีอารมณ์เหนื่อย ทุกคนมีอยู่แล้ว

แต่อย่างที่บอก คือ สิ่งที่ต้องนำมาประยุกต์ใช้คือ เรื่องของหลักธรรม ในเรื่องของการจัดการของอารมณ์ คือ หลักๆ การเป็นครูต้องอดทน เพราะครู คือ มาจากคำว่า ครุ ที่แปลว่า หนัก เพราะฉะนั้นการที่คุณจะก้าวเข้ามาในลู่ทางของการสายการสอน การเป็นครู คุณต้องรู้ว่าคุณจะต้องทำงานหนักแน่นอน”


เขายอมรับว่า อาชีพเรือจ้าง ต้องมีความอดทนอย่างสูง ซึ่งสำหรับครูบอลลี่แล้ว จะนำหลักธรรมมาปรับใช้ เพื่อก้าวผ่านตรงนี้ไปได้

“เด็กที่กวนรึเปล่า…มี ครูจัดการกับมันยังไง ก็แรกๆ เลย ในช่วงบรรจุแรกๆ ก็ยอมรับว่าด้วยความประสบการณ์ เรายังไม่มีมาก เราก็เหมือนครูทั่วๆ ไป เราก็มีโกรธ มีด่าว่า มีการลงโทษ โดยการต่อว่า เรียกมาอบรมโดยการใช้ไม้เรียว

ซึ่งเป็นกระบวนการที่มันดำเนินมาตั้งแต่ในหลายๆ ช่วงอายุคนมาแล้ว แต่หลังๆ มา ที่สังคมมันเปลี่ยนไป รวมทั้งประสบการณ์การทำงานของเราที่มีเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งความหลากหลาย ความเข้าใจโลกมากขึ้น ความเข้าใจเด็กในหลายๆ ประเภทมากขึ้น เราก็จัดการกับเด็ก โดยการที่ปรับตัวให้เข้ากับเขา

สมมติว่า ถ้าเรารู้ว่าเราเป็นครูลักษณะแบบนี้ เราชอบแต่งตัว เราตุ้งติ้ง เราพูดจาในลักษณะนี้ ถ้าเรารู้ว่าเราทำแล้วเราโดนล้อ อันดับแรกเราต้องยอมรับ เราต้อง accept มันก่อน

เราต้องรู้ว่า ในโมเมนต์ที่เราต้องก้าวเข้าไปในห้อง แล้วเราทำแบบนี้ให้เขาเห็น เราโดนหัวเราะเยาะแน่นอน เราโดนเด็กโห่แน่นอน เราโดนเด็กพูดล้อเลียนแน่นอน เราต้องยอมรับตัวเองก่อน เพราะถ้าเราไม่ยอมรับตัวเอง เราจะเกิดความคิดว่า เฮ้ย!! ฉันรับไม่ได้ ถ้าเราคิดว่าเรารับไม่ได้ แล้วเราต้องถามต่อว่าเราทำทำไม ใช่ไหมครับ คือเราต้อง accept yourself you have …ยอมรับตัวเอง


เมื่อยอมรับตัวเองได้แล้ว เวลาที่เกิดอะไรขึ้นกับเรา เราจะรู้สึกว่า เฮ้ย!! เรารู้แล้วว่ามันต้องเกิดเรื่องนี้ขึ้น พอเรารู้ล่วงหน้า ว่าเราต้องโดนล้อ เราต้องโดนเด็กหัวเราะเยาะ เราก็จะรู้วิธีรับมือกับมัน เราก็จะรู้วิธีการจัดการกับมันครับ”

ประสบการณ์การทำงาน สู่ปีที่ 6 บนเส้นทางแห่งนี้ ทำให้ครูบอลลี่ ปรับตัว ผันตัวเองให้เข้ากับเด็ก และเลือกยอมรับตัวเอง เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เป็นพลังในการสร้างความสนใจ ดึงดูดความสนใจ หากต้องเจอคำพูดล้อเลียน

“เราไม่ได้แต่งเพื่อให้เราทำเล่น เด็กรู้ว่าเจตนารมณ์ที่เราแต่งตัวแบบนี้ ว่าอาจารย์ต้องมีการสอนแน่นอน เพราะฉะนั้นเด็กเขารู้โดยตัวเขาเอง เพราะว่าเราไม่เคยดูถูกเด็กว่า เด็กโง่ เราไม่เคยดูถูกว่าเด็กไม่ฉลาด หรือว่าเด็กไม่รู้เรื่อง

