xs
xsm
sm
md
lg

ดีแทคหนุน Safe Internet ชู SOGIESC ชวนเข้าใจเพศหลากหลาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดีแทคเดินหน้า Safe Internet ต่อยอดสร้างทักษะและภูมิคุ้มกันแก่เยาวชนและครอบครัวให้สามารถท่องโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย ล่าสุด ชูงานวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในปี พ.ศ.2552” พบเด็กและเยาวชนที่จัดอยู่ในกลุ่ม “LGBT” มักตกเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้งรังแกทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์ ชวนคนไทยทำความรู้จัก "SOGIESC" เครื่องมือที่จะให้เราเข้าใจสเปกตรัมแห่งความหลากหลายทางเพศ

กรองแก้ว ปัญจมหาพร ผู้เชี่ยวชาญงานส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หน่วยงานไม่แสวงหากำไรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเด็ก และพันธมิตรของ ดีแทค Safe Internet ผู้ร่วมออกแบบบทเรียนออนไลน์ Gender Diversity Respect to Stop Cyberbullying บน ‘ห้องเรียนครูล้ำ’ พื้นที่การเรียนรู้ที่สนับสนุนให้บุคลากรครู อาจารย์สามารถให้ความช่วยเหลือ และคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาภัยออนไลน์ กล่าวว่า เหตุการณ์กลั่นแกล้งไม่ว่าพื้นที่ออนไลน์หรือออฟไลน์เกิดจากการที่เด็กหรือคนในสังคมไม่เข้าใจถึง “ความแตกต่าง” คนที่มีความแตกต่างมักจะตกเป็น “เหยื่อ” เหมือนแกะดำในฝูงของแกะขาว ทั้งที่ในความเป็นจริง “ความแตกต่างหลากหลาย” เป็นธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตบนโลกมีจำนวนกว่า 8.7 ล้านสปีชีส์ ขณะที่มนุษย์เองก็มีความหลากหลายทางพันธุกรรม ชาติพันธุ์ สีผิว สีตา สีปาก เช่นเดียวกับ ความเป็นเพศก็มีความหลากหลาย

"มนุษย์ถูกทำให้อยู่ในกรอบของความเป็นเพศตั้งแต่เด็ก ผ่านค่านิยมและธรรมเนียมทางเพศของสังคม ซึ่งมีเพียง 2 เพศตามเพศสรีระที่ระบุไว้ในสูติบัตร ซึ่งได้แก่ เพศชายและเพศหญิง แต่ในความเป็นจริง การสำนึกรู้ทางเพศอาจไม่ตรงกับเพศสรีระที่ตนเองมีก็ได้ ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของ​ธรรมชาติ”

SOGIESC คืออะไร

ในการทำงานเพื่อให้เข้าใจถึงความแตกต่างหลากหลายทางเพศของมนุษย์ นักสิทธิมนุษยชนได้มีการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า “SOGIESC” ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งทางสิทธิมนุษยชนที่ใช้เป็นกรอบทางความคิด เพื่อทำความเข้าใจกับองค์ประกอบและความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ส่วน ประกอบด้วย Sexual Orientation : SO หรือรสนิยมทางเพศ หมายถึงอารมณ์ ความรู้สึกเชิงชู้สาว และความดึงดูดทางเพศ ทั้งในเพศตรงข้ามและเพศเดียวกัน เป็นสัญชาตญาณที่เกิดมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ เป็นปกติของความเป็นมนุษย์

Gender Identity : GI หรืออัตลักษณ์ทางเพศ หมายถึง ความสำนึกรู้และการแสดงออกทางเพศภาวะเกี่ยวกับความเป็นเพศภาวะของตัวเองซึ่งอาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด

Gender expression : GE หรือการแสดงออกทางเพศภาวะ ซึ่งอาจมาจากการสั่งสอนของครอบครัว เช่น ผู้ชายต้องแต่งกายสีเข้ม มีความเข้มแข็ง ส่วนผู้หญิงควรไว้ผมยาว แต่งหน้า ท่วงท่าการเดิน ความอ่อนโยน

และ Sex Characteristic : SC หรือเพศสรีระ หมายถึง ลักษณะทางเพศของบุคคลที่ติดตัวมาแต่กําเนิดซึ่งถูกกําหนดให้เป็น 2 เพศ นั่นคือ เพศหญิง และเพศชาย

