ถอดสมการสูตรสำเร็จ ฟาร์มค่าไฟ 0 บาท ฟาร์มแห่งการสร้างแรงบันดาลใจ เชื่อใครก็ทำเกษตรได้ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน หลักแสนต่อเดือน กว่าจะถึงวันนี้ ลองผิดลองถูก ล้มลุกมานักต่อนัก ผลผลิตดี แต่ไม่มีช่องทางการขาย ก็ไม่มีประโยชน์ สำคัญการตลาด และการสร้างสตอรี
สูตรสำเร็จค่าไฟ 0 บาท
“ไม่มีไฟฟ้าสร้างฟาร์มได้ ไม่มีแหล่งน้ำทำได้ ไม่ใช้สารเคมีก็ได้ แม้กระทั่งไม่ใช้ดินก็ยังไง คำว่าค่าไฟ 0 บาท มีเกษตรกรที่ไหนทำค่าไฟ 0บาทกันไหม ทั่วประเทศและทั่วโลก ไม่มีใครพูดถึงเลยนะค่าไฟ 0 บาท
ไม่มีไฟฟ้า ไม่ใช้สารเคมี หนูไม่อยากใช้สารเคมี พืชผักมันต้องใช้สารเคมี กูทำให้เห็นแล้ว ไม่ต้องมีสิ่งที่มึงพูดเลย กูทำได้ ผลผลิตกูก็ออกตลอดเวลา”
พี่โบ้-วีระ สรแสดง เจ้าของ Res-Q Farm ฟาร์มค่าไฟ 0 บาท จากเจ้าของบริษัทออแกไนซ์ที่จัดงานแต่งงานในระดับชาติมาก่อน หันมาทำเกษตรกลางกรุงในพื้นที่ 9 ไร่ ปลูกผักปลอดสารพิษ ที่ในแต่ละเดือนไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าไฟสักบาท พร้อมยังมีค่าตอบแทนหลักแสนต่อเดือนอีกด้วย ทำให้ตอนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงการเกษตร มีผู้คนเข้าไปดูไม่ขาดสาย
ทั้งที่ไม่มีความรู้ด้านการเกษตรแม้แต่น้อย จากเด็กเพาะช่าง สู่เจ้าของบริษัทออแกไนซ์ที่มีรายได้หลักล้าน ลองผิดลองถูกทำเกษตรในเมือง จนเป็นสูตรความสำเร็จ บั้นปลายชีวิตยึดอาชีพเกษตร ปลูกผักขายจนนาทีสุดท้ายของชีวิต
พี่โบ้เล่าว่า กุญแจสำคัญในการที่จะทำฟาร์มใหญ่แห่งนี้มีค่าไฟฟ้า 0 บาทนั้น เป็นการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมภูมิปัญญา ที่ใช้พลังงานจากธรรมชาติ พลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก เรียกได้ว่า เป็นการบูรณาการให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“ใช้โซลาร์เซลล์เป็นหลัก แดดเป็นพลังงานที่เหมาะสมที่สุด แล้วที่สำคัญที่นี่ใช้พลังงานแค่ช่วงกลางวันอย่างเดียว กิจกรรมทางการเกษตรเกิดขึ้นเฉพาะตอนกลางวัน ดังนั้นเราจึงเอาช่วงเวลานี้มาสร้างพลังงาน
มอเตอร์จากเครื่องซักผ้าเอามาต่อทำพัดลมได้ ทำปั๊มน้ำได้ มาต่อได้ทุกอย่างครับ ไฟฟ้าแบตเตอรี่ สามารถไปจ่ายให้แก่เครื่องพ่นหมอก ลดอุณหภูมิอะไรได้หมด ดังนั้น ที่นี่จะใช้เงินน้อยมาก ส่วนใหญ่จะใช้เป็นของ Reuse เกือบทั้งหมด และก็ราคาถูก
หลายคนบอกว่า รู้แล้วค่าไฟ 0 บาทก็โซลาร์เซลล์ไง โซลาร์เซลล์มึงกับโซลาร์เซลล์กู คนละโซลาร์เซลล์ โซลาร์เซลล์ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่ ไม่มี Inverter ไม่มี Charger มีแต่แผงโซลาร์เซลล์กับมอเตอร์ต่อกันแล้วทำงานได้เลย ใช้แค่ช่วงกลางวันอย่างเดียว เก็บน้ำไว้ในที่สูงซะ เวลาจะใช้ ใช้ตอนไหนก็ได้ แค่นั้น
พี่โบ้อยู่ ที่พี่โบ้ไปทำฟาร์มมันไม่มีไฟฟ้าเป็นเงื่อนไข เพราะฉะนั้นการที่มาเลือกตรงนี้ เพราะตรงนี้มันสุดขั้วมาก ตรงนี้เป็นที่ไม่มีไฟฟ้าเลย เพราะว่าเราเป็นที่เช่า เจ้าของอยู่ต่างประเทศ ทำอะไรยากมาก จะขอเอกสารอะไรยุ่งยากหมดเลย ก็เลยแบบโอเคอินดี้เลย ไม่ขอไฟ ไม่ขออะไรเลย แล้วที่ต่ำด้วย อยู่ยากจะตาย แต่พี่โบ้ทำให้เห็นอยู่ได้
การจัดการฟาร์มทั้งหมดเป็นพลังงานฟรี มีการจัดการระบบน้ำ ให้น้ำไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ ดังนั้น ช่วงที่น้ำไหลผ่านไปแต่ละที่มันจะมีการล่อเลี้ยงระบบนิเวศ ดังนั้น เรื่องนี้เป็นการเอาพลังงานฟรีมาร่วมกับ Gravity ร่วมกับธรรมชาติ น้ำนี้ทั้งฟาร์มมันก็จึงไหลทั้งฟาร์ม บวกกับการวางแผนการผลิต
