xs
xsm
sm
md
lg

ลดเด็กบูลลี่ทางเพศ เคารพความต่าง ดีแทค เปิดแพลตฟอร์ม “พัฒนาครู สู่โค้ช”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



•ปัจจุบันพบว่า เด็กจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่ม LGBT ถูกกลั่นแกล้ง หรือบูลลี่มากที่สุด ไม่ว่าทางสังคมออฟไลน์ หรือออนไลน์
•เพราะมีเด็กมองความแตกต่างหลากหลายของปัจจัยทางเพศเป็นความไม่ปกติ
•ดีแทคผนึกพันธมิตร สร้างแพลตฟอร์มหลักสูตรออนไลน์ พัฒนาครูให้เป็นโค้ช เปิดบริการมกราคม 2564




อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์
ดีแทค Safe Internet เผยข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในปี พ.ศ.2561” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดีแทค แสดงให้เห็นข้อเท็จจริงว่า ร้อยละ 91 จาก 1,606 กลุ่มตัวอย่างเคยถูกกลั่นแกล้งในสถานศึกษาจนถึงขั้นเสียใจหรือเสียความรู้สึก

ที่สำคัญ เด็กๆ LGBT (กลุ่มหลากหลายทางเพศ ได้แก่ Lesbian-เลสเบี้ยน Gay-เกย์ Bisexual-ไบเซ็กชวล และ Transgender/ Transsexual-คนข้ามเพศ) ตกเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้งรังแกทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยกลุ่มนักเรียนที่เปิดเผยในงานวิจัยว่าเป็น LGBT เผยว่า มีประสบการณ์เคยโดนกลั่นแกล้งทางวาจา (ร้อยละ 47.67) แกล้งทางเพศ (ร้อยละ8.46) แกล้งทางไซเบอร์ (ร้อยละ5.16) และถูกกลั่นแกล้งทุกประเภท (ร้อยละ 87.42) จึงเป็นกลุ่มเด็กนักเรียนที่ถูกรังแกมากที่สุด เมื่อเทียบกับนักเรียนชายหญิงปกติ

นอกจากนี้ เด็กนักเรียนร้อยละ 33.8 ระบุว่า ครูคือบุคคลที่นักเรียนต้องการแจ้งปัญหาและร้องขอความช่วยเหลือมากที่สุด เมื่อนักเรียนเผชิญกับปัญหาการถูกกลั่นแกล้งทั้งที่โรงเรียนและบนพื้นที่ออนไลน์ แต่ที่ไม่ทำเช่นนั้น เพราะเด็กนักเรียนกลุ่มตัวอย่างรู้สึก “ไม่เชื่อถือ” ในความยุติธรรมของครู เพราะครูมักเลือกที่รักมักที่ชัง และครูอาจจะไม่มีความรู้หรือทักษะที่จะช่วยแก้ปัญหาโดยเฉพาะในเรื่องการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความเสี่ยงออนไลน์

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “งานวิจัยฯ สะท้อนให้เห็นว่า การกลั่นแกล้งทางสังคมมีความสัมพันธ์สูงกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ นักเรียนใช้ไซเบอร์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมของพวกเขา และหากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้ง หรือการรังแกทางไซเบอร์อาจจะต้องเริ่มจากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้ง หรือการรังแกทางสังคมกายภาพจริงของพวกเขา”

หลักสูตรออนไลน์ บนแพลตฟอร์ม “ห้องเรียนครูล้ำ”


“เหตุผลดังกล่าวดีแทคและองค์การแพลนจึงพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ให้ครูบนแพลตฟอร์ม “ห้องเรียนครูล้ำ” เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่สนับสนุนให้บุคลากรครู อาจารย์สามารถให้ความช่วยเหลือ และคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาภัยออนไลน์” อรอุมากล่าว

ในหลักสูตรนี้จะพร้อมเปิดให้บริการในเดือนมกราคมปีหน้า ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างเทเลนอร์ กรุ๊ป และองค์การแพลน อินเตอร์เนชันแนล รวมถึงการสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และมูลนิธิกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