“เพราะความหลากหลายเป็นเรื่องของธรรมชาติ หลายคนค้นพบว่าไม่ได้ชอบตรงตามเพศกำเนิดตั้งแต่เด็ก อาจรู้สึกชอบเพศเดียวกัน ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งของการค้นหาความปรารถนาของตัวเองในฐานะมนุษย์หรือเด็กเยาวชนคนหนึ่ง หรือในผู้ใหญ่เองก็ตาม มนุษย์หลายคนค้นพบว่าตัวเองชอบเพศเดียวกันเมื่อโตขึ้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการพัฒนาทั้งทางร่างกายและการเรียนรู้ในสังคม สอดคล้องกับแนวคิดที่เรียกว่า “ความลื่นไหลทางเพศ” (Fluid sex) ซึ่งหมายถึง การไม่มีนิยามความเป็นชาย เป็นหญิงตายตัว มนุษย์ไม่มีเพศตามตัวลื่นไหลไปเหมือนกับสายน้ำ สุดแล้วแต่ปัจเจกจะนิยามตัวเองในแต่ละบริบทของชีวิต” คุณกรองแก้ว อธิบาย

ทำอย่างไรเมื่อ “ค้นพบ” ตัวเอง

จะเห็นได้ว่า การสำนึกทางเพศที่ไม่สอดคล้องกับกรอบหรือความคาดหวังของสังคมนั้น ไม่ได้เป็น “ความผิดปกติ” แต่ในหลายครั้ง ความสำนึกรู้ทางเพศที่แตกต่างจากบรรทัดฐานของสังคม ทำให้เกิดความละอายแก่ใจ ความเกรงกลัวต่อศีลธรรม มโนธรรม รู้สึกถึงความขัดแย้งในใจของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ


อย่างไรก็ตาม เมื่อ “ค้นพบ” ตัวเองแล้ว หลักสำคัญประการแรกคือ “การยอมรับตัวเอง” (Self-embracement) รักตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็น ชื่นชมความเป็นเพศที่เราเป็น ยิ่งเกิดการยอมรับในตัวเองได้เร็วเท่าไร ยิ่งช่วยหนุนศักยภาพของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น เป็นประชากรที่มีคุณภาพของสังคม

แต่หากต้องการเปิดเผยตัวเอง (Come out) ต่อพ่อแม่หรือคนรอบข้าง ควรประเมินและเข้าใจถึงกรอบคิดของพ่อแม่ต่อเพศวิถีเสียก่อน และที่สำคัญควรหา “พื้นที่”​ ในการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ เพื่อลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากพ่อแม่ได้มีทักษะที่เอื้ออาทรเสมอไป ในส่วนบทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครอง ควรให้เด็กๆ ได้มีโอกาสในการ “เลือกใช้ชีวิต” ของเขาเอง เลี้ยงดูให้เขามีความสุข ซึ่งเป็นเส้นทางของการนำไปสู่การประสบความสำเร็จในชีวิต

นอกจากนี้ “โรงเรียน” พื้นที่ทางสังคมแห่งแรกของเด็ก ควรออกแบบให้เป็นพื้นที่ที่เอื้ออาทร เป็นมิตร ปลอดภัย ทุกคนเคารพความเท่าเทียมของมนุษย์ ผ่านการเรียนการสอนตั้งแต่เด็ก ให้เข้าใจถึงแนวคิด “ความแตกต่างหลากหลาย” ที่เป็นธรรมดาของโลก ไม่ใช่ความผิดปกติ

“สำนึกทางเพศเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องส่วนบุคคล และไม่ใช่เรื่องที่ต้องอธิบายให้ทุกคนจำเป็นต้องรู้ คนในสังคมมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างบรรยากาศในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ไม่ตีตรา ไม่ควรไปอยากรู้เรื่องสำนึกทางเพศของผู้อื่น เคารพซึ่งกันและกันโดยไม่เลือกปฏิบัติบนฐานของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่บรรทัดฐานของสังคม” คุณกรองแก้ว ทิ้งท้าย

***รู้หรือไม่

- ร้อยละ 91 จาก 1,606 กลุ่มตัวอย่าง จากวิจัย “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” เคยถูกกลั่นแกล้งในสถานศึกษาจนถึงขี้นเสียใจหรือเสียความรู้สึก

- เยาวชนที่โดนกลั่นแกล้งรังแกมากที่สุด คือ เยาวชนกลุ่ม LGBT ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 47.67

บุคลากรครู อาจารย์ สามารถร่วมเรียนรู้กับดีแทค Safe Internet เรื่องความแตกต่างหลากหลายทางเพศ เพื่อเป็นแนวทางในการให้คำแนะนำแก่เยาวชน ที่บทเรียนออนไลน์ Gender Diversity Respect to Stop Cyberbullying


กำลังโหลดความคิดเห็น