ที่นี่เป็นกรุงเทพมาหานคร และเป็นฟาร์มที่เจาะน้ำบาดาลไม่ได้ ที่นี่จำเป็นจะต้องเอาน้ำเสียมาบำบัดด้วยการปรับค่า PH แล้วก็เติมออกซิเจนด้วยการเดินทางของน้ำ น้ำที่นี่จะไหลตลอดเวลาด้วยพลังงานฟรี พอไหลปุ๊บมันก็จะทำให้พวกออกซิเจนและจุลินทรีย์เจริญเติบโต เพราะฉะนั้นมันก็จะเป็นการเอาน้ำเสียมาเป็นน้ำดีได้ แต่น้ำดีเราเอามาไว้ใช้เลี้ยงนิเวศอย่างเดียว
การใช้นวัตกรรมเรื่องของการใช้ระบบโซลาร์เซลล์ พลังงานฟรีเข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อจะลดการใช้พลังงาน เพื่อจะให้ค่าไฟเป็น 0 บาท ต้นทุนค่าใช้จ่าย การผลิตด้านพลังงานเป็นศูนย์มันจะทำให้รายได้เราเพิ่มขึ้น”
นอกจากเป็นฟาร์มที่ไม่ต้องควักกระเป๋าเสียค่าไฟสักบาทที่สำคัญเป็นฟาร์มปลอดสารพิษ เน้นปลูกผักสลัด และเมล่อนเป็นหลัก เพราะเป็นพืชที่ราคาสูง
“ที่นี่พี่โบ้เน้นในการปลูกเมล่อนกับปลูกผักสลัด เพราะว่าอะไร เพราะพืช 2 อย่างนี้เป็นพืชที่เด็กสนใจมากที่สุด ให้ไปปลูกผักคะน้า ผักบุ้งก็ไม่เอา แล้วพี่ก็บอกว่า กูไม่ปลูกอยู่แล้วผักบุ้งกับผักคะน้า ทำไมผักคะน้าโลละ 30 บาท ผักสลัดโลละ 100 บาท คุณเลือกปลูกอะไร ใช่ไหม พื้นที่เท่ากัน ได้เงินมากกว่าตั้ง 3 เท่า ดีกว่า
เพราะฉะนั้นพืชที่ปลูกเน้นเป็นพืชที่ราคาสูงหมดเลย แล้วที่สำคัญคือพี่โบ้อยากจะบอกว่าพวกผักบางอย่าง มันไม่พอกับการตลาด แล้วการสร้างระบบนิเวศที่ดี การสร้างระบบที่ดีจะทำให้ผักผลิตได้ทุกวัน และขายได้ทุกวัน ไม่ต้องรอฤดูกาล แต่ต้องวางแผน และก็ทำนิเวศให้เหมาะสม แล้วเขาจะปลูกได้ทุกวัน
ผักของเราใช้คำว่าปลอดภัยไม่ได้นะ ผักของเราใช้คำว่า แม่งโคตรปลอดภัย เพราะว่าปลูกด้วยระบบโรงเรือน ไม่ใช้สารเคมี
น้ำที่ปลูกยังเป็นน้ำประปาเลย
เพราฉะนั้นค่าน้ำประปาทั้งฟาร์ม 2 พันกว่าบาท ค่าไฟไม่เสีย ฟาร์มตั้ง 9 ไร่ ดีไหม เป็นการบริหารจัดการน้ำด้วยนะ ไม่ใช่แค่จัดการไฟฟ้าอย่างเดียว เป็นการจัดการน้ำที่ดี ระบบปลูกทั้งหมดใช้น้ำน้อยมาก”
เจ้าของฟาร์มแห่งนี้เล่าอีกว่า ที่ดิน 9 ไร่ที่ทำเกษตร 30 ปีที่แล้วเป็นหนองน้ำ ไม่มีใครสนใจ บวกกับใกล้กับบริษัทของตัวเอง จึงเห็นว่าเป็นที่ดินว่างเปล่าจึงอยากลองทำดู แม้จะเป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่ก็ทำให้เห็นแล้วว่าสามารถทำได้
“แล้วที่นี่มีข้อหนึ่งก็คือ ที่นี่ไม่ใช่ที่ของตัวเอง สำหรับคนที่บอกว่าวันนี้หนูไม่มีที่เลยพี่ หนูอยากปลูก อยากไปทำเกษตร หนูไม่มีที่ ไม่มีมึงก็เช่าเขา มันอยู่ที่คุ้มหรือไม่คุ้ม ที่นี่ทำสัญญาไว้ 6 ปี ทำให้คุ้มภายใน 6 ปี วางยุทธศาสตร์ให้ได้แล้วก็กำหนดเลย วางไทม์ไลน์ให้ได้ เอาให้คุ้ม
เซเว่นเขาซื้อไหม เขาก็ไม่ซื้อ เขาก็เช่าเอาไหมตึกเขา แต่เขาทำการค้าแล้วมันคุ้มถูกไหม เพราฉะนั้นผมแค่มองว่าหลายอย่างเราลองดูว่าแนวคิดของคนที่เขาประสบความสำเร็จ ทำธุรกิจประสบความสำเร็จเป็นยังไง เราแค่มองว่า คุณไปดูโมเดลแห่งความสำเร็จมาก่อน ใครก็ได้ แล้วก็ลอกวิธีคิดเขา เขาทำยังไง
เหมือนเช่นเดียวกัน วันนี้มาฟาร์มพี่โบ้ มาลอกวิธีคิดพี่โบ้ไป ไม่ใช่มาลอกฟาร์มของพี่โบ้ไป ฟาร์มนี้ไปตั้งที่อื่นก็ไม่ใช่แล้ว แต่เอาแค่วิธีคิดไปแล้วก็ไปปรับตัว ไปใช้กับฟาร์มของเรา ไปใช้กับที่ของเรา มันไม่จำเป็นต้องมีแบบนี้”
สร้างรายได้อย่างยั่งยืน หลักแสนต่อเดือน
“พี่ยกตัวอย่างนะ ปลูกผักสลัดกับเมล่อน 2 อย่าง เอาแค่ 2 อย่างพอนะ ผักสลัดพี่ปลูกวันละ 400 ต้น ได้วันละ 4,000 บาท เดือนละ 120,000 บาท ผักสลัดอย่างเดียว เมล่อนพี่ปลูกสัปดาห์ละ 400 ต้น ต้นละ 100 บาท ได้สัปดาห์ละ 40,000 บาท เดือนละ 160,000 บาท สองอย่างรวมกันเท่าไหร่ทีนี้แสนสองกับแสนหก 280,000 บาท บาท ยังไม่รวมวอเตอร์เครสที่ปลูกไว้อีก นี่แค่พูดถึงใช้ที่แค่ 2 ไร่เองนะ นี่ตั้ง 9 ไร่ มีของเล่นตั้งเยอะอย่างอื่นที่มันทำให้เกิด เดี๋ยวจะมีกิจกรรม work shop พวกนี้ทำรายได้ทั้งหมด”