เพราะฉะนั้น คือ 1.เด็กเข้าใจเจตนารมณ์ เด็กไม่ล้อ 2.ถ้าเด็กล้อ เด็กเขาล้อ เพราะเขารู้สึกว่า เขาทำแล้วเขาสนุก เราก็ต้องยอมรับ เราแต่งหน้า แต่งตัวแบบนี้ เราต้องการแต่งให้เด็กล้อไม่ใช่เหรอ พอเขาล้อแล้วเขาสนุก เรารู้สึกยอมรับตรงนั้นว่า mission ของเรา ภารกิจของเรามันสำเร็จ

แต่ถ้าอาจมันจะเลยเถิด ไปถึงขั้นว่าทำท่า ทำทางเลียนแบบ หรือวิจารณ์ออกมา อาจารย์น่ากลัวมาก อาจารย์เหมือนผี อย่างที่บอกถ้าเรายอมรับตัวเองได้ เราก็เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เปลี่ยนคำล้อให้เป็นพลัง ในการสร้างความสนใจ ดึงดูดความสนใจ ถามเขา

เช่น พอเขาล้อเรา สมมติเขาบอกว่าอาจารย์ๆ เหมือนผีเลย เหมือนแล้วกลัวไหม เธอกลัวฉันไหม (ทำเสียงหลอนๆ) แล้วเราก็ทำผีหลอกเลย


เราเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เหมือนให้เป็นพลังว่าการที่เราโดนล้อ นั่นคือการที่เราโดน attack เราโดนโจมตี แต่ถ้าเราโดนโจมตีแล้วเราแสดงความแข็งแกร่งของเราว่า เฮ้ย!! อาจารย์ไม่อ่อนไหวว่ะ เฮ้ย!! อาจารย์ไม่ failed ว่ะ เฮ้ย!! อาจารย์ล้อกูกลับว่ะ

มันก็เลยกลายเป็นว่า เราสร้างพลังให้แก่ตัวเอง จากการล้อเลียนเหล่านั้น จนคนที่ล้อเรา เขารู้สึกสิ่งที่เขาทำ มันไม่มีค่า หรือสิ่งที่เขาทำมันไม่มีประโยชน์ที่เขาจะทำต่อ เขาก็หยุด”





แต่งหน้า = เด็กสนใจ



ด้วยคาแรกเตอร์ที่ชัดเจน และนิสัยชอบเอนเตอร์เทน รวมถึงแนวคิดใหม่ แต่งหน้าแปลกๆ ขณะสอนเพื่อดึงดูดให้นักเรียนชอบและสนุกกับการเรียนภาษาอังกฤษนี่เอง

ทำให้ครูบอลลี่จากคนที่ไม่มีคนรู้จัก กลายเป็นคนสาธารณะของสังคม หลังคลิปแต่งหน้าแปลกสอนภาษาอังกฤษกลายเป็นคลิปไวรัล เมื่อปี 62 ที่ผ่านมา


“เปลี่ยนแปลงนะ ใน point ของความสนใจ ของวิชามันก็มีมากขึ้น ถามว่ามันเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ performance (ประสิทธิภาพ) เรื่องผลการเรียนวิชาภาษาอังกฤษไหม มันก็ไม่หรอก

มันก็ไม่ใช่ว่า เฮ้ย!! แต่งหน้าตัวตลกไปสอน แล้วเด็กมีคะแนนสอบเพิ่มมากขึ้น มันก็คงไม่ใช่ตรงนั้น แต่ว่าอย่างน้อยเราเปลี่ยนทัศนคติของตัวเขา ต่อวิชาภาษาอังกฤษที่เรามีอยู่


แต่อย่างน้อยเขาจะได้คิดว่า เรียนมาทั้งวันแล้ว เจอคณิต เจอวิทย์ เจอวิชาที่มันหนักๆ ที่เขาเครียดมา เจอสอบเก็บคะแนนมา อย่างน้อยเขามาเรียนกับเรา เขาจะได้รู้สึกว่า เขามีเสียงหัวเราะมีรอยยิ้ม อย่างน้อยเขาตั้งตารอจะได้เรียนภาษาอังกฤษ อย่างน้อยเขาตั้งตารอจะได้เรียนกับเรา

และอีกอย่างหนึ่งก็คือ เหมือนเปลี่ยนทัศนคติเขาตรงที่ว่า ขนาดครู ครูยังกล้าทำเลย กล้าพูดภาษาอังกฤษ กล้าแต่งหน้าแบบนี้ ทำไมเราไม่กล้าบ้างล่ะ

