xs
xsm
sm
md
lg

ลดเด็กบูลลี่ทางเพศบนไซเบอร์! ดีแทค Safe Internet จัดหลักสูตรเด็ด ปั้นครูเป็น “โค้ช” บนแพลตฟอร์ม “ห้องเรียนครูล้ำ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ บอกว่าในรูปของหลักสูตรออนไลน์บนแพลตฟอร์ม “ห้องเรียนครูล้ำ”จะพร้อมเปิดให้บริการในเดือนมกราคมปีหน้า
วันนี้ (30 กันยายน 2563) ดีแทค Safe Internet และกลุ่มเทเลนอร์ ร่วมกับองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พร้อม “ดีป้า-กองทุนสื่อฯ” แนะนำการพัฒนาหลักสูตร ‘การเคารพในความหลากหลายทางเพศเพื่อลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (Cyber-bullying) ซึ่งในรูปของหลักสูตรออนไลน์บนแพลตฟอร์ม “ห้องเรียนครูล้ำ” จะเปิดให้บริการ มกราคมปีหน้า

หลักสูตรดังกล่าว มุ่งพัฒนาครูให้เป็นโค้ชเพื่อช่วยทำให้ “โรงเรียน” ซึ่งเป็นพื้นที่ทางสังคมแห่งแรกของเด็ก เป็นพื้นที่ที่เอื้ออาทรปลอดภัยอย่างแท้จริง เพราะคนทุกคนควรเคารพความเท่าเทียมของมนุษย์ หากผ่านการเรียนการสอนตั้งแต่เด็ก ให้เข้าใจถึงแนวคิด “ความแตกต่างหลากหลาย” ว่าไม่ใช่ความผิดปกติ ย่อมจะช่วยลดอคติและความเสี่ยงที่เด็กและเยาวชนจะกลั่นแกล้งรังแกเพื่อนและคนร่วมสังคมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล




จากงานวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในปี พ.ศ.2561” โดยความร่วมมือระหว่างคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดีแทค แสดงให้เห็นข้อเท็จเชิงประจักษ์ว่า ร้อยละ 91 จาก 1,606 กลุ่มตัวอย่างเคยถูกกลั่นแกล้งในสถานศึกษาจนถึงขี้นเสียใจหรือเสียความรู้สึก

ที่สำคัญ “LGBT” (หมายถึงกลุ่มหลากหลายทางเพศ ได้แก่ Lesbian-เลสเบี้ยน Gay-เกย์ Bisexual-ไบเซ็กชวล และ Transgender/ Transsexual-คนข้ามเพศ) มักตกเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้งรังแกทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยกลุ่มนักเรียนที่เปิดเผยในงานวิจัยว่าเป็น LGBT เผยว่า มีประสบการณ์โดนกลั่นแกล้งทางวาจา แกล้งทางเพศ แกล้งทางไซเบอร์ และถูกรังแกมากที่สุด เมื่อเทียบกับนักเรียนหญิงและชาย

นอกจากนี้ เด็กนักเรียนร้อยละ 33.8 ระบุว่า ครูคือบุคคลที่นักเรียนต้องการแจ้งปัญหาและร้องขอความช่วยเหลือมากที่สุด เมื่อนักเรียนเผชิญกับปัญหาการถูกกลั่นแกล้งทั้งที่โรงเรียนและบนพื้นที่ออนไลน์ แต่ที่ไม่ทำเช่นนั้น เพราะเด็กนักเรียนกลุ่มตัวอย่างรู้สึก “ไม่เชื่อถือ” ในความยุติธรรมของครู เพราะครูมักเลือกที่รักมักที่ชัง และครูอาจจะไม่มีความรู้หรือทักษะที่จะช่วยแก้ปัญหาโดยเฉพาะในเรื่องการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความเสี่ยงออนไลน์

นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “จากงานวิจัยฯ แสดงให้เห็นว่า การกลั่นแกล้งทางสังคมมีความสัมพันธ์สูงกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ นักเรียนใช้ไซเบอร์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมของพวกเขา และหากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางไซเบอร์อาจจะต้องเริ่มจากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางสังคมกายภาพจริงของพวกเขา”

“ดีแทคและองค์การแพลนพัฒนาหลักสูตรนี้ ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างเทเลนอร์ กรุ๊ป และองค์การแพลน อินเตอร์เนชันแนล ที่มีเป้าหมายคือ ส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยในกลุ่มเด็ก และการสร้างทักษะต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเด็กๆ สู่โลกยุคดิจิทัล โดยดีแทคและองค์กรแพลน ได้ร่วมกันจัดอบรมครูในโรงเรียน 15 โรงเรียน ที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทสังคมของประเทศไทย

จากนั้น จะพัฒนาเนื้อหาดังกล่าวให้อยู่ในรูปของหลักสูตรออนไลน์บนแพลตฟอร์ม “ห้องเรียนครูล้ำ”ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะพร้อมเปิดให้บริการในเดือนมกราคมปีหน้านี้ ครูที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร สามารถนำเครื่องมือหรือสื่อการสอนที่ได้รับไปใช้จัดกิจกรรมต่อยอดภายในโรงเรียนของตนได้ ความพยายามทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากความสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และมูลนิธิกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”



ทั้งนี้ ดีแทคได้เลือกทำงานร่วมกับองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กรพันธมิตรระดับโลกของกลุ่มเทเลนอร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญของดีแทค ในการนำทฤษฎีที่มีนักสิทธิมนุษยชนได้พัฒนาไว้เป็นเครื่องมือหนึ่งทางสิทธิมนุษยชนที่ใช้เป็นกรอบทางความคิด เพื่อทำความเข้าใจกับองค์ประกอบและความความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือเรียกในชื่อย่อว่า SOGIESC ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ส่วน