หลายคนอาจจะมองว่าแม้จะมีรายได้เยอะก็จริง แต่ต้นทุนก็คงมหาศาลเช่นเดียวกัน แต่เจ้าของฟาร์มหัวใจเกษตรแห่งนี้ไม่กลับบอกว่า หากมีการวางแผนการผลิตที่ดี ต้นทุนก็ต่ำมากเช่นเดียวกับ Res-Q Farm ลงทุนครั้งเดียว เรียกได้ว่าอยู่แบบยั่งยืน
“วางไทม์ไลน์ว่าถ้าวันนี้เราปลูกผักวันละ 400 ต้นทุกวันๆ เราจะมีผักขายวันละ 400 ต้น ต้นละ 10 บาท เราจะมีรายได้วันละ 4,000 บาท เดือน 120,000 บาท นี่แค่วันละ 400 ต้นเองนะ จำเป็นไหมว่าต้องปลูกวันละ 5,000 ต้น แล้วขายไม่หมด ถ้าเรามีตลาดแค่ 400 ต้น เราก็ปลูกสัก 500 เผื่อเสียสัก 100 ต้น แค่นี้พอไหม
ต้องบอกว่าถ้าเราวางแผนการผลิตที่ดี ต้นทุนต่ำมาก ลงทุนครั้งเดียวก็ได้ทุนคืนแล้ว จากนั้นก็เป็นกำไร พี่โบ้ใช้โรงปลูกผักสลัด หรือปลูกเมล่อน ต้นทุนประมาณสัก 40,000-50,000 บาทต่อหนึ่งโรงเรือน ขายเมล่อน 1 ครั้งก็ได้ 40,000 ขาย 2 ครั้งก็ได้ทุนคืนแล้ว คำว่าต้นทุนต้องอย่ามองไปภาพใหญ่ มองทีละหนึ่งจะได้ใจชื้นหน่อย”
การจะทำเกษตรให้ประสบความสำเร็จ พี่โบ้มองว่าการตลาดก็เป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะหากผลิตดี แต่ไม่มีช่องทางการขายก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร รายได้ก็ไม่ยั่งยืน
“ผักต้นละ 10 บาท ถ้าเราเอาไปขายในตลาด เราจะส่งผักได้แค่ต้นละ 10 บาท แต่ถ้าเอาไปใส่จานสลัด รู้ไหมผัก 3 ต้นได้ 150 บาท เกือบ 200 บาท ใช้ผักแค่ 3 ต้น จากต้นละ 10 บาทกลายเป็นต้นเท่าไหร่ 50 บาท
นี่คือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่โปรดักต์ ให้แก่สินค้า การที่เรามีการต่อยอด ทำธุรกิจในการแปรรูป พี่พยายามบอกเด็กรุ่นใหม่ เน้นเรื่องนี้เป็นหลักว่าเรื่องนี้ต้องแปรรูป ต้องเพิ่มมูลค่ามัน จากสตอรีจากการแปรรูปว่ามันจะต้องถูกเปลี่ยนไปเป็นอะไร
ทำเป็นสลัด ทำเป็นยำ มาเปิดร้านสเต๊ก ร้านพิซซ่า ไม่ใช่เปิดแต่ไก่ทอด ไก่ย่าง หรือก๋วยเตี๋ยวเหมือนกันหมดเลย ทำอะไรก็ได้ที่ดูว่าชุมชนเราขาดอะไร เอาไปเติม
วางแผนการผลิต บวกกับการทำการตลาด ผักเราจะไม่ผลิตออกไปแบบเว่อวังอลังการ ผลิตผักได้เยอะ ขายมาก ราคาถูกทันทีเลย ผลิตผักให้ดีแต่น้อย พอแก่การตลาดก็พอ ราคาจะได้คงที่ ไม่ต้องไปกดราคาผู้บิโภคหรอก แต่เอาที่เหมาะสม เราทำแล้วเราได้กำไรก็พอแล้ว คนกินผักราคาถูก คนขายได้ขายผักราคาแพงขึ้น พี่โบ้ว่าวินๆ ทั้งสองฝ่าย
การเพิ่มมูลค่าของสินค้าสำคัญ วันนี้ถ้าทุกคนคิดว่าจะไปผลิตผักให้ได้เยอะๆ แต่ราคาน้อย กับผลิตผักน้อยๆ แต่ราคาเยอะเลือกเอาจะทำแบบไหน”
นอกจากการการตลาดที่สำคัญแล้ว อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญสำหรับแนวคิดในการทำเกษตรของพี่โบ้คือ การสร้างสตอรีให้แก่ผัก หรือสร้างเรื่องราวดึงดูดใจกลุ่มลูกค้า ใหเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการตัดสินใจซื้อ และแม้แต่การตัดสินใจเข้ามาเยี่ยมชมฟาร์ม
“สตอรีหมดเลย ผักถึงแม้ไม่สวยเลิศเลอแต่เธอโคตรปลอดภัย เมล่อนที่หวานจากความรักของแม่ สะพานแห่งแรงบันดาลใจ ดังนั้น โรงเห็ด ผักคะหน้าเม็กซิโก ผักไชยา แม้แต่วอเตอร์เครสที่อยู่ตามร่องน้ำ ทุกอย่างมีสตอรีหมดเลย
ระบบปลูกผักค่าไฟ 0 บาทมีถึง 5 เวอร์ชัน ตั้งแต่เวอร์ชันหนึ่ง สอง สาม สี่ห้า ตั้งแต่รางปลูกธรรมดาจนถึง 12 ชั้น สามารถปลูกผักได้ อันนี้ไม่เสียค่าไฟเลย
เมล่อนที่นี่หวานจากด้วยความรักของแม่ด้วยนะ ไม่ใช้สารเคมีเลย ปลูกด้วยดิน ลดน้ำเปล่านะครับ แล้วก็หวานด้วยการอดน้ำ ตอนอดน้ำใบก็จะเริ่มเหี่ยวแล้วก็จะเริ่มไหม้ เป็นการทำให้รู้ว่า เขาได้ย้ายสารอาหารจากใบไปเก็บไว้ที่ลูกแล้วใบจะต้องเหี่ยวแห้ง นี่คือสัญลักษณ์ของแม่ยอมตายเพราะลูก แล้วต้นเขาจะตาย เพื่อให้ลูกเขาอยู่รอด