เพราะทุกครั้งที่เราสอน ไม่ใช่ว่าการแต่งหน้ามันจะเปลี่ยนทัศนคติของเขา มันไม่ใช่หรอก มันอยู่ที่ตัวการกระทำของครูคนนั้น คุณเป็นครูไม่ว่าใครก็ตามที่ดูอยู่ คุณไม่จำเป็นต้องแต่งหน้าเหมือนครูบอลลี่ก็ได้ มันไม่จำเป็น ต้องมาเลียนแบบกัน แต่คุณแค่คิดถึงตัวเด็กว่า เราอยากทำยังไงให้ตัวครูเองจะต้องทำยังไงก็ได้ ให้เด็กสนใจ สนใจใครรู้ ให้เด็กอยากถาม ให้เด็กกล้าพูดกับตัวคุณมากที่สุด เพราะในเมื่อเด็กสนใจเราแล้ว เขาก็จะสนใจวิชาที่เราสอนตามมา สิ่งที่เราอยากจะให้เขา เขาก็จะได้รับสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ครับ”


ยิ่งมีโซเซียล ครูยิ่งต้องระวัง!!?



ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ว่าเพศสภาพใด อาชีพอะไร เมื่อมีตัวตนในโลกโซเชียล ปัญหาที่ต้องเจอ คือ ไซเบอร์ บูลลี่ (Cyberbullying) หรือการถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์

“การเป็นครูอย่างที่บอกต้องรู้ตัวก่อน ว่าคุณจะต้องไปเจอกับลูกของคนอื่น 50 ครอบครัว 40 ครอบครัว ในห้อง แล้วคุณต้องรู้ว่าโลกปัจจุบันนี้สิ่งที่ตามมากับคุณ ไม่ใช่แค่ว่าคุณสอนอยู่ในห้อง แล้วคุณด่าเขา คุณลงโทษเขาแล้วมันจบ

เพราะคุณจะต้องมีความระแวดระวัง คุณจะต้องมีความรู้เท่าทันว่า โลกสมัยนี้มันเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีมันมีเยอะแยะมากมาย สิ่งที่มันจะย้อนกลับ จะแว้งกลับมาเล่นงานเรา มันมีเยอะแยะมากมาย เพราะฉะนั้นคุณต้องมีสติ รู้ตัวเองตลอดเวลา
การที่คุณจะพูดอะไรคำสักคำ การที่คุณคอมเมนต์อะไรสักอย่าง ไม่ว่าต่อตัวนักเรียนเอง หรือต่อสิ่งอื่นใดรอบๆ ข้าง หรือต่อโลกโซเชียลเอง


สำหรับการจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง คือ ในสถานการณ์ตอนนี้ ในโลกปัจจุบันนี้ ก่อนที่คุณจะพูดอะไร ก่อนที่คุณจะว่ากล่าวตักเตือนเขา ก่อนที่คุณจะลงโทษเขา คุณต้องใช้ความคิด คุณต้องหยุดคิดก่อน ว่ามันจะเกิดปฏิกิริยาตอบสมอง หรือมันจะเกิดปัญหาย้อนกลับมาเล่นงานตัวของคุณรึเปล่า

เพราะฉะนั้นการเป็นครูใน generation ใหม่ ในโลกยุคใหม่ โลกแห่งเทคโนโลยีทุกวันนี้ มันเป็นโจทย์ที่หนัก ไม่ว่าจะเป็นต่อการเตรียมตัว ในด้านการเรียนการสอน การเตรียมตัวในด้านการรับมือกับจิตวิทยา รับมือในด้านของอารมณ์ของเด็ก ของผู้ที่เราไปสอนเขา ทุกๆ อย่างเลยครับ”

เมื่อถามถึงในการทำงาน อาชีพครู การที่มีโซเชียลมีเดีย ยิ่งทำให้มีความกดดัน และทำงานยากขึ้นหรือไม่ เขากลับมีแนวคิด มองว่าโซเชียลไม่ได้เป็นผลกระทบ แต่ยิ่งทำให้เป็นสิ่งอำนวยสะดวกให้เด็กมีความรู้เพิ่มยิ่งขึ้น

“เรื่องของความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี เรื่องของ Cyber Bully ครูมองว่าเป็นภาพของการจัดการอารมณ์ส่วนตัว และพื้นที่ส่วนบุคคล ที่คนคนหนึ่งจะจัดการได้หรือไม่

ส่วนในภาพของการทำงานการเป็นครู การที่มีโซเชียลมา มันไม่ได้เป็นผลกระทบ ว่าจะทำให้ครูมีความรู้สึกว่า หนักใจต่อการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น ในทางกลับกันครูรู้สึกว่า ครูมีความสุข