เป้าหมายของหลักสูตร ต้องการส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยในกลุ่มเด็ก และการสร้างทักษะต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเด็กๆ สู่โลกยุคดิจิทัล อาจจะกล่าวได้ว่าในหลักสูตรพัฒนาครูให้เป็นโค้ช เป็นการจุดประกายให้ครูคอยแนะนำในเรื่องการใช้พื้นที่อำนาจที่สร้างสรรค์ ให้เด็กเรียนรู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรกับคนต่างๆ ในสังคม โดยที่ครูสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาได้จริง และยังช่วยทำให้ “โรงเรียน” ซึ่งเป็นพื้นที่ทางสังคมแห่งแรกของเด็ก เป็นพื้นที่ที่เอื้ออาทรปลอดภัยอย่างแท้จริง

“ครูที่ผ่านการอบรมจากหลักสูตรนี้ สามารถนำเครื่องมือหรือสื่อการสอนที่ได้รับไปใช้จัดกิจกรรมต่อยอดภายในโรงเรียนของตนได้ ซึ่งมีทั้งแผนการสอน บทเรียนที่นำไปประยุกต์ใช้ รวมถึงวิดีโอที่เป็นสื่อการสอน ซึ่งหลังจากที่นำร่องจัดอบรมครูที่ภาคเหนือ เราก็นำผลลัพธ์มาปรับปรุงในหลักสูตรออนไลน์ด้วย”

ก่อนหน้านี้ดีแทคและองค์กรแพลน ได้ร่วมกันจัดอบรมครูในโรงเรียน 15 โรงเรียน ที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทสังคมของประเทศไทย


ให้ครูแนะนำเด็ก เคารพถึงความแตกต่าง

กรองแก้ว ปัญจมหาพร ผู้เชี่ยวชาญงานส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พันธมิตรของดีแทค Safe Internet ผู้ร่วมออกแบบหลักสูตรอบรมครูออนไลน์บน ‘ห้องเรียนครูล้ำ’ กล่าวว่า เหตุการณ์กลั่นแกล้งไม่ว่าพื้นที่ออนไลน์หรือออฟไลน์เกิดจากเด็กหรือคนในสังคมไม่เข้าใจถึง “ความแตกต่าง” คนที่มีความแตกต่างก็มักจะตกเป็น “เหยื่อ” ของการกลั่นแกล้งรังแก ทั้งที่ในความเป็นจริง “ความแตกต่างหลากหลาย” ล้วนแสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมดาและธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต มนุษย์เรามีความหลากหลายทั้ง ชาติพันธุ์ สีผิว ภาษา ศาสนา รสนิยมเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ”

ซึ่งหลักสูตรฯ จะแนะนำวิธีการใช้อุปกรณ์การสอนให้ครูนำไปปรับใช้เพื่อให้คำแนะนำแก่เด็กนักเรียน และแนะนำบทสนทนาให้ครูสามารถพูดคุยกับเด็กนักเรียนด้วยความเข้าใจ รู้สึกเป็นมิตรต่อกัน ซึ่งจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะภูมิใจอัตลักษณ์ของตนเอง เคารพสิทธิความหลากหลายทางเพศ และไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

เนื้อหาในหลักสูตรฯ มุ่งสร้างความเข้าใจถึงอัตลักษณ์ที่หลากหลายของความเป็นมนุษย์ เพื่อลดการกลั่นแกล้งรังแกในโลกออนไลน์ เนื้อหามุ่งทำความเข้าใจกับผู้เรียนเพื่อให้เข้าใจว่า มนุษย์เพศกำเนิดหญิงชาย ล้วนแล้วแต่มีอัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมเพศ และการแสดงออกทางเพศภาวะที่แตกต่างกัน อัตลักษณ์ทางเพศ คือสิ่งที่บุคคลนั้นเป็นผู้กำหนด สามารถเปลี่ยนแปลงกันได้ ความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศ จะช่วยให้เราลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ การเหยียดเพศ รวมถึงการกลั่นแกล้งรังแกกันในโลกออนไลน์ของเด็กและเยาวชน

“หลักสูตรยังสอดคล้องกับหลักการยอกยาการ์ตา ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ว่า “มนุษย์ทุกคนย่อมเกิดมาโดยอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิต่างๆ “วิถีทางเพศ (sexual orientation) และอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity)” ซึ่งเป็นอัตลักษณ์พื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่ควรได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