เราจึงเรียกความหวานนี้ว่า หวานจากความรักของแม่ กินเข้าไปคำแรกอาจจะไม่หวาน พอมาฟังเรื่องเล่าในการปลูกแล้ว คำที่สองน้ำตาจะไหล ที่นี่ปลูกเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย คนส่วนใหญ่จะมาจอง ถ้าไปวางที่ร้านแป๊บเดียวก็หมดแล้ว
พอปลูกด้วยระบบที่มันไม่ใช้พวกสารเคมีด้วย ผลผลิตมันก็อาจจะน้อยนิดหนึ่ง ลูกอาจจะดูขี้เหร่ เบี้ยวๆ นะ แต่ขอโทษ นี่มันมีความรักของแม่มันนะอยู่ในนี้ ก็สนุกดี มันเป็นสตอรีในฟาร์มครับ”
มาตรฐานกูรับรองเอง “ผักโคตรปลอดภัย”
ผักของฟาร์มนี้จะเรียกว่าเป็นผักปลอดสารพิษคงไม่ได้ เพราะเจ้าของฟาร์มการันตีเองเลยว่า ผักที่นี่โคตรปลอดภัย ถึงแม้จะไม่ได้ผ่านมาตรฐานการรับรองสินค้าอย่าง กรอ. ก็พี่โบ้เองก็มั่นใจแน่นอนว่าไม่มีสารพิษปนเปื้อน
“คำว่าออแกนิก คำว่าอินทรีย์คนเตะไม่ได้เลยนะ เพราะว่าอะไรรู้ไหม อันดับแรกแพง อันที่สองรู้ไหมมาตรฐานที่จะขอเงื่อนไขเยอะมาก แหล่งน้ำจะต้องดี ต้องมีแนวกันชน จะต้องมีโน่น นี่ นั่น 100 คนไม่ถึง 10 คนหรอกที่ทำได้
พี่โบ้จึงบอกว่าวันนี้มาตรฐาน กรอ. คือมาตรฐานกูรับรองเอง มึงไม่ต้องมารับรองกูหรอก ถ้ามึงจะมาดูฟาร์มกูแล้วมึงอยากกิน มึงก็กิน มึงมาดูกันเลย มาเอาความเชื่อมั่นมึงมาเป็นที่ตั้งเลย
มาตรฐานนี้ทำยากนะแต่ทำได้ ใช้กลุ่มลูกค้าเฉพาะเลย Need Market เพราะฉะนั้นพี่ไม่แย่งลูกค้าใครเลย ลูกค้าพี่คือลูกค้าพี่เฉพาะแน่ๆ เขามาดูแล้วเขาชอบ จากนั้นพี่ก็เริ่มจะส่งผักไปให้เขา
ก็หลอกให้คนมาเที่ยวฟาร์มก่อน ทำฟาร์มสวยๆ นิดหนึ่ง พอเขามาเที่ยวฟาร์มเราบ้าง ผักพี่โบ้อร่อยนิ มีร้านอาหาร มีคาเฟ่ กินแล้วอร่อยจัง เดี๋ยวส่งถึงบ้านดีไหมจากฟาร์ม
เพราฉะนั้นถ้าผ่านพ่อค้าคนกลาง ผ่านแหล่งรวบรวมสินค้า กว่าจะถึงเขาเป็นอาทิตย์นะ ถ้าไม่มีสารเคมีป้องกันให้มันเหี่ยว ไม่มีทาง
ผักพี่โบ้เด็ดไปครึ่งวันก็เรียบร้อยแล้ว หมายความว่าการบริโภคผักทุกคนจะกินเคมีเยอะมาก ไม่ใช่ว่าคนที่ไม่กินผักจะไม่เป็นมะเร็งนะ พี่โบ้เห็นเยอะแยะเลย เพราะว่าผักหลายๆ สิ่งหลายอย่างเขาต้องใช้สารเคมีทำให้มันสดชื่น ทำให้มันอยู่ได้นาน
พี่โบ้ไม่ได้ต้านใครนะ ไม่ได้บอกว่าอันนั้น อันนี้ไม่ดี แล้วแต่มึงเลย มึงเลือกเอา มึงอยากกินอันไหน ของกูก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่าแม่งโคตรปลอดภัย ไม่ใช่อินทรีย์ ไม่ใช่ออแกนิก ไม่ใช่อะไรเลย ก็แบบนี้ เอาแบบของเราเอง
มาตรฐานนี้ชาวบ้านสามารถรับรองกันเองได้ ชุมชนรับรองกันเองได้ จังหวัดรับรองกันเองได้ ดังนั้นหมายความว่าเอามาตรฐานนี้ก็ได้ แค่คุณกล้ารับรองไหมว่าของคุณปลอดภัยจริง เราตรวจแล้วต้องไม่เจอนะ คุณอย่ามาโกหกเราสิ ถ้าคุณโกหกไม่ได้ มาตรฐานนี้พี่โบ้กำลังกระจาย แพร่ออกไป และก็เป็นเครือข่ายของพี่โบ้”
แม้จะไม่ได้รับรองมาตรฐาน กรอ.จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ถือว่าได้รับรองการันตีจากลูกค้าที่สั่งผักเข้ามาแบบแทบส่งไม่ทัน
“ผักของพี่โบ้ต้องไม่เดินทางไกล ใช้ผักแล้วส่งให้แก่ย่านของตัวเองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่เป็นร้านอาหาร ที่ต้องกินผักมาตรฐานนี้ ส่งเข้าโรงพยาบาล ส่งเข้าโรงเรียนที่เขาปลูกผักกินเองไม่ได้
หรือโรงเรียนจะมาอบรมกับเรา แล้วไปปลูกผักกินเองแบบนี้ดีไหม โรงเรียนสามารถสร้างแหล่งอาหารได้เอง นี่คือสิ่งที่พี่โบ้ทำทั้งหมดเลย เพื่อพวกเขาเลยแต่เขาต้องมาฟาร์มพี่โบ้ เพื่อต้องเปิด Mindset ก่อนว่าพวกเขาทำได้
และง่ายด้วย เขาต้องเปิด Mindset ตัวเองก่อน อย่าปิดกั้นความรู้สึกตัวเอง อย่าปิดกั้นว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ๆ เพราะว่าตำรามันถูกเขียนมาแล้วนิ แล้วทุกคนก็ถือคัมภีร์เล่มเดียวกัน แล้วทุกคนก็มีหลักคิดเหมือนกันหมดเลย แต่ที่นี่แหกกฎทุกข้อที่มี ใครบอกว่าห้ามทำ กูทำหมดเลย ห้ามต่อโรงเรือน ห้ามสร้างร่องน้ำเยอะๆ ห้ามปลูกพืชบางอย่างมันจะล่อแมลง เอาแม่งหมด”