มีความสุขที่ว่า มันมีช่องทางเพิ่มมากขึ้น ที่จะให้เด็กเราได้เรียน เพราะว่าเด็กบางคน บางทีเขาอยู่บ้าน เขามาเรียนไม่ได้ หรือเด็กบางคนเขาเรียนไม่ทันเพื่อน เขาก็ได้ใช้ตัวโลกโซเชียลมีเดียตรงนี้ในการหาความรู้เพิ่มมากขึ้น


มิหนำซ้ำเด็กบางคนที่เขาไม่ได้ชื่นชอบตัวเรา หรือไม่ได้ชื่นชอบกระบวนการสอนของเรา เพราะเด็กบางคนเก่งมาก เวลาเราสอนเรารู้สึกว่าเราสอนเขาช้ามาก แล้วเด็กบางคนเป็นเด็ก Gifted หรือเด็กที่เป็น Genius student (เด็กอัจฉริยะ) เขารู้สึกว่า เขาอยากได้ความรู้ที่มัน advance (การพัฒนา) กว่านี้

เพราะฉะนั้นเขาใช้โลกโซเชียลนั้น ในการที่จะสืบเสาะ แสวงหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตัวของเขาเอง และอีกทั้งการมีช่องทางโซเชียลเพิ่มเข้ามา พอเราเอามา merge มาผสมผสานการเรียนการสอนของเรา เราก็มีการเรียนการสอนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเราสอนออนไลน์ เราไลฟ์สอนในเฟซบุ๊ก เราทำคลิปส่งให้เด็ก เวลาเด็กอยู่บ้าน เวลาเด็กที่อยู่ในช่วงโคโรนาไวรัส

มันกลับเพิ่มช่องทางการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น และมันก็ยังเพิ่มช่องทางที่ทำให้เขาสามารถที่จะไปเสาะแสวงหาความรู้ ในโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ดี สำหรับการก้าวข้ามปัญหาบูลลี่ ครูบอลลี่ใช้แนวคิด “เพิกเฉย” ต่อคอมเมนต์ด้านลบ ที่ไม่สร้างสรรค์ เขาเลือกเสพเฉพาะคอมเมนต์ด้านบวก เพื่อนำมาเป็นพลังชีวิต เพื่อพัฒนาผลงานในหน้าที่ครูต่อไป

แน่นอนว่า ย่อมมีบุคลากรบางท่านที่มองว่าการยิ่งมีโซเชียลมีเดีย ยิ่งเพิ่มความกดดันการทำงาน เพราะเด็กนักเรียนอาจจะถ่ายคลิปวิดีโอตอนถูกทำโทษ หรือว่ากล่าวตักเตือนนั้น ขึ้นอยู่กับการจัดการส่วนบุคคล ว่าจะจัดการในระบบในห้องเรียนอย่างไร


“บอลว่า ณ จุดๆ นั้น เป็นการจัดการส่วนบุคคลแล้วครับ ว่าคุณจัดการห้องเรียน คุณจัดการนักเรียน คุณสร้างข้อตกลงกับเด็กได้มากน้อยเพียงใด บางคนมาบอกเด็กทีหลัง มาปกป้องตัวเองโดยที่ลืมบอกไปว่า ก่อนหน้านี้คุณได้ชี้แจงรึยัง ว่าการใช้โซเชียล การใช้โทรศัพท์ในห้อง คุณได้ชี้แจงกฎเหล่านี้ให้เด็กรึยัง

พอเห็นเด็กเอาโทรศัพท์ขึ้นมาเล่น พอเห็นเด็กเล่นเกม แล้วเราไปว่ากล่าวเขา โดยที่เราลืมไปรึเปล่าว่าตัวเราแจ้งเขาก่อนหน้ารึยัง แต่ถ้าเกิดเขาแจ้งแล้ว ครูคนนั้นแจ้งแล้วว่า เฮ้ย!! ครูได้บอกกฎไปแล้วนะ เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องจัดการกับสถานการณ์ด้วยตัวของเขาเอง ด้วยความรอบคอบ

และในขณะเดียวกัน ก็คือ มันเป็นตัวบุคคล ว่าครูคนนั้นจะจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้มากน้อยเพียงใด ถ้าเกิดว่าคุณจัดการกับสถานการณ์อย่างเหมาะสม ด้วยอารมณ์ที่เหมาะสม และคุณอธิบายเหตุผลให้เด็กเข้าใจว่า ทำไมสิ่งนั้นถึงเกิดขึ้น ทำไมครูถึงยึดโทรศัพท์ ทำไมครูถึงไม่กล่าวตักเตือน ด้วยคำพูดเหล่านั้น เด็กเข้าใจ เพราะเด็กเขาโตพอที่จะเรียนรู้

แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นส่วนใหญ่ อย่างที่เป็นในด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นเด็กถ่ายคลิป อัดคลิป แล้วครูโดนทัวร์ลง ก็ต้องถามตัวเองว่าสิ่งที่เราทำไป มันจริงหรือมันไม่จริง ถ้าคุณไม่จริง คุณมีสิทธิ มีเสียงที่จะออกมาอธิบาย คุณมีสิทธิ มีเสียงที่จะแก้ไขสถานการณ์”




LGBTQ เพชรเม็ดงามใน "ระบบราชการไทย"


ยังคงเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันในวงแคบๆ ของสังคม ที่มองว่า กลุ่ม LGBTQ จะทำงานเป็นครู หรืองานราชการไม่ได้ หรือหากใครผ่านเข้ามาทำงานในระบบนี้ จะต้องปิดบังตัวตนเอง เพื่อความอยู่รอด

แต่คงไม่ใช่สำหรับคนที่นั่งอยู่หน้าผู้สัมภาษณ์ ที่กลับมองโลกในแง่ดีเสมอ และสะท้อนให้ฟังว่า ไม่เคยปิดบังตัวเอง อีกทั้งมองปัจจัยสำคัญ คือ โรงเรียนประสาทรัฐวิทยา สามารถเปิดเผยแสดงตัวตนได้อย่างเต็มที่

“ครูไม่เคยใช้คำว่าปิดตัวตนหรือเปิดเผยตัวตน เพราะครูใช้คำว่าการวางตัว การวางตัวตนให้มันเหมาะสม อย่างที่ครูบอก คือ ครูเป็นคนหนึ่งที่ไม่แต่งหน้ามาโรงเรียน ไม่ได้เขียนคิ้ว ทาปาก หรือแม้กระทั่งคนที่เขียนคิ้ว ทาปากก็ตาม ถ้าตราบใดก็ตามที่เขาแต่งตัวเหมาะสม ใส่รองเท้าถูกระเบียบ ใส่เสื้อไม่รัดรูปจนเกินไป

การเดินการพูด การปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น มีความเหมาะสม วางตัวอยู่บนกรอบที่เหมาะสม ครูว่ามันว่าจะอยู่ไหน ก็อยู่ได้สบาย ไม่ว่าอยู่ที่ไหนใครก็รัก ใครก็เอ็นดู


ถามว่าที่โรงเรียนนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราสามารถแสดงตัวตนได้อย่างเต็มที่รึเปล่า … ใช่ครับ โรงเรียนนี้บอกเลยว่า เพื่อนร่วมงาน ผู้บริหารทุกคนน่ารัก เป็นกันเองและเปิดกว้างมากๆ ทั้งที่โรงเรียนนี้มีผู้คนหลายเพศ หลายวัย หลายช่วงอายุ แต่ทุกคนรู้ว่าการที่เราทำ เราทำด้วยใจ แล้วเราทำ เราไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เราทำ

ทำเพื่อเรียกร้องความสนใจจากเด็ก แล้วเราก็อยู่ๆ หยุดไป เราทำแล้วเราทำงาน ทำหน้าที่ของเราเต็มที่ ตัวอย่างเช่น บอลได้รับหน้าที่ให้ทำการแสดง ได้รับมอบหมายให้พาเด็กไปแข็งขันกิจกรรม เราใส่เต็ม 200% เราใส่มากกว่าร้อย แล้วผลงานที่ออกมามันเป็นความประจักษ์ที่เขาได้เห็นว่า เฮ้ย!! ไอ้คนนี้มันไม่ได้ทำแค่ว่าสร้างภาพ หรือไม่ได้ทำแค่ว่าจะเอาภาพไปขาย

แต่เขาทำเพราะว่า เวลาที่เขาพร้อมที่จะทำ เขาทำ เวลาที่เขาได้รับมอบหมาย เขาแต่ง แต่เวลาที่เขาไม่ได้มีงานที่จะต้องทำ ไม่ได้มีภาระหน้าที่ที่ต้องสอน เขาไม่ได้แต่ง

มันก็เลยกลายเป็นว่าเราไม่ได้ต้องปิด ต้องแอบ ต้องซ่อน หรือต้องบอกใครว่า ฉันใช่หรือไม่ใช่ แต่ฉันแค่เป็นของฉันแบบนี้”