ด้าน โจอันนา อูสตัด หัวหน้าสายงานอาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน กลุ่มเทเลนอร์ เสริมว่า “กลุ่มเทเลนอร์ เชื่อในความหลากหลายและสังคมที่ไม่มีการแบ่งแยก เพราะโทรคมนาคมคือเรื่องของทุกคน ซึ่งความหลากหลาย และการไม่แบ่งแยกควรจะเป็นหลักปฏิบัติในโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน โดยบทบาทที่สำคัญของธุรกิจโทรคมนาคม คือ การสอนให้เด็กและเยาวชนใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์อย่างรู้เท่าทัน สร้างสรรค์ และเห็นอกเห็นใจกัน ซึ่งจะทำให้โลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยและน่าอยู่สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย”

กรองแก้ว ปัญจมหาพร


ครูบอย - สิทธิชัย ดวงแสง ครูประจำวิชาเทคโนโลยี ร.ร.เชียงใหม่คริสเตียน หนึ่งในครูแกนนำที่ผ่านการอบรมนำร่อง กล่าวว่า ประเด็นความหลากหลายทางเพศจนทำให้เด็กกลั่นแกล้งกัน หรือบูลลี่ ซึ่งพบมากขึ้นในโลกออนไลน์ เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่มีในหลักสูตรการเรียนการสอนของครู ปัจจุบันโรงเรียนส่วนใหญ่ยังไม่มีนโยบายส่งเสริมความหลากหลายภายในโรงเรียนและใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์

ครูยังใช้กรอบนิยามดั้งเดิม คือ ผู้หญิงต้องเรียบร้อย และผู้ชายต้องเข้มแข็ง การเรียนการสอนจึงเน้นแค่เพศสภาพและสรีระ ไม่เน้นความหลากหลายทางเพศ ทำให้ครูไม่ได้พูดถึงความแตกต่างที่หลากหลายในยุคสมัยนี้เพื่อสร้างความเข้าใจแก่นักเรียน ทั้งที่โลกความจริงเกิดขึ้นแล้วแต่ไม่กล้าให้ความรู้ในการเลือกคู่ครองที่อาจจะเป็นเพศเดียวกัน เพราะครูก็ยังมองว่าความแตกต่าง คือ ไม่ปกติ

จากการไปอบรมมา ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยว SOGIES ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ ทำให้เห็นถึงแนวทางในการแก้ปัญหาเด็กบูลลี่ทั้งในโรงเรียนและโลกออนไลน์ โดยที่ครูสามารถสร้างสรรค์ กิจกรรมต่างๆ ให้เด็กเข้าใจ แยกแยะ และรู้ว่าการกลั่นแกล้งไม่ถูกต้อง เพราะในปัจจุบัน เด็กยังมองการกลั่นแกล้งเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะการใช้เรื่องเพศมาบูลลี่กันเอง

นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้การใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์ ทั้งต่อครูและนักเรียน การที่เราเป็นครูเราไม่สามารถทิ้งอำนาจที่เรามีอยู่ได้ เพราะต้องควบคุมชั้นเรียน แต่เราใช้อำนาจที่มีอยู่เกินไปหรือไม่ ต้องเข้าใจขอบเขต และระหว่างเด็กนักเรียนด้วยกันเอง เขาใช้อำนาจด้วยกันอย่างเหมาะสมหรือไม่ ต้องให้ความรู้ในเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจในทางที่ไม่เหมาะสม และอาจลุกลามจนเกิดความรุนแรงในโรงเรียน

หลังจากที่ครูบอยผ่านการอบรม ได้นำเรื่องแจ้งให้กับผู้อำนวยการโรงเรียนได้รับทราบ ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี หลังจากนั้นได้ถ่ายทอดให้กับครูคนอื่นๆ ในโรงเรียนทั้งระดับอนุบาล – ม. 6 เพื่อนำแนวทางไปปรับใช้ให้เหมาะกับเด็กในห้องเรียนแต่ละระดับชั้น โดยออกแบบกิจกรรมเสริมเข้าไปในรายวิชาของหลักสูตรแกนกลาง

“ในฐานะครูคนหนึ่ง ผมอยากให้ครูทุกท่านลองมองมุมกลับ ว่าเราจะพัฒนาเด็กหนึ่งคนได้อย่างไร โดยไม่ต้องสนใจเรื่องเพศ แต่ให้มองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีความแตกต่างกัน เราจะส่งเสริมอย่างไรให้เขาประสบความสำเร็จในทางที่เขาเลือก ตรงนี้ผมว่าคือความสำเร็จในความเป็นครู”