ฟาร์มสร้างแรงบันดาลใจ เชื่อทุกคนทำเกษตรได้
“ไม่มีใครหรอกที่ทำไม่ได้ พี่โบ้พยายามสร้างให้คนป่วยด้วยซ้ำ คนป่วย ผู้สูงอายุ คนพิการต้องทำได้ ที่นี่จะลดขั้นตอนลงไป ที่นี่ปลูกผักแค่เอาเม็ดผักใส่ในถ้วย เอาหินใส่ เอาเม็ดผักใส่ แล้วเอาไปวางไว้ในราง น้ำมันรันของมันเอง
คือจริงๆ แล้วถ้าเราไม่รู้ เราไม่มีที่ปรึกษา ไม่มีโค้ดมันยาก เพราะพี่ก็ลองผิดลองถูกมาพี่ถึงรู้ว่ามันยาก พี่ถึงตั้งตัวมาเป็นโค้ดไง ตั้งตัวเป็นที่ปรึกษา ตั้งตัวเป็นพี่เลี้ยง ถ้ามึงอยากรู้อะไรมึงก็เข้ามาดิ วันนี้มึงมานี่ก่อน มึงมาดูก่อนแล้วค่อยไปทำ ไปลองทำเล็กๆ ก่อน
พยายามเอาสิ่งที่มีอยู่เป็นตัวตั้ง ใช้ภูมิปัญญา นวัตกรรมใส่เข้าไป เอาภูมิปัญญาเก็บไว้ เอานวัตกรรมใส่เข้าไปเพื่อจะปรับเปลี่ยนมัน ใส่เทคโนโลยีเข้าไปเพื่อจะทำระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า เพื่อให้มันมันลดค่าใช้จ่ายลงไป ไม่ใช่ไปยืนให้คนรดน้ำต้นไม้ที่เป็นไร่ๆ ทำไมไม่ให้แสงอาทิตย์เป็นคนรดน้ำล่ะ”
ไม่จำเป็นว่าจะต้องเรียนจบอะไรมา หากมีแรงบันดาลใจ เชื่อและรักในสิ่งที่ทำ พี่โบ้เชื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันชิ้นดีที่ทำให้ทำได้สำเร็จ
“สำคัญที่แรงบันดาลใจ พอเราได้แรงบันดาลใจแล้ว เราไปศึกษาโมเดลแห่งความสำเร็จ ไปดูในกูเกิลด้วย ใช้กูเกิลเป็นหลัก เพราะว่าการไปดูแปลงจริงบางที่ก็เสียเงิน บางที่ก็ฟรี พี่โบ้ก็ไปดูแปลงจริงอยู่สองสามแปลง แล้วก็ไปศึกษาวิธีคิดส่วนมาก
พี่โบ้ไปอบรมที่ไหนพี่โบ้ไม่สนใจเรื่องการปลูกผักหรอก ศึกษาวิธีคิดเขามากกว่าว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ แล้วแก่นแท้ของวิธีคิดเขาคืออะไร หาแก่นให้เจอว่าแก่นของเขาคืออะไร เขากำลังบอกอะไรเรากันแน่
เราเน้นหา Platform หาตัวตนเราให้ได้ มันต้องมาจากข้างใน เราต้องบอกคนให้ได้ว่าแก่นแท้ของฟาร์มนี้มันคือเรา คุณกินผักเข้าไป รู้ไหมมันเป็นเลือดของเรา มันเป็นยีนส์ของเราที่ถ่ายลงไป
ไม่จำเป็นต้องตรงสาขา ขอให้รักก่อน ขอให้มีแรงบันดาลใจก่อน จากนั้นเราจะค่อยๆ พัฒนาและต่อยอดมันไปเอง ที่นี่ไม่เหมือนฟาร์มอื่นๆ นะ ที่อื่นจะสอนปลูกผัก ที่นี่ไม่ใช่ พี่โบ้บอกเลยว่า การวางแผนการสร้างสตอรีให้มันสำคัญกว่าการปลูก
ประเทศเราถุยมะละกอลงไปมันก็ขึ้น จริงๆ แล้วดินดี ทุกอย่างดีหมดเลย แต่ไม่ทำ ไม่วางแผนเท่านั้นเอง เราต้องวางแผนและร่วมมือกัน เป็นหัวใจเลย พยายามสอน พยายามทำให้เด็กมองว่าเกษตรมันไม่ใช่เรื่องยากหรอก แต่คุณต้องมาจากข้างใน คุณต้องรักมันก่อน”
นอกจากจะเชื่อว่าทุกคนสามารถทำเกษตรได้แล้ว ยังเชื่ออีกว่าจะมีเงินหรือไม่มีเงินก็ยังสามารถทำเกษตรได้อีกด้วย
“แน่นอน ต้องเป็นข้อนั้น อย่าบอกว่ามันต้องใช้เงินเยอะ มันเริ่มจากคนน้อยๆ แต่ต้องเอาเงินไปต่อเงิน มันอาจจะช้านิดหนึ่ง
แต่ถ้าวันนี้หลายคนที่อยู่ในเมืองแล้วเก็บเงินเก็บทองได้สักก้อนหนึ่ง จะลงทุนอะไรมาศึกษาที่นี่ก่อนว่าถ้าไปลงทุนควรไปทำอะไรดี แล้วจะเริ่มจากอะไรดี มีตลาดหรือยัง เราจะหาตลาดยังไง มาดูวิธีคิดพี่โบ้ก่อน
เด็กรุ่นใหม่มันไม่มีตังค์อยู่แล้ว มันมีเงินน้อย แต่คนที่เกษียณมันมีเงินเยอะแต่ไม่มีแรง คนที่มีแรงเยอะ แต่ไม่มีเงิน เพราะฉะนั้นต้องจับสองตัวนี้ให้มาเจอกันให้ได้ ทำยังไง พี่โบ้พยายามให้เกษตรที่นี่ใช้เงินน้อย และใช้แรงน้อยด้วย เด็กก็ทำได้ คนสูงอายุก็ทำได้
ทางออกมีมากกว่าหนึ่งทางเสมอ ไม่ใช่มีแค่ทางเดียว มันมีมากกว่าหนึ่ง อยู่ที่ว่าคุณจะเลือกอะไร หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า