•Sexual Orientation: SO หรือ รสนิยมทางเพศ หมายถึง อารมณ์ ความรู้สึกเชิงชู้สาว และความดึงดูดทางเพศ ทั้งในเพศตรงข้ามและเพศเดียวกัน เป็นสัญชาตญาณที่เกิดมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ เป็นปกติของความเป็นมนุษย์

•Gender Identity: GI หรือ อัตลักษณ์ทางเพศ หมายถึง ความสำนึกรู้และการแสดงออกทางเพศภาวะเกี่ยวกับความเป็นเพศภาวะของตัวเองซึ่งอาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด

•Gender Expression: GE หรือ การแสดงออกทางเพศภาวะ ซึ่งอาจมาจากการสั่งสอนของครอบครัว เช่น ผู้ชายต้องแต่งกายสีเข้ม มีความเข้มแข็ง ส่วนผู้หญิงควรไว้ผมยาว แต่งหน้า ท่วงท่าการเดิน ความอ่อนโยน

•Sex Characteristic: SC หรือ เพศสรีระ หมายถึง ลักษณะทางเพศของบุคคลที่ติดตัวมาแต่กําเนิดซึ่งถูกกําหนดให้เป็น 2 เพศ นั่นคือ เพศหญิง และเพศชาย

นางสาวกรองแก้ว ปัญจมหาพร ผู้เชี่ยวชาญงานส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พันธมิตรของดีแทค Safe Internet ผู้ร่วมออกแบบหลักสูตรอบรมครูออนไลน์บน ‘ห้องเรียนครูล้ำ’ พื้นที่การเรียนรู้ที่สนับสนุนให้บุคลากรครู อาจารย์สามารถให้ความช่วยเหลือ และคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาภัยออนไลน์ กล่าวว่า "เหตุการณ์กลั่นแกล้งไม่ว่าพื้นที่ออนไลน์หรือออฟไลน์เกิดจากการที่เด็กหรือคนในสังคมไม่เข้าใจถึง “ความแตกต่าง” คนที่มีความแตกต่างมักจะตกเป็น “เหยื่อ” ของการกลั่นแกล้งรังแก ทั้งที่ในความเป็นจริง “ความแตกต่างหลากหลาย” ล้วนแสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมดาและธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต มนุษย์เรามีความหลากหลายทั้ง ชาติพันธุ์ สีผิว ภาษา ศาสนา รสนิยมเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ"

หลักสูตรฯ แนะนำวิธีการใช้อุปกรณ์การสอนให้ครูนำไปปรับใช้เพื่อให้คำแนะนำแก่เด็กนักเรียน และแนะนำบทสนทนาให้ครูสามารถพูดคุยกับเด็กนักเรียนด้วยความเข้าใจ เป็นมิตร ซึ่งจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะภูมิใจอัตลักษณ์ของตนเอง เคารพสิทธิความหลากหลายทางเพศ และไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

จะเห็นว่าหลักสูตรฯดังกล่าว มุ่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอัตลักษณ์ที่หลากหลายของความเป็นมนุษย์ เพื่อลดการกลั่นแกล้งรังแกในโลกออนไลน์ เนื้อหามุ่งทำความเข้าใจกับผู้เรียนเข้าใจว่า มนุษย์เพศกำเนิดหญิงชาย ล้วนแล้วแต่มี อัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมเพศและ การแสดงออกทางเพศภาวะ ที่แตกต่างกัน อัตลักษณ์ทางเพศ คือสิ่งที่บุคคลนั้นเป็นผู้กำหนด สามารถเปลี่ยนแปลงลื่นไหลได้ ความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศ จะช่วยให้เราลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ การเหยียดเพศ รวมถึงการกลั่นแกล้งรังแกกันในโลกออนไลน์ของเด็กและเยาวชน

ในหลักสูตรฯนี้ ยังสอดคล้องกับหลักการยอกยาการ์ตา ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ว่า “มนุษย์ทุกคนย่อมเกิดมาโดยอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิต่างๆ “วิถีทางเพศ (sexual orientation) และอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity)” คืออัตลักษณ์พื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่ควรได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

ด้าน โจอันนา อูสตัด หัวหน้าสายงานอาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน กลุ่มเทเลนอร์ กล่าวเสริมว่า “กลุ่มเทเลนอร์ เชื่อในความหลากหลายและสังคมที่ไม่มีการแบ่งแยก เพราะโทรคมนาคมคือเรื่องของทุกคน ซึ่งความหลากหลาย และการไม่แบ่งแยกควรจะเป็นหลักปฏิบัติในโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน โดยบทบาทที่สำคัญของธุรกิจโทรคมนาคม คือ การสอนให้เด็กและเยาวชนใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์อย่างรู้เท่าทัน สร้างสรรค์ และเห็นอกเห็นใจกัน ซึ่งจะทำให้โลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยและน่าอยู่สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย”



วันนี้ (30 กันยายน 2563) ดีแทค Safe Internet และกลุ่มเทเลนอร์ ร่วมกับองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พร้อม “ดีป้า-กองทุนสื่อฯ” แนะนำการพัฒนาหลักสูตร ‘การเคารพในความหลากหลายทางเพศเพื่อลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (Cyber-bullying)