ไม่เพียงแค่นี้ เขาเสริมว่าไม่ได้อยู่ที่ระบบการศึกษาไทยที่บังคับ หรือว่าระบบการศึกษาไทยยอมรับ มันอยู่ที่ตัวครูยอมรับตัวเอง และประพฤติปฏิบัติได้เหมาะสมกับสถานะของตัวเองอย่างไร

“บอลคิดว่า Everything, Everywhere has an all reason. ทุกๆ ที่ ทุกสายงาน ทุกๆ อาชีพ ทุกๆ องค์กร เขามีเหตุผลที่จำเป็น เขามีเหตุผลที่สำคัญ เขามีเหตุผลที่มองถึงภาพลักษณ์ เขามีสิ่งที่เขาเรียกว่าอาจจะ remain คือ คงอยู่ มีที่มาที่ไป

เพราะฉะนั้นเราจะไปเหมารวมว่า ที่นี่ไม่รับเพศสภาพนี้ ที่นี่ anti เพศสภาพนี้ เราต้องมองถึงเหตุผลก่อน เราต้องมองถึงความเหมาะสมว่า ทำไมเขาถึงทำอย่างนั้น ทำไมเขาถึงรับ ทำไมเขาถึงเลือกรับ ทำไมเขาถึง optional (ไม่จำเป็น) แล้วเราต้องเข้าใจ เราต้องตระหนัก ถ้าเราคิดว่า ที่นั่นไม่พร้อมสำหรับเรา …ที่นั่นไม่ใช่ที่ของเรา

มันอาจจะหมายความว่า คุณอาจจะไปอยู่ในที่ดีกว่านั้น คุณอาจจะไปอยู่ในที่ the best กว่านั้นได้ เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องยอมแพ้กับสิ่งที่ไม่ใช่ของๆ เรา เราไม่ต้องยอมแพ้หรือต้องดันทุรัง ไปอยู่ในที่ไม่ใช่ของเราครับ

องค์กรอื่นที่รับเพศสภาพ ที่หลากหลาย หน่วยงาน สถาบัน สายอาชีพที่รับเพศสภาพที่หลากหลาย มีเยอะแยะมากมาย แล้วเขาพร้อมที่จะ offer (เสนอ) สิ่งดีๆ สิทธิประโยชน์ดีๆ ให้แก่ความหลากหลายทางเพศ เยอะแยะมากมาย ครูมองว่าโอกาสและที่ของเรามันมี เพียงแต่ว่ามันยังไม่ใช่ตรงนั้น แค่นั้นเอง”


แน่นอนว่า การก้าวข้ามปัญหาบูลลี่ ที่กลุ่ม LGBTQ มักต้องเผชิญ คือ ถูกมองถึงการเลียนแบบพฤติกรรม ซึ่งจิตวิญญาณที่เต็มเปี่ยมของเรือจ้างผู้นี้ ไม่ใช่สอนตามตำรา แต่ยังสอดแทรกการสอน เกี่ยวกับ LGBTQ ให้เด็กเข้าใจมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

“สำหรับครูนะครับ การที่คุณบอกว่า คนอื่นจะมาสอนลูกของตัวเองให้เป็นแบบนั้น ครูแต่งตัวอย่างนี้ จะมาสอนลูกชายของฉันให้มาเป็นแบบนี้ นั่นหมายความว่า คุณกำลังดูถูกเด็กนักเรียน คุณกำลังดูถูกเยาวชนสมัยใหม่ คุณกำลังดูถูกลูกของตัวเอง ว่าลูกของคุณคิดเองไม่ได้

การจะเป็นเพศที่ 3 ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วหายใจรดกัน แล้วก็เป็นเลย ไม่ว่าดีๆ แล้วก็ติดกันทางลมหายใจ หรือทางยุงกัด การจะเป็นแบบนี้มันมีปัจจัยหลายๆ อย่าง หนึ่งในนั้น คือ ปัจจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ การมีฮอร์โมนเพศหญิงมากเกินไป หรือการมีโคโมโซน X , Y หรือแม้กระทั่งสิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอม ที่กล่อมเกล่ามาตั้งแต่เกิด

เพราะฉะนั้นคุณจะอยู่กับครู ที่เป็นลักษณะนี้ อย่างน้อยๆ ครับ 50 นาที ใน 5 วัน คุณคิดว่าครู 1 คน ที่สอนเด็กแค่ 50 นาที เขาจะเอาเวลาไหนที่จะไปขายตะข่ายให้ลูกชายของคุณเป็น มันเป็นไปไม่ได้”

