รองนายกฯ ย้ำม็อบราชประสงค์ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง กทม. ไม่ตอบข้อหาผู้ชุมนุมร้ายแรงหรือไม่ ชี้จัดงานศพ-งานแต่งรวมตัวเกิน 5 คนได้ไม่ผิดกฎหมาย ขู่ จนท.มีอำนาจยกระดับกฎหมายขั้นสูง
วันนี้ (16 ต.ค.) เวลา 11.25 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ว่าปัจจุบันนี้การประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ใช้ซ้อนกันอยู่ 2 ฉบับ คือ ทั่วประเทศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินธรรมดา ในสถานการณ์โควิด-19 แต่ในกรุงเทพมหานครใช้ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินธรรมดา และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง คือมีอยู่ 2 กรณี คือ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามมาตรา 5 ที่ยังใช้อยู่ในกรณีของโควิด-19 ทั่วราชอาณาจักร และกรณีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในท้องที่กรุงเทพฯ และยังสามารถต่ออายุได้ทุก 30 วันเช่นเดิม ส่วนการประกาศเคอร์ฟิว หากจะย้อนไปใช้วันไหนเงื่อนไขของโควิด-19 นั้น ถ้าจะย้อนไปก็ไม่แปลก แต่ตอนนี้ไม่มีใครคิดหรือไม่มีใครพูดถึงเรื่องดังกล่าว ส่วนการประเมินสถานการณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมแบบรายวันนั้น ทางฝ่ายความมั่นคงจะต้องประเมินรายวันอยู่แล้ว
เมื่อถึงกรณีฝ่ายค้านเรียกร้องขอให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อหารือแก้ไขวิกฤตของประเทศ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจง เนื่องจากระยะเวลาเหลืออีกเพียง 2 สัปดาห์ ดังนั้น กว่าจะออกพระราชกฤษฎีกาเสนอขึ้นไปแล้วกว่าจะลงมาก็พอดีเปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญในวันที่ 1 พ.ย.แล้วเปิดยาวไปถึง 120 วัน คือวันที่ 28 ก.พ. 2564
เมื่อถามถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าข้อกล่าวหาที่ใช้ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมร้ายแรงเกินไป นายวิษณุกล่าวว่า ขอไม่ตอบ
เมื่อถามต่อว่ากรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าผู้ชุมนุมที่มาชุมนุมทั้งหมดนั้นถือว่าผิดกฎหมาย นายวิษณุกล่าวว่า ถูกต้อง เพราะเมื่อมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ย่อมไม่ใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งหากในยามปกติทั่วไปก็จะมีข้อจำกัดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ในเมื่อวันนี้มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงถือเป็นข้อจำกัด เพราะฉะนั้นจะมาอ้างเสรีภาพเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ก็คงจะไม่ได้ เพราะมีเงื่อนไขอยู่ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมีข้อกำหนดที่เขียนไว้ว่าไม่ให้มีการชุมนุมและมั่วสุมเกิน 5 คน และทางตำรวจจะอำนวยความสะดวกด้วยการออกคำชี้แจงว่าการชุมนุมเพื่อทำกิจกรรม เช่น งานศพ งานแต่งงาน งานสังสรรค์รื่นเริง แม้จะมีจำนวนเป็น 1,000 หรือ 10,000 คนก็สามารถชุมนุมได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ที่จะผิดกฎหมายก็เฉพาะกรณีที่มีการออกอยู่ในข้อกำหนด
เมื่อถามอีกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง สามารถยกระดับได้สูงสุดถึงระดับใดในการดูแลการชุมนุมให้สงบเรียบร้อย นายวิษณุกล่าวว่า ตามมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ระบุว่าเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปจับ ยึด ทำลาย รื้อเวที ห้ามเข้าสถานที่ และไปไกลถึงขนาดประกาศเคอร์ฟิว หรือเนรเทศก็ได้ แต่แน่นอนว่าการเนรเทศคนไทยนั้นทำไม่ได้ เพราะจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายเขียนไว้เช่นกรณีใช้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีชาวต่างประเทศจึงสามารถเนรเทศได้
เมื่อถามย้ำว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงมีกำหนดกี่วัน นายวิษณุกล่าวว่า ครม.กำหนดไว้ 30 วัน คือจนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน แต่ได้ให้เงื่อนไขไว้ว่า ในกรณีที่หากเห็นว่าสถานการณ์บรรเทาเบาบางลงให้นายกรัฐมนตรีสามารถสั่งยุติยกเลิกได้ทันทีเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องเรียกประชุม ครม.
รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุม ครม.พิเศษวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้ที่ประชุมให้ทราบถึงกรณีการตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เพื่อรับรองประกาศดังกล่าวเป็นมติ ครม. ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่รับทราบโดยที่ไม่ได้มีการติดใจสอบถามหรือตั้งข้อสังเกต มีเพียงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ที่ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ร้ายแรงแล้วในกรุงเทพมหานครจะมีผลให้การใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะหมดไป แต่ไม่ได้มีการลงในรายละเอียดถึงเรื่องการประกาศเพิ่มเติมในข้อกำหนด เช่น เคอร์ฟิว และไม่ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องสถานการณ์การชุมนุมคู่ขนานของกลุ่มคณะราษฎรในต่างจังหวัดที่จะจัดในรูปแบบดาวกระจายทั่วประเทศ เพราะมีการบังคับใช้กฎหมายในแต่ละพื้นที่อยู่แล้ว เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