เลือกที่ง่ายที่สุด หรือยากที่สุดได้หมด มันอยู่ที่หลายๆ ปัจจัย
บางทีการที่มีเงินมากๆ มันก็ทำให้มันง่ายขึ้น มีเงินน้อยหน่อยมันก็ยากขึ้น ใช้แรงเข้าไปมากขึ้น แต่พี่โบ้ก็พยายามนำเสนอ โลกของพี่โบ้ใช้เงินน้อยหมดเลย
ของพี่โบ้เองกล้าพูดเลยว่าใครๆ ก็ทำเกษตรได้ เพราะพี่โบ้ทำให้เห็นแล้วว่า มันไม่ต้องใช้แรงเยอะ ไม่ต้องใช้เงินเยอะก็ได้
ไม่ต้องใช้ที่เยอะก็ได้ ใช้ทุกอย่าง ทรัพยากรน้อยหมดเลยก็ทำได้ในที่จำกัด แต่ขอให้มีเป้าหมายชัดเจนว่าเราจะเริ่มแค่ไหนยังไง”
เป้าหมายสำคัญคืออยากสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนที่สนใจในเรื่องของเกษตร โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ และพร้อมยินดีให้คำปรึกษาทุกคน
“พี่โบ้แค่อยากเข้าไปสร้างแรงบันดาลใจให้เขา แล้วให้เขารู้สึกว่าเขามีไอดอล เขามีที่พึ่งทางใจ เขามีที่จะปรึกษาหารือได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟฟ้า เรื่องระบบน้ำ พี่โบ้มีเครือข่าย ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ มีเครือข่ายพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ พร้อมจะให้คำปรึกษา สำหรับเด็กรุ่นใหม่ด้วย
เพราะว่าเกษตรกรแต่ละคนเขามีความรู้อยู่แล้ว เราต้องเชื่อมโยงเขา เข้ามากับเด็กรุ่นใหม่ อย่าไปเริ่มลงมือทำแล้วเคว้างคว้างอยู่คนเดียว ไม่ได้ ให้มีพันธมิตรไว้ มึงขาดเรื่องอะไรมึงบอกกู เดี๋ยวกูจะหาให้ กูไม่รู้ กูก็จะได้หาคนที่รู้มาให้มึง จับมิกซ์แอนแมตช์ซะ ให้คนที่รู้ร่วมมือกันแล้วก็สร้างแบรนด์เลย
รวมกลุ่มกันแล้วขายแบบจำนวน เพื่อกำหนดราคา เพราะว่าต่างคนต่างขายยังไงก็เจ๊ง แย่งกันขายอีกต่างหาก ทุกวันนี้มันเป็นอย่างนี้ พี่โบ้ก็เลยมองว่ามันไม่ได้หรอก มันต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่าง”
3 ข้อ สมการแห่งความสำเร็จ
“พี่โบ้ก็มองว่าเราไม่ได้เก่งอย่างเขา แต่เราก็ไปถอดสมการว่าทำยังไงเขาถึงสำเร็จ พี่โบ้ได้มา 3 ข้อ คือ Passion ต้องมีก่อน ก็คือมีแรงบันดาลใจ จากนั้นหา Platform คือจุดยืน หาจุดยืนให้ได้ว่าจะอยู่ตรงไหน จากนั้นก็ฝึกฝนเรียกว่า Patchis 3P มันคือสมการแห่งความสำเร็จ”
สมการแห่งความสำเร็จ ที่กลั่นกรองถอดออกมาประสบการณ์ความรู้ ไม่มีความรู้ทางด้านเกษตร ลองผิดลองถูก ศึกษาด้วยตัวเอง ไปดูคนอื่นบ้าง จนลงตัวมาเป็นฟาร์มค่าไฟ 0 บาท จนสำเร็จ
“ที่นี่คือฟาร์มแห่งแรงบันดาลใจ ที่นี่สร้างแรงบันดาลใจให้คนนะครับ แล้วจากนั้นผู้คนที่มาดูที่นี่ต้องไปหา Platform พี่โบ้เจอ Platform คำว่าค่าไฟ 0 บาท มีเกษตรกรที่ไหนทำค่าไฟ 0 บาทกันไหม ทั่วประเทศและทั่วโลก ไม่มีใครพูดถึงเลยนะค่าไฟ 0 บาท
นี่คือสมการของความสำเร็จ 3 ข้อ อยากให้ลองมาถอดดูว่า วันนี้ถ้ามาดูฟาร์มพี่โบ้แล้ว ได้แรงบันดาลใจไปแล้ว ไปหา Platform ให้เจอว่า เขาจะกินผักเรา จะกินผลไม้ของเรา หรือจะใช้ Product ของเราเพราะอะไร ต้องหาให้เจอ คุณจะ มีPlatform จากนั้นราคาสูงแน่นอน”
ไม่อยากเรียกว่านี่เป็นการประสบความสำเร็จในชีวิต อยากให้เรียกว่าเข้าใกล้ความฝันมากกว่า เพราะพี่โบ้มองว่าชีวิตยังมีสิ่งที่ท้าทายให้ทำอยู่อีกมาก และสำคัญที่สุดคือการวางแผนชีวิตให้ดี เพราะถ้าวางแผนดี เชื่อว่าความผิดพลาดจะเกิดขึ้นได้น้อยมาก
“ประสบความสำเร็จของพี่โบ้มันยังไม่ใช่ พี่โบ้เรียกมันว่าเข้าใกล้ฝันมากกว่า เพราะฝันของพี่โบ้คือการไปใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างจังหวัด เป็นสองคนตายายที่ไปนั่งอยู่ต่างจังหวัดแล้วมีความสุขกับการที่มีลูกหลาน มีพี่น้องไปหาทั่วประเทศ แล้วก็นั่งพูดแบบนี้ มีคนมาถาม ได้เล่าในสิ่งที่เราทำ นั่นคือความสุขต่างหากเรากำลังเริ่มเข้าใกล้ฝันแล้ว