นอกจากนี้ ครู ยังย้ำถึงจุดยืนของตนเอง ว่าเวลาไหนที่ต้องเต็มที่ เวลาไหนที่เราต้องมีกรอบ ต้องแยกแยะแบ่งแยกตัวเอง เพื่อไม่ให้ปัญหา หรือแม้กระทั่งตอนที่เราได้ก้าวเข้ามาทำงานในข้าราชการ ครูบอลลี่คิดว่าหลายๆ คน ที่เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ เขาได้สร้างความภาคภูมิใจให้แก่สังคมการเป็นครูได้เป็นอย่างมาก


“หน้าที่หลักของการเป็นครู คือ สอน การเป็นครูจะเรียกความสนใจของเด็กในห้องเรียน เขาต้องทำแบบนี้ เพื่อเรียกความสนใจแค่นั้น หลังจากนั้น คือ เขาสอน เขาไมได้สอนวิชาการเป็นเพศที่ 3 เขาสอนวิชาภาษาอังกฤษ สอนวิชาของเขา เพราะฉะนั้นอย่าดูถูกเด็กว่าเด็กจะซึมซับพฤติกรรมแบบนี้

ในขณะเดียวกัน คุณต้องยอมรับลูกของคุณที่เป็นเพศแบบนี้ด้วย ว่าในอนาคตข้างหน้าคุณกำลังมีเพชรเม็ดนึง เพชรที่ส่องแสง ที่เป็นเพชรแรไอเท็ม เขาเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ ที่ฝั่งผู้ชายก็อาจจะหาไม่ได้ ฝั่งผู้หญิงก็อาจจะหาไม่ได้

เขาเป็นคนที่เกิดมา born to be talented ก็อยากจะฝากว่า อย่าดูถูกเด็ก ว่าเด็กจะเป็นตามสิ่งที่เขาเห็น แต่อยากให้มองว่า ถ้าเกิดว่าลูกของคุณต้องเจอคุณครูแบบนี้ ตัวที่เป็นผู้ปกครองเอง จะบอกจะสอนลูกได้อย่างไร ที่ทำให้ลูกเชื่อ ถ้าคุณสอนแล้วลูกเชื่อ นั่น คือ คุณเก่งมากๆ นั่นคือ คุณพ่อแม่ชั้นยอด

แต่ถ้าคุณสอนแล้วไม่เชื่อ แสดงว่าลูกของเรา เขามีความคิดเป็นของตัวเองแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องเคารพความคิดของเขา เราต้องเคารพการตัดสินใจของเขาด้วยครับ”

ตลอดระยะเวลาการสัมภาษณ์ ครูบอลลี่ ที่ภายนอกอาจจะมองเป็นเพียงสีสัน แต่ใครจะรู้ล่ะว่า ความทุ่มเทและตั้งใจที่จะให้ลูกศิษย์ได้ผลลัพธ์ในการเรียนอย่างมีความรู้ และสนุกสนาน เพื่อให้มีความน่าสนใจต่อเด็กอยู่เสมอๆ อีกทั้งครูคนนี้ยังแฝงแง่คิด นำมุมมองประสบการณ์ต่างๆ มาปรับใช้ประยุกต์ให้แก่นักเรียนอีกด้วย







“ถ้าเราอยากให้เขาสนใจ เราต้องสนใจเขาก่อน”



จากความชอบนำมาสู่ความรัก การสอนของครูบอลลี่จึงเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ซึ่งย้อนกลับไปครูบอลลี่ในสมัยเป็นนักศึกษา เป็นนักกิจกรรมตัวยงที่คอยสันทนา โดยที่ไม่รู้ว่า ในอนาคตจะได้นำทักษะเหล่านั้น มาใช้ช่วยให้เด็กรักและตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษมากยิ่งขึ้น

แน่นอนว่า จากห้องเรียนที่เงียบเหงา เปลี่ยนเป็นมีแต่ความสนุกสนาน แม้มีส่วนน้อยที่กลัวเพราะไม่คุ้นชินกับการแต่งตัวของครูในลักษณะนี้ แต่ความกลัวนั้นก็พุ่งเป้าให้เด็กเกิดการสนใจและมีใจอยากเรียนวิชาภาษาอังกฤษมากยิ่งขึ้น

"ไม่รู้ว่าทำให้เด็กอยากเรียนกับเรามากขึ้นรึเปล่า แต่สิ่งที่เราเห็น ว่าจากที่เขาเคยไม่สนใจ กลายเขาเคยสนใจก็คือคำว่าสนใจ

 ถ้าเราอยากให้เขาสนใจเรา เราต้องสนใจเขาก่อนนะครับ เพราะว่าเด็กบางคน จะมีภาวะเรียกร้องความสนใจ อันนี้ไม่ใช่คำที่ไม่ดีนะ การเรียกร้องความสนใจ คือ การที่อยากให้ครูเห็นความสำคัญของตัวเขา

เช่น ถ้าเกิดเขาอยู่ในห้อง เขาคุยกับเพื่อนข้างหลัง คุยมาก เราก็สนใจเขา …หนูคุยเรื่องอะไรกันลูก ตอบครูมาสิ ครูไม่ว่าหรอก คุยเรื่องอะไรกัน



เราทำตัวสนใจ ใคร่รู้ในเรื่องของเขาก่อน แล้วค่อยด่า ด่ายังไง โอเคลูกเดี๋ยวค่อยคุยกัน …คนนั้นไม่มาใช่ไหม แสดงว่ามันต้องมีอะไร แสดงมันอาจจะอกหัก มันก็เลยไม่มา มันโทร.บอกเธอใช่ไหม

เดี๋ยวค่อยคุยกัน เดี๋ยวๆ ถาม ทำไมเพื่อนไม่มา แต่ก่อนอื่นคุยกับฉันก่อน เพราะว่าถ้าเธอไม่คุยกับฉัน ฉันจะไม่มาสอนเหมือนกัน ต่อไปนะ

คือพยายามเหมือนกับ Tie up (ทำให้สำเร็จ) เชือก แต่เด็กก็เส้นเชือกที่เล่นของมันอยู่ เราก็เส้นเชือกของเรา เราก็พยายามเอาเส้นเชือกของเรากับเส้นเชือกของเด็ก ไปผูกกัน แล้วดึงเขาเข้ามาหารายวิชาของเราครับ

ต้องใช้เป็นเทคนิค พยายามให้ความสนใจในตัวเด็ก อาจจะมาก อาจจะน้อย แล้วแต่บริบท แล้วแต่นิสัย ลักษณะนิสัยใจคอของเด็ก”






ชีวิตเปลี่ยน ได้สิทธิพิเศษ!!?



“ชีวิตเปลี่ยนไปมาก มันเป็นปรากฎการณ์ ในชีวิตคนๆ หนึ่งที่จะได้รับ และเป็นปรากฎการณ์ที่เราได้รับในเชิงบวกตลอด ถามว่ามีเชิงลบไหม มีแต่มันน้อยนิดมาก จนคนหลายๆ คนที่ support เรา เขาจัดการมันออกไปแทนเรา

มันเปลี่ยนในตรงที่ว่า มันสร้างกำลังใจให้เรามีแรงที่จะทำสิ่งนี้ต่อ หรือมันสร้าง เป็นเหมือนกับพระ กำลังใจที่มาจากแรงมหาชน เป็นเหมือนกับพระ แสงสว่างที่คอยกระซิบที่หูว่า อย่าทำสิ่งที่ไม่ดีนะ เมื่อไหร่เราสึกโกรธ แล้วเราอยากมีอารมณ์ ก็ฉุกคิดว่าทัวร์ลงนะ

มันเป็นตัวย้ำเตือนว่า ในเมื่อคุณก่อสิ่งที่คุณสร้าง คุณเป็นกำลังใจให้กับคนอื่น แต่คุณอย่ามาทำให้มันเสียหาย ด้วยตัวของคุณเอง

Privilege (สิทธิพิเศษ) มากขึ้นไหม…ไม่ เพราะว่าคุณรู้จักเราในหน้านี้ แต่คุณไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของเรา


เพราะฉะนั้นการจะไปไหนมาไหน การที่ใครรู้จักไม่มีเลย ไม่มีคนที่มารู้จัก แล้วได้ privilege ว่าคนนี้มา อาจารย์คนนั้นมา …ไม่มี เพราะว่าคนจะรู้จักครูบอลลี่ในหน้านี้ ที่นี่เท่านั้น หรือที่สื่อเท่านั้น

แต่เมื่อเป็นอีบอลลี่ของเพื่อนร่วมงาน เป็นน้องบอลลี่ของพี่ๆ หรือเป็นไอ้บอลของพ่อแม่ เราเป็นอีกคนหนึ่งที่คนรู้จักเรา ในอีกหน้าหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราไม่คิดว่าเราจะไป inference(การลงความเห็น)ใครได้ ไปบอกว่าฉันขอนู่นนี่นั่น พิเศษกว่าคนอื่น… ไม่ครับ”














สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพเคลื่อนไหว: อิสสริยา อาชวานันทกุล, ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ: สันติ เต๊ะเปีย
ขอบคุณสถานที่: โรงเรียนประสาทรัฐประชากิจ จ.ราชบุรี


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **





กำลังโหลดความคิดเห็น