“การทำอะไรก็ช่าง ค.ว.ย. สำคัญที่สุด คือ คิด วิเคราะห์ และแยกแยะ เตรียมท่าล้มให้ดีๆ ถ้าคุณคิดวิเคราะห์และแยกแยะ คุณหาแก่นมันเจอ ความผิดพลาดมันจะน้อยมาก
พอเรารู้ท่าล้ม เรารู้ว่าเราจะล้ม เรารู้ว่าโมเดลนี้มันจะล้ม ล้มแบบไหนจะเจ็บตัวน้อยที่สุด วางแผนให้ดี วางแผนหนึ่งสองสาม ถ้ามันไม่สำเร็จ ขั้นที่หนึ่งจะต้องแก้มันยังไง ขั้นที่สอง ขั้นที่สาม ขั้นที่สี่ เตรียมท่าล้มให้ดี
ที่นี่จึงไม่มีโมเดลแทบหายนะเลย โมเดลเกือบทุกโมเดล เป็นโมเดลที่เราสร้างขึ้นแล้วใช้ได้ อาจจะไม่ 100% แต่ก็ใช้ได้ ก่อนที่จะลงมือทำ หาต้นแบบที่ดี หาต้นแบบที่เราคิดว่าเราทำได้ แล้วก็ลอกซะ เป็นการ Shortcut ที่ง่ายที่สุดแล้วอย่างที่นี่ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือก
อยากให้สังคมอยู่ได้ พี่โบ้อยู่ได้ และสังคมอยู่ได้ มาเรียนรู้และก็มาศึกษาดูงาน แล้วก็เอากลับไปทำ ให้พี่โบ้เป็นเพื่อน เป็นที่ปรึกษา เป็นพี่ของทุกคนได้นะครับ”
ต้นแบบฟาร์มแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ตัวเองในวัยเกษียณ ซึ่งพี่โบ้เองวางแผนชีวิตว่าต้องเกษียณในวัย 45 ปี อยากไปใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
“ฟาร์มที่พี่โบ้สร้างขึ้นมาเป็นต้นแบบ เพื่อที่จะไปใช้ชีวิตเกษียณในต่างจังหวัด ตอนนี้อายุ 47 แล้ว จริงๆ พี่โบ้วางแผนอายุ 45 ปี แต่อันนี้เกินมา 2 ปีแล้วคาดว่าน่าจะ 50 ปี จริงๆ เราสองคนผัวเมียทำกันมา แล้วก็วางแผนกันมาทั้งชีวิตว่าเราจะไปใช้ชีวิตที่ต่างจังหวัด
วันที่เราตัดสินใจร่วมชีวิตกัน เรามีเป้าหมายชัดเจนว่าเราจะกลับไปอยู่ต่างจังหวัด แต่เราต้องหาเงินก่อน เราก็ทำการหาเงินมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันนี้เราก็มีที่มีทาง เป็นครอบครัวที่ยากจนทั้งคู่
เพราะฉะนั้นพี่โบ้อยากบอกทุกคนว่า ความจนมันไม่ใช่พันธุกรรม มาศึกษาพี่โบ้ ว่าทำอย่างไร จึงกลายเป็นจากเด็กที่เป็นเด็กบ้านนอก จากเด็กต่างจังหวัด จากคนที่อยู่ในแดนที่เรียกว่าสลัม ปัจจุบันนี้พี่โบ้มีที่เป็นพันไร่ พี่โบ้มีโรงงาน 3-4 ไร่ในกรุงเทพฯ พี่โบ้สามารถเอาเงินมาเทลงฟาร์ม 10 ล้านให้คนมาเดินเล่นได้ มาถอดสมการดีกว่าว่าพี่โบ้ทำยังไงถึงมีวันนี้ได้”
กว่าจะถึงวันนี้ เรียนรู้ ลองผิดลองถูก
ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้ ก็ถือว่าล้มลุกคลุกคลาน ลองผิดลองถูก ทดลองทำเกษตรที่ต่างจังหวัดแบบบ้าพลังสุดท้ายไม่เป็นอย่างที่หวัง ต้นไม้ปลูกไว้ตายหมด
“มันไม่เรียกว่าล้มเหลว มันเรียกว่าเหนื่อย คือเลิกงานตอนเย็น สมติวันศุกร์จะต้องขับรถ 200 กิโลไปที่ไร่ เย็นวันศุกร์รถติด แล้วไปอยู่เสาร์อาทิตย์ ไปขุดดิน ปลูกต้นไม้ ใช้แรงงาน ใช้แรงกาย ใช้ทุกอย่าง เย็นวันอาทิตย์ขับรถกลับ วันอาทิตย์รถขาเข้าเมืองรถติด แม่งโคตรเหนื่อย
แล้วเช้าวันจันทร์ต้องเริ่มทำงาน ลูกน้องก็รองาน พี่โบ้มองว่าไม่ไหวว่ะ ถ้าทำอย่างนี้ต่อไปไม่ไหวแน่ สภาพร่างกายเราไม่ไหวหรอก แล้วระบบน้ำไม่มี ที่ดินอยู่บนเขาไม่มีแหล่งน้ำ ไม่มีไฟฟ้า ไปปลูกอินทผลัมบ้าง ปลูกโกโก้ อะโวคาโด มะขามยักษ์ มะขามป้อม ปลูกพริกไทย ปลูกดีปลี หลายอย่างนะครับ ตานกันหมดเลย
จนแบบเอาใหม่ ไม่ใช่แล้ว เราไม่รู้เรื่อง แล้วเราบ้าพลัง เรามีเงินเท่าไหร่เราก็ซื้อหมดเงินไปหลายล้านบาทแล้วก็ไม่ได้อะไรกลับมาเลย แต่ว่าตอนนี้ก็เลยปลูกต้นไม้ทิ้งไว้ กลับมาลองเทสต์ใหม่ เอาไงดีวะ อายุเราแค่ 40 กว่าปี เรายังพอมีเวลา
เราก็เลยมาเจอตรงนี้ เป็นหนองน้ำขนาด 9 ไร่ ซึ่งที่ตรงนี้ไม่มีใครคิดจะทำฟาร์มหรอก เพราะว่าน้ำมันท่วมอยู่ 1 เมตร สร้างฟาร์มบนหนองน้ำ ทำได้ไง ทำไม่ได้หรอก เจ้าของที่ให้เราใช้ฟรีปีแรก บอกว่าพี่อยากทำอะไรทำเลย เราบอกไม่เอาฟรีไม่เอา เพราะเราพอรู้ศักยภาพว่าเราพอทำได้ เราก็เลยบอกว่านั่นผมขอเช่าก็แล้วกัน ก็เลยทำสัญญาไว้ 6 ปี แล้วเราก็เริ่มสูบน้ำออก ตอนนี้ใกล้จะครบ 4 ปีแล้ว ก็ทำให้เห็นแล้วว่าออกมาได้
เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว หัวใจมันเป็นแปลงทดลอง เพื่อไปใช้ชีวิตชีวิตเกษียณ เราก็เลยวางยุทธศาสตร์ว่า 2 ปีสร้าง 3 ปีขาย 1 ปีย้าย วางยุทธศาสตร์ไว้เลยว่าใน 6 ปี เราทำมาร์เกตติ้ง ทำการตลาดแล้วเราจะย้ายไป
ปัจจุบันนี้พี่โบ้จะขายอะไรคนก็ซื้อ เพราะแบรนด์พี่โบ้แม่งโคตรปลอดภัย ไม่ว่าจะขายอะไร แม่งโคตรปลอดภัย แล้วก็ระบบพลังงานพี่โบ้แม่งโคตรถูก ก็มาดูเอา ทุกอย่างพี่โบ้ขายมีสตอรีหมดเลย”
พื้นฐานเป็นเด็กต่างจังหวัด จึงอยากกลับไปใช้ชีวิตที่ต่างจังหวัด ไม่มีที่เป็นของตัวเอง ไม่มีไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม แทบจะไม่เข้าข่ายที่จะพอทำเกษตรได้ด้วยซ้ำ แต่ชายคนนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า 3 ปีที่ผ่านมาสามารถทำได้
“ที่จริงจุดประกายแรกเลยมันเป็นเรื่องของการไปลองทำดูแล้วที่ต่างจังหวัด ไปลองอยู่พักหนึ่ง หายนะเลย พี่โบ้เป็นเจ้าของบริษัทออแกไนเซอร์ พี่โบ้ทำช่างศิลป์มา เป็นโปรโมชันแมเนเจอร์มา เป็นเจ้าของบริษัทมา ดังนั้นไม่มีความรู้เรื่องการเกษตรเลย ไม่มีความรู้เทคโนโลยีด้านของไฟฟ้าเลย ที่ตรงนั้นไฟฟ้าก็ไม่มี น้ำก็ไม่มี อยู่บนเขาแล้วอยากไปทำเกษตร วิวสวยแล้วไปซื้อ แล้วอยากได้แค่นั้นแล้วก็ไปทำ สรุปเจ๊ง
พี่มองว่าการที่พี่มาทำเกษตรเพราะว่ามันเป็นวิถีของประเทศไทย วิถีของคนไทยเลย ซึ่งพี่มองว่าภูมิปัญญาดีอยู่แล้ว พี่ไม่เคยลบหลู่เรื่องภูมิปัญญาเลยนะ เห็นไหมที่จะเอาภูมิปัญญาเกือบมาใช้ทั้งหมดเลย แต่ใส่อะไรเข้าไป ใส่นวัตกรรมเดิมเข้าไป ทำให้มันง่ายขึ้น ทำให้ทุกอย่างมันดูมีระบบปฏิบัติการที่แบบอัตโนมัติโดยที่ใช้ธรรมชาติหมด
พี่โบ้พยายามเน้นธรรมะมาเกี่ยวข้องหมดเลยทั้งฟาร์ม ที่นี่ใช้เธรรมชาติหมดเลย ไม่มีการมานั่งปรุงแต่งอะไรมันมากนัก จัดสรรกระบวนการให้มัน ทำให้มันแบบรันของมันไปโดยธรรมชาติ มีเท่าไหร่ใช้เท่านั้น จงมีเท่าที่ใช้ และก็จงใช้เท่าที่มี แค่นี้พอ พี่ทำให้เห็นแล้ว 3 ปีกว่าที่ผ่านมา พี่ทำแล้วพี่โบ้อยู่ได้”
ปลูกผักขายจนนาทีสุดท้ายของชีวิต “บอกกับลูกว่า พ่อจะปลูกผักขายจนนาทีสุดท้ายของชีวิต ก็คือกูต้องมีรายได้ นึกออกใช่ป่ะ ไม่ใช่มึงให้กูไปนอนอยู่บ้านเฉยๆ แล้วมึงก็ไล่กูไปอยู่บ้านพักคนชรา ไม่ใช่นะ เพราะกูไม่ได้ทำเองอยู่แล้ว กูใช้คนงานทำ กูวางแผนทั้งหมด ดังนั้นกูจะมีรายได้จนนาทีสุดท้ายของชีวิต ไม่ใช่ให้กูเป็นคนแก่โง่ๆ ที่ไปนั่งหายใจทิ้งไปวันๆ ไม่ใช่ พี่โบ้ก็มองว่ามาตัวเปล่า แล้วก็ไปตัวเปล่า ที่พี่โบ้ซื้อไว้ ในที่สุดมันก็อาจจะกลายเป็นของแผ่นดินไปในที่สุด ถ้าลูกไม่เอาเลย พี่โบ้ก็เตรียมสร้างศูนย์เรียนรู้ทิ้งไว้ให้แผ่นดินระดับหนึ่ง เลือกเกษตรในบั้นปลายชีวิต พี่ว่าทุกคนมองเหมือนกันหมดไหม พี่มองว่าเกษตรหรือชีวิตที่ไปปลูกผักกินเองพวกนี้มันสโลไลฟ์ แต่เอาเข้าจริงๆ มันไม่ใช่แบบนั้นนะ ชีวิตมันไม่ใช่แบบนั้น ดังนั้นพี่มองว่าเราจำเป็นจะต้องวางแผนทุกอย่าง เราก็เลยคิดว่าหัวใจในการใช้ชีวิตบั้นปลายคือการอยู่แบบมีความสุข แบบมีคนคบหานะ ไม่ใช่ไปใช้ชีวิตกันอยู่2 คน มองหน้ากันรอวันตาย ไม่ใช่พี่โบ้แล้ว” |
ดูโพสต์นี้บน Instagram
สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: พัชรินทร์ ชัยสิงห์
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพเคลื่อนไหว: กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ: กัมพล เสนสอน
ขอบคุณสถานที่: “Res-Q Farm” (ซ.สุเหร่าคลองหนึ่ง 15 เขตคลองสามวา)
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **